My Little Farm ทำฟาร์มเล็กๆในบ้านด้วยตัวเอง
ทำฟาร์ม
แม้ว่ากระแสบริโภคนิยมจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนในยุคสมัยนี้ จนดูเหมือนว่าวิถีเกษตรจะหายไปจากบ้านเสียดื้อๆ
ทั้งที่การ ทำฟาร์ม สมัยก่อนพืชผักต่างๆล้วนเป็นสิ่งที่ไม่ต้องซื้อหา เพียงเดินไปหลังบ้านเดี๋ยวเดียวก็สามารถทำแกงได้หม้อโต หรือการที่เด็กๆไม่รู้แม้กระทั่งว่าผักที่ตัวเองกินมีหน้าตาเป็นอย่างไร เพราะทุกอย่างปรุงเสร็จมาอยู่ในจาน ทำให้พวกเขาไม่เคยได้เห็นต้นจริงๆเลยสักครั้ง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องน่าหวั่นวิตกกับภาวะการผลิตอาหารในครัวเรือนไทยยุคปัจจุบัน
แต่ที่พูดมาเราไม่ได้เหมารวมว่าจะเป็นเช่นนั้นไปเสียทั้งหมด เพราะตามชนบทเองก็ยังสามารถพบเห็นการปลูกพืชผัก เลี้ยงสัตว์กันในรั้วบ้านอยู่บ้าง แต่ที่เราหมายถึงคือในสังคมเมืองที่นับวันจะน้อยลงไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามยังมีผู้คนกลุ่มเล็กๆฉุกคิดขึ้นมาว่า จะเป็นอย่างนี้ต่อไปไม่ได้เสียแล้ว เราจะต้องทำอะไรบางอย่าง หลายคนหันมาเริ่มปลูกผัก ปลูกเห็ดกินเอง เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ในรั้วบ้าน กลายเป็นฟาร์มเล็กๆบนพื้นที่เพียงไม่กี่ตารางเมตรที่อัดแน่นไปด้วยของกินนานาชนิด
หนังสือชุด My Little Farm Vol.1 ปลูกผักแบบคนเมือง โดย คุณนคร ลิมปคุปตถาวร หรือ “เจ้าชายผัก” ที่หลายคนรู้จักกันดี ก็เป็นคัมภีร์ดี ๆที่แนะนำให้คนที่อยากปลูกผักต้องมีติดมือไว้ นอกจากจะบอกเล่าเรื่องราวการปลูกผักแล้ว ยังมีสารพันความรู้ในการทำเกษตรทั้งการทำปุ๋ยหมัก สารไล่แมลงจากธรรมชาติ ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้กับพืชชนิดอื่นๆได้ หรือหนังสือ Pocket Garden Vol.3 สวนสวยกินได้ ก็เต็มไปด้วยผู้คนที่มาสร้างแรงบันดาลใจพร้อมแบ่งปันเคล็ดลับดีๆในการเนรมิตฟาร์มเล็กๆให้เกิดขึ้นที่บ้าน แต่ก่อนจะทำฟาร์มเล็กๆขึ้นมานั้นจะต้องเตรียมตัวอย่างไร และมีเกร็ดน่ารู้อะไรให้นำไปใช้ในสวนบ้าง ตามไปดูและลงมือทำด้วยกันเถอะค่ะ
เริ่มอย่างไรดี
ก่อนอื่นลองสำรวจบริเวณรอบบ้านว่าเหลือพื้นที่ในส่วนใดบ้าง เช่น หน้าบ้าน หลังบ้าน ข้างบ้าน ดาดฟ้า ระเบียง จากนั้นเขียนแผนผังทิศทางของแสงแดดที่จะส่องลงพื้นที่ สังเกตว่าในจุดนั้นได้รับแสงตอนไหนบ้าง แต่ละจุดกี่ชั่วโมง หรือมีร่มเงาจากตัวบ้าน ต้นไม้ใหญ่ สิ่งเหล่านี้มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชที่ต้องการแสงในสภาพที่ต่างกัน เมื่อได้พื้นที่ที่ต้องการจึงจัดวางรูปแบบสวนที่เราจะลงมือทำ แต่ก่อนอื่นตอบคำถามตัวเองสองข้อนี้ก่อน
- อยากปลูกผักจำนวนเท่าไร
- จำนวนผักมากเท่าไรที่เราสามารถดูแลไหว
หากเพิ่งเริ่มต้นหรือเป็นมือใหม่ลองปลูกจำนวนน้อย ๆดูก่อนว่าเราสามารถดูแลได้แค่ไหนเพื่อให้มีกำลังใจในการดูแล เมื่อเชี่ยวชาญแล้วจึงค่อยเพิ่มจำนวนในภายหลัง ส่วนฟาร์มเล็กๆในบ้านของเราจะประกอบด้วยอะไรบ้างให้ลิสต์เป็นรายการออกมา เขียนความต้องการทั้งหมดให้เต็มที่ แล้วค่อยมาตัดทอนตามกำลังความเหมาะสมก็ได้ ฟาร์มในบ้านของเราไม่จำเป็นต้องปลูกผักเท่านั้น แต่อาจเป็นไม้ผล ไก่ไข่หรือไก่เนื้อจำนวนไม่กี่ตัว ฟาร์มไส้เดือน ฟาร์มเห็ด ปลูกข้าว ฯลฯ ตามแต่ความชอบ จากนั้นลองวางผังบริเวณว่าจะประกอบด้วยอะไรบ้าง เขียนแปลนลงไปในกระดาษคร่าว ๆ การลงมือทำไม่จำเป็นต้องเร่งรีบ ให้เสร็จภายในวันหรือสองวัน ลองวางแผนดูว่าสัปดาห์นี้จะเริ่มจากอะไร เช่น ทำแปลงผักให้ได้ 2 แปลง หรือเพาะเมล็ดผักให้ได้ 3 ตะกร้า ค่อยๆทำไปทีละเล็กละน้อย หากรู้ตัวว่าไม่มีเวลา อาจปลูกพืชที่ไม่ต้องดูแลมากก็ได้ เช่น ชะอม ตะไคร้ กะเพรา และกล้วย ที่คุณสามารถจะปลูกทิ้งได้โดยไม่ต้องห่วงรดน้ำทุกวัน หรือติดตั้งระบบให้น้ำอัตโนมัติเพื่อช่วยทุ่นแรงและเวลา
ลงมือทำ
แปลงผัก จะยกแปลงขึ้นมาง่ายๆหรือทำขอบเขตโดยยกกระบะต้นไม้ขึ้นมา ใช้อิฐมอญ อิฐบล็อก หรืออิฐบล็อกประสานก็แข็งแรงดี หรือจะใช้วัสดุที่มีอยู่แล้ว เช่น ไม้ไผ่ แผ่นฟิวเจอร์บอร์ด เป็นตัวกั้นขอบเขตก็ได้ วิธีนี้ยังใช้กับบ้านที่ดินมีคุณภาพไม่ดี บนดาดฟ้า หรือบริเวณที่ปูพื้นแข็งไปแล้ว ตำแหน่งแปลงผักควรอยู่ในบริเวณที่ได้รับแสงเต็มที่ โดยเฉพาะผักรับประทานใบและผล เช่น ผักบุ้ง กวางตุ้ง คะน้า ถั่วฝักยาว บวบหอม แตงกวา มะเขือ มะเขือเทศ ยกเว้นพวกผักสลัดที่ควรกางซาแรนช่วยพรางแสงบ้าง เพื่อไม่ให้ได้รับแดดโดยตรง ส่วนพื้นที่ร่มหรือได้รับแสงประมาณครึ่งวัน สามารถปลูกผักสลัด ผักชีฝรั่ง แมงลัก โหระพา กะเพรา สะระแหน่ เป็นต้น วิธีการเลือกชนิดผักที่จะปลูกง่าย ๆ มีข้อคิด 2 ข้อคือ ปลูกผักที่คุณหรือคนในบ้านชอบรับประทาน และปลูกผักที่ใช้เป็นประจำในครัว
ปลูกลงภาชนะ
บ้านที่ไม่มีพื้นดินหรือมีพื้นที่จำกัด ภาชนะเป็นทางเลือกที่ดีมาก ไม่ว่าจะเป็นแบบตั้งหรือแขวนผนัง ภาชนะที่ว่าไม่จำเป็นต้องใช้กระถางเพียงอย่างเดียว แต่อาจเป็นหม้อ กะละมัง ตะกร้า กล่องนม ขวดน้ำ ขวดนม ภาชนะที่ปลูกผักควรจะลึกพอที่จะปลูกผักแต่ละชนิดได้ หากเป็นผักกินใบไม่ควรลึกน้อยกว่า 15 เซนติเมตร ส่วนผักกินผลควรลึกไม่น้อยกว่า 30 เซนติเมตร
มุมปลูกเห็ด
พื้นที่วางก้อนเห็ดจะอยู่ในบ้านหรือนอกบ้านก็ได้ มุมนั้นควรมีความชื้นสัมพัทธ์สูง แสงส่องเพียงเล็กน้อย ต้องไม่โดนฝน และอากาศถ่ายเทสะดวก อาจปลูกแบบแขวน วางในโอ่ง ชั้นวางของ ฯลฯ ตามแต่พื้นที่ที่มีอยู่ จำนวนก้อนเห็ดที่จะปลูกคิดคำนวนณง่าย ๆว่าหากบ้านมีสมาชิกหลายคนและต้องการรับประทานเห็ดทุกวัน ควรเลี้ยงสัก 50-100 ก้อน แต่หากไม่ต้องการมากขนาดนั้นสัก 20 ก้อนก็กำลังดี สามารถหาซื้อได้ตามแหล่งปลูกเห็ดใกล้บ้านคุณ ดูรายละเอียดฟาร์มเห็ดต่าง ๆ รวมทั้งเคล็ดลับในการปลูกเห็ดดี ๆได้ในหนังสือ Garden & Farm Vol.3 มาปลูกเห็ดด้วยตัวเอง
โรงเรือนไก่
ควรตั้งตามแนวยาวทิศตะวันออก-ตะวันตก หากตั้งขวางแสงอาทิตย์จะมีพื้นที่ให้ไก่หลบความร้อนจากแสงแดดได้น้อย โดยอาจตั้งเฉียงออกจากแนวทิศตะวันออก-ตะวันตกได้เล็กน้อย แต่ไม่ควรเกิน 7 องศา จำนวนไก่ที่เลี้ยงคำนวณง่ายๆ คือพื้นที่ 1 ตารางเมตรเหมาะกับการเลี้ยงไก่ได้ไม่เกิน 4-5 ตัว ตัวเรือนควรมีความมั่นคงแข็งแรง มีชายคายื่นยาวป้องกันแสงแดด ลม ฝน มีช่องเปิดให้อากาศถ่ายเทดี น้ำไม่ขัง เข้าไปทำความสะอาดง่าย ควรห่างจากบ้านพักอาศัย และไม่อยู่เหนือทางลมเพื่อป้องกันปัญหากลิ่นมูลไก่ สำหรับคนเมืองส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงไก่ไข่มากกว่าไก่เนื้อ เพราะสามารถเก็บไข่รับประทานได้ทุกวัน ใครสนใจเลี้ยงไก่ไข่สามารถหาข้อมูลและเทคนิคดีๆได้จาก หนังสือ My Little Farm Vol.2 ชวนคนเมืองมาเลี้ยงไก่ไข่ โดยคุณก้องเกียรติ ถาดทอง หรือฉายา “เจ้าชายสัตว์” ที่หลายคนรู้จักกันดี
เรื่อง : “วรัปศร”
ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน
ภาพประกอบ : Choops
หนังสืออ้างอิง
–คลิกเพื่อสั่งซื้อ หนังสือ My Little Farm Vol.1 ปลูกผักแบบคนเมือง
– คลิกเพื่อสั่งซื้อ หนังสือ Pocket Garden Vol.3 สวนสวยกินได้
คลิกเพื่อสั่งซื้อ หนังสือ Garden & Farm Vol.1 สนุกกับสวนเกษตรอินทรีย์
คลิกเพื่อสั่งซื้อ หนังสือ Garden & Farm Vol.2 มาปลูกเห็ดด้วยตัวเอง
– หนังสือ Green Life Green Community ปฏิบัติการยิ่งใหญ่ในชุมชนเล็กๆ โดย ภัทรพร อภิชิต