แผงโซลาร์เซลล์

แผงโซลาร์เซลล์ มีกี่แบบ ควรเลือกอย่างไร?

แผงโซลาร์เซลล์
แผงโซลาร์เซลล์

มารู้จัก แผงโซลาร์เซลล์ เพื่อผลิตไฟฟ้าไว้ใช้เอง อะไรดีกว่ากัน เเต่ละประเภทมีอายุการใช้งานกี่ปี ตามมาดูคำตอบกันได้เลย

แผงโซลาร์เซลล์สีดำ ดีไซน์เรียบ ดูกลมกลืนกับอาคารได้ดี (www.solar-d.co.th)

แผงโซลาร์เซลล์ คืออะไร

แผงโซลาร์เซลล์ หรือ Photovoltaics (PV) คือ การนำโซลาร์เซลล์ จำนวนหลาย ๆ เซลล์ มาต่อวงจรรวมกันเป็นแผงขนาดใหญ่ เพื่อให้สามารถผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าได้มากยิ่งขึ้น โดยไฟฟ้าที่ได้นั้นจะเป็นไฟฟ้ากระแสตรง DC (Direct Current) แต่เนื่องจากอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้งานภายในบ้านของเราส่วนใหญ่เป็นไฟฟ้ากระแสสลับ AC (Alternating Current) ดังนั้น ก่อนใช้งานจึงต้องนำมาแปลงไฟเสียก่อน โดยต่อเข้ากับเครื่องแปลงไฟ หรือที่เรียกว่า อินเวอร์เตอร์ (Inverter) นั่นเอง

ปัจจุบันแผงโซลาร์เซลล์กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ทำมาจากผลึกซิลิคอน (Crystalline Silicon) ซึ่งอยู่ในรูปแบบแตกต่างกันไป โดยซิลิคอนที่มีความบริสุทธิ์มาก ๆ จะมีโมเลกุลจัดเรียงตัวกันอย่างเป็นระเบียบ ทำให้มีคุณสมบัติในการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ไปเป็นพลังงานไฟฟ้าได้มากกว่า แต่ประสิทธิภาพของแผงโซลาร์เซลล์อาจไม่ใช่สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึง แต่เป็นเรื่องของคุณภาพสินค้า ความน่าเชื่อถือของผู้ผลิต ความสวยงามที่คู่ควรกับบ้าน และความคุ้มค่าในการลงทุน

รูปแบบของแผงโซลาร์เซลล์ที่มีขายอยู่ในท้องตลาด

ปัจจุบันแผงโซลาร์เซลล์ที่นิยมใช้งานมีอยู่ 3 ชนิดหลัก ๆ ได้แก่

1.โมโนคริสตัลไลน์ (Mono Crystalline Silicon Solar Cell)

ทำจากผลึกซิลิคอนเชิงเดี่ยวที่มีคุณภาพและมีความบริสุทธิ์สูง สังเกตได้ง่าย ๆ คือ ลักษณะของเซลล์เป็นรูปสี่เหลี่ยมที่ลบมุมทั้งสี่ออก โดยนำมาวางเรียงต่อ ๆ กันเพื่อให้การใช้งานมีประสิทธิภาพสูงสุด มีสีเข้มที่ดูสวยงาม  และสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้สูงกว่าแผงโซลาร์เซลล์ชนิดอื่น แม้อยู่ในภาวะแสงแดดน้อยก็ตาม ส่วนอายุการใช้งานยาวนานถึง 25 ปีขึ้นไป เเต่ขณะเดียวกันก็มีราคาที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับแผงโซลาร์เซลล์ชนิดอื่น ในปัจจุบันยังมีแผงโซลาร์เซลล์ เกรดพรีเมี่ยม ซึ่งมีสีดำล้วน ดีไซน์เรียบเท่ ช่วยส่งเสริมให้บ้านดูสวยงามมีสไตล์ให้เลือกใช้อีกด้วย

แผงโซลาร์เซลล์
แผงโซลาร์เซลล์ LG Neon 370 เป็นแผงสีดำล้วน เกรดพรีเมี่ยม จาก Solar D (www.solar-d.co.th)

2.พอลิคริสตัลไลน์ (Poly Crystalline Silicon Solar Cell)

ทำมาจากผลึกซิลิคอนเหมือนแผงโซลาร์เซลล์เเบบโมโนคริสตัลไลน์ แต่มีขั้นตอนการผลิตแตกต่างกัน โดยนำซิลิคอนเหลวมาเทใส่พิมพ์ที่เป็นสี่เหลี่ยม จากนั้นตัดแบ่งให้เป็นแผ่นบาง ๆ ทำให้เซลล์แต่ละเซลล์เป็นรูปสี่เหลี่ยมต่อ ๆ กัน โดยไม่มีการตัดมุมบริเวณขอบของช่องสี่เหลี่ยม และใช้ปริมาณซิลิคอนในการผลิตน้อยกว่า แผงเป็นสีน้ำเงินแต่ไม่เข้มมาก มีประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ดี แต่น้อยกว่าแผงแบบโมโนคริสตัลไลน์ (ยกเว้นการใช้งานในที่อุณหภูมิสูง แผงแบบพอลิคริสตัลไลน์จะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ดีกว่าแผงแบบโมโนคริสตัลไลน์เล็กน้อย) จึงมีราคาถูกกว่า อายุการใช้งานประมาณ 20-25 ปี

3.โซลาร์เซลล์แบบฟิล์มบาง หรือ อะมอร์ฟัสโซลาร์เซลล์ (Amorphous Solar Cell)

หนึ่งในหลายชนิดของแผงโซลาร์เซลล์แบบฟิล์มบาง (Thin Film Solar Cell) เกิดจากการนำสารที่มีคุณสมบัติในการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ไปเป็นพลังงานไฟฟ้ามาฉาบเป็นชั้นฟิล์มบาง ๆ (ซ้อนกันหลาย ๆ ชั้น) บางคนจึงเรียกว่าโซลาร์เซลล์ชนิดนี้ว่า ฟิล์มบาง นั่นเอง เป็นแผงโซลาร์เซลล์ที่มีราคาถูกที่สุด การผลิตกระแสไฟฟ้า และอายุการใช้งานมีน้อยกว่าแผงชนิดอื่น ๆ

เทคนิคการเลือกซื้อแผงโซลาร์เซลล์ฉบับเข้าใจง่าย

ปัจจุบันแผงโซลาร์เซลล์ได้รับการพัฒนาคุณภาพให้ดียิ่งขึ้นตามลำดับ จึงคุ้มค่าเเละใช้ทุนในการติดตั้งน้อยลง เเต่จะเลือกซื้ออย่างไรให้คุ้มค่าคุ้มราคา เรามีคำเเนะนำดังนี้

1.เลือกแผงโซลาร์เซลล์ให้เหมาะกับงาน

แผงโซลาร์เซลล์แบบคริสตัลไลน์ที่เหมาะกับการติดตั้งบนหลังคาของบ้านพักอาศัย แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ Mono Crystalline และ Poly Crystalline โดยทั้งสองชนิดจะมีคุณภาพไม่แตกต่างกันมาก แต่เมื่อเทียบกำลังวัตต์ที่เท่ากัน แผงโซลาร์เซลล์แบบ Mono Crystalline จะมีขนาดเล็กกว่า เหมาะกับสถานที่ติดตั้งที่มีพื้นที่จำกัดอย่าง หลังคาบ้าน แต่ถ้าต้องการประหยัดงบในกระเป๋า สามารถเลือกใช้แผงโซลาร์เซลล์แบบ Poly Crystalline เเทนได้ เพราะมีราคาถูกกว่าประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์

สำหรับผู้ที่ต้องการนำแผงโซลาร์เซลล์ไปใช้งานโดยตรงกับปั๊มน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ควรเลือกแผงโซลาร์เซลล์ที่มีกำลังวัตต์มากกว่าเท่าตัว เพราะการสตาร์ทปั๊มน้ำในช่วงแรกจะต้องใช้กระแสไฟมากพอสมควร ส่วนผู้ที่ใช้ร่วมกับแบตเตอรี่ควรเลือกแผงโซลาร์เซลล์มีกำลังวัตต์มากกว่าอุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างน้อย 20 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเป็นการถนอมแบตเตอรี่ให้ใช้งานได้ยาวนานขึ้น

2.การติดตั้งที่กลมกลืนกับอาคารอย่างสวยงาม 

บ่อยครั้งที่การติดแผงโซลาร์เซลล์ทำให้อาคารสูญเสียความสวยงาม โดยเฉพาะบ้านในเมืองไทยที่นิยมทำหลังคาทรงปั้นหยาที่มีมุมเอียง การเลือกแผงโซลาร์เซลล์ที่ออกแบบมาให้ติดตั้งตามรูปทรงหลังคาได้ จะทำให้ดูกลมกลืนกับตัวบ้าน อีกทั้งการเลือกแผงชนิดสีดำล้วน ดีไซน์เรียบ และมีวิธีการติดตั้งให้กลมกลืนกับเส้นกระเบื้องหลังคา จะทำให้บ้านยังคงดูสวยงามทันสมัย

แผงโซลาร์เซลล์ LG Neon 370 จาก Solar D ติดตั้งได้กลมกลืนกับหลังคาบ้านได้ดี

3.ความน่าเชื่อถือของผู้ผลิต

แผงโซลาร์เซลล์จะติดอยู่กับบ้านไปอีกหลายสิบปี การรับประกันและความน่าเชื่อถือของผู้ผลิตจึงทำให้มั่นใจว่าบริษัทผู้ผลิตและผู้ให้บริการจะยังคงอยู่ตลอดการรับประกันสินค้า สินค้าที่ได้มีคุณภาพมาตรฐาน และมีทีมงานคอยดูแลตลอดอายุการใช้งาน โดย Solar D เลือกใช้แผงโซลาร์เซลล์ของ LG แบรนด์ท๊อปคุณภาพระดับโลกที่ได้รับรางวัลการันตีคุณภาพมากมาย อีกทั้ง Solar D ยังมีการรับประกัน

  • แผง Solar  25 ปี
  • Inverter 10 ปี
  • Storage 10 ปี
  • การบริการหลังการขายและดูแลระบบ ช่วยเหลือทางด้านเทคนิค รวมไปถึงการตรวจเยี่ยมบ้าน ฟรี 5 ปี และมีแพคเกจบริการหลังการขาย
  • บริการทำความสะอาดแผงบนตัวอาคารฟรี ปีละ 1 ครั้ง
แผงโซลาร์เซลล์
แผงโซลาร์เซลล์ LG สีดำล้วน ดีไซน์สวย จาก Solar D

4.กำลังวัตต์ของแผงโซลาร์เซลล์ที่ผลิตได้

ก่อนเลือกแผงโซลาร์เซลล์มาใช้งาน เราต้องรู้ก่อนว่าต้องการผลิตกระแสไฟฟ้ามากน้อยเพียงใด และต้องใช้ขนาดกำลังวัตต์เท่าใดจึงจะเหมาะสม เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไปคำนวณและออกแบบระบบให้ถูกต้อง และถ้ามองเรื่องความคุ้มค่าอาจเปรียบเทียบแผงโซลาร์เซลล์จากราคาบาทต่อวัตต์ (Baht/W) ว่าสูงหรือต่ำ โดยแผงโซลาร์เซลล์มีหลายขนาดให้เลือกตั้งแต่ 10-300 วัตต์ขึ้นไป สำหรับอายุการใช้งานโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 20-25 ปี แต่เมื่อเวลาผ่านไปประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าก็จะลดลงตามลำดับ แผงโซลาร์เซลล์ที่ได้มาตรฐานเมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี ประสิทธิภาพของแผงโซลาร์เซลล์จะลดลงเหลือประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ และ 25 ปี จะลดลงเหลือประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ควรเลือกขนาดกำลังวัตต์ ให้เหมาะกับการใช้งานในรูปแบบต่างๆ เช่น โซลาร์เซลล์ขนาด 10-20 วัตต์ ใช้เป็นไฟส่องสว่างทางเดินในบ้านหรือในสวน โซลาร์เซลล์ขนาด 225 วัตต์ขึ้นไป ใช้กับปั๊มน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น

ผู้ที่กำลังมองหาหรือกำลังตัดสินใจเลือกซื้อแผงโซลาร์เซลล์คงพอได้คำตอบในใจแล้วว่า แผงโซลาร์เซลล์แบบใดที่เหมาะกับการใช้งานของคุณ เพื่อให้การใช้งานแผงโซลาร์เซลล์เเต่ละประเภท เป็นไปอย่างคุ้มค่าเเละเต็มประสิทธิภาพสูงสุด

ขอบคุณภาพและข้อมูล : Solar D (www.solar-d.co.th)

บทความที่เกี่ยวข้อง

ติดตั้งโซลาร์เซลล์สำหรับบ้าน อ่านแล้วตัดสินใจได้เลย