เครื่องดูดควัน มีประโยชน์ในการระบายควัน กำจัดลมร้อน รวมถึงไอน้ำมันที่เกิดจากการประกอบอาหาร โดยเฉพาะครัวที่ต้องอยู่ภายในบ้านซึ่งเป็นพื้นที่ปิด การถ่ายเทอากาศไม่ดีนัก เครื่องดูดควันจึงถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง แต่เนื่องจากในท้องตลาดมีเครื่องดูดควันให้เลือกหลายรูปแบบ แล้วแบบไหนกันละจึงจะเหมาะสมกับการใช้งาน วันนี้เรามีข้อมูลมาฝาก เพื่อเป็นตัวช่วยให้คุณตัดสินใจเลือกซื้อได้อย่างคุ้มค่า
หลักการเลือก เครื่องดูดควัน มักขึ้นอยู่กับ 3 เงื่อนไขหลัก ๆ คือ
- ความหนักหน่วงของการใช้งานและปริมาตรห้อง
- ตำแหน่งของชุดครัวและพื้นที่ติดตั้ง
- งบประมาณที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ควรคำนึงเผื่อไปกับช่องทางระบายอากาศออกสู่ภายนอกเมื่อดูดควันออกไปแล้ว รวมทั้งความสะดวกในการทำความสะอาดด้วย
ประเภทของเครื่องดูดควัน
1.แบบกระโจมติดผนัง (Chimney Hoods)
เครื่องดูดควันแบบกระโจมติดผนังเป็นเครื่องดูดควันแบบดั้งเดิม ที่ใช้วิธีลำเลียงควันผ่านท่อลำเลียงด้านบนของกระโจมออกไปใต้ฝ้า หรือผนังตามจุดที่ติดตั้ง เพื่อระบายควันออกไป
เดิมทีเครื่องดูดควันประเภที้ไม่มีกรองน้ำมัน ควันที่ระบายออกไปจึงอาจส่งกลิ่น ควัน และไอน้ำมันไปรบกวนเพื่อนบ้านได้ ปัจจุบันหลาย ๆ ยี่ห้อมีการออกแบบใหม่ ให้มีทั้งแบบกรองน้ำมัน และกรองอากาศหมุนเวียนได้ในตัว
ข้อดี : มีแรงดูดที่มาก
ข้อสังเกต : ใหญ่, ใช้พื้นที่มาก
ราคา : 9,000-20,000 บาท (โดยประมาณ)
เหมาะสำหรับ : ครัวที่ทำอาหารแบบจริงจัง
2.แบบกระโจมกลางห้อง (Kitchen island hoods)
เครื่องดูดควันแบบกระโจมกลางห้อง หรือ Kithchen Island hood ออกแบบมาให้วางกลางห้อง เพื่อให้เข้ากับครัวแบบไอส์แลนด์ ด้วยเหตุนี้เรื่องหลักที่ต้องใส่ใจจึงเป็นเรื่องของขนาด เพราะด้วยการรวมระบบทั้งหมดเข้าไปไว้ในตัวเครื่อง จึงทำให้เครื่องมีขนาดใหญ่ และแน่นอนที่สุดเคาน์เตอร์ไอส์แลนด์จะต้องอยู่กลางห้อง ขนาดรูปลักษณ์ของเครื่องดูดควันจึงเป็นสิ่งที่ควรพิจารณาเป็นอย่างมาก จะเห็นได้ว่าบางรุ่นยังเพิ่มไฟสำหรับสร้างบรรยากาศมาให้อีกด้วย
ส่วนใหญ่เครื่องดูดควันประเภทนี้ มักมาพร้อมทั้งระบบกรองน้ำและระบบกรองอากาศ เพราะการที่อยู่กลางห้องจึงเป็นเรื่องไม่สะดวกนักที่จะเดินท่อระบายอากาศ แต่ถ้ามีบางรุ่นที่สามารถทำได้
ข้อดี : ดูดี, ช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับห้องได้
ข้อสังเกต : มีขนาดใหญ่ และตั้งอยู่กลางห้อง
ราคา : 10,000-40,000 บาท (โดยประมาณ)
เหมาะสำหรับ : บ้านที่ทำอาหารเป็นกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว หรือบ้านที่ต้องการสร้างพื้นที่ทำอาหารไว้รวมกับพื้นที่อื่น ๆ
3.แบบ Slim Line (Canopy cooker hoods)
เครื่องดูดควันแบบ Slimline เป็นเครื่องดูดควันที่เล็กและบางที่สุด มักใช้ในคอนโดมิเนียม หรือครัวที่ต้องการประหยัดพื้นที่
การติดตั้งเครื่องดูดควันแบบ Slimline มักติดตั้งใต้ชั้นครัว โดยทั่วไปจะใช้ระบบเวียนอากาศ แต่หากต้องการระบายอากาศออกสู่ภายนอกจะใช้วิธีซ่อนท่อระบายไว้ในชั้นเคาน์เตอร์ แต่ด้วยขนาดที่เล็กจึงทำให้มีแรงดูดอากาศน้อยกว่าเครื่องดูดควันประเภทอื่น ๆ เป็นผลให้ประสิทธิภาพในการจัดการกลิ่นและควันนั้นน้อยลงไปด้วยเช่นกัน
ข้อดี : มีขนาดที่เล็ก ติดตั้งได้ง่าย
ข้อสังเกต : ไม่เหมาะสำหรับใช้งานกับการทำอาหารหนัก ๆ
ราคา : 2,000-8,000 บาท (โดยประมาณ)
เหมาะสำหรับ : การอยู่อาศัยแบบ Compact Living ดูแลง่าย ประหยัดไฟ ทำอาหารเบา ๆ
4.แบบผสม กระโจม และ Slim Line (Integrated hoods)
เป็นประเภทที่นำข้อดีของแบบกระโจม และ Slim Line มาผสมเข้าด้วยกัน คือเป็นเครื่องดูดควันแบบ Slim Line ที่เพิ่มความหนาขึ้น สามารถดึงเปิดกระโจมออกมาเพื่อเพิ่มพื้นที่ในการดูดควันและกลิ่นได้มากขึ้น ด้วยความหนาที่มากขึ้นนี้ จึงทำให้ประสิทธิภาพในการจัดการกลิ่นและควันมีมากขึ้นตามไปด้วย แต่ด้วยมีระบบเดียวกันกับแบบ Slime Line (ในส่วนใหญ่) จึงยังคงเน้นความสะดวกในด้านพื้นที่มากกว่า
ข้อดี : ใช้งานได้หลากหลาย และประสิทธิภาพมากกว่าแบบ Slimline ในขนาดพื้นที่ไม่มาก
ข้อสังเกต : ยังคงไม่เหมาะสำหรับใช้งานกับการทำอาหารหนัก ๆ
ราคา : 3,000-8,000 บาท (โดยประมาณ)
เหมาะสำหรับ : บ้านพื้นที่น้อย ที่ยังต้องการประสิทธิภาพในการดูดควัน
5.แบบ Down Draft (Downdraft extractors)
เครื่องดูดควันแบบ Down Draft เป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ชุดครัวที่เน้นความเรียบร้อย เพราะไม่มีฮู้ดให้บดบังสายตา เครื่องดูดควันแบบ Down Draft ติดตั้งที่หน้าเตา ใช้การดูดควันลงด้านล่าง ซึ่งจะมีระบบกรองน้ำมันและกรองอากาศซ่อนอยู่ใต้เคาน์เตอร์ ปัจจุบันมีรูปแบบที่สามารหดกลับเข้าไปในเคาน์เตอร์ได้เองเวลาไม่ได้ใช้งานอีกด้วย
ข้อดี : ประหยัดพื้นที่บนเคาน์เตอร์ ซ่อนหลบจากสายตา ไม่บดบังพื้นที่ด้านบน
ข้อสังเกต : ต้องมีการวางระบบใต้เคาน์เตอร์ ติดตั้งยาก แถมยังคงมีราคาแพง
ราคา : 80,000-100,000 บาท (โดยประมาณ)
เหมาะสำหรับ : บ้านที่ต้องการความเรียบง่าย เช่น Minimal Style
ภาพ : คลังภาพนิตยสารบ้านและสวน
เรื่อง : Wuthikorn Sut