“พุก” คืออุปกรณ์สำหรับช่วยยึดนอตหรือสกรูเข้ากับพื้นและผนัง ซึ่งมีหลายชนิดมาก มารู้จักพุกแต่ละชนิด เพื่อเลือกใช้ให้เหมาะกับการใช้งาน
พุกพลาสติก หรือพุกตัวหนอน
เป็น พุก ที่เหมาะกับงานง่าย ๆ ที่มีน้ำหนักไม่มาก เช่น การแขวนรูปภาพประดับผนังก่ออิฐฉาบปูนทั่วไป เมื่อขันสกรูเข้าไป ตัวหนอนจะพองขึ้นและยึดแน่นติดกับปูน
พุกเหล็ก
เหมาะกับการใช้งานในที่ร่ม และงานที่ต้องการรับน้ำหนักมากเป็นพิเศษ เช่น งานติดตั้งเสารับน้ำหนักบนพื้นคอนกรีตของโรงรถ งานยึดฝ้าเพดานเพื่อแขวนแชนเดอเลียร์
พุกสำหรับคอนกรีตบล็อก
มีรูปร่างหน้าตาคล้ายพุกตัวหนอน แต่บริเวณลำตัวของพุกจะมีสันหรือลอนถี่มากกว่า ทำจากในลอนซึ่งมีความเหนียวและแข็งแรงสามารถรับน้ำหนักได้สูงกว่าพุกพลาสติกทั่วไป
พุกเคมี
พุกแบบนี้เราไม่ได้ใช้เองในบ้าน เพราะเป็นอุปกรณ์ของช่างก่อสร้างอาชีพ แต่ก็น่าจะรู้จักไว้ ช่างจะเจาะรูที่เสา หรือพื้นคอนกรีตแล้วสอดพุกเข้าไป จากนั้นจะใช้สว่านเจาะพุกให้แตก แล้วสอดเหล็กเส้น หรือตะปูเกลียวเข้าไป กาวเคมีที่อยู่ในหลอดแก้วจะช่วยยึดให้ติดแน่น
พุกสำหรับงานยิปซัม
เนื่องจากเนื้อในของยิปซัมจะมีประสิทธิภาพในการรับน้ำหนักน้อยกว่าผนังแบบอื่น ๆ ลำตัวของพุกชนิดนี้จึงออกแบบให้มีลักษณะเป็นแฉก เมื่อเราขันสกรูเข้าไป พุกจะกางออกที่ด้านในของแผ่นยิปซัม
พุกสำหรับคอนกรีตมวลเบา
ทำจากโลหะ มีลักษณะเป็นเกลียวคมที่สามารถยึดติดกับเนื้อของอิฐมวลเบาได้ดี และมีประสิทธภาพดีกว่าพุกพลาสติก
พุกตะกั่ว
เหมาะกับงานกลางแจ้ง เนื่องจากรับน้ำหนัก และทนต่ออุณหภูมิความร้อนภายนอกบ้านได้ดีกว่าพุกพลาสติกหรือพุกเหล็กซึ่งเกิดสนิมได้ง่าย เช่นการติดตั้งแท็งก์บรรจุ น้ำดื่มน้ำใชที่ตั้งอยู่บนระเบียงหรือดาดฟ้า
- เรื่อง : คันยิก้า
- ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ