ด้วยความสนใจในสวนญี่ปุ่นอย่างจริงจัง ทำให้ คุณภู – ภูริวัจน์ วรากิติยาวิโรจกุล ตัดสินใจเดินทางไปศึกษาต่อด้านการจัดสวนญี่ปุ่นจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญอันดับต้นๆของประเทศญี่ปุ่น ทั้งอาจารย์คิตาซาวะ เซียวอุเฮ อาจารย์โยชิฮิโตะ ทาคาฮาชิ และอาจารย์เรียวตะ โทเนคาวะ เพื่อนำความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาใช้ในการจัดสวนของตัวเอง และเปิดบริการด้านการจัดสวนญี่ปุ่นแบบครบวงจรในนาม Wabisabi Spirit เริ่มตั้งแต่การออกแบบ ก่อสร้าง บำรุงรักษา ไปจนถึงจำหน่ายสินค้าและพรรณไม้เกี่ยวกับการจัดสวนสไตล์ญี่ปุ่นโดยเฉพาะ สวนญี่ปุ่นยุคใหม่
สวนญี่ปุ่นในวันนี้ ไม่ใช่สวนญี่ปุ่นที่เรารู้จัก สวนญี่ปุ่นยุคใหม่
สวนญี่ปุ่นมีประวัติศาสตร์ยาวนานนับพันปี คนไทยมักคุ้นเคยกับสวนรูปแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นสวนโบราณที่อาจารย์นักจัดสวนรุ่นก่อนเข้าไปจัด และได้รับการปรับปรุงซ่อมแซมเพื่อรักษาสภาพสวนให้ดำรงอยู่สืบต่อกันมา พบได้ตามวัด ศาลเจ้า หรือสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยมีความโดดเด่นอยู่ 3 ลักษณะ คือ
1. สวนทัศนียภาพ เพื่อให้ผู้ชมสวนได้ออกมาชมความงดงามของทัศนียภาพ ไม่ว่าจะเป็นทะเลสาบ ศาลา หรือน้ำตกในมุมต่างๆระหว่างทางเดิน ทั้งยังนำทัศนียภาพรอบสวนมาเป็นองค์ประกอบหนึ่งของสวนด้วย
2. สวนน้ำชา มีความเกี่ยวพันกับพิธีชงชา ผู้เข้าพิธีจะต้องเดินผ่านสวนเพื่อละทิ้งโลกภายนอกไปสู่การทำสมาธิ และชื่นชมความสวยงามของธรรมชาติของสวนมอสส์และต้นไม้ใหญ่ที่อยู่รอบๆ
3. สวนหินหรือสวนแห้ง นับเป็นเอกลักษณ์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด โดยการใช้หินและทรายจำลองความงดงามของทิวทัศน์แบบลดทอนขนาดและรูปทรงลง โดดเด่นด้วยการวาดทรายเป็นเส้นสายคล้ายเกลียวคลื่น ซึ่งส่วนใหญ่ผู้จัดสวนลักษณะนี้คือพระนักบวชในศาสนาพุทธนิกายเซน ชาวญี่ปุ่นจึงให้ความเคารพสวนลักษณะนี้เทียบเท่าศาสนสถานสำคัญ
“สวนเซนไม่ใช่สวนที่ใครจะสามารถจัดได้ คนที่จัดต้องเป็นนักบวชที่เข้าใจหลักการของศาสนาเซนเท่านั้น ถือว่าเป็นสวนที่ทรงคุณค่ามาก การที่จะเรียกสวนใดสวนหนึ่งว่าสวนเซนเป็นเรื่องต้องห้าม สวนเซนจะต้องมีคนแต่งตั้งอีกหลายสิบปีหลังจากสร้างเสร็จ ระหว่างนั้นเราจะเรียกสวนแบบนี้ว่า ‘สวนหิน’ หรือ ‘สวนแห้ง’ มากกว่า”
ปัจจุบันด้วยชีวิตความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนไป การจัดสวนญี่ปุ่นก็เปลี่ยนไปตามปัจจัยหลายอย่างด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะปัจจัยด้านสถานที่ตั้งของบ้าน ขนาดของบ้านหรืออาคารมีความหนาแน่นและเล็กลงมาก การจัดสวนตามขนบเดิมอาจไม่ตอบโจทย์ ดังนั้นสวนญี่ปุ่นแบบใหม่จึงเกิดขึ้นและเป็นที่แพร่หลายไปทั่ว สำหรับคนไทยอาจไม่คุ้นเคยนัก เพราะสวนดังกล่าวพบได้ตามบ้านคนหรือร้านอาหารประเภทข้าวหน้าปลาไหล ซึ่งยังคงจุดเด่นด้วยองค์ประกอบของสวนญี่ปุ่นและแก่นแท้แบบเดิมไว้อย่างครบถ้วน
แก่นของสวนญี่ปุ่นคืออะไร
หากต้องการจัดญี่ปุ่นก็ต้องเข้าใจถึงความเป็นมาเสียก่อน หลายพันปีก่อนชาวญี่ปุ่นบูชาเทพเจ้าอันเป็นตัวแทนของธรรมชาติในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นก้อนหิน ต้นไม้ หรือจิตวิญญาณที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า นำไปสู่การจัดพื้นที่ว่างรอบสิ่งเคารพให้เกิดความเรียบร้อย สวยงาม สามารถมองเห็นได้ชัดเจน ซึ่งต่อมาก็เริ่มมีการจำลองสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในธรรมชาติมาเป็นสวนในบริเวณที่ว่าง (Space) ดังนั้นสวนจึงทำหน้าที่เสมือนศาสนาสถานไปด้วย คำว่า “ที่ว่าง” ในภาษาญี่ปุ่นจึงแปลว่า “สวน” ด้วยเช่นกัน
แม้ในเวลาต่อมาศาสนาพุทธนิกายเซนจะเข้ามามีอิทธิพล แต่คนญี่ปุ่นก็ยังผูกพันกับธรรมชาติ การตั้งชื่อของคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ล้วนมีความหมายถึงธรรมชาติ เช่น ท้องฟ้า ภูเขา น้ำตก วะบิซะบิ คือ ปรัญญาหนึ่งที่คนญี่ปุ่นเรียนรู้และทำความเข้าใจว่าความงามของธรรมชาติคือการไร้ซึ่งความสมบูรณ์แบบ ใบไม้ที่ผลิออกจากกิ่งงามฉันใด ใบไม้ที่เสียหายจากการถูกกัดกินก็งามในอีกแบบไม่ต่างกัน ดังนั้นหากเข้าใจความงามในแบบวะบิซะบิได้ ก็ย่อมเข้าใจความงามของการจัดสวนญี่ปุ่นแบบถ่องแท้ได้เช่นกัน
เข้าใจวีถีของคนญี่ปุ่น ก็เข้าใจสวนญี่ปุ่น ต้องเรียบร้อยและถ่อมตน
นอกจากนิสัยรักธรรมชาติแล้ว จุดเด่นของคนญี่ปุ่นคือความเรียบง่ายและความถ่อมตน ซึ่งแสดงออกมาผ่านการจัดสวนได้อย่างชัดเจน เส้นสายในการจัดสวนญี่ปุ่นมีความเรียบร้อย ไม่มีโค้ง หรือลวดลายที่ไม่จำเป็นมากนั้น ลวดลายที่เกิดขึ้นก็มาจากธรรมชาติแทบทั้งสิ้น ขณะเดียวกันการวางตำแหน่งของจุดเด่นภายในสวนเองก็มีความน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นหิน บ่อน้ำ หรือตะเกียงหิน จะมีขนาดไม่ใหญ่นักและไม่วางให้เห็นเด่นชัด พร้อมปลูกต้นไม้แซมให้เกิดมุมมองที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆในหลายมิติ หรือค่อยๆเผยให้เห็นจุดเด่นทีละน้อย การออกแบบสวนให้ดูโปร่งโล่ง นอกจากสะท้อนนิสัยอันเรียบง่ายและเป็นระเบียบแล้ว ลมยังสามารถพัดผ่านเข้ามาสร้างความสบายแก่พื้นที่ภายในสวน และที่อยู่อาศัยที่มักออกแบบให้มีช่องเปิดที่ให้ลมพัดผ่านได้สะดวก เมื่อลมผ่านเข้า-ออกได้ง่าย แมลงหรือศัตรูพืชก็น้อยลง ขณะเดียวกันก็ยังมีต้นไม้ใหญ่ที่ช่วยบังลมเมื่อเกิดพายุอยู่
สวนญี่ปุ่นแบบใหม่เป็นอย่างไร
เมื่อเราเข้าใจแก่นแท้และวิถีของคนญี่ปุ่นแล้ว ไม่ว่าเราจะจัดสวนแบบใด จิตวิญญาณของสวนญี่ปุ่นก็จะแทรกอยู่ในนั้น การจัดสวนญี่ปุ่นยุคใหม่ก็เช่นกัน เริ่มแรกสวนญี่ปุ่นยุคใหม่จะเป็นสวนขนาดเล็กกลางบ้านที่เรียกว่า “สึโบะนิวะ” ปัจจุบันนิยมพลิกแพลงมาใช้ตกแต่งหน้าบ้าน เพื่อช่วยส่งเสริมให้สถาปัตยกรรมมีความสวยงามมากขึ้น ขณะเดียวกันก็สามารถนั่งชมได้จากมุมจิบน้ำชาหรือมุมผักผ่อน ซึ่งไม่จำเป็นต้องอิงตามตำราเดิม จึงไม่เน้นการใช้งานเท่าไรนัก องค์ประกอบที่เคยใช้ในสวนญี่ปุ่นเดิม ไม่ว่าจะเป็นแผ่นทางเดิน ก้อนหิน ตะเกียงหิน ฉากกั้นไม้ไผ่ ฯลฯ จะนำมาใช้งานในฐานะสิ่งประดับสวนที่จำเป็นต้องคงรักษารูปแบบการจัด ที่ได้สัดส่วนและดุลยภาพแห่งความงามเหมือนสวนญี่ปุ่นดั้งเดิม แม้ว่าสวนจะมีขนาดเล็กลงแต่รายละเอียดยิ่งต้องมากขึ้น โดยเฉพาะการนำภูมิปัญญาโบราณมาใช้ เช่น การผูกรั้วไม้ไผ่ หรือการวางหินทางเดินมาประยุกต์ให้เกิดความประณีตที่สุด ขณะที่เส้นสายในการออกแบบแปลนหรือองค์ประกอบต่างๆดูเป็นสวนโมเดิร์น เช่นเดียวกับพรรณไม้ที่นำมาปลูกประดับส่วนหญ่จะเป็นต้นไม้ฟอร์มสวย ใบมีขนาดเล็กและมันเงา โดยมีการใช้ไม้ดอกหรือไม้ต่างถิ่นมากขึ้นด้วย
อุปสรรคของการจัดสวนญี่ปุ่นในไทย
ในประเทศไทยยังมีข้อจำกัดเรื่องการหาร้านวัสดุที่ขายของแต่งสวนสไตล์ญี่ปุ่นได้ไม่ง่ายนัก ต่างจากที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะมีร้านขายของแต่งสวนที่มีหินหลากหลายชนิด นักจัดสวนสามารถไปเลือกหาได้ง่าย เมื่อเห็นสถานที่จัดก็จะจินตนาการได้ทันทีว่าต้องใช้หินรูปทรงใดให้สวนเกิดความสวยงาม โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะมีหินแบบที่ต้องการหรือไม่ เพราะในร้านที่ญี่ปุ่นมีแทบทุกประเภทตามต้องการ แต่ในบ้านเราอาจต้องไปเลือกหินที่มีรูปทรงสวยงามตามความต้องการที่ร้านก่อน แล้วจึงนำมาประยุกต์ให้เข้ากับพื้นที่ ซึ่งอาจไม่ได้ความงามตามที่นักออกแบบคิดไว้เท่าที่ควรส่วนไม้ไผ่ในบ้านเรา มีลักษณะข้อปล้องไม่ชัดเท่าไผ่ในประเทศญี่ปุ่น อีกทั้งยังตัดไม่เป็นช่วงเวลา ดังนั้นไผ่ที่ได้จะมีความแข็งแรงและผิวสัมผัสต่างจากไม้ไผ่ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะนิยมตัดในฤดูหนาวที่เนื้อไผ่จะมีความแข็งและเหนียวที่สุด หลังจากนั้นก็นำไปรักษาเนื้อไม้ด้วยกรรมวิธีแบบโบราณ เช่น การรมควันอย่างไรก็ตาม ในบ้านเรามีข้อดีตรงที่สามารถเลือกใช้พรรณไม้ได้หลากหลายชนิดมากกว่า จึงหาต้นไม้มาปลูกทดแทนต้นไม้ในสวนญี่ปุ่นไม่ได้ยาก เช่น เสม็ดแดง ชุมแสง แก้วเจ้าจอม ซึ่งมีฟอร์มต้นสวยงาม ใบขนาดเล็กและดูมันเงา ให้ดอกขนาดเล็กตามฤดูกาล นอกจากนี้ยังนำต้นไม้นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นมาปลูกได้เช่นกัน อย่างเมเปิ้ลหรือสนชนิดต่างๆ
เรื่อง : ปัญชัช
ภาพ : อภิรักษ์ สุขสัย และคลังภาพบ้านและสวน
เป็นเพื่อนกันเราได้ใน Facebook บ้านและสวน