นิยามของสไตล์ “โมเดิร์น” ความเรียบเท่ที่ทุกบ้านควรมี

แม้ว่าสไตล์การตกแต่งบ้านจะมีหลายรูปแบบ ทั้งสไตล์คลาสสิกอันเก่าแก่ของยุโรป สไตล์โอเรียนทัลที่สะท้อนอารยธรรมเอเชีย หรือสไตล์คันทรีที่เล่าขานความงามของชนบท แต่หากพูดถึงสไตล์การตกแต่งบ้านยอดนิยมคงหนีไม่พ้น “สไตล์ โมเดิร์น ”

ทั้งรูปแบบงานสถาปัตยกรรมและการตกแต่งภายในที่กระจายความนิยมออกไปทั่วโลก ซึ่งได้ปรับเปลี่ยนผสมผสานกับอารยธรรมของแต่ละท้องถิ่น เกิดเป็นอัตลักษณ์เฉพาะที่โดดเด่น สไตล์ โมเดิร์น จึงได้ชื่อว่าเป็นภาษาสากลที่พบเห็นได้ในสถาปัตยกรรมทุกหนแห่งทั่วโลก

อะไรคือสไตล์โมเดิร์น?  โมเดิร์นเป็นคำที่มีความหมายในตัว หมายถึง “ทันใหม่” ในแง่ของงานออกแบบ “สถาปัตยกรรม โมเดิร์น ” คือรูปแบบของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่สร้างขึ้นโดยยึดถือการใช้งานเป็นหลัก (Functionalism) ตัดทอนองค์ประกอบที่ฟุ่มเฟือยให้เหลือแค่เพียงความเรียบง่าย แต่เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า รูปแบบของบ้านโมเดิร์นจึงมักเห็นอาคารทรงเรขาคณิตเรียบนิ่ง โดดเด่นด้วยเส้นสาย เพื่อให้วัสดุก่อสร้างได้ทำหน้าที่โดยไม่แต่งเติมใดๆ ไร้การประดับประดาให้มากองค์ประกอบ แต่ก่อนที่บ้านสไตล์โมเดิร์นขยายกว้าง ลองย้อนกลับไปดูต้นกำเนิดของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ กับการเดินทางผ่านมุมมองของดีไซเนอร์และสถาปนิกในยุคเริ่มแรกก่อนจะเป็นบ้านโมเดิร์นในยุคปัจจุบัน

สไตล์โมเดิร์นในยุคเริ่มแรก

Bauhaus Dessau ออกแบบโดย Walter Gropius (ภาพจาก https://www.spacesmith.com/)

สถาปัตยกรรมสมัยใหม่นั้นเริ่มต้นตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง  The Bauhaus School สถาบันสอนศิลปะได้ถือกำเนิดขึ้นในปี 1919 ก่อตั้งโดย Walter Gropius ที่ประเทศเยอรมนี มีแนวคิดที่ฉีกจากเดิมและส่งต่อแนวคิดสมัยใหม่ที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้น โดยเชื่อว่าสถาปัตยกรรมไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยงรูปแบบดั้งเดิมในอดีต แต่เลือกใช้เหตุผลและฟังก์ชันเป็นหัวใจสำคัญในการออกแบบ ฟอร์มของอาคารจึงเกิดจากฟังก์ชัน ถ่ายทอดผ่านอาคาร Bauhaus Dessau ซึ่งแนวคิดของ Bauhaus ได้แพร่กระจายไปทั่วโลกและยังใช้ในงานออกแบบทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นกราฟิกดีไซน์ เฟอร์นิเจอร์ หรือโปรดักส์ดีไซน์ และเป็นแนวคิดที่นักออกแบบรุ่นใหม่ยังคงยึดถือจนถึงปัจจุบัน

บ้านโมเดิร์นที่เปลี่ยนรูปแบบสถาปัตยกรรมไปตลอดกาล

Fallingwater House ออกแบบโดย Frank Lloyd Wright

Frank Lloyd Wright สถาปนิกชาวอเมริกันผู้เปลี่ยนโฉมหน้างานสถาปัตยกรรมในประเทศสหรัฐอเมริกา ลดทอนความหรูหราของอาคารดั้งเดิมให้เหลือเพียงรูปทรงเรขาคณิต เปลี่ยนอาคารสไตล์นีโอคลาสสิกที่เต็มไปด้วยความหรูหราให้เหลือเพียงฟังก์ชันที่จำเป็นในรูปทรงที่เรียบง่าย พร้อมการค้นหานวัตกรรมการก่อสร้างบ้านแบบโมดูลาร์ เพื่อต้องการให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงการสร้างบ้านที่เป็นวิธีง่ายๆ และราคาไม่แพง แล้วยังเชื่อมโยงไปถึงแนวคิดการออกแบบที่เคารพธรรมชาติ

Fallingwater House คือผลงานมาสเตอร์พีซของของไรต์ เกิดจากแนวคิดการออกแบบสถาปัตยกรรมโดยหลอมรวมเข้าเป็นเนื้อเดียวกับธรรมชาติที่รายรอบ และให้ความสำคัญกับบริบทที่ไม่ได้หมายถึงแค่สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังหมายถึงวิธีการใช้งานและความรู้สึกของผู้พักอาศัยขณะใช้งานภายในอาคาร รวมทั้งการใช้ประโยชน์ของวัสดุอย่างกระจกหรือบันไดคอนกรีต ที่เกิดความสัมพันธ์อย่างลื่นไหลด้วย

เฟอร์นิเจอร์ที่เป็นตำนานของสไตล์โมเดิร์น

เก้าอี้ Eames Molded Plastic Chair ภาพจาก https://www.hermanmiller.com/

ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้เกิดกระแสของงานตกแต่งบ้านรูปแบบใหม่ นั่นคือ Mid-century Modern อันเป็นผลมาจากผู้คนต่างเรียกหาความสดใส สีสัน พยายามฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้กลับมามีชีวิต หลังจากต้องตกอยู่ภายใต้ความยากลำบากในช่วงสงครามมาเนิ่นนาน แต่ด้วยสภาวะขาดแคลนทรัพยากรเป็นอย่างมาก ทำให้รูปแบบของงานดีไซน์ทั้งเฟอร์นิเจอร์และโปรดักส์ดีไซน์ถูกตัดทอนองค์ประกอบให้มีความเรียบง่าย ให้ความสำคัญกับฟังก์ชัน ปราศจากการตกแต่งรายละเอียดยิบย่อยใดๆ ทั้งสิ้น

การผลงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่โดดเด่นในยุคนั้นคงหนีไม่พ้น Charles & Ray Eames สามีภรรยาที่เป็นทั้งสถาปนิก ดีไซเนอร์ ศิลปิน และผู้สร้างเฟอร์นิเจอร์ไอคอนิกที่ยังคงถูกพูดถึงอยู่ในปัจจุบัน เก้าอี้ในตำนานที่เป็นไอคอนิกของสไตล์โมเดิร์นซึ่งเป็นผลงานของ Charles & Ray Eames มีหลายชิ้นที่ยังคงอยู่คู่บ้านสไตล์โมเดิร์นในปัจจุบัน เช่น Eames Lounge Chair and Ottoman, Eames Molded Plastic Chair

โปรดักส์ดีไซน์ที่เป็นไอคอนิกของสไตล์โมเดิร์น

ในคริสต์ศตวรรษที่ 21 โปรดักส์ดีไซน์ที่เป็นไอคอนิกสร้างความตื่นเต้นแปลกใหม่ให้วงการออกแบบคงหนีไม่พ้นผลงานของ Philippe Starck ดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศสผู้ฉีกกฎเดิมๆ ผ่านผลงานออกแบบอันหลากหลาย ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า ข้าวของเครื่องใช้ และเฟอร์นิเจอร์ ดีไซน์อันโดดเด่นของสตาร์คคือการตัดทอนรายละเอียดที่ไม่จำเป็นออกให้เหลือเพียงความเรียบง่าย ซ่อนฟังก์ชันให้เป็นหนึ่งเดียวกับงานดีไซน์ได้อย่างแยบยล แต่โดดเด่นด้วยเส้นสายและสีสันที่หลอมรวมให้ผลงานของเขาดูมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็น Juicy Salif, Ktribe T2 Table, XO และ Ghost Chair ที่กลายเป็นไอเท็มยอดนิยม

มองบ้านในไทยกับดีไซน์โมเดิร์น

ความนิยมสไตล์โมเดิร์นในเมืองไทยมิเคยแผ่วลงไปเลย แม้ว่าจะผ่านยุคเริ่มแรกที่รับอิทธิพลเข้ามานาน หลากหลายไอเท็มจากยุค Mid-century Modern ยังปรากฏให้เห็นตราบจนถึงปัจจุบัน สถาปัตยกรรมยังคงเน้นเส้นสายเรขาคณิต เปิดโล่ง หากแต่มีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศของเมืองไทยที่ตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากต้นกำเนิดในฝั่งยุโรปและสหรัฐอเมริกา แต่ยังคงไว้ซึ่งแก่นของงานดีไซน์  นั่นคือการออกแบบโดยใช้ฟังก์ชันเป็นตัวนำ ภายใต้บริบทที่โปร่งโล่ง อยู่สบาย

บ้านโมเดิร์นในไทยจึงมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งโมเดิร์นทรอปิคัล โมเดิร์นลอฟต์ และโมเดิร์นมินิมัล แตกต่างไปตามดีเทลของวัสดุแต่ละสไตล์ เช่นเดียวกับเฟอร์นิเจอร์ที่นำมามิกซ์แอนด์แมตช์หลอมรวมกับดีไซน์ท้องถิ่นซึ่งมีไม้เป็นวัสดุนำ ลุคของบ้านโมเดิร์นจึงเป็นความเรียบเท่ โปร่งโล่ง และกรุ่นด้วยความอบอุ่นจากวัสดุ ไม่ได้แข็งกระด้างไปเสียทีเดียว

Kleenex กล่องดีไซน์ใหม่เรียบเท่ด้วยเส้นสายลายกราฟิกในสไตล์โมเดิร์น เข้ากับการตกแต่งบ้านสมัยใหม่ได้อย่างกลมกลืน ไม่แปลกแยก

หากชาวโมเดิร์นนิสม์ปรารถนาจะตกแต่งภายในบ้านให้คุมโทนในสไตล์โมเดิร์นแล้ว สามารถทำได้เองโดยเริ่มจากการเลือกโทนสีภายในอาคารที่ควรเป็นสีเรียบนิ่ง ไม่ฉูดฉาด แต่ใช้แสงธรรมชาติเข้ามาสร้างมิติผ่านช่องหน้าต่างกระจกใสบานใหญ่ที่เป็นได้ทั้งบานติดตาย บานเปิด และมีช่องแสง (Voids) ตามสถาปัตยกรรมต้นแบบ จากนั้นเลือกเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์เรียบแต่ฟังก์ชันตรงตามการใช้งาน ตกแต่งเพิ่มเติมด้วยข้าวของเครื่องใช้ที่ใช้งานได้จริง มีความสวยงามกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับดีไซน์โดยรวม เพียงเท่านี้ก็ทำให้บ้านสไตล์โมเดิร์นฉายแววชัดมากขึ้น