ภูมิสถาปนิกผู้ปลูกป่าในกรุง คุณธวัชชัย กอบกัยกิจ แห่ง TK Studio - บ้านและสวน

ภูมิสถาปนิกผู้ปลูกป่าในกรุง คุณธวัชชัย กอบกัยกิจ แห่ง TK Studio

แม้งานออกแบบสวนสไตล์ต่างๆจะสร้างสุนทรียภาพและความพึงพอใจให้ผู้คนมามากมาย แต่พอถึงจุดหนึ่งความต้องการของผู้คนก็กลับถวิลหาจุดสมดุลเดิมที่ธรรมชาติได้สร้างไว้ ซึ่งให้ทั้งความผ่อนคลายและการอยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพาอาศัยกับสิ่งแวดล้อม

คุณธวัชชัย กอบกัยกิจ แห่ง TK Studio เป็นภูมิสถาปนิกท่านหนึ่งที่มีแนวทางการออกแบบงานภูมิทัศน์โดยให้ความสำคัญกับการเลือกใช้พรรณไม้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน เขาคือผู้ออกแบบโครงการศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุงของสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. ซึ่งมีชื่อเสียงและกวาดรางวัลด้านการออกแบบมามากมาย นอกจากงานออกแบบโครงการดังกล่าวแล้ว ยังมีโครงการอื่นตามมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทุกโครงการยังคงมุ่งเน้นไปที่การสร้างป่าในกรุง

สระเก็บน้ำพระราม 9 กับการออกแบบพื้นที่โดยรอบให้เอื้อต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศของพื้นที่ชุ่มน้ำ ทั้งนกน้ำและปลา ผ่านการเลือกใช้พรรณไม้และปรับสภาพทางภูมิทัศน์เดิมของพื้นที่

ทำไมงานออกแบบของ TK Studio ถึงให้ความสำคัญกับป่า

“ที่จริงเราก็ออกแบบภูมิทัศน์เหมือนกับทุกบริษัท เราสนใจเรื่องการนำพรรณไม้ที่เหมาะสมมาใช้งาน เราพยายามบอกลูกค้าว่าอย่าไปดูความสวยงามเฉพาะหน้าเพียงอย่างเดียว เราอยากช่วยให้แต่ละโครงการเกิดการพัฒนาให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น เช่น พื้นที่หน้าโครงการที่มีท่อระบายน้ำสาธารณะขนาดเล็กระบายน้ำไม่ทัน เกิดปัญหาน้ำท่วม แทนที่เมื่อฝนตกแล้วจะระบายน้ำไปทั้งหมด คุณสามารถเก็บน้ำไว้ในพื้นที่โครงการได้ไหม ถ้าทุกคนช่วยกันน้ำแบบนี้จะท่วมได้อย่างไร” คุณธวัชชัยเล่าถึงลักษณะงานออกแบบของ TK Studio ในฐานะผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการบริหาร
“ผมอยากเห็นงานออกแบบที่ยั่งยืน เกิดต้นไม้สวยขึ้นเรื่อยๆ ผมประทับใจที่เวียดนามมาก ทั้งที่บริบทหลายๆอย่างของเมืองคล้ายกับบ้านเรา แต่เมื่อขึ้นไปบนตึกแปดชั้นก็ยังสามารถเห็นยอดไม้ของต้นไม้ริมทางได้”

สิ่งสำคัญของการปลูกป่าคือการเลือกใช้พรรณไม้พื้นถิ่นที่หลากหลาย ควบคู่กับการบริหารจัดการน้ำอย่างถูกวิธี ในศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ จังหวัดระยอง โดยสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. จึงได้มีการจัดสร้างฝายชะลอน้ำและอ่างเก็บน้ำ

ภายในศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์มีการใช้ทฤษฎีการปลูกป่าที่หลากหลาย หนึ่งในนั้นคือการปลูกพรรณไม้ดั้งเดิมแซมกับสวนยางพาราที่ปลูกอยู่เดิมในพื้นที่ก่อนได้รับการปรับปรุงระบบนิเวศ

 จุดเริ่มต้นคือความงามของการเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติ

“ก่อนหน้านั้นตอนที่เรียนปริญญาตรี อาจารย์เคยสอนเรื่องหนึ่งว่า เมื่อเราเข้าไปใช้พื้นที่ในงานสถาปัตยกรรม เราก็จะได้ประสบการณ์จากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้ากับงานภูมิสถาปัตยกรรมมาก เพราะในงานภูมิทัศน์จะเกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ”
หลังจากเรียนจบ คุณธวัชชัยได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันก็เริ่มก่อตั้งบริษัทออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมควบคู่ไปด้วย
“ผมคิดว่าต้นไม้เป็นอะไรที่ท้าทายมากสำหรับประเทศไทย ซึ่งตอนที่ผมเรียนก็ไม่ได้มีความรู้ในเรื่องนี้มากนัก แล้วผมก็ใช้ต้นไม้เป็นแค่ส่วนประกอบของงานภูมิทัศน์เพื่อให้เกิดความสวยงาม แต่ความสวยอาจไม่ยั่งยืน วันแรกที่จัดเสร็จคือวันที่สวยที่สุด ที่จริงมันไม่ควรเป็นแบบนี้ งานภูมิทัศน์ยิ่งอยู่นานยิ่งต้องสวยขึ้น”

งานออกแบบพื้นที่ส่วนกลางของโครงการคอนโดมิเนียม เดอะไลน์ พหลโยธิน-ประดิพัทธ์ ก็ยังแทรกการใช้พรรณไม้ยืนต้นซึ่งเป็นไม้พื้นถิ่นที่สามารถเจริญเติบโตและให้ร่มเงาเหมาะกับการใช้งานในโครงการ

ภายในบ้านพักตากอากาศออกแบบสวนโดยใช้พรรณไม้ประเภทวัชพืชที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ ทดแทนการปลูกหญ้าหรือพรรณไม้ประดับที่ต้องดูแลรดน้ำอยู่เสมอและต้องใช้พลังงานในการดูแลสูง

ก้าวแรกของป่าในกรุง

หลังจากนั้นคุณธวัชชัยก็มีโอกาสได้ทำงานกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อังสนา บุณโยภาส กับปตท.หลายโครงการ จนมาถึงงานศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุง ตอนแรกเขาเองก็ยังไม่เข้าใจว่าจะสร้างป่าไปเพื่ออะไร แต่พอเริ่มทำ ก็เริ่มเข้าใจจุดประสงค์ของปตท.
“การสร้างพื้นที่ป่าที่ดูแลน้อยที่สุดเป็นคีย์เวิดสำคัญมาก เราผ่านการลองมาเยอะ เช่น เราเลือกต้นไม้ที่ทนที่สุดตามความเหมาะสมแต่กลับยังไม่ได้ผลที่ดี เพราะพอเราปลูกชนิดเดียว เมื่อต้นไม้ชนิดนี้โดนโรคแมลงก็จะหายไปหมดแปลงเลย หรือแม้แต่ในทฤษฎีบอกว่าต้นไม้ชนิดนี้ทนแดดทนแล้งได้ แต่ต้นกล้าไม้ที่ได้มาไม่ได้เกิดจากภูมิอากาศแบบนั้น ไม่ได้ถูกให้เคยอยู่ในอากาศที่แล้งมาก่อน ส่วนใหญ่มาจากเนิร์สเซอรี่ พอมาปลูกจริงก็ตายไปเกือบครึ่ง พอเรามาคุยกับที่ปรึกษาในการปลูกป่าของทางปตท.ท่านก็แนะนำทฤษฎีของ ศาสตราจารย์ ดร.อาคิระ มิยาวากิ ซึ่งเลือกพรรณไม้พื้นถิ่นและคละพันธุ์กัน ตามแนวคิดที่ว่า ‘เราเป็นพี่น้องกัน ไม่แย่งอาหารกัน’ อย่างถ้าเราปลูกมะม่วงบ้างยางนาบ้าง ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องเป็นพี่น้องกันก็จะแข่งกันเจริญเติบโต เกิดการคัดสรร ต้นที่แข็งแรงก็จะโตเร็วกว่าและยั่งยืนกว่า”
ตอนที่ตั้งใจจะทำโครงการป่าในกรุง คุณธวัชชัยเลือกชนิดต้นไม้และสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับต้นไม้ชนิดนั้นๆไปด้วย เช่น ปรับเปลี่ยนที่ดินให้มีเนินสูงให้น้ำไหลไม่เท่ากัน สร้างสภาพแวดล้อมให้ต่างกัน พื้นที่ใกล้น้ำก็ปลูกต้นไม้ที่ชอบน้ำ บนเนินสูง 5 เมตรก็ปลูกต้นไม้ที่ทนแล้งขึ้นมา การสร้างระบบนิเวศขึ้นมาและปลูกต้นไม้ให้เหมาะสมกับระบบนิเวศนั้นตามความต้องการที่ให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ แต่ธรรมชาติก็มีส่วนช่วยคัดเลือกให้อีกส่วนหนึ่งว่าต้นไม้ต้นใดเหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมเดิมในบริเวณนี้ เช่น สภาพแวดล้อมที่สร้างเหมาะกับต้นไม้แค่ 5 ชนิดจาก 10 ชนิด 5 ชนิดนี้ก็จะโดดเด่นขึ้นมา ไม่ได้เป็นตามความคาดหวังในตอนแรกที่ออกแบบ
“ความน่าสนใจคือเราไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด มีการเปลี่ยนแปลงทุกครั้งที่เรากลับไปสำรวจ ปีนี้ปีหน้าป่าเริ่มโต ต้นไม้พุ่มเริ่มหายไป คนก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลง เปิดทางให้ลูกไม้ได้เกิดใหม่เป็นป่าได้ ดังนั้นในงานเดียวแต่เกิดการออกแบบที่ไม่รู้จบตามช่วงเวลาที่หลากหลาย เราใช้พลังงานเยอะมากในการควบคุมธรรมชาติให้อยู่ในสิ่งที่เราต้องการให้เป็น แต่ถ้าเราปล่อยให้ธรรมชาติเป็นไปอย่างที่ควรเป็น เรากลับใช้พลังงานน้อยมากเช่น การใช้น้ำน้อยมาก และตัดแต่งแค่ปีละครั้งเท่านั้น”

เมื่อไม้พุ่มและไม้เรือนยอดเริ่มสูงขึ้นเปิดทางให้เราสามารถเดินชมป่าบริเวณพื้นด้านล่างของโครงการศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุง กลายเป็นอีกหนึ่งเส้นทางเดินและกิจกรรมที่เพิ่มเติมจากการออกแบบครั้งแรก

 อยากปลูกป่า ไม่ใช่แค่หาต้นไม้มาปลูกเยอะๆ แต่ต้องรู้อะไรบ้าง

              “ก่อนอื่นเราต้องคุยกับนักวิชาการที่เขามีข้อมูลว่าไม้พื้นถิ่นเดิมในจุดที่เราจัดสวนมีอะไรบ้าง อย่างในโครงการศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุงก็คือไม้พื้นถิ่นของพื้นที่ลุ่มของกรุงเทพฯ แต่อย่างที่หัวหินมีฝนตกน้อยเพียงครึ่งหนึ่งของกรุงเทพฯ เราก็จะเห็นได้ว่าตามพื้นที่รกร้างเดิมจะพบพวกสลัดไดหรือไม้อวบน้ำชนิดต่างๆขึ้นเยอะ ปัจจุบันค่อนข้างหาข้อมูลง่าย อย่างข้อมูลปริมาณน้ำฝนต่อปี เราสามารถหาได้ในอินเทอร์เน็ต แต่ชนิดพันธุ์อาจยาก มันก็จะมีการจัดประเภทว่าต้นไม้ชนิดนี้สามารถปลูกที่ใดได้บ้างตาม ความสูงของพื้นที่และระบบนิเวศเดิมหรือพื้นที่รอบข้าง ข้อมูลดินจากกรมพัฒนาการเกษตร ทุกครั้งที่เราเริ่มทำงานก็จะมีการทดสอบดินว่ามีคุณสมบัติอะไรบ้าง เป็นกรดหรือด่าง ถ้าในนั้นมีน้ำก็จะนำไปตรวจสอบด้วย หากเราสามารถหาข้อมูลของป่าดั้งเดิมได้ เราก็จะนำเอาข้อมูลพวกนั้นมาเป็นหลักในการเลือกใช้จัดภูมิทัศน์ อย่างชื่อย่านบางจาก คลองเตย บึงกุ่ม บางบอน หนองแขม ฯลฯ มันเป็นองค์ความรู้ที่บอกในเบื้องต้นว่าบริเวณนั้นคงมีต้นไม้ชนิดนี้เยอะจนเขาเรียกต่อมาแบบนั้น”

ต้นไม้ริมน้ำของโครงการศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุงเลือกใช้พรรณไม้พื้นถิ่นของกรุงเทพฯ ที่สามารถเติบโตได้ในน้ำกร่อยอย่างลำพู ปรงทะเล ฝาดดอกแดง หรือโพทะเล และเจริญเติบโตได้รวดเร็วอย่างเห็นได้ชัดในสวนแห่งนี้

บทเรียนที่ยิ่งใหญ่จากป่าในกรุง

ทั้งคุณธวัชชัยและ TK Studio ยังต้องเรียนรู้อยู่เสมอ เพราะการปลูกป่าเป็นเทคนิคใหม่ที่การออกแบบภูมิทัศน์ไม่ค่อยทำนัก ต้องเรียนรู้จากผลงานเสร็จสมบูรณ์ไปว่าจะมีผลลัพธ์อย่างไรบ้าง เพื่อให้อนาคตมีองค์ความรู้เกี่ยวกับการปลูกป่ามากยิ่งขึ้น ทฤษฎีของศาสตราจารย์ ดร.อาคิระ มิยาวากิในมุมมองของบางคนคิดว่าเป็นเทคนิคที่ค่อนข้างแพง เพราะว่าต้องปรับปรุงดิน ถึงจะเลือกต้นไม้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแล้วก็ตาม แต่ราคาดินที่แพงและต้องใช้ดินที่ดีมีคุณภาพ รวมถึงต้องใช้ต้นกล้าเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากไปปลูกป่าในพื้นที่ทุรกันดารอาจไม่เหมาะ แต่ข้อดีก็คือได้ผลเร็ว ขณะที่ทฤษฎีการปลูกป่าของกรมป่าไม้ใช้เพียง 1 ต้นต่อตารางเมตรเท่านั้น ในช่วงแรกบรรยากาศของสวนป่าจะต่างกันมาก แต่คุณธวัชชัยกล่าวว่าเมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆผลลัพธ์อาจออกมาคล้ายกันก็ได้ โดยที่เราไม่ต้องไปลงทุนเยอะเท่ากัน เช่นเดียวกับเทคนิคของ อาจารย์จุลพร นันทพานิช ที่เริ่มจากการปลูกต้นไม้โตเร็วในปีแรก พอปีที่สองก็ปลูกต้นไม้เรือนยอดที่ยั่งยืน และจะไม่ปลูกในช่วงฤดูแล้ง แต่จะปลูกในช่วงฤดูฝนให้ฝนเลี้ยงและปลูกแซมไปเรื่อยๆ
“การเตรียมกล้าเป็นเรื่องสำคัญ ต้องเพาะด้วยเมล็ดถึงจะเป็นต้นไม้ที่ดี และต้องมีคนดูแลอยู่บ้าง เราต้องปลูกช่วงฤดูฝน ถ้ามันแล้งมากก็ต้องปลูกต้นไม้ที่ทนทานต่อสภาพอากาศ ฝนสำคัญมาก ต้นไม้ต้องการน้ำ น้ำจะไปละลายแร่ธาตุในดิน แต่ถ้าสังเกตในฤดูฝนต้นไม้จะเจริญเติบโตผิดกัน ในฤดูแล้งต้นจะเจริญเติบโตได้น้อย คนปรับตัวง่ายมากเพราะเราพึ่งพาเทคโนโลยีได้เยอะ เราไปอยู่ที่ไหนก็ได้ แต่ต้นไม้ยังไม่พัฒนาเท่าเรา ดังนั้นให้เขาได้อยู่ในที่ที่เหมาะสมได้น่าจะเป็นเรื่องดี”

การเจริญเติบโตของต้นไม้ในโครงการศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุงเปลี่ยนแปลงไปในทุกปี เกิดเป็นความงามของภูมิทัศน์ที่ไม่มีที่สิ้นสุดและสร้างความประหลาดใจให้เราในทุกครั้งที่กลับไปเยี่ยมชม

 รางวัลสูงสุดคือการปลูกป่าในใจคน

“ที่ภูมิใจคือเรามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาโลกร้อน ซึ่งเป็นปัญหาของส่วนรวม ตอนที่เรียนไม่เคยคิดว่าวิชาชีพที่ผมทำจะมีส่วนในการช่วยแก้ปัญหานี้ได้บ้าง ยิ่งเราปลูกได้เยอะ ต้นไม้ก็จะช่วยดูดซับคาร์บอนได้เยอะ ยิ่งมีโครงการประเภทนี้เยอะๆเราก็จะปลูกป่าได้เยอะตามไปด้วย”
คุณธวัชชัยทิ้งท้ายถึงงานออกแบบภูมิทัศน์ในปัจจุบันที่เริ่มหันมาทำความเข้าใจกับธรรมชาติพื้นถิ่นเดิมมากขึ้นว่“คนเริ่มคิดว่าทำอย่างนี้สวนก็สวยได้ เมื่อก่อนอาจรู้สึกว่าการมีป่าเท่ากับรก ไม่ค่อยสวย และปัญหาของโลกปัจจุบันทำให้คนหันกลับมามองว่าเราแต่ละคนจะสามารถช่วยอะไรโลกได้บ้าง แหล่งเก็บสะสมคาร์บอนที่ดีที่สุดก็คือต้นไม้ใหญ่ คนอยากจะช่วยสภาพแวดล้อมก็จะเป็นไอเดียที่กำลังเป็นกระแสใหม่ เราเริ่มเบื่อหน่ายกับสิ่งที่มนุษย์สร้าง และอยากไปอยู่กับธรรมชาติที่ตัวเราเองก็สามารถสร้างได้”

ภาพงานออกแบบพื้นที่ส่วนกลางของโครงการหมู่บ้านจัดสรรมัลเบอร์รี่ โกรฟ  เดอะฟอเรสเทียส์ วิลล่าที่กำลังก่อสร้างอยู่ ออกแบบให้สร้างระบบนิเวศป่าในเมืองขึ้นโดยยังเน้นความสวยงามและการทำกิจกรรมของผู้อยู่อาศัยที่แทรกอยู่ด้วยกันอย่างลงตัว

เรื่อง : ปัญชัช
ภาพ : รุ่งกิจ เจริญวัฒน์ และ อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม

Jungle Book โครงการป่าในกรุง

สวนป่ากลางเมืองในโครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้

มรดกสีเขียวแห่งเมืองไซ่ง่อน