จากเดิมที่เป็นนักปลูกต้นไม้ทั้ง ต้นไม้ในบ้าน ฟอกอากาศ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่เมื่อเจอสภาวะล็อกดาวน์ออกไปไหนไม่ได้ บวกกับอาชีพประจำที่ต้องดูแลร้าน SOMKIAT CAFE โฮมคาเฟ่ขนาดเล็กในหมู่บ้านย่านนนทบุรี ทำให้ 24 ชั่วโมง ของคุณน้ำผึ้ง ทองชื่น คือบ้าน ต้นไม้ บ้าน ต้นไม้ จนพาเธอมาไกลเมื่อค้นพบว่าในเวลาไม่ถึง 1 ปี ที่โควิด-19 ระบาด ในบ้านของเธอมีไม้ใบกว่า 150 ต้น
ชั้นลอยในบ้าน 2 ชั้น ที่รีโนเวตให้เป็นคาเฟ่สีสันสดใสพื้นที่ขนาด 2.5 x 2.5 เมตร ซึ่งเคยเป็นมุมรีดผ้าและตากผ้าได้ถูกเปลี่ยนเป็นมุมต้นไม้ที่เจ้าของบ้านเรียกว่านี่ไม่ใช่แค่มุมต้นไม้ แต่มันคือ “ป่า” ไปแล้ว เธอย้ำหนักแน่นว่าทุกคนต้องอิจฉา เพราะตอนหน้าหนาวอากาศในมุมนี้จะเย็นสบายมาก ๆ เธอจึงใช้มุมนี้นั่งทำงานศิลปะไปด้วย และในวันที่เหนื่อย ๆ เธอมักมานั่งพัก นั่งสงบสติอารมณ์ สูดความสดชื่นจนชุ่มปอด ซึ่งก็เห็นผลอย่างที่เธอว่า เพราะมุมนี้ช่วยรีเฟลชร่างกายได้เป็นอย่างดีจริง ๆ
เริ่มเปลี่ยนบ้านเป็นป่าจนสำเร็จ
“น้ำผึ้งย้ายเข้ามาในบ้านหลังนี้ได้ประมาณ 2 ปี ตอนนั้นก็เริ่มปลูกต้นไม้มาเรื่อย ๆ มีคนบอกว่าเราปลูกเก่ง แต่จริง ๆ ไม่ใช่ ซื้อเก่งมากกว่า (หัวเราะ) ตอนเห็นมุมนี้ที่เป็นชั้นลอยก็คิดเลยว่าจะนำต้นไม้มาลง เพราะอยู่ในทิศตะวันออก มีแสงเช้าส่องเข้าทางหน้าต่างตั้งแต่เช้า ส่วนแสงบ่ายก็จะตกที่มุมหน้าบ้าน ต้นไม้มุมนี้ก็จะได้รับแสงไปในตัว สมัยก่อนคุณพ่อคุณแม่คุณสมเกียรติมักใช้มุมนี้เป็นที่รีดผ้า ตากผ้า เพราะมีแสงแดดส่องถึง อากาศถ่ายเทดี พอน้ำผึ้งมาเห็นก็ชอบเลยค่ะ แสงที่ส่องผ่านหน้าต่าง ไม่ใช่แสงแดดโดยตรง เหมาะกับต้นไม้ที่เราปลูกในบ้านมาก ๆ”
ทฤษฏีในตำรา ไม่เคยได้ใช้จริง
นักปลูกต้นไม้เล่าต่ออีกว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้เข้าสู่วงการปลูกต้นไม้ เห็นจะเป็นตอนเริ่มทำคาเฟ่ที่เชียงใหม่ ตอนที่เปิดร้านต้องตกแต่งให้ดูน่าเข้า จึงไปสรรหาต้นไม้มาตกแต่งร้าน จนหลงอยู่ในวงการนี้มาตั้งแต่ตอนนั้น โดยลองลงมือปลูกทีละต้นสองต้น แล้วเรียนรู้ด้วยตนเองไปเรื่อย ๆ
“ปกติจะหาความรู้เรื่องการปลูกต้นไม้น้อยมาก เพราะเป็นคนไม่ค่อยทำตามตำราอยู่แล้ว ไม่มีหลักเกณฑ์ใด ๆ ในการปลูก และดูแล เพราะทำในแบบที่ตนเองสะดวก ในหนังสือแนะนำอะไรก็ไม่ค่อยได้ทำตาม จะอ่านผ่าน ๆ แล้วมาเรียนรู้จากการลงมือปลูกมากกว่า โดยสังเกตต้นไม้ที่เราปลูกว่าเขาต้องการแบบไหน เพราะน้ำผึ้งคิดว่าแต่ละคน ต้นไม้แต่ละชนิด บริเวณที่วางในบ้าน ล้วนแตกต่างกัน อย่างน้ำผึ้งใช้เวลาอยู่บ้านเป็นส่วนมากก็มีเวลารดน้ำทุกวัน ตอนที่รดก็จะพ่นละอองแค่ให้ชุ่มชื้นเท่านั้น ไม่ให้ดินถึงขั้นเปียกแฉะ แต่สำหรับคนที่ไม่มีเวลาก็อาจจะรดให้ดินชุ่ม3-4 วัน ค่อยรดทีหนึ่งก็ได้ ซึ่งก็แล้วแต่คนไป”
หลักการเลือกต้นไม้ที่ไม่มีหลักการ
“เราจะไม่เลือกต้นไม้ที่ปลูกยาก คือเรารู้อยู่แล้วว่าต้นไหนจะปลูกยาก หรือเราแค่คิดเองว่ามันยากอย่าง ไทรใบสัก ยางอินเดีย ไหนจะราคาแพงอีก ซื้อมาแล้วถ้าตายใครจะรู้ เราก็ไม่เสี่ยงดีกว่า ก่อนซื้อก็ดูก่อนว่าต้องเลือกให้เข้ากับมุมบ้าน พอเราจัด ๆ ไปจะเห็นว่ามุมนี้ขาดต้นอะไร ก็จะมองหาต้นไม้ใหม่มาวางให้เหมาะกับมุมนั้น ๆ มากกว่า แหล่งซื้อก็จะมีทั้งซื้อที่ตลาดต้นไม้และซื้อออนไลน์ค่ะ ตอนที่ซื้อออนไลน์ก็จะลุ้นหน่อยว่า ต้นไม้จะถึงเมื่อไหร่ ต้นไม้จะช้ำไหม จนเราคิดว่าทำไมต้องมานั่งลุ้นแบบนี้ จึงหันไปซื้อเอง เลือกเองดีกว่า อย่างที่ไปบ่อยก็ตลาดต้นไม้สมบัติบุรี เพราะอยู่ใกล้บ้าน ราคาถูก แล้วต้นไม้ก็มีสภาพดีด้วย หากเรารู้แล้วว่าจะเลือกไม้สูง ๆ วางมุมนี้ หรือเลือกไม้เลื้อยให้แขวนตรงนี้ เราก็ซื้อต้นที่สูงและต้นที่เลื้อย ๆ ยาว ๆ เลยค่ะ เพราะบางทีเลี้ยงเองกว่าจะโตก็ต้องใช้เวลานาน สู้ได้เห็นว่ามันเลื้อยยาวสวย ๆ แบบที่ชอบไปเลยดีกว่า”
ผสมวัสดุปลูกแบบไม่มีสูตร
“ปัญหาที่เจอ ยังไม่มีค่ะ เพราะการปลูกต้นไม้ในบ้านดีตรงที่ไม่ได้เป็นพื้นที่เปิดอย่างในสวน ซึ่งจะเจอทั้งแมลง หนอน และโรคพืช ได้ง่าย ๆ ตอนซื้อต้นไม้มา สิ่งแรกที่น้ำผึ้งทำเลยก็คือ เปลี่ยนดิน เราจะผสมดินใหม่ทุก ๆ ครั้ง โดยใช้ดินผสมพีทมอส ปุ๋ยออสโมโคส ผสมกับกาบมะพร้าวสับแช่น้ำไว้ก่อน สัดส่วนเท่าไหร่บอกไว้เลยค่ะว่า ไม่มี เป็นคนไม่ค่อยฟังใคร ไม่ค่อยอ่านวิธีทำ อยากทำก็ทำ ผสม ๆ ในแบบที่คิดเองว่าน่าจะพอดี แล้วก็นำต้นไม้ลงปลูก รดน้ำ จากนั้นพักไว้ในร่มที่อากาศถ่ายเท อย่างระเบียงชั้นล่างก่อน ให้เริ่มแตกใบ หรือฟื้นตัว จึงค่อยนำเข้ามาตกแต่งบ้าน”
รดน้ำไม่ใช่ปัญหา
คุณน้ำผึ้งเล่าว่า การรดน้ำเป็นกิจวัตรประจำวันของเธอ และมีความสุขที่ได้ทำในทุก ๆ วัน ใช้เวลานานหน่อย แต่ก็คิดว่าเหมาะกับต้นไม้ของเธอ ฉะนั้นเธอจึงไม่ได้รดน้ำทีละมาก ๆ หรือรดน้ำจนดินแฉะ แต่เลือกรดให้ดินชุ่มก็พอ โดยใช้วิธีรดน้ำด้วยหัวสเปรย์พ่นละออง ช่วยฉีดล้างฝุ่นที่ใบ และไอน้ำจะช่วยลดความร้อนในห้องได้ด้วย
“เคยมีคนถามน้ำผึ้งว่ารดน้ำอย่างไรไม่ให้เลอะพื้น บอกเลยว่าทำอย่างไรก็เลอะค่ะ แต่ที่จริงก็มีทริคเล็ก ๆ ในการจัดการปัญหาตรงนี้ คือรดต้นไม้ที่ไม้แขวนก่อน ไอน้ำก็จะตกลงมายังไม้กระถางระดับกลางที่วางอยู่บนชั้น แล้วตกไปยังกระถางที่อยู่บนพื้น ซึ่งก็มีจานรองทุกอันค่ะ หากน้ำเลอะเราก็เช็ด (หัวเราะ) ซึ่งละอองน้ำที่เลอะพื้นก็ไม่ได้เยอะแยะมากมาย ส่วนไม้แขวนที่ต้องรดน้ำมาก ๆ อย่าง เฟินเขากวาง ก็ใช้ผ้ารองพื้นไว้ก่อนแล้วค่อนรด แต่ละวันใช้เวลานานเหมือนกัน ใช้น้ำประปาปกติเลยค่ะ ไม่มีการพักน้ำไว้ก่อน ไม่เน้นทำตามตำรา หรือบางต้นที่ปลูกในน้ำก็ไม่ได้เปลี่ยนน้ำบ่อยอย่างที่หลาย ๆ ที่บอกกัน ช่วงที่อากาศร้อนมาก ๆ เราก็รดน้ำเพิ่มขึ้นด้วย เน้นทดลองไปตามที่เราสะดวก ซึ่งก็เห็นว่าต้นไม้ก็รอดเติบโตดี”
ปัญหาก็มี หนักเบา เราเลือกมองได้
“เคยมีร้านขายต้นไม้บอกว่าพอนาน ๆ วัสดุปลูกจะเสื่อม อย่างกาบมะพร้าวจะอมน้ำมากเกินไป เขาก็แนะนำให้เราเปลี่ยน แต่ตอนนี้ก็ยังไม่เจอว่ามันจะเสื่อม และทำให้ต้นไม้แย่อะไร ดินในกระถางก็ไม่ค่อยยุบ แต่ก็คิดเองว่าอาจจะมีปัญหาเรื่องมดซ่อนอยู่บ้าง แค่ยังไม่เจอเต็ม ๆ และก็มีเรื่องของฝุ่น ซึ่งสังเกตได้ว่าตอนล้างแอร์จะมีฝุ่นเกาะเยอะพอสมควร หากอากาศอบอ้าวมาก ๆ ก็จะใช้เครื่องทำความชื้นมาช่วย ซึ่งจะรู้สึกได้ถึงไอเย็น หลายคนถามว่าแล้วแบบนี้ไม่กลัวผนังบ้านพองเพราะความชื้นสะสมหรอ เรามีวิธีคือเปิดพัดลมช่วยระบายอากาศ เปิดหน้าต่างทั้งสองข้าง ติดมุ้งลวดกันยุง ให้พื้นที่ตรงนี้มีอากาศถ่ายเท ก็เท่านั้นเองค่ะ ไม่มีอะไรต้องกังวล”
“ช่วงหน้าร้อน เคยเจอปัญหาใบฟุบ ก็ต้องคอยดูฉีดสเปรย์รดน้ำทั้งวัน เท่าที่ปลูกเลี้ยงมาก็น้อยมากที่จะตาย แต่ก็ไม่ซีเรียสว่าต้นไม้จะตาย ใบจะไหม้ หรือใบร่วง เพราะเข้าใจว่านี่คือธรรมชาติ ถ้าไม่ไหวก็จะนำไปอนุบาลนอกบ้านก่อน พอต้นไม้เริ่มฟื้นตัว อย่าง ฟิโลเดนดรอน พิ้งค์ ปริ้นเซส ที่ฟื้นตัวจนออกใบด่างสีชมพูมาให้ชื่นชม เราถึงจะนำเขาเข้ามาในบ้าน เราปลูกต้นไม้เพราะว่าความชอบ ปลูกแล้วสบายใจ หากปลูกแล้วเครียดทุกข์ใจ กลัวจะเกิดปัญหาใบไหม้ ใบร่วง ก็อย่าปลูกดีกว่า”
คุณน้ำผึ้งกล่าวทิ้งท้ายว่า แม้รู้ดีว่าต้นไม้ที่ปลูกนอกบ้านจะเติบโตได้ดีกว่าปลูกในบ้าน ไม่ได้คาดหวังว่าจะโตสวยไปทั้งหมด แต่ถ้าโตก็ถือว่าเป็นกำไรของเราที่ได้รับความเพลิดเพลินสวยงาม ได้ทำในสิ่งที่เราชอบ ได้มองเห็นธรรมชาติในบ้านของเราเอง มันคือสิ่งดี ๆ ที่เราต้องมีเวลาดูแล ปัญหาที่เกิดก็ค่อย ๆ แก้กันไป เท่านี้ก็คุ้มค่าที่จะปลูกต้นไม้แล้ว
ต้นไม้ในบ้าน ฟอกอากาศ
สถานที่ : SOMKIAT CAFE
เรื่อง : JOMM YB
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ