การจัดสวนใช้จินตนาการเป็นหลักคู่กับความเป็นจริงของสิ่งแวดล้อม เริ่มคิดตั้งแต่ยังเป็นต้นเล็กๆและคิดต่อไปว่าหากต้นโตเต็มที่จะเป็นอย่างไร เหมือนค่อยๆทำความรู้จักพื้นที่ เรียนรู้และเติบโตไปกับต้นไม้อย่างช้าๆแต่เข้าใจกัน เพื่อให้ต้นไม้ที่ได้หยั่งรากลึกอย่างแข็งแรงและเหมาะสมกับที่ที่อยู่มากที่สุด Whispering Land
นานแค่ไหนแล้วที่เราอยู่แต่ในบ้านหรือห้องสี่เหลี่ยม ออกไปไหนไม่ได้ ลองหลับตาแล้วฟังว่าคุณได้ยินเสียงกระซิบอะไรบ้างไหม ถ้าเสียงที่ได้ยินยังเป็นเสียงเครื่องปรับอากาศที่กำลังทำงานอยู่ ผู้คนที่กำลังพูดคุยอยู่ไกลๆ เสียงรถราที่ยังคงสัญจรอยู่บนท้องถนน หรือเสียงของความว่างเปล่า ไร้ซึ่งความมีชีวิตชีวา หากหมดจากช่วงอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติอันแสนยาวนานครั้งนี้ไปแล้ว เรามีสถานที่หนึ่งที่อยากให้คุณได้ไป Whispering Land
Whispering Land คือคาเฟ่ขนาดเล็กในพื้นที่ขนาดใหญ่กว่า 9 ไร่ของ คุณวิทย์-ศิริวิทย์ ริ้วบำรุง และครอบครัว ซึ่งต้องการสร้างความสุขในอีกรูปแบบหนึ่งให้แก่ผู้มาเยือนที่ให้ความรู้สึกแตกต่างจากร้าน Little Tree แรกเริ่มเดิมทีที่ดินแปลงนี้ได้รับการเติมแต่งไปทีละเล็กทีละน้อย แฟนพันธุ์แท้ของร้าน Little Tree คงพอจำกันได้ว่านอกจากพื้นที่บริเวณร้านอาหารแล้ว ครอบครัวของคุณวิทย์ยังมีที่อีกแปลงในบริเวณใกล้เคียงกัน ซึ่งเปลี่ยนจากที่ดินโล่งๆมาเป็นทั้งสถานที่ที่ปลูกผลผลิตพวกผักและผลไม้ปลอดสารพิษป้อนให้ร้าน Little Tree และใช้เป็นสถานที่จัดค่ายจังหวะชีวิต เพื่อสร้างการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้เด็กๆตามความตั้งใจของ คุณปิ๋ม-ศิริลักษณ์ ริ้วบำรุง ส่วนคุณแม่ของคุณวิทย์ก็มีความฝันว่าอยากได้แปลงดอกไม้หลากสีสันและชนิดพันธุ์ ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นเหล่าดอกไม้ที่ใช้ประดับแจกันและแต่งหน้าเมนูอาหารของร้านอย่างที่ทุกคนได้เห็น ขณะที่คุณวิทย์เองก็ยังได้สร้างโรงเรือนปลูกแคคตัสและไม้อวบน้ำ รวมถึงมีสถานที่สำหรับเพาะชำต้นไม้ไว้ใช้จัดสวนอีกด้วย ที่ตรงนี้จึงกลายเป็นสถานที่ ที่สมาชิกทุกคนในครอบครัวสามารถเข้ามามีส่วนร่วมและได้ทำความฝันในแบบของตัวเอง
“หลังจากที่เราเริ่มใช้ประโยชน์ที่ดิน เราก็ปรับปรุงพื้นที่ไปเรื่อยๆ กระทั่งเมื่อ 2 ปีก่อน เราเปิดที่แห่งนี้ต้อนรับผู้คนจากภายนอกในงานตลาดนัด Little Tree ทำให้มีคนรู้จักและได้มาชื่นชมที่แห่งนี้ คนที่เข้ามาแล้วก็รู้สึกว่าที่นี่น่ารักดี ได้มาเห็นเป็ด ห่าน พายเรือเล่น ชมแปลงดอกไม้ ให้ความรู้สึกต่างจากร้าน Little Tree จึงเป็นที่มาที่จุดประกายให้เราเริ่มเห็นความเป็นไปได้และอยากพัฒนาพื้นที่ให้คนได้มาเยือน เป็นที่ที่มีความพิเศษและเป็นส่วนตัวมากยิ่งขึ้น” คุณวิทย์เล่า
จากถนนที่ทอดยาวเข้ามา เราจะพบเหล่าไม้ดอกหลากหลายสีสันตลอดทางจนมาถึงโรงเรือนสีขาวของคุณวิทย์ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้มาเยือนได้เลือกซื้อพรรณไม้ที่ชื่นชอบกลับบ้านไปได้ด้วย เดินตรงเข้ามาด้านข้างคือท้องร่องสำหรับปลูกวัตถุดิบที่ใช้กับทั้งสองร้าน โดยมีทางเดินที่โรยกรวดอย่างเรียบง่ายขนาบด้วยดอกไม้หลากหลายสีสันจากดาวกระจาย บานชื่น และหงอนไก่ เช่นเดียวกับด้านหน้าที่ตัดผ่านบึงน้ำขนาดใหญ่ซึ่งตรงกลางมีเกาะขนาดเล็กสำหรับเป็นที่อยู่อาศัย และหลบแดดของห่านที่เลี้ยงเอาไว้ โดยออกแบบวางผังให้คำนึงถึงการใช้งานจริงเป็นหลัก แยกพื้นที่ส่วนคาเฟ่อยู่บริเวณด้านหน้า และฟาร์มสำหรับปลูกผัก ผลไม้ สมุนไพรและเลี้ยงสัตว์ ขณะที่มีบึงน้ำขนาดใหญ่ทำหน้าที่แยกพื้นที่ส่วนด้านหลัง ซึ่งคุณวิทย์ตั้งใจให้ในอนาคตอาจกลายเป็นบ้านและพื้นที่ส่วนตัวต่อไป
ในด้านการตกแต่ง คุณวิทย์ต้องการให้มีความรู้สึกของสวนประดิษฐ์ให้น้อยที่สุด เพื่อให้อิสระเหมือนได้อยู่กับธรรมชาติ โดยให้ต้นไม้ได้เติบโตในแบบที่เป็นและเป็นการเปลี่ยนสไตล์การจัดสวน ให้ต่างจากที่คุณวิทย์เคยจัดมาก่อนหน้านี้ ใช้จินตนาการเป็นหลักคู่กับความเป็นจริงของสิ่งแวดล้อม เริ่มคิดตั้งแต่ยังเป็นต้นเล็กๆและคิดต่อไปว่าหากต้นโตเต็มที่จะเป็นอย่างไร เหมือนค่อยๆทำความรู้จักพื้นที่ เรียนรู้และเติบโตไปกับต้นไม้อย่างช้าๆแต่เข้าใจกัน เพื่อให้ต้นไม้ที่ได้หยั่งรากลึกอย่างแข็งแรงและเหมาะสมกับที่ที่อยู่มากที่สุด ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการให้ที่ดินแห่งนี้ร่มจนเกินไป เพื่อเปิดโอกาสให้ไม้ดอกได้เติบโตเต็มที่เช่นกัน อีกทั้งยังให้ผู้มาเยือนได้ชมสวน มองเห็นท้องฟ้าหรือทิวทัศน์ของดวงอาทิตย์ขึ้นและตกได้อย่างชัดเจน
“พี่ปิ๋มบอกกับพี่ว่าเราอยากดูแลพื้นดินแห่งนี้ให้ลูกหลาน เราอยากให้พื้นที่แห่งนี้เป็นที่ซึ่งปลอดสารเคมีที่สุดนับตั้งแต่วันที่เราได้ที่ดินแปลงนี้มา ซึ่งต้องใช้เวลากว่าสารเคมีเหล่านั้นจะหมดไป จากนั้นเราก็เริ่มปลูกต้นไม้กินได้ที่ให้ผลผลิตเปลี่ยนไปตามช่วงฤดูกาล เราอยากได้ยินเสียงสายลม สายน้ำ ใบไม้ที่สีกัน อยากให้เราและเด็กรุ่นใหม่ได้อยู่กับธรรมชาติจริงเหมือนช่วงชีวิตของเราสมัยก่อน ที่พอโตขึ้นธรรมชาติและสิ่งเหล่านั้นค่อยๆหายไป เราอยากแบ่งพื้นที่ให้ธรรมชาติ แบ่งปันให้สิ่งมีชีวิตได้อิงอาศัยกันมากที่สุด” คุณวิทย์เล่า
หากมีโอกาสได้มาชื่นชมดินแดนแห่งนี้ อย่าลืมหลับตาและลองฟังเสียงกระซิบของที่แห่งนี้ไปด้วยกัน นอกจากเสียงของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กทั้งนก กระรอก ผีเสื้อ แมลง ฯลฯ คุณอาจได้ยินเสียงของสายลม เสียงหยาดน้ำค้างไหลตามยอดหญ้ากระทบผิวน้ำ หรือเสียงของดอกไม้ใบไม้ที่สีกันราวบทเพลงแสนล้านเสียง ที่ช่วยปลุกจิตวิญญาณแห่งผืนดินที่เราอาจเคยหลงลืมไปในวัยเด็ก ณ ที่แห่งนี้ทุกสรรพชีวิตต่างมีชีวิตที่สุขสันต์และรอคอยให้คุณได้กระซิบความประทับใจนี้ ส่งต่อไปให้ผู้คนอีกมากมาย ซึ่งอาจก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้สร้างพื้นที่ที่ปลอดภัย ของสิ่งมีชีวิตและธรรมชาติอันบริสุทธิ์ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด
สวนสวย นิตยสารบ้านและสวน เดือนพฤษภาคม 2563
Whispering Land ดินแดนแสนล้านเสียง
เจ้าของ – จัดสวน : คุณศิริวิทย์ ริ้วบำรุง
เรื่อง : ปัญชัช
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ, นันทิยา บุษบงค์