ลด ปัญหาบ้านร้าว พัง รั่ว เปื้อน ด้วย Basic Details ง่ายๆแต่ได้ผล ซึ่งสามารถป้องกันหรือลดความรุนแรงของปัญหาได้ด้วยดีเทลเล็กๆ ในระหว่างก่อสร้าง
พื้นส่วนต่อเติม
หากมีการทำพื้นแยกโครงสร้างกัน เช่น พื้นส่วนต่อเติม ไม่ควรปูวัสดุทับรอยต่อ แนะนำให้ทำร่องของรอยต่อให้เป็นแนว เมื่อเกิดการแตกร้าว รอยร้าวจะอยู่ในแนวที่ทำไว้ ไม่ลามไปส่วนอื่น มีตัวอย่างดีเทลรอยต่อพื้นดังนี้ ปัญหาบ้านร้าว
- รอยต่อพื้นส่วนต่อเติมระดับเดียวกัน ควรเว้นช่องประมาณ 1 เซนติเมตร แล้วยาแนวด้วยวัสดุยืดหยุ่น เมื่อพื้นส่วนต่อเติมทรุดก็จะไม่ทำให้พื้นบ้านเสียหายลุกลาม
- รอยต่อพื้นส่วนต่อเติมต่างระดับ ให้เว้นระยะพื้นภายนอกกับพื้นบ้าน 15-20 เซนติเมตร แล้วโรยกรวดตกแต่ง หากพื้นทรุดตัวไม่เท่ากันก็จะไม่เห็นรอยแตก
มุมผนัง
ป้องกันมุมผนังหรือมุมเสาเสียหายจากการกระแทกด้วยการลบมุมให้มนหรือเอียง 45 องศา หรือจะที่อาจมีการกระแทกให้ครอบมุมด้วยวัสดุทนทาน เช่น เหล็กฉาก
รอยต่อผนัง
รอยต่อของวัสดุเป็นจุดที่เสียหายได้ง่าย แต่ละวัสดุสามารถดีไซน์ลดความเสียหายได้ เช่น
- ปูน ทรายล้าง หินล้าง เซาะร่องทุกระยะ 3-4 เมตร ลดปัญหาพื้นผิวแตกร้าวจากการขยายตัวของวัสดุ
- ไม้ การต่อไม้แบบ “เข้าลิ้น” หรือ “บังใบ” แล้วเซาะร่อง แม้ไม้จะยืดหดตัวก็ยังดูไม่น่าเกลียด
- วัสดุแผ่น ควรเว้นร่องระหว่างแผ่น เผื่อการยืดและหดตัว แล้วยาแนวด้วยวัสดุยืดหยุ่น เช่น อีพ๊อกซี่หรือซิลิโคน
เชิงผนัง
ส่วนล่างของผนังควรติดตั้ง บัวพื้นหรือบัวเชิงผนัง ด้วยวัสดุที่ไม่เปื้อนง่าย เพื่อป้องกันคราบเปื้อนจากการใช้งานและทำความสะอาดพื้น สามารถออกแบบได้หลายวิธี เช่น
- ติดบัวนูนออกมา ติดตั้งง่าย ทำได้หลังจากผนังเสร็จแล้ว
- ฝังบัวให้เรียบไปกับผนัง การทำผนังจึงต้องเผื่อความหนาและความสูงไว้ด้วย
- ติดขอบอะลูมิเนียมหรือสเตนเลสให้เว้าเข้าไป ช่วยให้ผนังดูเบาเหมาะกับบ้านสไตล์โมเดิร์น
ปูนฉาบ
ผนังฉาบปูนบริเวณมุมประตู-หน้าต่าง ผนังด้านทิศตะวันตกที่โดนแดดแรง หรือผนังที่ฉาบปูนปรับระดับจนหนาเกินไป มีโอกาสแตกร้าวได้ง่าย สามารถป้องกันได้ด้วยการกรุตะแกรงกรงไก่ก่อนฉาบจะช่วยลดการแตกร้าว หรือผสมเคมีภัณฑ์สำหรับงานฉาบบางลงในเนื้อปูน ก็ช่วยลดการแตกร้าวและทำให้ผิวปูนเรียบเนียนมากขึ้น
บานพับประตู
หากเลือกใช้บานพับคุณภาพดีและติดในตำแหน่งถูกต้องก็ไม่ต้องซ่อมอาการประตูตกไปอีกนาน บานพับที่นิยมใช้คือ บานพับปีกผีเสื้อ ซึ่งความทนทานขึ้นอยู่กับชนิดวัสดุและระบบของแหวน โดยเรียงลำดับความทนทานจากน้อยไปมาก
- วัสดุ : เหล็กชุบสี < ทองเหลือง < สเตนเลส
- ระบบแหวน : แหวนพลาสติก < แหวนทองเหลือง < แหวนสเตนเลส < แหวนระบบลูกปืน
- ตำแหน่ง : ควรติดบานพับอย่างน้อย 3 จุด โดยติดส่วนบน 2 ตัว เพราะเป็นจุดที่รับน้ำหนัก และรับแรงเหวี่ยงมากที่สุด โดยประตูน้ำหนักเบา เช่น ไม้อัดติดบานพับ 3 ตัว ประตูไม้จริงสูงไม่เกิน 2 เมตร ติดบานพับอย่างน้อย 4 ตัว และเพิ่มจำนวนตามขนาดและน้ำหนักประตู
การระบายน้ำหลังคา
หลังคาที่อยู่ใต้พุ่มไม้หรือใกล้ต้นไม้ มักมีใบไม้หล่นและปลิวมาอุดตันรางระบายน้ำฝน จึงควรติดตั้งตะแกรงกันใบไม้ซึ่งมีทั้งแบบสำเร็จรูป และแบบทำเองจากแผ่นตะแกรงพลาสติก สำหรับหลังคาดาดฟ้าและพื้นระเบียง ควรใช้ฝาตะแกรงระบายน้ำสำหรับหลังคา (Roof Drain) ซึ่งเป็นเหมือนตะกร้าคว่ำ ช่วยให้ระบายน้ำได้แม้จะมีเศษใบไม้ขวางอยู่ พร้อมทำช่องน้ำล้น (Over Flow) เพื่อช่วยระบายน้ำกรณีท่อระบายน้ำตัน
การมุงหลังคา
มุงหลังคาให้ลาดเอียงตามประเภทวัสดุมุงหลังคา เป็นด่านแรกของการป้องกันน้ำฝนไหลย้อน และรั้วเข้ามาในบ้าน
- เมทัลชีต ลาดเอียงอย่างน้อย 3-5 องศา
- กระเบื้องลอนคู่ ลาดเอียงอย่างน้อย 10 องศา
- กระเบื้องคอนกรีตลอน ลาดเอียงอย่างน้อย 17 องศา
- กระเบื้องคอนกรีตแผ่นเรียบ, ไฟเบอร์ซีเมนต์แผ่นเรียบ ลาดเอียงอย่างน้อย 25 องศา
- หมายเหตุ ความลาดเอียงหลังคาของผู้ผลิตแต่ละบริษัทอาจแตกต่างกัน
เรื่อง ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
ภาพประกอบ เอกรินทร์ พันธุนิล