สำหรับผู้ที่กำลังวางแผนจะซื้อบ้าน หรือซื้อคอนโดมิเนียมเพื่อการพักอาศัย จำเป็นต้องทราบวิธีการตรวจรับบ้านอย่างถูกต้อง เพื่อลดปัญหาที่จะตามมาในภายหลัง โดยหนึ่งในห้องที่ควรตรวจรับอย่างเข้มงวดคือ บริเวณห้องน้ำ เพราะหากตรวจรับไม่ดี อาจทำให้เกิดปัญหาจุกจิกกวนใจ ไปจนถึงปัญหาใหญ่ที่ยากจะแก้ไขตามมาได้
ไม่ว่าจะเป็นปัญหาท่อน้ำอุดตัน รั่วซึม น้ำขังบริเวณพื้น และอีกสารพัดปัญหา บ้านและสวน School มีเช็คลิสต์การ ตรวจห้องน้ำ มาฝาก ซึ่งไม่เพียงแต่เจ้าของบ้านมือใหม่เท่านั้นที่นำไปใช้ได้ สำหรับผู้ที่วางแผนซ่อมแซมบ้าน ก็นำไปปรับใช้ได้เช่นกัน
1.ตรวจความลาดเอียงของพื้น
พื้นห้องน้ำที่ดีต้องลาดเอียงไปยังจุดระบายน้ำ โดยไม่มีน้ำขังอยู่จุดใดจุดหนึ่ง ตรวจสอบง่ายๆ ด้วยการปล่อยลูกปิงปอง หรือลูกแก้วลงบนพื้นห้องน้ำ หากพื้นลาดเอียงดี ลูกแก้วจะค่อยๆ ไหลไปยังรูระบายน้ำ
2.ตรวจชักโครก
ตรวจการระบายน้ำของชักโครกว่าทำงานปกติด้วยการทิ้งขนมปัง 1 แผ่น หรือทิชชูสักก้อนลงไป แล้วกดชักโครก 1 ครั้ง หากชักโครกทำงานปกติ ก็จะกำจัดสิ่งปฏิกูลที่มีปริมาณเช่นนี้ได้ง่าย
3.ตรวจการระบายน้ำ และการขังน้ำของอ่างล้างหน้า
ทดลองปิดจุกระบายน้ำที่สะดืออ่างล้างหน้า เพื่อดูการขังน้ำว่าเป็นปกติหรือไม่ และหากสะดืออ่างล้างหน้าติดตั้งไม่ดี น้ำก็จะรั่วลงใต้อ่างได้ จากนั้นตรวจดูรูน้ำล้นที่ขอบอ่าง ว่าทำงานได้ดีหรือไม่ การทำงานของรูน้ำล้นนี้จะดักน้ำไม่ให้ล้นขอบอ่าง และระบายออกไปตามท่อระบายน้ำ
4.ตรวจจุดต่อสายอ่อนหรือวาล์วต่าง ๆ
หากติดตั้งจุดต่อไม่ดี หรือมีอุปกรณ์ เช่น แหวนยาง (ซึ่งอยู่ภายในอุปกรณ์นั้น ๆ) เสื่อมสภาพก็จะมีอาการน้ำรั่ว - น้ำซึมได้ง่าย จุดที่ควรสังเกตคือ สายอ่อนของระบบน้ำดีใต้เคาน์เตอร์อ่างล้างหน้า ซึ่งต่อกับก๊อกอ่างล้างหน้า จุดนี้มีพื้นที่ทำงานแคบมากจึงอาจติดตั้งไม่ดี
5.ตรวจรูระบายน้ำที่พื้น
รูระบายน้ำที่นิยมใช้กันคือ รูระบายน้ำชนิดกันกลิ่น ซึ่งมีที่มาจากแนวความคิดของคอห่าน นั่นคือปล่อยให้ในท่อมีน้ำขังอยู่บางส่วน เพื่อป้องกันมิให้กลิ่นเหม็นย้อนกลับมาได้ เมื่อเข้าใจการทำงานของรูระบายน้ำกันกลิ่นแล้ว ก็มาตรวจกันครับ
โดยเปิดฝาตะแกรงรูระบายน้ำดูว่า มีเศษผง และสิ่งสกปรกตกค้างอยู่ที่ถ้วยขังน้ำหรือไม่ เศษผงเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคให้ระบบกันกลิ่นทำงานไม่สมบูรณ์ และระบายน้ำทิ้งไม่สะดวกอีกด้วย
5 ข้อนี้ เป็นเพียงเช็คลิสต์เบื้องต้นในการ ตรวจห้องน้ำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบ้านหลังใหม่ หรือคอนโดใหม่ของคุณเท่านั้น ห้องอื่นๆ ก็จำเป็นต้องมีการตรวจที่ละเอียด รอบคอบ และเป็นระบบเช่นกัน เพื่อให้คุณสามารถอยู่บ้านหลังใหม่ได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องกัวลว่าจะมีปัญหาตามมาในภายหลัง
ข้อมูลจาก: ช่างประจำบ้าน
เรื่อง: ศักดา ประสานไทย
ภาพ: แฟ้มภาพนิตยสารบ้านและสวน
ภาพประกอบ: คณาธิป จันทร์เอี่ยม