หากให้นึกถึงสวนไทยที่ประทับใจไม่เคยลืม ภาพแรกที่ผมนึกขึ้นในหัวคือ สวนของพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ โดย คุณสกุล อินทกุล ศิลปินนักจัดดอกไม้ผู้มีชื่อเสียงในระดับสากล ผู้ก่อตั้งและผู้ออกแบบพิพิธภัณฑ์แห่งนี้
นอกจากการจัดดอกไม้ในสไตล์ร่วมสมัยอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใครแล้ว หลายครั้งคุณสกุลก็รังสรรค์การจัดสวนได้อย่างงดงามเช่นกัน อย่างโปรเจ็คท์ที่ทำร่วมกับ “บ้านและสวน” ภายในโครงการหมูบ้านจัดสรร เทพา รามคำแหง 118 (Dhepa Ramkhamhaeng 118) ซึ่งใกล้แล้วเสร็จในเร็ว ๆ นี้
“การจัดดอกไม้กับการจัดสวนมีความเหมือนกัน เพียงแต่มีขนาดและข้อจำกัดบางอย่างแตกต่างกัน เพราะทุกอย่างล้วนมาจากพื้นฐานของการจัดองค์ประกอบศิลป์ เช่น การจัดดอกไม้ต้องมีจุดเด่นนำสายตา ตัวรอง และฉากหลัง การจัดสวนก็เช่นกัน ทำให้เราสามารถประยุกต์การจัดสวนหรือจัดดอกไม้ได้หลากหลายสไตล์ภายใต้การออกแบบสัดส่วนอย่างสมดุล อีกประเด็นหนึ่งคือการเข้าใจลักษณะทั่วไปของต้นไม้ พร้อมวางแผนถึงอนาคตที่ต้นไม้ในสวนจะเจริญเติบโตไปตามรูปทรงของต้นในธรรมชาติ”
สวนไทยคืออะไร
สวนไทยก็เช่นเดียวกับวัฒนธรรมไทย เรามีรากฐานมาจากการรวบรวมเชื้อชาติและศิลปวัฒนธรรมอันหลากหลายมาประยุกต์หรือผสมผสานจนเป็นรูปแบบของเราเอง ไม่ว่าจะเป็นการจำลองรูปแบบหรือการนำองค์ประกอบหรือของตกแต่งจากวัฒนธรรมที่น่าสนใจมาตกแต่ง ดังจะเห็นได้ในประวัติศาสตร์ เช่น การนำสวนฟอร์มัลของฝรั่งเศสมาตกแต่งในสวนของพระนารายณ์ราชนิเวศน์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช การประดับบริเวณชานเรือนด้วยกระถางบอนไซจากวัฒนธรรมญี่ปุ่นและจีน หรือการจำลองภูเขาในธรรมชาติของเขามอที่ได้รับอิทธิพลมาจากการจัดสวนสไตล์จีน พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้เองก็ออกแบบเส้นทางการชมสวนให้มีการเดินที่ค่อยๆเผยให้เห็นมุมมองที่หลากหลาย มิติในสวนจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ หรือการหยิบยืมทัศนียภาพของเพื่อนบ้านมาใช้ในสวนเช่นเดียวกับการนำไอเดียของสวนญี่ปุ่นมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้ตอบโจทย์ด้านการใช้งานและสร้างสุนทรียภาพในการเดินชมสวน
“วัฒนธรรมไทยหรือเอเชียมีภาษาที่เชื่อมต่อกัน จะบอกว่าสวนลักษณะนี้มาจากสวนญี่ปุ่น ซึ่งสวนญี่ปุ่นเองก็ไปหยิบยืมจากจีนมาเช่นกัน วัฒนธรรมของเราเป็นการบูรณาการความเป็นอยู่เข้ากับธรรมชาติที่เราประดิษฐ์เป็นสวนขึ้นมาให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตในแบบของเรา”
ความเชื่อที่ฝังรากลึกในคนไทยส่งผลต่อการจัดสวนด้วยเช่นกัน
ความเชื่อที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นศาสตร์ฮวงจุ้ยหรือการบูชาพระภูมิเจ้าที่ กลายเป็นส่วนหนึ่งของรากฐานการจัดสวนไทยเช่นกัน หรือจะเป็นความเชื่อในเรื่องไม้มงคลซึ่งนิยมปลูกตามทิศของบ้าน โดยแต่ละภาคแต่ละพื้นถิ่นก็มีความเหมือนและแตกต่างกันไป กุศโลบายหนึ่งก็เพื่อเป็นการอนุรักษ์พรรณไม้พื้นถิ่นไม่ให้สูญพันธุ์ไปหรือให้คนในบ้านสามารถมีผลผลิตไว้รับประทานตลอดทั้งปี ในสวนที่พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้เองก็มีการนำความเชื่อในรูปแบบต่างๆมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการให้ซินแสมาตรวจดูฮวงจุ้ยการวางผังส่วนต่างๆ การปลูกไม้มงคลประจำทิศหรือว่านมงคลชนิดต่างๆ
“นอกจากนี้ก็มีไม้มงคลต่างๆ ได้แก่ ว่านเสน่ห์จันทร์โกเมน เสน่ห์จันทร์แดง เสน่ห์จันทร์ขาว และว่านนางคุ้ม ซินแสดูฮวงจุ้ยเคยมาดูแล้วบอกว่ามุมนี้เป็นบริเวณของผู้หญิง ให้หาประติมากรรมหรือเทพเจ้าผู้หญิงมาตั้ง ด้วยความที่ว่าหารูปแบบที่ลงตัวและถูกใจยาก ก็เลยปลูกว่านนางคุ้มแทนเสียเลย ศาลากับสระว่ายน้ำมีอยู่แล้ว ทิศนี้เป็นทิศมังกร มีสระว่ายน้ำถูกต้องที่สุด สระก็เป็นรูปเมล็ดถั่วไม่มีเหลี่ยมไม่มีมุม น้ำในสระก็มีหัวเจ็ตให้หมุนเวียน มีการเคลื่อนไหว ถูกต้องตามหลักฮวงจุ้ยทุกประการ มุมนี้ปลูกอ้อยดํา ปาล์มจีบ หมากแดง หมากสง หมากเขียว จั๋ง คนไทยปลูกไผ่สีสุกทางทิศตะวันออก แต่เราไม่มีที่ปลูกจึงปลูกไผ่สีทองแทน เพื่อนําความเจริญรุ่งเรืองมาให้ ต้นไม้หลายอย่างต้องการปลูกเอาเคล็ดก็จริง แต่ก็ปรับให้เหมาะสมกับพื้นที่และเป็นของเราเอง มุมศาลานี้พอแดดยามสายส่อง ไผ่สีทองที่ปลูกก็จะช่วยกรองแสงแดดให้พื้นที่ตรงนี้ร่มรื่นขึ้น นอกจากจะประดับตกแต่งแล้ว ยังได้ตัดไม้ไผ่ในสวนมาใช้ด้วย นั่นคือประโยชน์ที่คนไทยโบราณคิดเอาไว้แล้ว”
อยู่เขตร้อนชื้น ปลูกพรรณไม้ร้อนชื้น
แม้ว่าจะสามารถนำเอาองค์ประกอบจากหลากหลายวัฒนธรรมมาประยุกต์ใช้ในสวนได้ แต่ต้นไม้ในสวนไทยก็ยังต้องเป็นไม้พื้นถิ่นที่สามารถปลูกได้ในภูมิอากาศแบบร้อนชื้นที่เหมาะสมตามภูมิภาคนี้ เพื่อง่ายต่อการดูแล โดยเฉพาะไม้ยืนต้นให้ร่มเงา ซึ่งแต่ละภาคก็จะมีความเหมือนและต่างกันบ้างเล็กน้อย เช่น ในภาคกลางที่เป็นพื้นที่น้ำท่วมถึง อาจจำเป็นต้องปลูกไม้พื้นถิ่นซึ่งทนทานต่อพื้นที่ที่มีน้ำขังชั่วคราว เช่น มะพร้าว จิกน้ำ กุ่มน้ำ ทองหลางน้ำ นอกจากนี้เรายังนิยมนำไม้หัวหรือไม้พุ่มขนาดเล็กจัดเป็นสวนกระถางเพื่อง่ายต่อการยกย้ายหนีน้ำท่วมได้สะดวก อีกทั้งยังดึงเอาคุณสมบัติพิเศษของพรรณไม้เขตร้อน ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นหรือสีสันมาปลูกไว้ในตำแหน่งที่เหมาะสมตามการใช้งาน เช่น ดอกไม้กลิ่นหอมกลางคืนปลูกไว้ใกล้ห้องนอน เพื่อให้กลิ่นโชยเข้ามาในห้องยามหลับ
“ที่นี่ประกอบด้วยต้นไม้สะสมจำพวกไม้ใบและว่านชนิดต่างๆ ต้นไม้ใหญ่ซึ่งส่วนใหญ่มีอยู่เดิม และต้นไม้สำหรับใช้งานในงานวัฒนธรรมดอกไม้ไทย ไม่ว่าจะเป็นกล้วยตานี รัก และพุดร้อยมาลัย นอกจากนั้นก็ยังเป็นการให้ความรู้แก่ผู้ที่มาเยี่ยมชมในสวนด้วย”
ใช้ศิลปวัฒนธรรมไทยบอกเล่าความเป็นไทย
ศิลปะไทยมีอยู่หลายชนิดไม่ว่าจะเป็นงานหัตถกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม หรือแม้แต่การจัดดอกไม้เองก็มีวิวัฒนาการจนกลายเป็นอัตลักษณ์หรือความเฉพาะตัวที่สวยงามและชัดเจน ดังนั้นการจัดสวนไทยจึงขาดไม่ได้ที่จะนำเอาศิลปะไทยมาใช้ประดับตกแต่งหรือใช้เป็นจุดเด่นภายในสวน เช่น ศาลาทรงไทยเมื่อนำมาจัดภายในสวนก็ทำให้ผู้ที่เข้าชมสวนสามารถรับรู้และเข้าใจได้ในทันทีว่าสวนนี้เป็นสวนไทย นอกจากนี้องค์ประกอบหลายอย่างของศิลปะไทยยังสามารถใช้ประโยชน์และสร้างบรรยากาศเฉพาะตัวได้ด้วย เช่น การนำดอกไม้หอมมากรองมาลัยประดับในศาลา เพื่อให้กลิ่นหอมและสร้างความสวยงาม
เรื่อง : ปัญชัช
ภาพ : ชัยพฤกษ์ โพธิ์แดง สิทธิศักดิ์ น้ำคํา และอรวรรณ มงคลสำโรง