ตัดไม้ดอก

ตัดไม้ดอก อย่างไรให้ออกดอกสวย ลำต้นไม่โทรม?

ตัดไม้ดอก
ตัดไม้ดอก

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการปลูกไม้ดอก หลังจากที่ไม้ดอกออกดอกสวยสะพรั่ง อาจไม่แน่ใจว่าควรปล่อยให้ดอกโรยไปเอง หรือควรตัดแต่งกิ่งอย่างไร ให้ไม้ดอกกลับมาออกดอกงามอีกครั้ง บ้านและสวน School มีเทคนิคการตัดไม้ดอกอย่างถูกวิธี ไม่ให้ต้นโทรมมาแนะนำ

ทั้งนี้การ ตัดไม้ดอก ที่จะแนะนำเป็นการตัดแต่งไม้ดอกประเภทพุ่ม ที่ออกดอกบริเวณปลายยอด เช่น เข็มชนิดต่าง ๆ หางนกยูงไทย ฯลฯ จัดอยู่ในกลุ่มที่มีนิสัยการออกดอกแบบ Summer Bloomer สามารถตัดแต่งเพื่อกระตุ้นการออกดอกให้ได้ดอกที่โดดเด่นสะดุดตา อย่างไรก็ตาม ก่อนการตัดแต่งควรบำรุงต้นให้แข็งแรงดีเสียก่อน การตัดแต่งเพื่อกระตุ้นการออกดอกทำได้ดังนี้

1.ตัดแต่งต้น ปลายฝน

ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มตัดแต่งคือช่วงต้นฝน และหลังจากนั้นยังตัดแต่งได้อีกหลายรอบ (พิจารณาจากรอบเวลาหลังตัดแต่งไปจนถึงช่วงดอกโรย) การตัดแต่งช่วงท้ายที่สุดของแต่ละปีคือช่วงปลายฝน ไม่แนะนำให้ตัดแต่งในช่วง
หน้าหนาวและหน้าแล้ง

2.ใช้วิธี “ตัดหนัก” (Hard Pruning)

สำหรับต้นไม้ในกลุ่มนี้ควรใช้วิธีตัดหนักคือตัดให้ลึกที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ เช่น หางนกยูงไทย ตัดให้เหลือตอสูงจากพื้นดินประมาณ 20 - 30 เซนติเมตรเท่านั้น

ส่วนเข็มต่าง ๆ  ให้ตัดลงมาถึงโคนของกิ่งที่ดอกโรยแล้ว โดยเหลือตอกิ่งเอาไว้เพียงเล็กน้อย ความยาวกิ่งที่ตัดผันแปรไปตามสายพันธุ์ เช่น เข็มเศรษฐีสามารถตัดได้ยาวถึงกว่า 80 เซนติเมตร แต่เข็มพิษณุโลกซึ่งเป็นกลุ่มพันธุ์แคระต้องตัดสั้น ๆ เท่านั้น

สำหรับต้นไม้ที่ปลูกเป็นแปลงแนะนำให้ตัดในลักษณะเดียวกันทั้งแปลงในวันเดียวกัน ซึ่งส่งผลให้ต้นไม้ออกดอกบานสะพรั่งในวันเดียวกันด้วย

3.ให้น้ำและปุ๋ยอย่างเต็มที่

หลังตัดแต่งไม่ควรปล่อยแปลงให้แห้งโดยเด็ดขาด ถ้าสังเกตว่าใบที่แตกออกมาใหม่ไม่สมบูรณ์ตามลักษณะประจำพันธุ์ เช่น มีสีซีดจาง หรือมีส่วนที่ด่างด้วยสีอื่น ให้คาดเดาว่าต้นไม้อาจขาดธาตุอาหารอย่างใดอย่างหนึ่ง

หากการใส่ปุ๋ยเม็ดไม่สามารถแก้ความผิดปกตินี้ได้ ให้ใช้ปุ๋ยทางใบที่มีส่วนผสมของธาตุอาหารรอง ธาตุอาหารเสริมฉีดพ่นเป็นระยะจนกว่าต้นไม้จะมีใบที่เขียวสมบูรณ์

4.คัดยอดให้เหลือเพียงหนึ่ง

หลังตัดแต่งประมาณ 20 - 40 วัน ถ้ามียอดอ่อนแตกออกมามากมาย ให้คัดยอดอ่อนที่มีขนาดเล็กที่สุดออก โดยเหลือยอดอ่อนให้เติบโตต่อไปได้เพียง 1 ถึง 2 ยอดต่อตอเดิมหนึ่งตอ เพื่อลดการแก่งแย่งน้ำ อาหาร และแสงแดด ซึ่งกันและกัน

การคัดเลือกยอดอ่อนนี้ หากทำในช่วงที่เหมาะสมคือ ยอดใหม่ยังมีขนาดเล็กอยู่ (เช่น ไม่เกิน 20 เซนติเมตรสำหรับหางนกยูงไทย หรือเข็มเศรษฐี) จะส่งผลให้ได้ช่อดอกที่มีขนาดใหญ่สะดุดตา และการคัดยอดอ่อนในช่วงนี้แนะนำให้ใช้มือปลิดออก ไม่แนะนำให้ใช้กรรไกรตัด

5.ตัดแต่งหลังดอกโรย

เมื่อดอกชุดแรกส่วนใหญ่โรยแล้ว หากปล่อยทิ้งไว้ ต้นไม้จะสร้างยอดอ่อนแทรกดอกชุดแรกขึ้นมาและมีดอกขนาดเล็กลงตามมา หากปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ ต้นไม้จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับมีดอกขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ เช่นกัน

เพื่อคุมทั้งความสูงของพุ่มไม้ประดับและขนาดช่อดอกให้มีขนาดใหญ่อีกครั้ง แนะนำให้ตัดหนักอีกครั้งหนึ่งได้ ตราบเท่าที่ยังไม่เข้าช่วงฤดูหนาว หลังตัดแต่งก็ต้องปฏิบัติตามที่แนะนำด้านบนด้วย

ต้นไม้แต่ละชนิด มีความต้องการที่แตกต่างกัน ผู้ปลูกจึงควรทำความรู้จักลักษณะความต้องการของต้นไม้ชนิดนั้นๆ เพื่อการดูแลอย่างเหมาะสม ให้ต้นไม้ได้เจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์

 

ข้อมูลจาก 100 ความรู้คู่สวน

เรื่อง: ธราดล ทันด่วน

ภาพ: แฟ้มภาพนิตยสารบ้านและสวน