บ้านปูนหลังคาจั่ว ที่นำภูมิปัญญาของเรือนไทยมาใช้ร่วมกับวัสดุสมัยใหม่ โดดเด่นด้วยหลังคาหน้าจั่วที่ดัดแปลงให้ดูทันสมัยขึ้น โดยใช้แผ่นเมทัลชีตพร้อมมีการยื่นชายคาเพื่อกันแดดและกันฝน นคอนกรีตโมเดิร์น
ได้เห็นบ้านหลังนี้ครั้งแรกผมก็รู้สึกชอบแล้ว พอได้ฟังแนวคิดในการออกแบบก็ยิ่งรู้สึกว่าบ้านดูน่าสนใจขึ้นไปอีก เพราะเป็นการนำภูมิปัญญาของเรือนไทยมาใช้ร่วมกับวัสดุสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว ทั้งในแง่ของการใช้สอยและสุนทรียภาพ ทำให้เกิดเป็น บ้านปูนหลังคาจั่ว ที่สวยงาม
ดูจากที่ตั้งของบ้านก็แทบไม่น่าเชื่อว่าอยู่ในเขตเมืองย่านคันนายาว เพราะแวดล้อมด้วยต้นไม้และมีคลองไหลผ่านที่ดิน ให้ความรู้สึกเหมือนบ้านสวนไม่มีผิด Mr. Frank Flatters เจ้าของบ้านเล่าว่า “ผมถูกใจตำแหน่งที่ดินตรงนี้ เพราะมีทั้งต้นไม้เขียวขจี ได้ยินเสียงนกร้อง และมองเห็นคลองไหลผ่าน ผมให้โจทย์กับผู้ออกแบบไปว่าบ้านต้องดูเรียบง่าย ใช้งานสะดวก และเปิดโล่ง ชอบบ้านที่ดูสะอาดตา รวมถึงอยากให้มีตู้เก็บของมากๆ เพราะมีของสะสมเยอะ โดยให้ซ่อนไว้ตามจุดต่างๆของบ้าน
“ความต้องการพิเศษของผมอีกอย่างหนึ่งคืออยากได้ห้องทำงานที่ค่อนข้างใหญ่ ต้องมองออกไปเห็นวิวสวยๆด้านนอก เพราะผมชอบต้นไม้ใบหญ้า เนื่องจากผมทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ต้องเดินไปต่างประเทศบ่อย เวลาไม่ได้ไปไหนก็จะใช้เวลาทำงานอยู่ในห้องนี้มากที่สุด ส่วนภรรยาผม คุณเจี๊ยบ (คุณดวงกมล โชตะนา) เธอทำงานเป็นบรรณาธิการ ก็อาจมาใช้ห้องทำงานนี้ร่วมด้วยในบางครั้ง ห้องนี้จึงต้องมีความสะดวกสบาย รองรับการใช้งานได้ดี”
จากโจทย์ข้างต้น คุณกรรณิการ์ รัตนปรีดากุล สถาปนิก ได้นำมาออกแบบเป็นบ้านหน้าตาทันสมัยที่แฝงกลิ่นอายความเป็นไทย ไม่ว่าจะเป็นการใช้หลังคาหน้าจั่วที่ดัดแปลงให้ดูทันสมัยขึ้น หรือการยื่นชายคาเพื่อให้เกิดร่มเงาแก่ตัวบ้าน “สถานที่ตั้งของบ้านอยู่ด้านในสุดของหมู่บ้าน ซึ่งมีความเป็นส่วนตัวสูง การวางผังพื้นที่มาจากรูปแบบการใช้ชีวิตเจ้าของบ้านทั้งสองคนซึ่งชอบอะไรเรียบง่ายและมีความต้องการชัดเจน ดังนั้นพื้นที่ใช้สอยจึงไม่ซับซ้อน ประกอบกับที่ดินค่อนข้างใหญ่ประมาณ 500 ตารางวา ดิฉันจึงกำหนดให้มีพื้นที่สีเขียวมากกว่าพื้นที่ของตัวบ้านซึ่งจะมีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 385 ตารางเมตร
“เจ้าของบ้านมีกิจกรรมในชีวิตเยอะ นอกเหนือจากเรื่องงานแล้ว ทั้งคู่ยังชอบทำกับข้าวและออกกำลังกาย เช่น ขี่จักรยาน ดังนั้นการสื่อสารต่างๆไม่ต้องผ่านการเดา เขาจะบอกเลยว่าต้องการพื้นที่ไหนและไม่ต้องการอะไรบ้าง ทำให้ผู้ออกแบบมองเห็นภาพไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งในเรื่องความต้องการพื้นที่โล่งมองเห็นวิวภายนอก เนื่องจากตำแหน่งที่ดินด้านหนึ่งหันไปทางสนามกอล์ฟ ตัวบ้านออกแบบให้ขนานไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีประตูบานเลื่อนยาวตลอดแนว เพื่อจะได้เห็นภาพวิวในมุมกว้าง”
หากมองจากภายนอกก็จะเห็นได้ชัดว่าบ้านนี้มีจุดเด่นที่หลังคา “หลายคนคิดว่าหลังคาของบ้านโมเดิร์นต้องเป็นหลังคาแบบเรียบ แต่หลังคามีความสำคัญกับสถาปัตยกรรมไทยมาก ทั้งเรื่องกันแดดและกันฝน จึงนำหลังคาแบบจั่วมาใช้ แต่จะทำอย่างไรให้ดูโมเดิร์นขึ้น เราจึงเพิ่มลูกเล่นให้หลังคามีความลาดเอียงไม่เท่ากันและใช้แผ่นเมทัลชีตเป็นวัสดุมุงหลังคา
“ส่วนรูปแบบการจัดวางผัง ดิฉันคิดจากภายในออกมาสู่ภายนอก เพราะเราใช้ชีวิตอยู่ภายในบ้านจึงต้องคำนึงถึงมุมมองจากภายในเป็นสำคัญ เช่น การทำช่องแสงเหนือประตูตรงบันไดชั้นล่างที่ เพราะเราอยากให้มองเห็นวิวภายนอกด้วย ตอนแรกเจ้าของบ้านกลัวเรื่องแสงแดดแต่ในที่สุดเขาก็เห็นด้วย นี่เป็นจุดที่เราอยากให้เจ้าของบ้านมีส่วนร่วมในบ้านของเขาให้มากที่สุด เพื่อจะได้สะท้อนความต้องการของเขาให้มากที่สุด”
บ้านหลังนี้มีรั้วเพียงด้านเดียวคือหน้าบ้าน อีกสองด้านเป็นรั้วต้นไม้ที่ให้ความรู้สึกกลมกลืนไปกับธรรมชาติรอบข้าง ส่วนอีกด้านที่เหลืออยู่ติดกับลำคลอง เมื่อก้าวเข้าไปในบ้านจะพบกับโถงพักคอยและพื้นที่เปิดโล่งขนาดใหญ่ประกอบด้วยส่วนรับแขก ส่วนรับประทานอาหาร และครัว มีผนังด้านหนึ่งเป็นประตูบานเลื่อนกรุกระจกใสยาวตลอดแนวต่อเนื่องกับสระว่ายน้ำ เพื่อจะได้มองเห็นทิวทัศน์สวยๆ โดยทำเฉลียงเกือบรอบบ้าน ชั้นสองประกอบด้วย 2 ส่วนหลักๆ ด้านขวามือจะเป็นห้องทำงาน ส่วนซ้ายมือเป็นห้องนอนใหญ่พร้อมห้องน้ำในตัวและห้องออกกำลังกาย จุดเด่นของห้องนี้คือยังคงเป็นพื้นที่เปิดโล่ง เพียงเลื่อนประตูห้องน้ำใหญ่ออก ห้องทั้งหมดก็จะเชื่อมต่อกันเหมือนเป็นห้องขนาดใหญ่เพียงห้องเดียว บริเวณชั้นสองยังมีระเบียงทอดยาวอยู่ที่ด้านนอกตลอดแนว ทำให้สามารถเดินได้โดยรอบ
หลังเดินชมรอบบ้านแล้วสังเกตได้ว่าตัวบ้านมีความโปร่ง นั่นเป็นเพราะคุณกรรณิการ์ต้องการออกแบบให้พื้นที่ในแต่ละส่วนของบ้านสามารถมองเห็นกันและกันได้เสมอ เพื่อให้ทุกฝ่ายรู้ความเคลื่อนไหวของกันได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกภายในบ้าน “ในบ้านหลังนี้ไม่ว่าใครจะอยู่ที่ไหนก็ยังพอมองเห็นกันได้บ้างว่าอีกคนทำอะไรอยู่ พอเราเห็นเขา เราก็เกิดความคิดจะเข้าไปหา ไปพูดคุย หรือร่วมทำกิจกรรมด้วย การจัดสเปซของสถาปัตยกรรมแบบนี้มีทั้งการแบ่งแยกและเชื่อมต่อไปพร้อมๆกัน ไม่เน้นความเป็นส่วนตัวหรือส่วนรวมมากเกินไป แต่จัดสัดส่วนให้กำลังพอดี เหมาะกับรูปแบบการใช้ชีวิตและความเป็นอยู่ของเจ้าของบ้านให้มากที่สุด”
จึงอาจกล่าวได้ว่าบ้านหลังนี้เป็นเรือนไทยยุคใหม่ที่ทำให้การใช้ชีวิตมีความสะดวกตามวิถีชีวิตที่ทันสมัย แต่ก็ไม่ทิ้งความน่าสบายในบรรยากาศแบบไทยๆ
DESIGNER DIRECTORY : Spacetime Architects โดยคุณกรรณิการ์ รัตนปรีดากุล และคุณเทอดศักดิ์ เชิดชูอำไพ / เจ้าของ : คุณดวงกมล โชตะนา และ Mr. Frank Flatters
เรื่อง : ตาเก่ง
ภาพ : สังวาล พระเทพ
ผสมผสานอย่างลงตัวแบบฉบับ บ้านโมเดิร์นกลิ่นอายไทย
บ้านตีนดอย ความพอดีระหว่าง”บ้านไทย”กับ”บริติชสไตล์”