สวนครัวดาดฟ้า และวิธีการเตรียมพื้นที่สำหรับทำสวนครัวดาดฟ้า - บ้านและสวน
roof-garden

สวนครัวดาดฟ้า และวิธีการเตรียมพื้นที่สำหรับทำสวนครัวดาดฟ้า

สวนครัวดาดฟ้า และการทำเกษตรในเมืองเป็นทั้งงานอดิเรกและเป็นแหล่งอาหารที่สะอาดปลอดภัย โดยพื้นที่ที่เหมาะสำหรับทำเกษตรในเมืองหรือบ้านที่มีพื้นดินจำกัด คือ ดาดฟ้าหรือระเบียงที่ได้รับแสงแดดตลอดวัน มาดูวิธีการเตรียมพื้นที่สำหรับทำสวนครัวดาดฟ้ากัน

สวนครัวดาดฟ้า

สวนครัวดาดฟ้า และรูปแบบการปลูกผักสวนครัว

แปลงผักที่ดีควรวางในแนวเหนือใต้ พืชจะได้รับแสงแดดมากกว่าการปลูกในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก ซึ่งสามารถปลูกได้หลายรูปแบบตามลักษณะพื้นที่และประเภทของพืช เช่น สวนครัวแบบแปลงผัก สวนครัวเลื้อย สวนครัวแนวตั้ง สวนครัวแบบโรงเรือน สวนครัวดาดฟ้า

สวนครัวดาดฟ้า

ดูบ้านมีสวนดาดฟ้าสวยๆ :

บ้านเวียดนามที่มุงหลังคาบ้านด้วยแปลงผักสวนครัว

สวนผักบนดาดฟ้า ห้องทดลองปลูกของ “แพรี่พาย”

วางแผนแบ่งโซน

ตำแหน่งที่แข็งแรงที่สุดของพื้นดาดฟ้าคือ ตรงตำแหน่งเสาอาคาร รองลงมาคือแนวคานโครงสร้าง ดังนี้ถ้าจะวางวัตถุที่มีน้ำหนักมากและไม้พุ่มสูงควรวางตามแนวเสาและคาน บริเวณใกล้แนวคานเหมาะกับการรับน้ำหนักปานกลาง เช่น ไม้พุ่มเตี้ยที่ใช้ดินลึก 30-50 เซนติเมตร ส่วนบริเวณพื้นดาดฟ้าควรวางวัตถุที่มีน้ำหนักน้อย ทำเป็นทางเดินหรือปูวัสดุปูพื้นเป็นพื้นที่พักผ่อน

สวนครัวดาดฟ้า

ตรวจสอบสภาพอาคาร

หากวางแผนจัดสวนและปลูกผักสวนครัวเป็นพื้นที่กว้างซึ่งมีการเพิ่มน้ำหนักให้อาคารเดิมมาก ควรให้วิศวกรมาตรวจสอบสภาพและการรับน้ำหนักของโครงสร้างอาคาร รวมถึงตรวจสภาพการแตกร้าวและการรั่วซึม โดยมี 2 จุดที่มักพบ คือ

  • รอยต่อผนัง พื้นดาดฟ้ากับผนังมักจะทำแยกชิ้นกัน ทำให้เนื้อคอนกรีตพื้นและผนังไม่ผสานเป็นเนื้อเดียวกัน จึงเกิดการแตกร้าวบริเวณรอยต่อนี้ได้ง่าย
  • พื้นดาดฟ้า การใช้วัสดุก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน การเทหรือการบ่มคอนกรีตไม่ดี และการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเป็นสาเหตุให้เกิดการแตกร้าวเป็นเส้นตรงและรูปตีนกา ซึ่งมีทั้งร้าวที่ผิวและร้าวลึกลงในเนื้อคอนกรีต

การซ่อมแซมรอยแตก

สามารถซ่อมแซมรอยแตกหรือรอยต่อด้วยซีเมนต์ซ่อมแซมโครงสร้างด้วยวิธีการดังนี้

  1. ทำความสะอาดพื้นผิว สกัดพื้นผิวที่หลุดล่อนออกจนถึงผิวที่แน่น
  2. ถ้าเสียหายจนถึงเหล็กเสริม ให้ทำความสะอาดเหล็กเสริม ทาน้ำยากันสนิม แล้วผสมซีเมนต์ซ่อมแซมโครงสร้าง กับน้ำยาประสานคอนกรีต ทาบนผิวเหล็กเสริมเพื่อป้องกันการกัดกร่อนและเพิ่มแรงยึดเกาะในการฉาบ
  3. บ่มน้ำบนพื้นผิวที่จะทำการซ่อมให้หมาดก่อนทำงาน
  4. ฉาบด้วยเกรียง กดให้แน่น อาจทำการฉาบแต่ง 1 ถึง 2 ชั้น โดยทิ้งช่วงห่างในแต่ละชั้นราว 2-2.5 ชั่วโมง

การทาวัสดุกันซึม

  1. ทำความสะอาดพื้นผิวและปล่อยให้แห้งสนิท จากนั้นใช้แปรงหรือลูกกลิ้งทาลงบนพื้นผิวแล้วปล่อยให้แห้งตามคำแนะนำของผู้ผลิต ก่อนทารอบสอง
  2. เสริมแรงด้วยตาข่ายไฟเบอร์ในจุดที่แตกร้าว และบริเวณรอยต่อพื้นกับผนัง โดยปูในขณะที่ชั้นแรกยังไม่แห้ง
  3. ทารอบที่สองในทิศทางตั้งฉากกับรอบแรก โดยให้เนื้อฟิล์มกลบแผ่นตาข่ายไฟเบอร์ได้สนิท แล้วปกป้องพื้นผิวไม่ให้โดนน้ำ 3 วัน หรือตามคำแนะนำของผู้ผลิต
สวนครัวดาดฟ้า

การทำกระบะปลูก

กระบะปลูกแบบที่ 1 สำหรับการปลูกพื้นที่กว้าง

  1. พื้นคอนกรีตผสมน้ำยากันซึม
  2. ทาวัสดุกันซึม
  3. รางระบายน้ำ
  4. ตะแกรงระบายน้ำสำหรับหลังคา
  5. แผ่นตะแกรงระบายน้ำใต้ดินสำเร็จรูป หรือแผ่นโซล่าสเลป
  6. ตาข่ายไนลอน หรือแผ่นจีโอเท็กซ์ไทล์
  7. เปลือกมะพร้าว
  8. อิฐหัก
  9. ทรายหยาบ
  10. ดินปลูก หญ้าควรมีความสูงของชั้นดินไม่น้อยกว่า 30 เซนติเมตร ไม้พุ่มไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร และไม้ยืนต้นไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร
สวนครัวดาดฟ้า

กระบะปลูกแบบที่ 2 สำหรับการก่อเป็นแถว

  1. พื้นคอนกรีตที่ทาวัสดุกันซึมแล้ว
  2. ท่อพีวีซีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 นิ้ว ผ่าครึ่ง ใช้สว่างเจาะรูระบายน้ำ
  3. ตาข่ายพลาสติก
  4. หินเกล็ด
  5. เศษกระถางหรืออิฐหัก
  6. กาบมะพร้าวสับ
  7. ดินปลูก
  8. ผนังก่ออิฐฉาบปูนผสมน้ำยากันซึม

กระบะปลูกแบบที่ 3 กระบะลอยตัวยกสูง ลดความชื้นที่พื้นดาดฟ้า

  1. ดินปลูก
  2. แผ่นพลาสติกเจาะรูหรือแผ่นจีโอเท็กไทล์
  3. แผ่นตะแกรง
  4. ก้นกระบะปูแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์
  5. กระบะโครงไม้หรือเหล็ก

กระบะปลูกแบบที่ 4 กระบะลอยตัวจากวัสดุเหลือใช้

            นำวัสดุเหลือใช้และหาง่ายมาทำแปลงที่สามารถวางบนพื้นคอนกรีตได้ โดยนำกิ่งไม้หรือไม้รวกมาประกอบให้เป็นแปลงสี่เหลี่ยมตามขนาดที่ต้องการ สูงประมาณ 30-40 เซนติเมตร มัดด้วยลวดให้แน่น แล้วปูด้วยผ้าใบพลาสติกหรือกระสอบปุ๋ยเย็บติดกัน อาจใช้วัสดุแผ่นเหลือใช้ เช่น แผ่นป้ายหาเสียง ไม้อัด นำมาตัดและกรุขอบด้านในโดยรอบ ก็จะช่วยยืดอายุการใช้งานของโครงไม้หรือไม้ลวก

สวนครัวดาดฟ้า

ไอเดียการวางแปลน สวนครัวดาดฟ้า

            หลักการทำสวนบนดาดฟ้าคือ ควรทำระบบกันซึมและการระบายน้ำให้ดี วางสิ่งของตามแนวเสาคาน รวมถึงใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบา โดยไอเดียนี้ยกตัวอย่างดาดฟ้าของตึกแถวหนึ่งคูหาซึ่งมีขนาด 4×12 เมตร

  1. ทำหลังคาโครงเหล็กในบริเวณพื้นที่เก็บของและเตรียมปลูก
  2. หลังคาโปร่งแสงบริเวณที่ตากผ้า
  3. ทำรางน้ำและต่อท่อมายังถังพักน้ำฝนสำหรับใช้รดน้ำผัก
  4. เคาน์เตอร์อ่างล้างมือ
  5. ถังเก็บน้ำ
  6. ที่เก็บอุปกรณ์
  7. พื้นที่วางราวตากผ้า
  8. ชั้นปลูกผักแบบขั้นบันได
  9. กระบะปลูกไม้เลื้อย
  10. กระบะปลูกผักที่ทำขาสูงระดับโต๊ะ จึงไม่ต้องก้ม และระบายน้ำได้ดี
  11. โรงเรือน
  12. ปรับระดับพื้นให้ลาดเอียงอย่างน้อย 1 : 200 เพื่อไม่ให้เกิดน้ำขัง
  13. ทาวัสดุกันซึม
  14. ทำทางระบายน้ำช่วยให้ระบายได้เร็ว

เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์

ภาพประกอบ : เอกรินทร์ พันธุนิล

ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน


การทำสวนดาดฟ้าและระบบกันซึม

Before / After เปลี่ยนดาดฟ้าเน่า รั่วซึม เป็นมุมพักผ่อน

 ติดตามบ้านและสวน