บ้านทรงไทย

บ้านแก้วตาเหิน ปรัชญาแห่งศิลปะในแบบอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี

บ้านทรงไทย
บ้านทรงไทย

บ้านทรงไทย ที่ดูมีเอกลักษณ์หลังนี้ได้รับการปั้นแต่งโดยศิลปินแห่งชาติ อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่บ้านจะแฝงไว้ด้วยกลิ่นอายของวัฒนธรรมอันหลากลาย รวมถึงปรัชญาศิลปะอยู่ทุกมุมในบ้าน

ออกแบบ  : อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี  / เจ้าของ – ตกแต่ง : คุณสุจินตนา จรรยาทิพย์สกุล บ้านทรงไทย

ความอ่อนช้อยที่ผสานด้วยความแข็งแกร่งของบ้านที่มีชื่อว่า “แก้วตาเหิน” หลังนี้ คงเปรียบได้กับหญิงผู้งามสง่าเต็มเปี่ยมด้วยบารมี ชื่อของบ้านเป็นชื่อเรียกอีกชื่อของดอกมหาหงส์ ซึ่งมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว และเป็นดอกไม้ที่ คุณสุจินตนา จรรยาทิพย์สกุล เจ้าของบ้านชื่นชอบเป็นพิเศษ

คุณสุจินตนาเป็นนักธุรกิจสาวผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาและมีใจรักงานศิลปะด้วย เธอสะสมงานศิลป์ไว้มากมาย ปัจจุบันยังช่วยบริหารงานมูลนิธิที่ช่วยเหลือและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในประเทศแถบลุ่มน้ำโขง (Mekong Organization for Mankind : MOM) < http://momthai.org > ซึ่งคุณแม่ของเธอ (คุณกัลยา จรรยาทิพย์สกุล) เป็นผู้ก่อตั้ง

“ทำธุรกิจเกี่ยวกับผ้าไหมมานาน ได้รู้จักกับนักออกแบบชาวสเปน ซึ่งสั่งผ้าที่เราตั้งใจทอให้มีคุณภาพพิเศษไปตกแต่งพระราชวังของกษัตริย์ฮวน คาร์ลอส ในที่สุดพระองค์ทรงมีรับสั่งให้ศิลปินจากเอเชียไปศึกษาวัฒนธรรมในประเทศสเปน  จึงมีโอกาสได้รู้จัก อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ในการเดินทางครั้งนั้น”

ซุ้มประตู ถวัลย์ ดัชนี ดอยธิเบศร์ ดัชนี บ้านทรงไทย
ซุ้มประตูทางเข้าบ้านดูสวยงามสะดุดตา ออกแบบโดยคุณดอยธิเบศร์ ดัชนี (ม่องต้อย) ลูกชายอาจารย์ถวัลย์
ถวัลย์ ดัชนี สถาปัตยกรรมล้านนา โครงหลังคา  บ้านทรงไทย
โครงหลังคาของบ้าน อาจารย์ถวัลย์ได้แรงบันดาลใจจากงานศิลปะที่สวยงามและเก่าแก่ของวัดเชียงทองในเมืองหลวงพระบาง
บ้านล้านนา สถาปัตยกรรมล้านนา ถวัลย์ ดัชนี บ้านทรงไทย
หลังคาบ้านที่อาจารย์ถวัลย์วาดแบบให้มีความอ่อนช้อยและซ้อนกันหลายชั้น สร้างความโอ่อ่าในแบบฉบับของบ้านภาคเหนือ
บันได บันไดนาค ถวัลย์ ดัชนี
บันไดนาคสมัยใหม่ยุคคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งอาจารย์ถวัลย์ตัดทอนให้มีความเรียบง่ายขึ้น แต่ก็ดูอ่อนช้อยในที

หลังรู้จักและสนิทสนมกับอาจารย์ถวัลย์มามากกว่า 20 ปี คุณสุจินตนาจึงทาบทามให้ท่านมาช่วยออกแบบบ้านพักผ่อนที่จังหวัดเชียงราย ตัวบ้านจึงดูงดงามตามวัฒนธรรมแบบล้านนาประยุกต์ ไม่ต่างจากงานศิลปะชิ้นใหญ่ซึ่งมีคุณค่าหาดูได้ยาก ด้วยการออกแบบให้มีทรงหลังคาแอ่นโค้งชดช้อย ขณะที่องค์ประกอบบางอย่างก็ได้รับการปรับรูปแบบให้ดูทันสมัยยิ่งขึ้น เช่น บันไดนาคทั้งสองด้านของบ้าน และฐานโคนเสาที่เรียกว่า “ลูกแก้ว”

แม้คุณสุจินตนาจะเลือกงานศิลปะ เฟอร์นิเจอร์เก่า และข้าวของฝีมือพื้นบ้านมาตกแต่งบ้านด้วยตัวเอง แต่ทุกชิ้นต้องปรึกษาอาจารย์ถวัลย์ก่อนเสมอ และท่านยังได้ออกแบบส่วนประกอบต่าง ๆในบ้านให้อีกหลายอย่าง เช่น หางหงส์  คันทวย โดยใช้ลวดลายไม้แกะซึ่งอาจารย์บอกว่าเป็นงานของคริสต์ศตวรรษที่ 20  ซึ่งท่านลดทอนรูปทรงให้เหมาะกับยุคสมัยใหม่มากขึ้น ส่วนบันไดนาค ท่านก็เป็นผู้คุมช่างเอง โดยวาดเส้นบนไม้แบบและปาดปูนแต่งขั้นสุดท้ายให้ จนได้บันไดที่สวยงามมีเอกลักษณ์

บ้านนี้ยังแฝงด้วยปรัชญาทางพระพุทธศาสนาในแทบทุกจุด  เครื่องเรือนและของตกแต่งล้วนเป็นของเก่าจากหลายประเทศในแถบเอเชีย  เช่น ไทย ล้านช้าง  ล้านนา  พม่า  ลาว  หลายชิ้นมีกลิ่นอายของยุโรปซึ่งได้จากยุคอาณานิคม บางชิ้นเป็นหีบไม้เก็บเสื้อผ้าและของใช้ในคาราวานยิปซีจากอินเดีย นอกจากนี้ยังมีข้าวของที่เป็นงานศิลปะจากแอฟริกา ศิลปะสไตล์อเมริกา รวมถึงเฟอร์นิเจอร์สมัยใหม่จากอิตาลี แม้จะเป็นการผสมผสานหลากวัฒนธรรมหลายอารมณ์ แต่ด้วยการจัดวางอย่างลงตัว ก็ทำให้ของทุกชิ้นอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่ขัดตา

งานศิลปะ ประติมากรรมไม้ ลานหินกรวด
ประติมากรรมเสาไม้ 2 ต้นที่ดูเหมือนรูปคน เป็นฝีมือของ “มูไก” ศิลปินชาวญี่ปุ่นซึ่งใช้เวลา 3 วันในการแกะ วางไว้เคียงไหเมี่ยงเก่าซึ่งขุดจากตอไม้ จำนวน 3 ใบ แทน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ส่วนลานหินกรวดเปรียบได้กับลานมนุษย์
ศิลปะล้านนา ของแอนทีค ของโบราณ สถาปัตยกรรมล้านนา บ้านทรงไทย
ในห้องพระมีซุ้มประตูไม้แกะสลักแทนกรอบกระจก เปรียบเสมือนประตูสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตั่งหน้าซุ้มเป็นของเก่าของเจ้าหญิงพม่า ซึ่งที่นี่ใช้เป็นแท่นสำหรับพระเทศน์ หรือนั่งสมาธิ โลหะขอบแฉกคล้ายโล่ที่ประดับบนผนังคือรูปพระอาทิตย์ ฝั่งตรงข้าม (ไม่เห็นในภาพ) เป็นโลหะรูปพระจันทร์ ตามทิศตะวันออก-ตะวันตกที่ตัวบ้านตั้งอยู่ รูปวาดบนผนังเป็นภาพหม้อดอก ซึ่งชาวล้านนาถวายเป็นพุทธบูชา 4 ทิศ แทนความอุดมสมบูรณ์ โคมล้านนาที่แขวนไว้สมัยก่อนจะใช้ตกแต่งในวันขึ้นบ้านใหม่หรือวันเพ็ญเดือนสิบสอง
เตียงโบราณ
เตียงไม้สักเสาเกลียวโบราณอายุกว่า 300 ปี เข้าใจว่าเป็นของผู้มีฐานะชาวล้านนาที่สั่งทำโดยออกแบบให้มีกลิ่นอายยุโรป ปัจจุบันคุณสุจินตนาใช้เป็นเดย์เบด

เจ้าของบ้านเล่าถึงงานศิลป์ชิ้นเด่นในห้องรับแขกชั้นบนว่า คือเก้าอี้เขาควายและภาพวาดลายเส้นหมึกดำรูปช้าง ซึ่งอาจารย์ถวัลย์มอบให้  “อาจารย์มีคติว่าสัตว์ต่างๆเมื่อตายไปยังทิ้งสิ่งสวยงาม เช่น เขา  หนัง ไว้ให้มนุษย์ได้ดูและได้ปลงว่าสังขารมีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เวลามองทุกครั้งก็เหมือนจะเป็นเครื่องเตือนใจให้เราประกอบแต่กรรมดี”

ในบริเวณบ้านยังมีสนามหญ้ากว้างขวางสำหรับสุนัข  ซึ่งมีทั้งสายพันธุ์ต่างประเทศและพันธุ์พื้นเมือง รวมถึงวัวเลี้ยงที่ได้จากการไถ่ชีวิตที่โรงฆ่าสัตว์ บางส่วนมีการจัดพื้นที่เป็นลานกรวดโล่ง เพื่อโชว์ผลงานศิลปะของศิลปินญี่ปุ่น ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากการเห็นลำต้นไม้ที่ถูกฟ้าผ่า

ถวัลย์ ดัชนี เก้าอี้เขาควาย
โถงรับแขกด้านทิศตะวันออกจัดวางเก้าอี้ผลงานอาจารย์ถวัลย์ เดิมเป็นเครื่องเชิดชูเกียรติแด่อาจารย์นคร พงษ์น้อย แห่งไร่แม่ฟ้าหลวง เมื่อครั้งที่ท่านได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ หีบไม้ของเก่าใช้แทนโต๊ะกลาง
ถวัลย์ ดัชนี
เหนือโซฟาบุหนังแท้สไตล์อิตาลี มีภาพวาดที่ใครๆต่างก็จดจำได้ทันทีว่าศิลปินเจ้าของผลงานคือ อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี
บ้านล้านนา บ้านทรงไทย
ก่อนถึงประตูทางลงบันไดนาคทิศตะวันตก ดัดแปลงฆ้องวงสมัยอังวะเป็นโต๊ะขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.80 เมตร โดยใช้แผ่นกระจกใสปิดทับ
ส่วนรับประทานอาหาร ถวัลย์ ดัชนี เฟอร์นิเจอร์ไม้ เสาไม้
ห้องอาหารอยู่ในโถงกว้างชั้นล่างใกล้ครัว ลูกแก้วโคนเสาเป็นฝีมือของอาจารย์ถวัลย์ เก้าอี้รากไม้ด้านขวาเป็นตัวโปรดของท่านเวลาแวะมาเยือนที่นี่
ห้องนอน ตั่งไม้
ตั่งไม้ของใหม่ขนาด 6 ฟุตใช้เป็นที่นอนในห้องนอนใหญ่ โซฟาบุหนังวัวรอยนูนแบบพีระมิด (ด้านซ้ายของภาพ) หรือ Ceramic Pattern Style เพราะดูคล้ายกระเบื้องโมเสกที่นำมาต่อกัน ฝีมือนักออกแบบรุ่นใหม่จากอิตาลี
บ้านล้านนา
มุมห้องโถงนั่งเล่นด้านทิศตะวันตกจัดวางเก้าอี้อ่านหนังสือไม้แกะของศิลปินล้านนา เป็นลายหงส์ (ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิง) และฝังมุกประดับ หีบไม้เก่าของพม่าใช้เก็บหนังสือ ฝาหีบวางดาบซามูไรสีแดงของนักสู้หญิงจากญี่ปุ่น รูปในกรอบแดงคือลายเส้นแบบบ้านหลังนี้
เฟอร์นิเจอร์ไม้
ในห้องนอนใหญ่แบ่งพื้นที่เป็นมุมนั่งเล่นด้วยการวางโซฟาหนังจากอิตาลี ตู้บานโปร่งเลียนแบบตู้กับข้าวสมัยเก่า ภายในเก็บเครื่องเล่นดีวีดีและโทรทัศน์ ตู้ไม้สักตัวกลางเป็นตู้หีบเพลงโบราณ ใช้เก็บเครื่องเสียง

ในตอนท้ายของการสัมภาษณ์ คุณสุจินตนาพูดสรุปให้ฟังว่า

“แม้ในต่างประเทศจะมีภูมิอากาศเย็นอย่างที่ชอบ  แต่เราก็ขอแค่ไปเที่ยวบ้าง ถ้าจะให้อยู่อาศัยจริงๆก็ต้องเป็นที่เมืองไทยนี่แหละ รักเมืองไทยมาก โดยเฉพาะที่เชียงราย ซึ่งเราชอบภูมิประเทศและอากาศ การมีบ้านพักร้อนที่นี่ก็ถือว่าเป็นความสุขของชีวิตแล้ว หากไม่ติดธุระในกรุงเทพฯ ก็จะมาอยู่ที่นี่แทบทุกสุดสัปดาห์ โดยจะพาคุณแม่มาด้วยตลอด เนื่องจากอากาศสะอาดๆของที่นี่ทำให้ร่างกายและจิตใจสดชื่น อีกทั้งการมาอยู่ที่บ้านหลังนี้ก็เหมือนได้ชมแกลเลอรี่ส่วนตัวแบบ 24 ชั่วโมง เพราะมีแต่งานศิลปะที่เราชอบ”

บ้านหลังนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการผสานวัฒนธรรมได้อย่างกลมกลืน นั่นเป็นเพราะได้ศิลปินระดับมือหนึ่งของไทยเป็นผู้ปรุงรสให้กลมกล่อม แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการที่เจ้าของบ้านได้อยู่อาศัยอย่างมีความสุข นั่นละจึงถือเป็นงานสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า “บ้าน” ได้อย่างสมบูรณ์

จุมโผล่
จุมโผล่ คือ ช่องส่งอาหารแบบบ้านไทยโบราณที่เจาะจากห้องครัว พบเห็นได้ทุกภาค
คันทวย
คันทวยไม้ งานแกะสลักยุคใหม่ฝีมืออาจารย์ถวัลย์ ดัชนี สวนด้านล่างมองเห็นมหาหงส์ หรือแก้วตาเหิน ซึ่งปลูกเป็นแนวขนานรั้วต้นไม้ ให้ดอกขาวหอมทรงผีเสื้อกางปีก (Butterfly Ginger)
กล่องครอบเตา
กล่องไม้เหนือบานตู้เก็บของสั่งทำพิเศษเพื่อไว้ครอบเตาแก๊สไม่ให้เด่นตา ตามไอเดียเจ้าของบ้าน
คุณสุจินตนากับ “เจ้านันท์” วัวแสนรู้ตัวโปรด ฉากหลังคือกาแลไม้แกะที่อาจารย์ถวัลย์ออกแบบให้สล่าทำ นำมาตกแต่งบริเวณผนังชั้นล่างก่อนนำขึ้นติดตั้ง

เรื่อง :  ไม้น้ำ

ภาพ : ชัยพฤกษ์ โพธิ์แดง

 

กรุ่นกลิ่นไม้ในบ้านสไตล์ล้านนา

7 แบบบ้านทรงไทย เปลี่ยนให้ทันสมัยแต่อยู่สบายดังเดิม