ดูแลเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ให้เรียบร้อยและพร้อมใช้งานอยู่เสมอ เป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ที่ช่วยเสริมให้บุคลิกภาพโดยรวมดูดีขึ้น แต่หากเกิดเหตุสุดวิสัยขึ้นกับเสื้อผ้า อาจจะมีการขาด ชำรุดที่ส่งผลให้เสื้อผ้าตัวเก่งไม่พร้อมใช้งานได้เหมือนเก่า ใจเย็นค่ะอย่างเพิ่งตัดสินใจทิ้งไป เพราะเพียงแค่ซ่อมนิด ๆ หน่อย ๆ ก็สามารถนำกลับมาใช้งานได้เหมือนเดิมแล้ว ซ่อมกางเกง
กางเกงเอวหลวม ขากางเกงยาวเกินไปแต่ไม่อยากตัด กระดุมหลุดหาย หรือจะเป็นตะเข็บกางเกงที่ปริแตก ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหา ที่ชวนให้หัวร้อนได้ทุกครั้งที่เจอ วันนี้ my home มีเคล็ดลับดี ๆ และแนวทางแก้ปัญหาวุ่นวายเกี่ยวกับการ ซ่อมกางเกง ทั้ง 4 แบบข้างต้น มาบอกกันค่ะ รับรองว่ากางเกงตัวเก่าที่พัง จะกลับมาสวยเหมือนใหม่ ไม่ต้องตัดใจทิ้งไป เพราะซ่อมแค่นิด ๆ หน่อย ๆ ก็สามารถนำกลับมาใส่ได้อีกครั้งแล้วจ้า
1. กางเกงเอวหลวมเกินไป
บ่อยครั้งที่ซื้อกางเกงมาจากร้านค้าออนไลน์แล้วขนาดของกางเกงที่ได้รับ กลับไม่พอดีกับขนาดของเอวเรา กางเกงเอวหลวมเกินกว่าเอวจริงไปประมาณ 1 – 2 นิ้ว สามารถใช้วิธีนี้ในการเย็บเอว เพื่อให้เอวกางเกง พอดีแบบไม่ต้องเย็บให้ยุ่งยากเลยค่ะ
ขั้นตอนที่ หนึ่ง
วัดขนาดที่ต้องการจะลดขนาดของเอว โดยวัดจากตะเข็บกางเกงด้านข้างเข้ามา ตัวอย่างเช่น ต้องการจะลดขนาดเอวลง 2 นิ้ว ให้วัดเข้าจากตะเข็บกางเกงเข้ามา ข้างละ 1 นิ้ว แล้วมาร์คตำแหน่งเอาไว้ จากนั้นลากเส้นจากขอบกระเป๋ากางเกง ขึ้นมายังจุดมาร์คเป็นเส้นตรง ( ตามภาพเส้นสีเขียว ) จากนั้นร้อยด้ายที่มีความแข็งแรงและค่อนข้างเหนียว เข้ากับเข็ม แล้วเริ่มเย็บจากเส้นตะเข็บของกางเกง เข้าหาเส้นมาร์คเป็นให้แนวตามภาพ ยาวจนถึงขอบกางเกง ( เส้นสีชมพู )
ขั้นตอนที่ สอง
ดึงเส้นด้ายให้ผ้าบริเวณที่เย็บ ประกบกันจนสนิท ไม่จำเป็นต้องดึงรอบเดียวนะคะหากดึงไม่ได้ ไม่แนะนำให้กระชากแรง ๆ เนื่องจากด้ายอาจจะขาดได้ แถมยังสามารถทำให้เกิดความเสียหายกับกางเกงได้นะคะ ค่อย ๆ ดึง ให้เนื้อผ้าค่อย ๆ แนบชิด ติดกัน ทำลักษณะเดียวกันกับเอวกางเกงอีกด้าน เพียงเท่านี้ก็จะมีเอวกางเกงที่ใส่ได้พอดีแล้วค่ะ หากต่อไปอยากจะแก้เอวใหม่ ก็สามารถแก้ไขได้โดยง่าย ไม่ต้องตัด หรือเย็บแก้ทรงให้วุ่นวายอีกด้วยค่ะ
2. ขากางเกงยาวมากกก
สำหรับสาว ๆ ไซส์มินิ เวลาใส่กางเกงแล้วขากางเกงยาวกองยับย่นอยู่ที่ข้อเท้า กลายเป็นรอยพับยับ ๆ ยิ่งเป็นจุดนำสายตา ทำให้ช่วงลำตัวดูตันกว่าที่ควรจะเป็นเข้าไปใหญ่ แต่ถ้าจะให้ตัดความยาวออกไปแบบถาวรก็เสียดายผ้า จะมีทางไหนที่สามารถลดความยาวของขากางเกงลงได้แบบไม่เสียเนื้อผ้าไปบ้าง ตามไปดูวิธีกันค่ะ
ขั้นตอนที่ หนึ่ง
วัดความยาวขากางเกงที่ต้องการจะลด จากนั้นพับขากางเกงขึ้น ใช้เข็มกลัด กลัดไว้เป็นแนวเพื่อให้ขนาดที่ต้องการไม่คลาดเคลื่อนขณะเย็บ จากนั้นเริ่มเนาที่บริเวณใต้ขอบขากางเกงแนวเก่า เนาไปเรื่อย ๆ จนครบวงขา ทำเช่นเดียวกันกับขากางเกงอีกข้าง
ขั้นตอนที่ สอง
เมื่อเนาจนครบรอบขากางเกงแล้ว พับเอาส่วนที่เนาเข้าด้านใน เพียงเท่านี้ก็ได้ขากางเกงที่ความยาวเหมาะสมแล้ว แถมในอนาคตหากต้องการอยากจะให้ขากางเกงยาวเท่าเดิม ก็ทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่ตัดด้ายที่เนาไว้ออก จะอยากได้ขากางเกงสั้นเต่อ ๆ หรือยาวแบบพอดีส้นเท้าก็ทำได้ด้วยขั้นตอนง่าย ๆ เพียงเท่านี้ค่ะ
3. อุ๊ย ! กระดุมหลุดหายไปไหนแล้ว
การที่กระดุมหลุดหายไป ไม่น่าจะใช่เรื่องที่น่าอภิรมย์เท่าไหร่เลยค่ะ ครั้นจะไปตามหากระดุมเม็ดใหม่ที่ใช้การตอก ยึด แบบกระดุมเม็ดเก่าก็น่าจะยุ่งยากน่าดู ลองค้นในกล่องด้ายเข็ม พอจะมีกระดุมพลาสติกที่มีขนาดไล่เลี่ยกับกระดุมเม็ดเดิม หรือจะใช้เหรียญสลึง มาเย็บแทนกระดุมเม็ดเดิมก็ได้ค่ะ
ขั้นตอนที่ หนึ่ง
ตัดผ้ายีนส์เป็นรูปวงกลม โดยกำหนดให้เส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่ากระดุมใหม่ประมาณ 2 – 3 เซนติเมตร กำหนดจุดกึ่งกลางแล้ววางกระดุมเม็ดใหม่ลงไป เนาบริเวณขอบรอบ ๆ ผ้าวงกลม แล้วดึงรูดให้เป็นทรงขนมจีบ จากนั้นใช้ด้ายมัดบริเวณฐานของกระดุม ทำปมให้เรียบร้อย
ขั้นตอนที่ สอง
สอดปลายผ้าที่มัดปมไว้ เข้าที่รูกระดุมเดิม หากความกว้างไม่พอให้ปลายผ้ารอดผ่านไปได้ สามารถใช้คัดเตอร์กรีดเพื่อขยายวงได้ค่ะ เก็บความเรียบร้อยของปลายผ้าที่รอดผ่านรูกระดุมเก่าให้เรียบร้อย ตัดเอาความยาวของปลายผ้าที่เหลืออยู่ออก ก่อนจะเย็บตรึงปลายผ้า เข้ากับขอบกางเกง เพียงเท่านี้ก็ได้กระดุมกางเกงเม็ดใหม่ ที่แข็งแรง และกลมกลืนไปกับกางเกงตัวเดิมแล้วค่ะ
4 . ตะเข็บปริแตก
แควก ! กางเกงตัวเก่งตะเข็บปริแตกแน่ ๆ เสียงแบบนี้ ก้มลงไปดูโอ้โห !! ตะเข็บปริแตกเป็นแนวยาวแบบนี้ ใส่ต่อน่าจะไม่ไหวแล้วะ แก้ไขสถานะการแบบนี้ด้วยตัวเองได้ง่าย ๆ ไม่ต้องทิ้งกางเกงตัวเก่งไปทั้ง ๆ ที่ยังเสียดายเลยค่ะ
ขั้นตอนที่ หนึ่ง
เนาในบริเวณที่ขาด ให้เป็นลักษณะก้างปลา พาดทับรอยที่ขาดนั้น โดยให้ฝีเข็มที่เนา กินเนื้อผ้าเกินขอบที่ขาดประมาณ 0.5 เซนติเมตร เนาให้ยาวตลอดรอยที่กางเกงขาด โดยใช้ด้ายที่มีความเหนียวค่อยข้างมาก อย่างไหมปักในการเนา หากใครไม่มีไหมปัก สามารถใช้ด้ายเย็บผ้า หลาย ๆ เส้นรวมเข้าด้วยกันแทนได้ค่ะ
ขั้นตอนที่ สอง
รูดไหมที่เนาเอาไว้ ให้แนวผ้าทั้งสองข้าง ประกบเข้าหากัน หากดึงไม่แนบสนิมภายในครั้งเดียว ก็สามารถค่อย ๆ รูดไหมให้ผ้าค่อย ๆ ชิดกันได้ เพื่อป้องกันความเสียหายของเส้นด้ายที่อาจจะขาด หรือพันกันได้ ขยับให้เนื้อผ้าไม่ย่น เก็บความเรียบร้อยของรอยด้ายและเก็บปมด้ายให้เรียบร้อย เพียงเท่านี้ก็ ซ่อมกางเกง ที่ตะเข็บเคยปริแตก ให้กลับมาสามารถสวมใส่ได้เหมือนเก่าแล้วค่ะ แต่วิธีนี้สามารถซ่อมได้กับกางเกงที่มีเนื้อผ้าค่อนข้างหนา และ แน่น หากผ้าในบริเวณที่ปริ แตก นั้นเริ่มบางแล้ว แนะนำให้ ซ่อมกางเกง ด้วยวิธีการชุนจะเหมาะสมกว่าค่ะ
story : ออ-ร-ญา
[DIY] Pumpkin Bean Bag บีนแบ็กฟักทองจากกางเกงยีนเก่า
จัดระเบียบตู้เสื้อผ้า เคลียร์เรื่องเครียดๆยามเช้ากับเสื้อผ้าที่หาไม่เคยเจอ