บ้านสีเทาเข้มที่ดูเหมือนกล่องปิดทึบหลังนี้เกิดขึ้นจากการแก้ปัญหาการสร้างบ้านในที่ดินหน้าแคบให้ได้ประโยชน์สูงสุด เพื่อให้มีพื้นที่ใช้สอยเพียงพอสำหรับสมาชิกทุกคนในบ้าน โดยหมุนเวียนวัสดุของบ้านเก่ามาใช้อย่างคุ้มค่า จนกลายเป็นบ้านที่โปร่งและอยู่สบาย
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Wat Kuptawatin (วัฒน์ คุปตะวาทิน)
เมื่อครอบครัวคุปตะวาทินซึ่งมีสมาชิก 5 คน ตัดสินใจย้ายจากบ้านไม้เดิมมาอยู่ในย่านอุดมสุข แต่ด้วยขนาดที่ดิน 60 ตารางวานี้มีหน้ากว้างประมาณ 10 เมตร คุณบาส – วัฒน์และคุณบุ๊ค – คณิต คุปตะวาทิน สองพี่น้องสถาปนิกจึงช่วยกันออกแบบบ้านหลังใหม่โดยมีโจทย์หลักคือ ทำให้มีพื้นที่ใช้สอยเพียงพอสำหรับทุกคน และแก้ปัญหาการสร้างบ้านในที่ดินหน้าแคบให้ได้ประโยชน์สูงสุด
“บ้านเดิมเป็นเรือนหอของคุณพ่อคุณแม่ เป็นบ้านไม้หลังคาปั้นหยาอายุกว่า 30 ปี และมีขนาดเล็กเกินไปสำหรับครอบครัว 5 คนที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จึงขายที่ดินตรงนั้นและเก็บไม้เก่ามาใช้กับการสร้างบ้านใหม่บางส่วน ทั้งเพื่อลดค่าใช้จ่าย และหมุนเวียนทรัพยากรมาใช้ให้คุ้มค่า ซึ่งถือเป็นการใช้ไม้หมุนเวียนครั้งที่ สาม เพราะไม้ที่สร้างบ้านเดิมก็เป็นการซื้อไม้เก่ามาสร้าง” คุณบาสเล่าถึงบ้านที่เคยเติบโตมาตั้งแต่เด็ก เป็นความทรงจำที่ยังคงต่อเนื่องเพียงแต่เปลี่ยนรูปทรงมาสู่บ้านหลังใหม่
บ้านสีเทาเข้มแนวตั้งที่ดูเหมือนกล่องปิดทึบ ในความเรียบมีมิติจากฟาซาดเหล็กเจาะรูพับเป็นลอนคล้ายผ้าม่านโปร่งผืนยาวพรางตาระหว่างภายนอกกับภายใน จึงยังมองทะลุออกมาจากภายในบ้านได้อย่างไม่อึดอัด “บ้าน 3 ชั้นหลังนี้มีพื้นที่ใช้สอย 350 ตารางเมตร มี 4 ห้องนอนสำหรับคุณพ่อคุณแม่และลูก 3 คน ออกแบบฟังก์ชันเรียบง่าย เน้นพื้นที่ชั้นล่างซึ่งทุกคนมาใช้เวลาร่วมกันในห้องนั่งเล่น รับประทานอาหาร และห้องครัวให้เป็นโถงเปิดโล่ง ส่วนชั้น 2 และชั้น 3 เป็นห้องนอนชั้นละสองห้องที่มีแปลนคล้ายกัน โดยวางตำแหน่งห้องน้ำชั้น 2 และชั้น 3 ให้ตรงกันเพื่อวางระบบท่อสะดวกและประหยัด”
หนึ่งในความท้าทายของสองพี่น้องสถาปนิกคือ การออกแบบบ้านในที่ดินหน้าแคบ 10 เมตร ให้ยังคงอยู่สบายไม่อึดอัด “เริ่มจากการวิเคราะห์ที่ตั้งซึ่งหน้าบ้านหันทางทิศเหนือและมีบ้านสร้างขนาบทั้งสามด้าน จึงออกแบบให้ส่วนพักอาศัยอยู่โซนฝั่งซ้ายซึ่งเป็นทิศตะวันออก ส่วนทางเดินและบันไดไว้โซนฝั่งขวาซึ่งทิศตะวันตกเพื่อช่วยป้องกันความร้อนเข้ามาภายในบ้าน ทั้งยังคำนึงถึงการใช้พื้นที่ให้คุ้มค่า จึงออกแบบผนังฝั่งซ้ายและฝั่งขวาเป็นผนังทึบเพื่อให้สร้างโดยมีระยะห่างจากแนวที่ดินได้น้อยที่สุด แต่เว้นจังหวะเปิดโล่งบริเวณห้องนั่งเล่นที่เว้นระยะห่างจากเขตที่ดินอย่างน้อย 2 เมตร เพื่อให้ทำหน้าต่างและช่องแสงได้ และชั้นบนทำช่องแสงสกายไลต์บางส่วน รวมถึงการใช้เหล็กเจาะรูที่มีความโปร่งและแข็งแรงมาทำพื้นทางเดินและบันได ทำให้ลมและแสงสว่างกระจายไปทั่วบ้าน”
ประตูรั้ว ประตูเล็กหน้าบ้าน ชั้นวางรองเท้า ตู้วางทีวี ที่เก็บกุญแจ และงานไม้อีกหลายชิ้นคือไม้เก่าจากเรือนหอที่คุณพ่อผู้เป็นต้นแบบความเป็น “นายช่าง” ของลูกๆ ได้ลงมือทำเองระหว่างที่กำลังสร้างบ้าน “บ้านใหม่เป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก จึงนำไม้พื้นและผนังเก่ามาทำเป็นส่วนประกอบอาคารและส่วนตกแต่ง เช่น พื้น ประตู และเฟอร์นิเจอร์ในบ้านซึ่งคุณพ่อลงมือทำเอง มีใช้เสาไม้เก่าบริเวณทางเข้าหน้าบ้าน ส่วนไม้โครงสร้างที่เหลือ เช่น คาน ตง ที่ไม่ได้ใช้ก็นำไปขายให้กลับมาเป็นทุนสร้างบ้าน และไม้ก็ได้หมุนเวียนไปใช้ประโยชน์อื่นต่อได้”
แม้ขนาดที่ดิน ฟังก์ชัน และงบประมาณจะเป็นทั้งตัวแปรและข้อจำกัดของการสร้างบ้าน แต่ก็ไม่อาจจำกัดการออกแบบที่ดีเพื่อสร้างความอบอุ่นภายในบ้านได้ด้วยการ “ใส่ใจ” คิดและทำร่วมกัน จนทำให้บ้านหน้าแคบกลายเป็นบ้านที่โปร่งและอยู่สบาย
เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข
สไตล์ : Jeedwonder Jeed
ผู้ช่วยสไตลิสต์ : กิ่งกาญจน์ ปัญญาแก้ว, วิมพ์วิภา ติละโพธิ์