Chingy’s Crib บ้านโมเดิร์น คอนกรีตเปลือยหล่อในที่ เเทรกคาเเร็กเตอร์เท่ ๆ สไตล์ชายหนุ่ม

บ้านโมเดิร์นทรงกล่อง คอนกรีตเปลือยหล่อในที่ ซึ่งมีความสมบูรณ์ในความไม่สมบูรณ์ เผยความงามที่ไร้การปรุงเเต่ง บ่งบอกตัวตนเท่ ๆ ของเจ้าของบ้าน พร้อมการตกแต่งด้วยโมเดลของสะสมที่เเทรกอยู่ทุกมุมบ้าน รับรองว่าสาวกสตาร์วอร์สเห็นแล้วต้องมีร้องว้าวกันบ้างละ

DESIGNER DIRECTORY: สถาปนิก-ตกแต่งภายใน : Atelier P โดยคุณภาคภูมิ หัศบำเรอ /ก่อสร้าง : W House/ผลิตเฟอร์นิเจอร์ : คุณประทีป ทวีโชคทรัพย์สิน /เจ้าของ :คุณรัฐธีร์ พรสังสรรค์ คอนกรีตหล่อในที่

คุณชิงในมุมรับเเขกชั้นล่าง ที่ตกแต่งเฟอร์นิเจอร์โทนสีเทา-เงิน ดูเรียบเท่เหมาะกับบ้านสไตล์ปูนเปลือย

ความน่าค้นหาก่อตัวขึ้น เมื่อเรารู้ว่าในความสว่างย่อมมีเงามืด และนอกจากสิ่งที่ตาเห็นยังมีอีกมิติซ่อนอยู่เบื้องหลัง จึงไม่น่าแปลกใจถ้าจะมีคนมายืนอยู่หน้าบ้านนี้ด้วยความรู้สึกน่าค้นหา ซึ่งเป็นหนึ่งในความตั้งใจของคุณชิง – รัฐธีร์ พรสังสรรค์ เจ้าของบ้านผู้รักงานศิลปะ ความดิบ แง่งามในความไม่สมบูรณ์แบบ และด้านมืดที่ครอบงำจักรวาล “เราอยากทำบ้านให้คนอยากเข้ามาดู แต่ไม่มีโอกาสเข้ามาดู” เมื่อเปิดประตูสู่เบื้องหลังปราการคอนกรีตเปลือยอันหนักแน่น ความน่าค้นหาค่อย ๆ ทวีขึ้นในทุกก้าวย่าง พร้อมกับการค้นพบจักรวรรดิและจักรวาลที่ก่อตัวขึ้นภายในบ้านดีไซน์ทันสมัยจาก คอนกรีตเปลือยหล่อในที่ ซึ่งมีเรื่องราวบ่งบอกคาเเร็กเตอร์เท่ ๆ ของชายหนุ่มเจ้าของบ้าน คอนกรีตหล่อในที่

ออกแบบเป็นโถงเปิดโล่งถึงชั้น 3 ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับครอบครัวในอนาคต เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและมีปฏิสัมพันธ์กัน บนหลังคาทำสกายไลต์และช่องระบายอากาศให้เป็นระบบระบายความร้อนเพื่อหมุนเวียนอากาศแนวตั้ง (Stack Effect Ventilation)
ห้องทำงานเเละพื้นที่พักผ่อนบนชั้น 2 กรุผนังกระจกเปิดรับแสงธรรมชาติด้านทิศตะวันออกยาวตลอดเเนว กรองเเสงด้วยม่านมู่ลี่ที่สร้างเส้นสายของเเสงเงาทาบลงบนพื้นไวนิลลายก้างปลาดูสวยไปโดยปริยาย
สร้างผิวสัมผัสดิบเท่ให้ผนังไร้การปรุงแต่งด้วยเทคนิคการหล่อคอนกรีตในที่

Tip การหล่อคอนกรีตในที่ เริ่มจากการนำแบบประกอบ หรือแม่พิมพ์ยึดเข้าด้วยกันตามรูปทรงที่ต้องการ โดยแม่พิมพ์สามารถทำได้จากเหล็กและไม้ แล้วเสริมเหล็กเส้นข้างใน จากนั้นเทคอนกรีตลงไป เมื่อคอนกรีตเซตตัวจึงค่อยถอดแม่พิมพ์ออก การใช้แม่พิมพ์เหล็กจะได้ผนังที่มีความเรียบเนียนสูง เนื้อคอนกรีตผสานเป็นเนื้อเดียวกัน แต่เมื่อถอดแบบออก มักทิ้งร่องรอยของรูนอตเอาไว้กลายเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่ง

ความสมบูรณ์แบบในความไม่สมบูรณ์แบบ

บ้านหลังนี้มีขนาด 3 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยกว่า 500 ตารางเมตร สร้างบนที่ดิน 100 ตารางวา ที่เกิดจากความต้องการของคุณชิงที่อยากสร้างบ้านของครอบครัว โดยได้บอกว่าเขามีความชื่นชอบในผลงานของ Tadao Ando สถาปนิกชาวญี่ปุ่น ที่มีความดิบ ความเป็นอินดัสเทรียล-ลอฟต์ และมีความเป็นโมเดิร์นแทรกอยู่ จนมาลงตัวกับบ้านที่มีลักษณะโดดเด่นด้วยผนังรับแรงเฉือน (Shear Wall) โชว์ร่องรอยความงามบนพื้นผิวที่ผ่านทั้งความยากและท้าทายของสถาปนิก

ทั้งนี้ก่อนการออกแบบสถาปนิกได้คำนวณทิศทางของแสงแดดและลมมาอย่างดี เพื่อให้บ้านไม่ร้อนเเม้จะอยู่ในบ้านที่เป็นกล่องคอนกรีตดูปิดทึบก็ตาม  อีกทั้งยังอยากหลีกหนีจากสไตล์ลอฟต์ที่ใช้ปูนฉาบบาง(สกิมโค้ต)ที่เป็นการฉาบเฉพาะผิว หลังจากเดินทางไปญี่ปุ่นเเละได้ไปดูงานออกแบบของอันโดะทุกปี ความงามแบบไม่ปรุงแต่งที่พบเห็นจึงได้กลายมาเป็นต้นเเบบของบ้านนี้ เพราะเสน่ห์ของคอนกรีตเปลือย คือ ความสมบูรณ์แบบในความไม่สมบูรณ์แบบ ร่องรอยที่เกิดขึ้นจากไม้แบบ รอยด่างของน้ำปูน เป็นเรื่องราวที่ทำให้บ้านมีจิตวิญญาณของคนสร้าง คนออกแบบ และผู้อยู่อาศัยซ่อนอยู่ในดีเทลเหล่านี้

มุมทำงานชั้น 2 แสดงถึงความชื่นชอบภาพยนตร์เรื่องสตาร์วอร์ส ผสมผสานการตกแต่งสไตล์โมเดิร์นลอฟต์ ด้วยการใช้โทนสีดำและวัสดุที่โชว์เนื้อแท้
โต๊ะทำงานบริเวณชั้น 2 หุ้มแผ่นสังกะสีกัดกรดทำให้เกิดเท็กซ์เจอร์ที่สวยงามเฉพาะตัว เฟอร์นิเจอร์บิลท์อินใช้ไม้จริงผสมเหล็ก หรือสเตนเลสทำสีพาวเดอร์โค้ตสีดำทั้งหมด
“หุ่น Figure Stormtrooper สูง 30 นิ้ว 2 ตัวนี้เปรียบเทียบให้เห็นวิวัฒนาการของการออกแบบคาแร็กเตอร์จากยุค Empire และยุค First Order”
โถงชั้นล่างเป็นโชว์รูมเล็กๆ ของคุณชิง “มอเตอร์ไซค์ BMW รุ่น R25/2 สูบเดียวคันนี้ เป็นของแต่งบ้านที่วินเทจที่สุดในบ้าน เป็นของหายากที่น่าจะมีไม่เกิน 10 คันในประเทศไทย”

บ้านคอนกรีตสเปซไทยที่อยู่ได้จริง

คุณภาคภูมิ หัศบำเรอ แห่ง Atelier P ผู้ออกแบบสถาปัตยกรรมและตกแต่งภายในเล่าย้อนไปยังจุดเริ่มต้นว่า “เมื่อ 30 ปีก่อน ผมได้ออกแบบบ้านคุณพ่อคุณแม่คุณชิงซึ่งอยู่ตรงข้ามบ้านนี้ จึงรู้จักกันตั้งแต่คุณชิงยังเด็ก รู้จักตัวตนกันพอสมควร เมื่อจะมีบ้านของตัวเองจึงได้คุยกัน ด้วยความที่คุณชิงชอบงานคอนกรีตเปลือย จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการออกแบบบ้านสไตล์นี้ในบริบทของไทย มีสเปซแบบไทยที่อยู่ได้จริง ออกแบบตามทิศทางแดดลมให้อยู่สบาย สอดคล้องกับการใช้งานของเจ้าของบ้าน และสอดแทรกดีไซน์ให้มีลักษณะเฉพาะตัว”

ความยากในการก่อสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กหล่อในที่นั้นเป็นทั้งอุปสรรคและการเรียนรู้ คุณวรวุฒิ กาญจนกูล แห่ง W House เล่าถึงการก่อสร้างว่า “การทำโครงสร้างแบบนี้ต้องอาศัยการออกแบบและวางแผนอย่างละเอียดจากผู้ออกแบบ ตั้งแต่การจัดเรียงแพตเทิร์นไม้แบบ การฝังงานระบบ การฝังบล็อกไฟ การทำช่องประตูหน้าต่าง รวมถึงงานตกแต่งภายใน เพราะเมื่อถอดไม้แบบแล้วจะไม่สามารถแก้ไขได้ อีกทั้งคอนกรีตแต่ละยี่ห้อและแต่ละล็อตจะมีสีแตกต่างกัน จึงต้องนำมาทดสอบก่อน และใช้ไม้แบบไม้อัดเคลือบฟิล์มดำ โดยใช้ไม้แบบใหม่ทั้งหมด เพื่อให้พื้นผิวคอนกรีตออกมาเรียบสวยงาม”

ช่องบันไดประกบด้วยผนังคอนกรีตที่ให้ความรู้สึกเหมือนอุโมงค์ และใช้กั้นพื้นที่ส่วนรับประทานอาหารให้เป็นสัดส่วนส่วน บันไดออกแบบเป็นโครงเหล็กกรุไม้ยื่นลอยจากผนังที่ให้ความรู้สึกทั้งหนักแน่นและโปร่งเบา
ออกแบบมุมรับประทานอาหารให้มีมิติด้วยผนังกรุกระจกเงาไร้กรอบทั้งผืนที่ทำให้ผนังดูยาวสองเท่าแบบไร้รอยต่อ ถ้าไม่บอกก็ไม่มีใครรู้ว่าด้านหลังผืนกระจกเงาได้ซ่อนห้องน้ำไว้ด้วย
มุมแพนทรี่เรียบเท่ด้วยเคาน์เตอร์แบบไอส์แลนด์กรุสเตนเลส ล้อด้วยโคมไฟแขวนเพดานรูปทรงสี่เหลี่ยมที่ดูเข้ากัน
ซ่อนประตู ซ่อนห้องน้ำไว้หลังผนังกระจก โดยออกแบบแพตเทิร์นการต่อกระจกให้ลงตัวกับขนาดประตู และใช้การเปิดประตูแบบกดกระเด้งจึงไม่ต้องมีมือจับ
ห้องน้ำที่ซ่อนอยู่หลังผนังกระจกเงาออกแบบเรียบเท่ด้วยโทนสีดำและการใช้รูปทรงเรขาคณิต และทำผนังกระจกเต็มบานรับแสงธรรมชาติ

ปิดกั้นเพื่อความเป็นส่วนตัว เเต่ไม่ปิดกั้นเเสงเเละลมธรรมชาติ

พื้นที่ชั้นล่างเป็นส่วนรับแขก ส่วนรับประทานอาหาร แพนทรี่ ห้องครัว และส่วนแม่บ้าน ชั้น 2 เป็นส่วนพักผ่อน ส่วนทำงานและห้องนอนคุณชิง มีโถงเปิดโล่งเชื่อมต่อไปยังชั้น 3 ซึ่งเตรียมไว้สำหรับครอบครัวในอนาคต สถาปนิกอธิบายเพิ่มเติมว่า “ออกแบบพื้นที่ให้มีความลึกลับดูน่าค้นหา จึงจัดสเปซให้แต่ละชั้นมีความแตกต่างกัน มีการเบรกเส้นทางเดินภายในบ้าน (Circulation) โดยวางตำแหน่งบันไดชั้น 1-2 ที่โถงทางเข้า แล้วย้ายบันไดขึ้นชั้น 3 ไว้อีกมุมหนึ่งเพื่อให้เดินผ่านพื้นที่ต่าง ๆ ภายในบ้านเน้นความเป็นส่วนตัว ป้องกันตัวเองจากสภาพแวดล้อมรอบด้านซึ่งมีอพาร์ตเมนต์สร้างติดกัน เราปิดกั้นความไม่เป็นส่วนตัวจากภายนอก แต่ไม่ได้ปิดกั้นจากแสงและลมธรรมชาติ เปิดให้มีแสงเงาตกกระทบกับพื้นผิวคอนกรีต บ้านเราแดดดีจึงต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ เพียงระวังเรื่องความร้อนที่จะเข้ามา อีกทั้งเตรียมพื้นที่สำหรับของสะสมที่มีจำนวนมาก โดยคำนึงถึงการจัดวางให้สวยงาม”

“หมวก Stormtrooper สองใบนี้เป็นงานสั่งผลิตและทำสีพิเศษจากนักทำพร็อปส์ชื่อดังจากเพจ Star Wars Props Society ซึ่งสามารถนำมาสวมใส่ได้จริง”
มุมโชว์ของสะสมที่ชั้น 3 ซึ่งนอกจากของสะสมจากภาพยนตร์เรื่องสตาร์วอร์สแล้ว ยังมีของสะสมอื่นๆ เช่น หมวก ฟิกเกอร์ ดีไซเนอร์ทอย และ Bearbrick

ตกเเต่งของสะสมสะท้อนความชื่นชอบเเละตัวตน 

“Figure Boba Fett ขนาด 400% ของ Kubrick โดย Medicom Toy ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตของเล่นแนว Art Toys ชื่อดังในสมัยนี้ ความท้าทายในการสะสมของเล่นพวกนี้คือการตามเก็บสะสมให้ครบทั้งซีรี่ส์ ซึ่งแต่ละตัวที่ได้มานั้นมีเรื่องราวในการเดินทางเพื่อตามหา และมีความยากง่ายในการได้มาไม่เหมือนกัน”

ภายใต้ความดิบของคอนกรีตเปลือย มีของสะสมและงานศิลปะตกแต่งบ้านให้มีชีวิตชีวามากขึ้น และเมื่อก้าวขึ้นไปยังชั้นบน เหมือนนำไปสู่อีกมิติที่เป็นจักรวาลของคุณชิง “เมื่อทุกคนเข้ามาในบ้านจะมีว้าวเล็กๆ แต่พอขึ้นมาชั้น 2 ก็จะมีเสียงว้าวอีกระดับ สตาร์วอร์สเป็นของสะสมตั้งแต่เด็กจนไม่รู้ว่าจะฉีกตัวออกจากมันได้อย่างไร เป็นผลงานของจอร์จ ลูคัสที่ออกแบบเรื่องราวของพลังด้านสว่างและด้านมืดที่ก่อให้เกิดความสมดุลในจักรวาล ผมหลงใหลดาร์ธเวเดอร์มาตั้งแต่เด็ก เป็นคาแร็กเตอร์ที่มีความโดดเด่น จากเด็กธรรมดาคนหนึ่งที่เจไดทุกคนเชื่อว่าจะเป็นผู้กอบกู้ กลับกลายเป็นดาร์ธเวเดอร์ ลอร์ดแห่งความมืดที่พัดพาความชั่วร้ายมาสู่จักรวาล ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ผมใช้สอนตัวเองว่าเราต้องปรับสมดุลด้านมืดและด้านสว่างในชีวิตให้ได้”

บ้านหลังนี้จึงเป็นสิ่งสะท้อนประสบการณ์ชีวิตที่ค่อยๆ กลั่นกรองจนตกตะกอนเป็นความลงตัว เช่นเดียวกับมวลคอนกรีตที่เผยรอยด่างจากตะกอนธาตุอย่างไม่จงใจ แต่แฝงไว้ด้วยความงามที่น่าค้นหา

ในห้องนอนทำพื้นยกระดับแล้ววางฟูกแทนการใช้เตียงแบบลอยตัวซึ่งใช้เป็นที่นั่งได้ด้วย พร้อมซ่อนไฟด้านล่างให้ดูเบาลอยและให้แสงนวลตาในตอนกลางคืน
ห้องน้ำโทนสีขาวสะอาดตาตัดกับผนังสีทองแดงทำให้อ่างอาบน้ำที่วางลอยตัวดูสวยเด่นขึ้น
ระเบียงบนชั้น 2 ปูหญ้าเทียมและวางหินเทียมให้เป็นทั้งที่นั่งและของตกแต่ง
เฉลียงหน้าบ้านทำบ่อปลาให้เป็นมุมนั่งเล่น ล้อมรอบด้วยผนังต้นไม้ที่ปลูกบังรั้วไว้ ทำที่นั่งด้วยไม้เก่าและเศษเหล็กรูปพรรณที่เหลือใช้จากโรงงาน
ทำมือจับประตูหน้าบ้านด้วยแผ่นไม้ที่สลักคำว่า “Chingy’ s Crib” เป็นการต้อนรับสู่จักรวาลของคุณชิง
สถาปนิกออกแบบเลขที่บ้านด้วยเส้นตรงเรียบง่ายให้เข้ากับตัวบ้าน

เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
ผู้ช่วยช่างภาพ : เฉลิมวุฒิ แจ้งสว่าง
สไตล์ : Jeedwonder Jeed
ผู้ช่วยสไตลิสต์: กิ่งกาญจน์ ปัญญาแก้ว เเละวิมพ์วิภา ติละโพธิ์

อ่านต่อ บ้านคอนกรีตเปลือยหล่อในที่ สไตล์โมเดิร์นทรอปิคัล