แนวคิดการออกแบบภูมิทัศน์ที่สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน สร้างธรรมชาติยั่งยืน และส่งเสริมให้เกิดสุขภาพที่ดีแก่ผู้อยู่อาศัย ท่ามกลางบรรยากาศแบบ สวนป่ากลางเมือง ที่ไม่ต้องเดินทางออกไปต่างจังหวัดไกลๆ ผู้อยู่อาศัยสามารถสัมผัสธรรมชาติและต้นไม้ที่มีทั้งสีสันและกลิ่นหอมเฉพาะตัว ส่งผลต่อการกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้งห้า
คุณได้บทเรียนอะไรจากเหตุการณ์ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 เกิดความปกติใหม่ขึ้นอย่างไรกับคุณบ้าง ประเด็นหนึ่งสำหรับผมและอีกหลายคนคือการเห็นคุณค่าของการมีชีวิต มองเห็นความสุขของการที่ได้ออกมาเดิน ออกมาใช้ชีวิตอยู่นอกบ้านมากขึ้นกว่าแต่ก่อน หรือแม้แต่ความต้องการสูดเอาลมหายใจที่บริสุทธิ์ ไร้มลพิษเข้ามาในปอด ซึ่งธรรมชาติในสวนอาจเป็นคำตอบช่วยเยียวยาเราได้ สวนป่ากลางเมือง
ผมมีโอกาสได้มาเยือน โครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ (Jin Wellbeing County) อีกครั้งในวันที่งานภูมิทัศน์ภายใต้การออกแบบของ บริษัทฉมา จำกัด เสร็จสมบูรณ์ ที่นี่เป็นโครงการที่อยู่อาศัยรูปแบบใหม่สำหรับผู้สูงอายุที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นครบทุกอย่าง อย่างโรงพยาบาลบนเนื้อที่กว่า 35 ไร่ ด้วยแนวคิดการออกแบบภูมิทัศน์ที่สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน สร้างธรรมชาติยั่งยืน และส่งเสริมให้เกิดสุขภาพที่ดีแก่ผู้อยู่อาศัย ท่ามกลางบรรยากาศแบบสวนป่ากลางเมืองที่ไม่ต้องเดินทางออกไปต่างจังหวัดไกลๆ ผู้อยู่อาศัยสามารถสัมผัสธรรมชาติและต้นไม้ที่มีทั้งสีสันและกลิ่นหอมเฉพาะตัว ส่งผลต่อการกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้งห้าคือ การมอง การได้ยิน การลิ้มรส การดมกลิ่น และการสัมผัสของผู้ใช้งาน ขณะทำกิจกรรมต่างๆนอกเหนือจากการเดินชมธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นบริเวณชุดโต๊ะสนามที่ตั้งในลานใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ ทางเดินหินนวดเท้า ที่สำคัญยังมีทางเดินสำหรับการทำกายภาพบำบัดโดยเฉพาะ แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ ทางเดินพื้นเรียบ ทางลาด และขั้นบันไดที่มีระยะความกว้างพอเหมาะให้ผู้ช่วยและผู้ป่วยสามารถเดินไปด้วยกันได้ พร้อมราวจับตลอดแนวเพื่อป้องกันอันตรายจากการลื่นล้มอย่างน้อย 1 ด้านอีกด้วย
สวนแห่งนี้ยังคำนึงถึงหลัก 3 อย่าง คือ พักผ่อน (Retreat) สร้างปฏิสัมพันธ์ (Engage) และสร้างสรรค์ (Create) ตามความต้องการของผู้ใช้งานในสวนที่มีทุกช่วงอายุ ทั้งผู้ที่มาออกกำลังกาย พักผ่อนในวันหยุด ใช้ความคิด ทำกิจกรรมเพื่อจรรโลงจิตใจ พบปะ และสร้างสังคม ซึ่งกิจกรรมต่างๆจะแทรกอยู่ในพื้นที่ผืนใหญ่ในสวนส่วนกลางที่เชื่อมถึงกันทั้งหมดด้วยทางเดินภายในสวน เพื่อรวมจุดและเพิ่มโอกาสในการสร้างปฏิสัมพันธ์กัน แต่ก็ยังสามารถแยกไปทำกิจกรรมในรูปแบบที่แต่ละคนสนใจได้อยู่ เช่น กิจกรรมปลูกผักบนสวนผักขนาดย่อมด้านหน้าอาคารที่พักและห้องสำหรับเวิร์คชอปทำอาหารที่อยู่ไม่ไกลกัน เปิดโอกาสให้ผู้อยู่อาศัยได้มาพักผ่อนและเก็บเกี่ยวผลผลิต ไปใช้ปรุงอาหารในครัวเรือนหรือปิกนิกนอกบ้านในวันที่อากาศดีได้อีกด้วย ทำให้ผู้ทำกิจกรรมทั้งสองอย่างได้พบปะพูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ลดทอนความเหงาและความรู้สึกว่าต้องอยู่คนเดียวในสังคม
โครงการนี้ยังต้องการสร้างระบบนิเวศที่ดีมากกว่าแค่สวนสวย พรรณไม้ที่เลือกใช้จึงเป็นการถอดแบบมาจากป่าผสมในธรรมชาติ ที่เต็มไปด้วยต้นไม้หลายขนาดและชนิดอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล เป็นประโยชน์ให้สัตว์ขนาดเล็กอย่างนก กระรอก และแมลงได้กลับมาอยู่อาศัยและได้ขยายพันธุ์อีกครั้ง หัวใจในการสร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์ของที่นี่คือการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต พื้นที่สวนทั้งหมดออกแบบให้ลาดเอียงลงมาหาลำธารตรงกลาง หรือคูระบายน้ำซึ่งทำหน้าที่รวมน้ำผิวดินจากน้ำฝนที่ตกลงมา ก่อนไหลต่อไปยังบ่อเก็บน้ำขนาดใหญ่เพื่อรอการบำบัดต่อไป ในวันปกติน้ำในบ่อจะถูกดูดกลับไปยังต้นลำธารเพื่อปล่อยลงมาสร้างความสวยงามและความชุ่มชื่นให้สวน นอกจากนี้ยังมีกำแพงกั้นน้ำเป็นคันดินรอบโครงการ เพื่อป้องกันน้ำจากภายนอกไหลเข้ามาท่วมนองในพื้นที่อีกด้วย
ระยะห่างทางสังคมอาจเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกนัก เพราะในช่วงเวลาที่เราประสบวิกฤตหรือความไม่สบายใจ การมีสังคมหรือปฏิสัมพันธ์เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เรามองเห็นคุณค่าในตัวเองอีกครั้ง ในความปกติใหม่ การรักษาระยะห่างทางร่างกายยังเป็นสิ่งจำเป็น ใต้หน้ากากผ้าเรายิ่งต้องยิ้มให้กัน ยิ่งสัมผัสกันไม่ได้เรายิ่งต้องพูดคุยและช่วยเหลือกันมากกว่าเดิม ในความปกติใหม่ตัวเราอาจไกลกัน แต่อยากให้ใจของเรายิ่งต้องใกล้กันไว้และอยู่ด้วยกัน แบบใกล้ธรรมชาติอันบริสุทธิ์มากยิ่งขึ้นกว่าที่เคยเป็น
นิตยสารบ้านและสวน เดือน กรกฎาคม 2563
The Day After Tomorrow พรุ่งนี้ที่มีเรากับธรรมชาติ
สถานที่ : จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ จังหวัดปทุมธานี โทรศัพท์ 0-2078-5777
www.jinwellbeing.com
ออกแบบ : บริษัทฉมา จำกัด โทรศัพท์ 0-2390-1977
เรื่อง : ปัญชัช
ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข, Panoramic Studio