บ้านไม้ใต้ถุนสูง แบบไทยๆ ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากบ้านทรงไทยมอญ เน้นการทำช่องเปิดเพื่อเป็นตัวดักความร้อน พร้อมวางแผนทำเกษตรผสมผสาน ให้อยู่แบบพึ่งพาตัวเองได้สบายๆ
หากเปรียบต้นไม้เป็นประติมากรรมทางธรรมชาติ บ้านก็น่าจะเป็นประติมากรรมอย่างหนึ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาในรูปแบบของสถาปัตยกรรมสำหรับให้อยู่อาศัยได้ โดยเฉพาะเมื่อสถาปัตยกรรมนั้นมีความอ่อนน้อมถ่อมตนที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน ทั้งยังนำประโยชน์จากธรรมชาติมาเกื้อกูลต่อชีวิตที่อยู่อาศัยได้อย่างดี เหมือนกับ บ้านไม้ใต้ถุนสูง หลังนี้ของ คุณเด่น-สายันต์ ทิพย์แสง หนุ่มเมืองใต้ และคุณมะลิ-อารมณ์ วิรัชศิลป์ สาวเมืองเหนือ ซึ่งตั้งใจสร้างขึ้นเพื่ออยู่อาศัยอย่างเรียบง่ายพร้อมๆไปกับวางแผนทำเกษตรกรรมแบบพอเพียงในพื้นที่รอบๆ บ้าน โดยปลูกไม้ใบ ไม้ผล พืชสวนครัว ควบคู่ไปกับการขุดบ่อเลี้ยงปลาและเลี้ยงไก่ไข่ เพื่อสามารถใช้ชีวิตประจำวันธรรมดาแบบพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด จึงตั้งชื่อบ้านไว้ว่า “บ้านทำ-มะ-ดา”
แรงบันดาลใจของ บ้านไม้ใต้ถุนสูง
“เราอยากได้บ้านไม้และอยากอยู่บ้านไม้กันมานานแล้ว ก็เลยตั้งใจให้ คุณบั๊ม – ประกิจ กัณหา สถาปนิกแห่ง Studio Miti ช่วยออกแบบให้ ตอนแรกมีสองแบบ คือแบบที่วางแปลนรวมๆ กัน กับแบบนี้ที่แยกส่วนรับแขกและส่วนห้องนอนไว้อยู่คนละด้าน ซึ่งเราชอบแบบนี้เพราะดูเป็นสัดส่วนดี”
นอกจากฟังก์ชันที่ตอบรับการใช้งานอย่างดีแล้ว รูปทรงของบ้านยังได้แรงบันดาลใจจากบ้านทรงไทยมอญของชุมชนใกล้เคียงมาปรับใช้ซึ่งมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือการยกใต้ถุนสูงเพื่อเลี่ยงปัญหาพื้นที่น้ำท่วมถึง สถาปนิกจึงเพิ่มฟังก์ชันให้พื้นที่ใต้ถุนเป็นเหมือนชานนั่งเล่นและครัวเปิด ซึ่งคุณมะลิเล่าว่า
“ตอนแรกว่าจะใช้แค่ปิ้งย่างเป็นบางครั้ง ส่วนครัวจริงอยู่ชั้นบน แต่พอย้ายมาอยู่เราใช้ครัวใต้ถุนเป็นครัวประจำบ้านไปเลย เพราะพื้นที่ตรงนี้โปร่งรับลมได้สบายตลอดทั้งวัน เลยกลายเป็นทั้งที่รับแขก ที่พักผ่อน ที่รับประทานอาหาร และศูนย์กลางของทุกคนในครอบครัว”
การออกแบบ บ้านไม้ใต้ถุนสูง ให้อยู่สบาย
ไม้สำหรับสร้างบ้านทั้งหมดเป็นไม้เต็งเก่าอายุราว 80 – 100 ปีที่เลือกซื้อมาจากอยุธยา ซึ่งต้องอาศัยเวลาและความใจเย็นในการคัดเลือกชุดไม้ให้ได้โทนสีและขนาดตามต้องการ เพื่อมาประกอบร่างขึ้นเป็นบ้านใหม่หลังนี้ โดยใช้วิธีขัดผิวไม้เก่าและเคลือบน้ำมันรักษาผิวไม้ไว้ แล้วปล่อยให้เนื้อไม้แสดงผิวอันอบอุ่นจากสัมผัสธรรมชาติอย่างตรงไปตรงมา มีการปรับเส้นโครงสร้างของบ้านให้ดูทันสมัยขึ้น ลดงานแกะสลักไม้ของบ้านไทยมอญลง เพิ่มหน้าต่างให้สูงจากพื้นจรดฝ้าเพดานเพื่อนำแสงธรรมชาติเข้าบ้านให้มากที่สุด และยังช่วยประหยัดโครงคร่าวไปในตัว แต่จะเน้นช่องเปิดไว้ทางฝั่งทิศตะวันออกให้มากกว่าฝั่งทิศตะวันตก รวมถึงใช้การวางห้องน้ำเพื่อเป็นตัวดักความร้อนไม่ให้เข้าถึงพื้นที่พักผ่อนภายในบ้าน ส่วนกลางบ้านก็เปิดช่องให้แสงและลมได้พัดผ่านหมุนเวียนโดยทำเป็นพื้นที่กึ่งกลางแจ้ง เพราะบางส่วนยังต้องกั้นผนังเพื่อป้องกันฝนไม่ให้สาดเข้าถึงภายในได้ชั้นบนของบ้านที่แม้จะจัดสรรเป็นส่วนนั่งเล่น ห้องครัว และห้องนอน แต่ก็เน้นเปิดโล่งและเชื่อมต่อถึงกันได้ง่าย เพื่อให้พื้นที่ในบ้านปลอดโปร่งและมีลมหมุนเวียนได้ดี จึงดูคล้ายรูปแบบของโถงอเนกประสงค์ของบ้านไทยสมัยก่อนซึ่งเมื่อต้องการความเป็นส่วนตัวของห้องนอนก็สามารถปิดผนังกั้นแยกได้เช่นกัน
“นอกจากอยู่บ้านไม้แบบไทยๆ แล้ว เรายังวางแผนทำเกษตรผสมผสานตามทฤษฎีของในหลวงรัชกาลที่ 9 ตั้งแต่จัดแบ่งพื้นที่สำหรับทำบ่อกักเก็บน้ำไว้ใช้และเลี้ยงปลา 30 เปอร์เซ็นต์ ปลูกข้าว 30 เปอร์เซ็นต์ ปลูกผลไม้ ไม้ยืนต้น พืชไร่ 30 เปอร์เซ็นต์ และเป็นที่อยู่อาศัย 10 เปอร์เซ็นต์ แล้วก็เลี้ยงไก่ไข่ด้วย เราเริ่มปลูกต้นไม้ไว้ตั้งแต่สองปีที่แล้วก่อนบ้านเสร็จ ตอนนี้ขนุนหลังบ้านออกลูกมาถึงรุ่นที่ 7 แล้ว ตั้งใจไว้ ว่าอยากกินอะไรก็ปลูกเลย อย่างมะพร้าวน้ำหอมไม่เคยปลูกก็ลองดู วางโซนผักสวนครัวไว้หลังบ้านเพื่อให้หยิบใช้งานเข้าครัวได้ง่าย รอบๆ เป็นต้นไม้ใหญ่แซมด้วยไม้เลื้อยอย่างถั่วฝักยาว แล้วก็มีเรือนเล็กเป็นคอกไก่อารมณ์ดี เพราะเราเปิดเพลงให้ไก่ฟังด้วย เวลาลงไปทำเกษตรตัวเลอะดินเลอะโคลนก็มีห้องน้ำด้านล่างที่สถาปนิกออกแบบไว้ให้ล้างตัวก่อนเข้าบ้านได้เลย
“เมื่อก่อนชอบออกไปเที่ยวนอกบ้าน ลูกชายก็กลัวน้ำ แถมยังไม่เคยเหยียบหญ้าเลย แต่ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา เราใช้ชีวิตในบ้านหลังนี้เต็มที่ อยู่ได้อย่างไม่เดือดร้อน เพราะมีของกินสลับเปลี่ยนทุกวัน พอเหลือแจกก็แบ่งขาย ตอนนี้ลูกชายมีที่วิ่งเล่นบนผืนดินกว้างๆ และว่ายน้ำได้สบาย มีคุณย่ามาช่วยสอนทำกับข้าว มีกิจกรรมร่วมกันในครอบครัวตลอด เราอยู่ใกล้ธรรมชาติจนเห็นถึงอิทธิพลน้ำขึ้นน้ำลง กุ้งหอยปูปลาก็มาตามน้ำจริงๆ นอกเหนือจากที่เราเลี้ยงไว้เอง ทำให้รู้สึกถึงชีวิตที่อยู่แบบพึ่งพาตัวเองได้ และมีความสุขกับชีวิตธรรมดาๆ ในบ้านนี้มากขึ้นทุกวัน”
DESIGNER DIRECTORY: สถาปนิก : Studio Miti โดยคุณประกิจ กัณหา บ้านไม้ใต้ถุนสูง
ตกแต่งภายใน : บริษัทเอเดค อินทีเรียส์ จำกัด
เจ้าของ : คุณสายันต์ ทิพย์แสง และคุณอารมณ์ วิรัชศิลป์
เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
สไตล์ : วรวัฒน์ ตุลยทิพย์
นิตยสารบ้านและสวนฉบับตุลาคม 2563