สำหรับมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มตกหลุมรักในตัวไม้คงจะคันไม้คันมือ อยากลองนำไม้มาใช้งานดูเสียที หากใครไม่แน่ใจว่าจะต้องเตรียมตัวก่อนไป ซื้อไม้ อย่างไร แล้วจะซื้อแบบไหน อย่างไร พบกับคำตอบของคำถามมากมายเหล่านี้ได้เลย
ก่อนจะไป ซื้อไม้ เพื่อนำมาทำเฟอร์นิเจอร์หรือชิ้นงานที่ต้องการ ช่างไม้มือใหม่มีข้อควรรู้ดังต่อไปนี้
รู้งาน
ไม้แต่ละชนิดมีคุณสมบัติไม่เหมือนกัน ไม้เนื้อแข็งหรือไม้เนื้ออ่อนก็เหมาะกับการใช้งานที่ต่างกัน ก่อนซื้อต้องรู้ว่าจะเอาไม้ไปใช้ทำอะไร เช่น นำไปใช้เป็นโครงสร้างบ้าน ทำผนังหรือพื้น หรือประกอบเป็นเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น เพื่อเลือกชนิดของไม้ให้ตรงตามต้องการ
รู้ขนาด
ควรลิสต์ขนาดไม้ที่ต้องใช้เอาไว้เพื่อให้ง่ายเวลาสั่งซื้อ และเช็กก่อนว่าร้านที่เราจะไปซื้อมีไม้ขนาดที่ต้องการหรือไม่ ไม้บางขนาดอาจต้องไปสั่งที่โรงเลื่อย ถ้าไปร้านไม้เก่าอย่าลืมพกตลับเมตรเพื่อวัดขนาดไม้ที่แท้จริงไปด้วย
รู้งบประมาณ
ขนาดหน้าตัดของไม้มีหน่วยเป็นนิ้วส่วนความยาวมีหน่วยเป็นเมตรหรือฟุต แต่ราคาของไม้ใช้หน่วยลูกบาศก์เมตร (คิวบิกเมตร : เมตร x เมตร x เมตร) หรือ ลูกบาศก์ฟุต (คิวบิกฟุต, คิว :ฟุต x ฟุต x ฟุต) จึงต้องแปลงหน่วยให้ดีก่อน เพื่อคำนวณงบประมาณที่ต้องเตรียมไว้ ส่วนไม้เก่าจะขายเป็นศอกหรือยก ก็ต้องแปลงหน่วยเพื่อเปรียบเทียบราคาเหมือนกัน
รู้จำนวน
คำนวณจำนวนไม้ที่ต้องใช้ไว้ก่อนจะช่วยประหยัดเวลาในการสั่งซื้อและได้ไม้ครบถ้วน ไม่ตกหล่น
รู้เก็บ
ไม้ทุกชิ้นมีราคา ยิ่งเป็นไม้เนื้อดีลวดลายสวยงาม ก็ยิ่งมีมูลค่ามากและเป็นที่ต้องการ ควรเตรียมพื้นที่สำหรับกองเก็บไม้ไว้ให้พร้อมก่อนซื้อเพื่อป้องกันการสูญหาย พื้นที่ตรงนั้นควรแห้งหากพ้นจากแสงแดดได้ยิ่งดี
รู้วิธีขนส่ง
เตรียมยานพาหนะให้พร้อมสำหรับการขนไม้ หากไม่มีลองสอบถามก่อนว่าร้านไหนมีบริการขนส่งไม้ และคิดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เท่าไร
เมื่อทราบสิ่งที่ควรรรู้ในเบื้องต้นก่อนการซื้อไม้แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือต้องรู้วิธีดูไม้ด้วยว่า ไม้แต่ละชนิดมีลักษณะอย่างไร และควรทราบคุณสมบัติในเบื้องต้น เพื่อจะได้ทราบว่าไม้ที่เราเลือกซื้อนั้นเหมาะกับประเภทงานที่เราต้องการหรือเปล่า
วิธีดูไม้เบื้องต้น
นอกจากการดูไม้ที่ไม่บิดงอและมีสภาพอยู่ในเกณฑ์ที่เราพอใจแล้ว ไม้แต่ละชนิดมีลักษณะเฉพาะตัว การสังเกตเนื้อไม้ ลวดลาย สี และกลิ่นทำให้เราสามารถแยกได้ว่า ไม้เก่าชิ้นนี้เป็นไม้อะไร ซึ่งจะช่วยให้เราซื้อไม้ได้ถูกต้องตามการใช้งาน และได้ราคาที่สมเหตุสมผล
ไม้แดง
เนื้อไม้แน่น แข็ง ทำให้ตัดหรือเจาะ ยาก บริเวณหน้าตัดจะมองเห็นรอยเยิ้มซึ่งเกิดจากยางไม้เส้นของไม้ละเอียดจนแทบมองไม่เห็นลาย มีสีแดงเข้ม กลิ่นเหม็น แต่ถ้าแห้งจะไม่มีกลิ่นเหมาะสำหรับทำโครงสร้าง เช่น เสา คาน ตงบันไดและพื้น รับนํ้าหนักได้ดีและไม่ค่อยยืดหดตัว
ไม้ประดู่
เนื้อไม้แข็งมีความทนทาน ลายเส้นของไม้เข้มกว่าสีพื้นไม้เล็กน้อยเนื้อไม้มีสีแดงอมเหลืองถึงแดงอิฐในต่างประเทศเรียกโรสวู้ด มีกลิ่นฉุน นิยมนำมาทำเฟอร์นิเจอร์ราวบันได และเสา
ไม้ตะแบก เนื้อไม้ละเอียด ใส และขึ้นเงามีลวดลายชัดเจน สีเทาอมเหลืองเมื่อก่อนนิยมใช้เป็นไม้แบบภายหลังนำมาปูพื้น ซึ่งเมื่อขัดและลงเงาแล้วจะมีความใกล้เคียงกับไม้สักมาก ราคาถูกแต่คุณภาพไม้จะสู้ไม้สักไม่ได้
ไม้สัก
มีเนื้อละเอียด มีความนิ่ม จึงง่ายต่อการใช้เครื่องมือ มีลายเรียงเป็นเส้นชัด ยิ่งเก่าก็จะยิ่งเห็นเป็นร่องชัดเจน ดูสวยงามมาก ไม้สักทองและไม้สักขี้ควายมีลักษณะใกล้เคียงกัน แต่ไม้สักทองมีสีเหลืองสวย ส่วนไม้สักขี้ควายมีสีคลํ้าลงมาหน่อยและมีลวดลายสับสน ไม้สักมีกลิ่นเฉพาะตัว ซึ่งไม่ฉุน เหมาะสำหรับทำเฟอร์นิเจอร์ ผนัง ประตู และหน้าต่าง ไม่ควรนำไปใช้ในบริเวณที่ต้องรับนํ้าหนักมาก ๆ
ไม้ยาง
เนื้อไม้อ่อน หยาบ มีเสี้ยนใหญ่ตรง มีสีอ่อน ไม้ยางที่มีสีอมแดงจะแข็งแรงกว่าสีอ่อน เหมาะกับการใช้งานในที่ร่ม เพราะเป็นไม้ที่ยืดหดตัวสูง แต่ตอกตะปูหรือเลื่อยได้ง่าย นิยมใช้เป็นไม้ฝา โครงคร่าวฝ้าเพดาน หรือโครงคร่าวผนัง
ไม้ตะเคียน
เนื้อไม้ละเอียดปานกลาง เหนียวทนทาน มีลวดลายสับสนสีขาวหรือเทาขาว เนื้อไม้สีเหลืองหม่นหรือนํ้าตาลอมเหลือง มีตำหนิเรื่องรูมอดอยู่บ้าง เนื่องจากมีความแข็งพอดียืดหดตัวน้อย นิยมใช้ในงานภายใน
ไม้มะค่า
หรือไม้เจริญสุข เนื้อไม้แข็งค่อนข้างหยาบ แต่เงา ผุพังยาก ริ้วลายสีแดงเข้มเรียงเป็นเส้นตรง เนื้อไม้มีสีนํ้าตาลอมส้มเหลือบนํ้าตาลทอง สีของไม้จะเข้มขึ้นเมื่อโดนแดด ไม้มะค่าแต้ที่ทิ้งไว้นาน ๆ จะมีสีดำและมีความแข็งมาก ขนาดตะปูยังตอกไม่เข้า ไม่มีกลิ่น นิยมนำไม้มะค่าไปใช้ในงานโครงสร้าง เสา คาน พื้น ประตู และหน้าต่างเหมาะสำหรับการใช้งานหนัก ๆ
เมื่อทราบข้อควรรู้ก่อนการเลือกซื้อไม้รวมทั้งคุณสมบัติของไม้ชนิดต่างๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ไปลุยร้านไม้เพื่อเลือกซื้อไม้ถูกใจกันได้เลย
ข้อมูลจาก: The Manual Vol. 02 Woodwork = คู่มืองานช่างของคนรักบ้าน
เรื่อง: กองบรรณาธิการบ้านและสวน
ภาพ: ปรัชญา จันทร์คง, ธนาวุฒิ โชติประดิษฐ, ศุภกร ศรีสกุล