จากกระแสนิยมของ ต้นมะกอกโอลีฟ ก่อนหน้านี้มีต้นไม้จากต่างประเทศหลายชนิดที่มีรูปทรงสวยงามแต่ไม่เคยถูกนำเข้ามาปลูก เพราะเชื่อกันว่าไม่สามารถปลูกในเมืองไทยได้ ทว่าวันนี้ข้อจำกัดเหล่านั้นได้ทลายลงไป เรากำลังพูดถึง “โอลีฟ” หรือ “มะกอก” พรรณไม้นำเข้าฟอร์มสวยที่หลายคนหมายตาอยากได้เป็นเจ้าของ และถือเป็นไม้มาแรงที่อยู่ในกระแสในขณะนี้ โดยมีนักจัดสวนชื่อดังอย่าง คุณวิทย์ – ศิริวิทย์ ริ้วบํารุง แห่ง Little Tree เป็นผู้นำเข้ามาปลูกในเมืองไทย วันนี้เราจะพาคุณผู้อ่านไปติดตามการเดินทางของโอลีฟตั้งแต่ต้นทางกัน มะกอกโอลีฟ
ความเป็นมาของโอลีฟ มะกอกโอลีฟ
คุณอาจเคยพบเห็นสัญลักษณ์ที่เป็นลวดลายของช่อมะกอกอยู่บ่อยครั้ง เช่น บนตราของสหประชาชาติ โลโก้ของแบรนด์ Fred Perry หรือแม้แต่ลวดลายบนหมวกของกัปตันเรือ ซึ่งคงพอบ่งบอกถึงความเป็นมาอันยาวนานของหลายวัฒนธรรม ที่มักนำช่อใบมะกอกมาอยู่ร่วมกับงานศิลปะและพิธีกรรมทางศาสนา มักพบได้บ่อยในวัฒนธรรมตะวันตกในแถบเมดิเตอร์เรเนียน ตั้งแต่ประเทศอิสราเอลไปจนถึงอียิปต์ โดยเฉพาะในกรีซ ที่มีความเชื่อว่าต้นมะกอกเป็นของขวัญที่เทพีอะธีนา เนรมิตขึ้นมาเพื่อแข่งขันกับมหาเทพโพไซดอนที่เนรมิตม้า เพื่อให้ชาวเมืองได้ตัดสินว่าสิ่งใดสามารถสร้างประโยชน์ให้พวกเขาได้มากกว่ากัน และชาวเมืองเล็งเห็นว่าต้นมะกอกสามารถใช้ประโยชน์ได้มากกว่า จึงให้เทพีอะธีนาเป็นผู้ชนะ ต่อมาชาวเมืองได้ตั้งชื่อเมืองของพวกเขาว่านครเอเธนส์ตามชื่อของเทพีองค์นี้ มะกอกจึงได้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจและพบเห็นในงานศิลปะมากมายหลายแขนงนับแต่นั้น อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพ เกียรติยศ และชัยชนะอีกด้วย
โอลีฟมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Olea europaea L. อยู่ในวงศ์ Oleaceae เป็นไม้ยืนต้นอายุยืนยาวหลายร้อยปี โดดเด่นด้วยลักษณะของลำต้นที่สวยงามมีสีเทาและขาวรูปทรงบิดเป็นเกลียวดูอ่อนช้อย กิ่งก้านที่เจริญเติบโตแบบแผ่ และลำต้นที่ไม่สูงมากนัก อยู่ที่ประมาณ 3-15 เมตร ทำให้ดูโดดเด่นแต่ไม่บดบังทิวทัศน์อื่นๆ ใบมีสีเขียวเงินตลอดทั้งปี ออกดอกสีขาวบริเวณซอกใบ ก่อนกลายเป็นผลขนาดเล็กที่มีทั้งพันธุ์สีเขียวและสีดำ ผลของต้นสามารถนำมารับประทานและผลิตน้ำมันที่มีคุณค่าทางโภชนาการหรือใช้ในทางการแพทย์ได้
จุดเริ่มต้นของการนำโอลีฟเข้ามาในเมืองไทย
ในฐานะนักจัดสวนที่ไม่อยากให้วงการจัดสวนหยุดนิ่ง คุณวิทย์พยายามมองหาพรรณไม้ชนิดใหม่ๆเข้ามาสร้างความน่าสนใจในการจัดสวนของเขาเสมอ “เกิดจากความขวนขวายในการสรรหาต้นไม้แปลกใหม่เข้ามาใช้ในการจัดสวน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือโอลีฟ เมื่อ 8-9 ปีที่แล้วพี่เริ่มปลูกต้นนี้เป็นครั้งแรก โดยได้มาจากคนที่เขาเพาะเลี้ยงต้นไม้ชนิดนี้ในเมืองไทย ซึ่งเกิดจากการนำเอาต้นพันธุ์ที่นำเข้ามาปลูกและเพาะชำ แต่ก็ได้จำนวนและขนาดลำต้นที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก ในท้องตลาดตอนนั้นก็มีแต่ต้นเล็ก ในขณะที่ความต้องการของเราคือต้นที่มีขนาดใหญ่สมบูรณ์แล้ว ตอนแรกจะรอเวลาให้มีคนนำเข้ามา แต่ก็ยังไม่มีสักที กระทั่งเรามีช่องทางจะซื้อได้ ก็เลยตัดสินใจดีลเองผ่านตัวแทนจำหน่าย โดยเราสั่งมาเองจากประเทศเนเธอร์แลนด์”
ก่อนหน้านี้คุณวิทย์ก็เริ่มนำต้นไม้จากต่างประเทศชนิดอื่นๆมาทดลองปลูกอยู่บ้างแล้ว ส่วนใหญ่เป็นต้นไม้ขนาดเล็กถึงกลางที่ไม่ค่อยมีใครนำเข้ามาขายและยังไม่แพร่หลายในท้องตลาดบ้านเรา มีทั้งแมกโนเลีย เลมอน ซิตรัส และมานูกา โดยทั้งหมดก็มาจากความอยากได้มาปลูกเองของคุณวิทย์ ไม่ได้ตั้งใจขาย ต่อมาพอเริ่มมีคนพบเห็นจากในร้านหรือในผลงานการจัดสวน ก็เริ่มอยากได้และขอซื้อ คุณวิทย์จึงลองสั่งต้นไม้มาเพิ่มเติม จากไม่กี่สิบต้นก็ขยายไปเป็นร้อยต้น เพราะเมื่อปริมาณลูกค้าเริ่มเยอะขึ้น ฐานลูกค้าก็มีขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นทวีคูณ
โอลีฟบางต้นที่นำเข้ามาเริ่มติดผลและออกลูกสวยงาม ซึ่งสามารถนำผลมาบริโภคหรือสกัดทำน้ำมันได้
การนำเข้าต้นไม้จากต่างประเทศ
“เนเธอร์แลนด์เป็นตลาดกลางในการส่งออกต้นไม้ไปทั่วยุโรป ไม่ว่าเราจะต้องการดอกไม้สดหรือต้นไม้ ส่วนใหญ่ก็จะต้องสั่งซื้อผ่านประเทศนี้ โอลีฟที่เรานำเข้ามานั้นส่วนใหญ่มาจากประเทศในโซนยุโรปทางตอนใต้ เช่น อิตาลี สเปน และกรีซ แน่นอนว่าการที่เราจะนำเอาต้นไม้ใหญ่อย่างโอลีฟที่มีดินติดมาเป็นปริมาณมากก็เป็นเรื่องที่ท้าทาย ต้องทำตามข้อบังคับทางกฎหมายซึ่งต้องผ่านการขออนุญาตถึงจะขนส่งเข้ามาได้
“เรากล้าสั่งต้นไม้ขนาดใหญ่มากขึ้นเพราะเรามีฐานลูกค้าที่เขามาจัดสวนและเชื่อถือในเรา จริงๆการขนส่งและสั่งซื้อต้นไม้แต่ละล็อตใช้ต้นทุนสูงมาก ทางต้นทางในต่างประเทศก็ไม่ได้มีประกันอะไรให้เรา เป็นการซื้อขาด ดังนั้นเราต้องผ่านการทดลองปลูกด้วยตัวเองมาแล้วว่าสามารถปลูกได้ และคนทั่วไปสามารถปลูกตามได้ แต่ถ้าต้นไม้เสียหายมาจากต้นทาง เราสามารถเครมกับเขาได้ ซึ่งเขาแฟร์หากมันเป็นความเสียหายที่มาจากทางเขา”
ในการนำเข้าหรือส่งออกต้นไม้ระหว่างประเทศ รวมถึงวัสดุปลูกอย่างดินและปุ๋ย ไม่ว่าจะเป็นช่องทางใด จำเป็นต้องยื่นขอใบอนุญาตนำเข้าหรือนำผ่านสิ่งต้องห้ามเพื่อการค้าที่สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เพื่อให้ผู้นำเข้าใช้เป็นหลักฐานไปแสดงในขั้นตอนพิธีการทางศุลกากร สำหรับผู้ที่ต้องการส่งออกต้นไม้ไปต่างประเทศ ในบางประเทศจำเป็นต้องมีการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชกำกับไปกับต้นไม้ เพื่อไม่ให้มีศัตรูพืชระบาดไปนอกประเทศ ผู้ส่งออกสามารถติดต่อขอรับบริการได้ที่กลุ่มบริการส่งออกสินค้าเกษตรสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร หรือด่านตรวจพืชทั่วประเทศ
ซิตรัสเป็นอีกหนึ่งพรรณไม้ที่นำเข้ามาขายอยู่ในขณะนี้
ขั้นตอนการขนส่ง
หลังจากดำเนินการด้านเอกสารเรียบร้อยแล้วทั้งจากประเทศต้นทางและในประเทศไทย ต่อมาคือการขนย้าย โอลีฟต้นใหญ่จะมีอายุเฉลี่ยมากกว่า 100-300 ปี จำเป็นต้องได้รับการดูแลและป้องกันความเสียหายเป็นพิเศษ คุณวิทย์เลือกการขนส่งทางเครื่องบิน เพื่อประหยัดระยะเวลาในการขนส่ง เพราะหากใช้เวลายาวนานเกินไป ต้นไม้จะไม่ได้รับแสงแดดและอาจบอบช้ำระหว่างทาง
“ในขั้นตอนการขนส่งจากประเทศเนเธอร์แลนด์เขามีความเนี้ยบมาก แต่แรกที่เพียงแค่ตีโครงบรรจุภัณฑ์มาคร่าวๆ ปรากฏว่าไม่ผ่าน เนื่องจากทางสายการบินไม่อนุญาตให้นำขึ้นเครื่อง ดังนั้นเขาจึงต้องตีบรรจุภัณฑ์เป็นกล่องไม้รอบด้านปิดอย่างมิดชิด เพื่อกันการกระแทกกับบรรจุภัณฑ์ของสิ่งของอื่นๆที่บรรทุกมาด้วย พร้อมล็อกด้วยค้ำยันอย่างดีไม่ให้ต้นไม้ภายในเคลื่อนที่หรือขยับได้ จะเห็นได้ว่าไม่มีกิ่งใดหักเลยสักนิด แต่ในช่วงที่โควิด-19 ระบาด ก็จะมีเที่ยวบินเข้ามาน้อยลง ทำให้ค่าน้ำหนักมากขึ้น ต้นทุนในการสั่งซื้อและขนส่งจึงสูงกว่าก่อนหน้านี้พอสมควร โดยใช้เวลาบนเครื่องบินราว 12 ชั่วโมง ก็ถึงประเทศไทย หลังจากผ่านการตรวจจากด่านศุลกากรแล้วจะนำขึ้นรถบรรทุกมาส่งยังไร่ของเรา ซึ่งก็ต้องเตรียมพื้นที่วางต้นไม้ให้เพียงพอ”
การปลูกโอลีฟในเมืองไทย
โอลีฟเป็นต้นไม้ที่เติบโตได้ดีในประเทศที่มีภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน เช่น ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส สเปน โปรตุเกส กรีซ และอิตาลี ซึ่งจะมีแสงแดดตลอดทั้งปี ในฤดูร้อนจะค่อนข้างแห้งแล้งและมีฝนตกในฤดูหนาว โดยภาพรวมแล้วก็คล้ายกับประเทศไทย เพียงแต่อุณหภูมิเฉลี่ยจะน้อยกว่าคือประมาณ 23 องศาเซลเซียส และมีความชื้นน้อยกว่า ต้นมีลักษณะเป็นไม้เนื้อแข็ง เปลือกหนา และใบเล็กเป็นมันเพื่อลดการคายน้ำในฤดูร้อน บางชนิดจะมีระบบรากยาวไม่สัมพันธ์กับขนาดต้นที่ไม่ใหญ่มากนัก เพื่อสามารถนำเอาน้ำใต้ดินมาเลี้ยงลำต้นและดำรงชีวิตในฤดูร้อนที่ยาวนานได้
นอกจากโอลีฟแล้ว ยังมีต้นไม้อีกหลายชนิดที่เรานำเข้ามาปลูกจากถิ่นกำเนิดหรือเติบโตได้ดีในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และเจริญเติบโตได้ดีในบ้านเรา เช่น ยี่โถ เฟื่องฟ้า อากาเว่ สแนปดราก้อน และว่านหางจระเข้
“โอลีฟปลูกง่ายมาก รดน้ำปกติวันละ 1-2 ครั้งก็เพียงพอ แต่ต้องระวังอย่าให้แฉะเกินไป ควรสังเกตน้ำในดินอยู่เสมอ เพราะพี่ลองปลูกมาหมดแล้วจึงกล้านำไปจำหน่ายให้ลูกค้า การขายต้นไม้แต่ละชนิดก็เป็นยุคของมันนะ สักพักพอต้นไหนขายดีก็เริ่มเห็นเต็มท้องตลาด เราก็ต้องหาอะไรใหม่ๆ มาป้อนให้ตลอด จึงเป็นเรื่องยากที่จะให้ความเชื่อมั่นแก่ลูกค้าในช่วงแรก เพราะเมื่อเขาซื้อไปปลูกก็ต้องมีความเสี่ยงอยู่ แต่ถ้าเราเคยทดลองปลูกแล้ว เรามีรูปสามารถการันตีกับเขาได้อย่างซื่อสัตย์ เขาก็จะเชื่อมั่นว่าตัวเขาเองก็สามารถปลูกได้”
แม้วันนี้โอลีฟจะเป็นหนึ่งในต้นไม้ที่ครองใจคนรักต้นไม้ จนกลายเป็นต้นที่ต้องมีติดบ้านกันแล้ว อย่างไรเสียก็อย่าลืมว่าเราในฐานะลูกค้าและว่าที่เจ้าของต้นไม้ก็ควรศึกษาลักษณะนิสัยของต้นไม้ให้ดี เพื่อให้เวลาที่ต้นไม้มาอยู่กับเราจะยังคงสวยงาม ที่สำคัญควรซื้อต้นไม้จากผู้ขายที่มีความเข้าใจในต้นไม้ชนิดนั้นๆเป็นอย่างดี เพื่อให้ต้นไม้แข็งแรงตั้งแต่ก่อนมาถึงมือเรา
สามารถติดตามชีวิตพ่อมดแห่งวงการจัดสวนอย่างคุณวิทย์ ที่มักนำสิ่งใหม่ๆ มาให้เราได้ชื่นชมอยู่เสมอ หรือติดต่อสั่งซื้อต้นไม้ชนิดใหม่ได้จากอินสตาแกรม IG: wit_littletree
เรื่อง : ปัญชัช
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ และคุณศิริวิทย์ ริ้วบํารุง
ต้นโกสนไทย ขยายพันธุ์ง่ายๆ รายได้งาม
จั๋ง ต้นไม้ฟอกอากาศ ที่นาซารับรอง
คุยกับมืออาชีพ กับอนาคตของ กวักมรกตด่าง
ติดตามไอเดียบ้านและสวนเพิ่มเติมได้ทาง : บ้านและสวน Baanlaesuan.com