บ้านชั้นเดียว กลางทุ่ง รูปทรงเรียบง่ายที่ผสมผสานด้วยฟังก์ชันเก๋ๆ โดยเชื่อมต่ออยู่ภายใต้หลังคาจั่วเดียวกัน ท่ามกลางธรรมชาติอันสงบเงียบในจังหวัดปทุมธานี
หลังจากผ่านช่วงล็อกดาวน์เมืองเพื่อหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคมาแล้ว เชื่อว่าเราต่างก็เริ่มค้นพบวิธีอยู่บ้านให้มีความสุขกันมากขึ้นแถมยังตระหนักถึงความสำคัญของการทำบ้านให้เป็นสถานที่ปลอดภัยมากที่สุด และจะดียิ่งขึ้นไปอีกหากสามารถดำรงชีวิตกันแบบพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืนภายในรอบรั้วเขตบ้านของเรา บ้านชั้นเดียว กลางทุ่ง
คุณศุภ – ศุภรัฐ ทินจันทร์ และ คุณปู – ชลียา วามสิงห์ เจ้าของบ้านหลังนี้มีแนวคิดของการสร้างบ้านอยู่อาศัยแบบพอเพียงควบคู่ไปกับการทำเกษตรพึ่งพาตัวเองได้มาหลายปีแล้ว หลังจากใช้ชีวิตแบบคนทำงานในเมืองมาอย่างเต็มอิ่ม กว่าจะมาพบกับทางสายกลางของชีวิตด้วยการสร้างบ้านขนาดพอเพียงอยู่บนที่ดินของคุณพ่อท่ามกลางธรรมชาติอันสงบเงียบในจังหวัดปทุมธานี
เรียนรู้การอยู่อาศัยแบบพอเพียง
คุณศุภรัฐเล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นว่า “ เมื่อก่อนตรงนี้เป็นทุ่งโล่ง ๆ ไม่มีคนอาศัยอยู่เลย ผมลองมาปลูกต้นยางนา พะยูง และกล้วยทิ้งไว้ คิดว่าจะพัฒนาให้เป็นสวนไม้ผลและพืชผักสวนครัวผสมผสานกัน พอเห็นต้นไม้เติบโตได้ดีก็เริ่มอยากสร้างบ้าน ลองวาดภาพบ้านง่ายๆ ลงบนกระดาษ A4 แล้วเอาให้เพื่อนสถาปนิกดู เรามีงบค่อนข้างจำกัด ก็เลยต้องใช้วิธีคุมงานก่อสร้างและทำเอง ประหยัดเงินค่าถมที่ด้วยการใช้รถไถขุดดินรอบ ๆ ตักขึ้นมาถมเป็นที่สำหรับสร้างบ้าน ทำให้บ้านเหมือนอยู่บนเกาะกลางน้ำ ดูน่าจะปลอดภัยดีเพราะคนนอกเข้าถึงยากและเราสามารถมองเห็นได้รอบตัว แต่พอฝนตกครั้งแรกน้ำท่วมเกลี้ยงเลย กว่าจะรู้ว่าระดับน้ำท่วมสูงสุดอยู่ตรงไหน ระหว่างนั้นก็ศึกษาเรื่องวิธีปรับดินเปรี้ยวให้ทำเกษตรได้ ไปอบรมและหาความรู้จากหลายที่ เปิดตำราในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องการแกล้งดินยังไง ศึกษาระบบอควาโปนิกส์เพื่อปลูกพืชและเลี้ยงปลาไปด้วยกันได้ ทำสวนครัวยังไงให้รอด เรียนรู้ไปเรื่อยทั้งดิน น้ำ ลม แดด ระหว่างสร้างบ้านเลย”
สร้างบ้านแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ใช้วัสดุมาตรฐาน
ขณะที่คุณณฤชา คูวัฒนาภาศิริ สถาปนิกแห่ง I like design studio ก็ได้ถอดภาพวาดบ้านง่ายๆ บนกระดาษแผ่นนั้นให้กลายเป็นบ้านชั้นเดียวภายใต้หลังคาทรงจั่วด้วยระยะช่วงเสา 4 x 4 เมตร ขนาดพื้นที่ใช้สอย 100 ตารางเมตร ลงเสาเข็มและยกพื้นบ้านให้สูงจากพื้นดินราว 60 เซนติเมตรเพื่อเลี่ยงปัญหาน้ำท่วม แล้วก่ออิฐฉาบปูนในส่วนฐานบ้านสูงขึ้นมาอีก 60 เซนติเมตรจากนั้นก็ต่อด้วยโครงเหล็ก ใช้แผ่นยิปซัมฉาบเรียบใส่ฉนวนกันความร้อนกรุผนังแล้วปิดผิวด้านนอกด้วยไม้เทียม ส่วนหลังคาเป็นเมทัลชีต ทั้งหมดเป็นวัสดุมาตรฐานที่สร้างขึ้นด้วยระบบง่ายๆไม่ซับซ้อนเพื่อประหยัดงบประมาณให้มากที่สุดพร้อมกับจัดตำแหน่งวางตัวบ้านให้ขวางทิศลมเหนือ-ใต้ เมื่อใส่ช่องประตูหน้าต่างเปิดจึงเกิดการหมุนเวียนของลมที่เย็นสบาย
แยกฟังก์ชันการใช้งานเป็น 2 ฝั่ง ตอบสนองความชอบที่ต่างกัน
ในความเรียบง่ายของบ้านทรงจั่วนี้ยังผสมผสานด้วยฟังก์ชันเก๋ๆ จากสไตล์ความชอบที่ต่างกันของคุณศุภและคุณปู โดยฝั่งขวาของบ้านเรียกกันว่าส่วนของวิลล่าตากอากาศที่ออกแบบให้ดูสวยงามและชวนผ่อนคลายพร้อมพื้นที่ใช้สอยจำเป็นครบถ้วน ทั้งส่วนนั่งเล่น แพนทรี่ ห้องน้ำและห้องนอนบนชั้นลอย พร้อมกับเฉลียงไว้นั่งเล่นหน้าบ้าน ขณะที่ฝั่งซ้ายของบ้านเป็นส่วนของโรงนาสำหรับเก็บเครื่องมือการเกษตรของคุณศุภ กรุด้วยเมทัลชีตที่ดูเรียบเท่ โดยทั้งสองส่วนเชื่อมต่ออยู่ภายใต้ผืนหลังคาจั่วเดียวกัน แต่มีช่องทางเดินนอกบ้านคั่นไว้ ซึ่งกลายเป็นช่องเปิดที่ช่วยให้ลมหมุนเวียนได้ดีมาก ๆ
แต่งบ้านให้อยู่สบายแบบประหยัดงบ
คุณปูเล่าเสริมถึงงานตกแต่งภายในซึ่งเป็นงานถนัดของเธอว่า “อยากให้ในบ้านอยู่สบายค่ะ แต่ก็ต้องประหยัดด้วย เราเลยเอาเก้าอี้ไม้เก่าจากบ้านเดิมมาขัดสีและบุที่นั่งใหม่ ผ้าม่านก็บุกไปรื้อที่เอ๊าต์เล็ต เลือกจากล็อตที่เกินจากทางโรงแรมสั่งไว้ สีเลยจะไม่เหมือนกันแต่เน้นโทนให้กลมกลืนกันอยู่ ซึ่งตอนนี้เราอินกับสีเขียวมินต์และสีแซลมอนอ่อน แพนทรี่ก็ใช้ชุดครัวสำเร็จรูป IKEA พื้นเป็นกระเบื้องลายไม้ดูแลง่าย เตียงนอนยกมาจากบ้านเดิม ส่วนโคมไฟเราก็ซื้อจากจตุจักรมาประยุกต์ฟังก์ชันเอง ที่ชอบมากคือเคาน์เตอร์หินในห้องน้ำซึ่งเป็นหินตัวอย่าง แต่ลงตัวพอดีกับขนาดพื้นที่เป๊ะ แม้แต่บานหน้าต่างยังใช้บานเก่าที่เหลือจากบ้านลูกค้ามาติดเลยค่ะ” (หัวเราะ)
วันนี้แม้บ้านจะสร้างเสร็จแล้ว แต่คุณศุภบอกว่างานเกษตรของเขายังคงมีสิ่งที่ต้องทำอยู่ทุกวัน ยิ่งลงมือปลูกยิ่งมีความสุข ยิ่งเติมยิ่งหลากหลาย ทั้งไม้ผล พืชผัก เลี้ยงปลา ทำปุ๋ยติดระบบกรองน้ำ ต่อระบบโซลาร์เซลล์ในส่วนโคมไฟนอกบ้าน และเมื่อจบงานลงในทุกๆ วัน ทั้งคู่มักจะมานั่งผ่อนคลายที่เฉลียงหน้าบ้าน ดื่มด่ำกับผลงานรอบตัวและเก็บเกี่ยวความงามจากธรรมชาติทั้งหมดนี้ไปเข้านอนอย่างมีความสุขเสมอๆ
สถาปนิก : I like design studio โดยคุณณฤชา คูวัฒนาภาศิริ
ตกแต่งภายใน : Chaleeya DESIGN
เจ้าของ : คุณศุภรัฐ ทินจันทร์ และคุณชลียา วามสิงห์
เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
สไตล์ : วรวัฒน์ ตุลยทิพย์
นิตยสารบ้านและสวนฉบับสิงหาคม 2563