ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้เลยว่า หนึ่งในกระแสที่มาแรงมาก ๆ ก็คือกระแสของความ ECO จากการตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพปากท้องของผู้คนที่ต้องป่วยไข้กันมากขึ้นทุกวัน รวมทั้งปัญหาแหล่งอาหารของโลกที่นับวันจะมีตัวเลือกน้อยลงเรื่อย ๆ นี่จึงเป็นข้อพิสูจน์ว่าวิถีทางของความ ECO นั้น คือคำตอบของอนาคตอย่างชัดเจน และวันนี้บ้านและสวนจะมาเล่าให้ฟังถึงปรากฏการณ์ ECO ที่เกิดขึ้นใกล้ตัวเรากว่าที่เคย
อ่าน : ชุมชนแห่งการเรียนรู้วิถีพอเพียง
1.Sharing Economy
เป็นลักษณะที่เข้ากันได้ดีกับไลฟ์สไตล์ของผู้คนในปัจจุบัน กล่าวคือเป็นแนวคิดสังคมเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน เน้นการเช่าแทนการซื้อ ซึ่งเกิดประสิทธิผลขึ้นได้จากความสามารถทางด้านเทคโนโลยี และข้อมูลดิจิทัลในโลกออนไลน์ปัจจุบัน ที่ทำให้การจับคู่ระหว่างผู้ใช้บริการกับผู้ให้บริการมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งยังสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่สามารถเลือกและเข้าถึงสินค้าเเละบริการต่าง ๆ ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเสียเงินซื้อมาเป็นเจ้าของ เช่น รถยนต์ ที่อยู่อาศัย จักรยาน หรือเครื่องใช้ภายในบ้านขนาดใหญ่ต่าง ๆ ส่งผลให้โมเดลธุรกิจประเภทนี้ที่มีความเกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์กลายเป็นหนึ่งธุรกิจดาวรุ่ง มีผู้ประกอบการหลายรายหันมาเปิดบริการจำนวนมาก จนนับได้ว่ามีผู้ประกอบอยู่ในธุรกิจรูปแบบนี้เป็นหลักร้อยทีเดียว
กลายเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจว่า เหตุใดธุรกิจเหล่านี้จึงยังคงมีการเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ดังที่เราจะเห็นได้จาก Co-Working Space ที่กระจายตัวอยู่ในหลากหลายทำเล หรือแม้แต่ Co-Living Space ที่ผู้คนเลือกจะแบ่งปันพื้นที่อยู่อาศัยร่วมกัน เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น พื้นที่ครัว หรือพื้นที่ซักผ้า คงเหลือไว้แต่พื้นที่ส่วนตัวอย่าง ห้องนอน ที่แยกส่วนออกเป็นเอกเทศของใครของมัน
นอกจากรูปแบบของการ “แชร์กันใช้” ดังที่ได้ยกตัวอย่างไปเเล้วนั้น ลักษณะของ “ร้านสะดวกเติม” ก็เริ่มได้รับความนิยม และสร้างค่านิยมที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ร้าน Normal Shop ที่สนใจการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด โดยสามารถเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างคุ้มค่า ในระยะยาวหากทุกคนคุ้นชินกับการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่เช่นนี้แล้ว เชื่อว่าทั้งปัญหาขยะ หรือปัญหาทรัพยากรในภาคการผลิตก็จะลดลงตามไปด้วยอย่างเป็นรูปธรรมแน่นอน
2.Circular ECOnomy
เศรษฐกิจอีโคอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจคือ การสร้าง “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ที่ไม่เหมือนแต่เดิม ซึ่งคือการผลิต นำไปใช้ และกำจัดทิ้ง ในรูปแบบของ Circular Economy นั้น จะเป็นการมองหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการทำให้สิ่งที่อยู่ในระบบเกิดคุณค่าอย่างถึงที่สุด และเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยไม่จำเป็นต้องผลิต หรือทิ้งไปอย่างไร้ค่า เช่น แบรนด์ Moreloop ที่มองหาความเป็นไปได้จากการนำตัวอย่างผ้าของโรงงานขนาดใหญ่ที่ไม่ได้ใช้แล้ว มาสร้างโอกาสให้ “ขยะ” กลายเป็น “งานนออกแบบ” เกิดเป็นเเพลตฟอร์มที่ช่วยให้ทั้งสองปลายทางได้เจอกัน
“ความน่าสนใจของกระบวนการนี้ คือคนที่เขาได้ผ้าไป เราเรียกเขาว่าเป็น Zero Carbon Footprint เลยก็ว่าได้ จากขยะที่กองเป็นพะเนิน ไม่ได้ผลิตขึ้นมาใหม่ เเต่กลับสามารถทำให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ เพราะฉะนั้นคำว่า Circular Economy ต้องรับรู้ไปตั้งแต่ Mindset เพื่อให้มองไปถึงกระบวนการของสิ่งต่าง ๆ ให้เห็นถึงที่มา และปลายทางว่ามันจะตัน หรือกระทบกับสิ่งแวดล้อมหรือเปล่า หรือมีวิธีการใดอีกให้งานดีไซน์นี้ไปต่อได้”
หรือหากเป็นมุมมองที่ใกล้ตัวกว่านั้นก็เช่นที่ฟาร์มลุงรีย์ ซึ่งมีการจัดการขยะสดตั้งแต่ต้นทาง เพราะขยะสดนั้นเป็นปัญหาสังคมเมืองที่แก้ยากมาเนิ่นนาน การลงมาแก้ที่ต้นเหตุตั้งเเต่ครัวเรือน ด้วยการรณรงค์ให้แยกขยะเพื่อนำไปทำเป็นปุ๋ย นับเป็นเรื่องดีที่จะทำให้ขยะสดหายไปจากระบบ กลายเป็นปุ๋ยที่สร้างคุณค่าให้กับดินเเละต้นไม้ต่อไปแทน การคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ เทคนิค และกระบวนการเหล่านี้ จึงเป็นหนึ่งในวิถีแบบ Circular Economy สามารถช่วยให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นได้เช่นกัน
cr : fb.com/moreloopws
3. ECO Markets
ตลาดที่เชื่อมโยงต้นทางสู่ปลายทาง หรือจากแหล่งผลิตสู่ผู้บริโภคนั้น เป็นเรื่องใกล้ชิดกันอย่างเหลือเชื่อ ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่ดี การที่ผู้ผลิตจะจำหน่ายผลผลิตอินทรีย์ และอาหารปลอดภัยอย่าง ผัก เเละผลไม้ ที่ปลูกด้วยกระบวนการอินทรีย์ อาหารที่ปรุงด้วยความพิถีพิถัน รวมถึงผลิตภัณฑ์ทำมือ และแปรรูปจากธรรมชาติ เพื่อส่งมอบให้กับผู้บริโภคด้วยตัวเองเป็นสิ่งที่ทำได้เองเเละง่ายดายขึ้น โดยอาศัยเพียงเเพลตฟอร์มที่เชื่อมตลาดดั้งเดิมสู่ตลาดออนไลน์ (Offline to Online Market) ช่วยให้สามารถจำหน่ายสินค้าได้โดยไม่มีข้อจำกัดด้านเวลา ฤดูกาล เเละสถานที่ แถมยังวางแผนการผลิตล่วงหน้าได้ในกรณีที่มีออร์เดอร์มามาก ๆ รวมถึงยังมีช่องทางการสื่อสารและประชาสัมพันธ์เรื่องราวเกี่ยวกับกระบวนการผลิตเเละความเป็นมา ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลผลิตเเละผลิตภัณฑ์ได้สูงขึ้น เช่น ทีมงาน Jai Talad ดำเนินงานโดย The Farm Concept ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มที่กำลังสร้างเเพลตฟอร์มเช่นนี้ และแน่นอนหากผู้ผลิตพื้นบ้านใช้วิธีและวิถีทางธรรมชาติเช่นนั้น ก็จะช่วยให้ผลผลิตในภาคการเกษตรเป็นมิตรกับสิ่งเเวดล้อมตั้งเเต่ต้นทาง ก่อนส่งต่อสุขภาพดีให้เเก่ผู้บริโภคที่อยู่ปลายทาง
cr : fb.com/JaiTalad.co
4. ECO Fashion and Design
นอกจากเรื่องสิ่งแวดล้อมและปากท้อง ในโลกของงานออกแบบก็มีส่วนช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ผ่านการมองสิ่งรอบตัวเพื่อมอบคุณค่าให้เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น ผลงานของคุณศรัณย์ เย็นปัญญา ที่เน้นออกแบบผลงานจากของใกล้ตัวที่เราคุ้นเคยกันดี เช่น เก้าอี้ร้านก๋วยเตี๋ยว เมื่อนำมาเติมสำเนียงความสร้างสรรค์ลงไป ก็สามารถสร้างคุณค่าให้แก่สิ่งเดิมมีความพิเศษมากขึ้น ทั้งยังช่วยเปิดมุมมองใหม่ ๆ และคุ้มค่ากว่าการที่จะไปออกแบบระบบอุตสาหกรรมเพื่อผลิตเก้าอี้อีกตัวออกมาเรื่อย ๆ ตรงกับคำที่คุณศรัณย์นิยามให้กับงานออกแบบของเขาว่าเป็นอะไรที่ ‘Cheap Cheap’ แต่ ‘Chic Chic’
5. ECO Tourism
ปรากฏการณ์สุดท้ายที่เราอยากพูดถึงก็คือ ECO Tourism หรือการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งหากฟังเผิน ๆ อาจจะนึกไปถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติ แต่แท้จริงแล้วกลับเป็นการนำตัวเอง(นักท่องเที่ยว)ลงไปมีส่วนร่วมกับชุมชนท้องถิ่น เพื่อแลกเปลี่ยนและทำความเข้าใจต่อวัฒนธรรมของพื้นที่นั้น ๆ เช่น แบรนด์ DoiSter ที่เริ่มต้นจากผลิตภัณฑ์ชาวดอย ซึ่งได้ปรับรูปแบบให้ดูร่วมสมัยกับวัฒนธรรมเมืองมากขึ้น เพื่อเชิญชวนให้ผู้สนใจได้แวะเวียนไปยังชุมชม เป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวดอยสู่ผู้คนต่างวัฒนธรรม ผ่านการสื่อสารรูปแบบต่าง ๆ โดยมุ่งสร้างความภาคภูมิใจในวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง จนเกิดการรักษาอัตลักษณ์ ภูมิปัญญา วัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่งดงามไว้เพื่อส่งต่อให้แก่ลูกหลาน ทั้งยังช่วยต่อยอดสร้างรายได้เสริมเศรษฐกิจชุมชน ผ่านผลิตภัณฑ์งานหัตถศิลป์ รวมไปถึงการจัดการท่องเที่ยว ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชนกับสังคมได้อีกด้วย
ซึ่งในปี 2020 นั้น “การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์” ในระดับโลก ยังมุ่งประเด็นไปยังกิจกรรมที่ส่งเสริมความยั่งยืนที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น “การท่องเที่ยวที่สนับสนุนกิจกรรมชดเชยคาร์บอน (Carbon offsetting)” หรือการเลือกพักในโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Hotels) เพราะสำหรับปีนี้ (และปีต่อ ๆ ไป) อาจไม่สำคัญว่า คุณจะไปเที่ยวที่ไหน เท่ากับการบอกว่าคุณเที่ยวอย่างไร และตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมมากแค่ไหนต่างหาก
cr : ngthai.com
ความ ECO อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คุณคิด
และนี่ก็คือ 5 ปรากฏการณ์ ECO ที่กำลังกลายเป็นวิถีชีวิตใหม่ไปแล้วในปัจจุบัน ซึ่งคุณจะได้พบกับสิ่งเหล่านี้อย่างแน่นอนที่งานบ้านและสวนแฟร์ midyear 2020 เพราะคราวนี้เรามาในธีม “ECO-Chic” ที่จะมาเล่าให้เห็นว่าเรื่อง ECO ไม่ใช่เรื่องไกลตัว และเราสามารถนำสิ่งเหล่านี้มาอยู่ในชีวิตประจำวันของเราได้ โดยที่ยังคงตอบโจทย์วิถีการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบัน พร้อมไอเดียมากมายที่รอให้คุณมาสัมผัสเเละเก็บเกี่ยวไอเดียนำไปปรับใช้ เพื่อช่วยให้โลกนับจากวันนี้มีความน่าอยู่ยิ่งขึ้น พบกับงานบ้านและสวนแฟร์ midyear 2020 งานแฟร์แรกของยุค New Normal ได้ระหว่างวันที่ 7 -16 สิงหาคม 2563 นี้ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค(BITEC) บางนา ฮอลล์ 98 – 104 ตั้งเเต่เวลา 9.30 น. -21.00 น.
เรื่อง : Wuthikorn Sut
ติดตามข้อมูลดีๆเกี่ยวกับ บ้านและสวนแฟร์ ได้ทาง แฟนเพจบ้านและสวน