เกร็ดจากเวทีเสวนา Designer Panel ในหัวข้อ Sustainability Design Cycle ออกแบบอย่างไรให้ยั่งยืน ยั่งยืนอย่างไรให้เป็นจริง ส่วนหนึ่งของงาน TSX ณ สามย่านมิตรทาวน์
หนึ่งในความท้าทายที่สุดของแนวคิดความยั่งยืน คือทำอย่างไรให้ลงมือทำและขับเคลื่อนสังคมได้จริง กิจกรรมเสวนาภายใต้หัวข้อ “Sustainability Design Cycle ออกแบบอย่างไรให้ยั่งยืน ยั่งยืนอย่างไรให้เป็นจริง” ในงาน Thailand Sustainability Expo 2020 ( TSX ) จึงชักชวน 4 นักออกแบบ และ 1 สื่อด้านการออกแบบมาร่วมแสดงความคิดเห็น ซึ่งหลายท่านไม่ได้เริ่มต้นงานออกแบบที่ปลายทางเท่านั้น แต่ยังคิดวิเคราะห์เพื่อมุ่งเข้าไปปรับกระบวนการทำงานตั้งแต่ต้นทาง จนขับเคลื่อนสู่ตลาดและสังคมได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม
ใครพลาดไม่ได้มาร่วมฟังเสวนาในหัวข้อ Sustainability Design Cycle ในงานนี้ นี่คือบทสรุปข้อคิดและแนวทางที่ประสบความสำเร็จให้นำไปตั้งคำถามและหาคำตอบกับตัวเองต่อไปว่า จะยั่งยืนอย่างไรให้เป็นจริง
“ถ้าความยั่งยืนกลายเป็น passion จึงไม่ควรมีผลิตภัณฑ์ไหนที่ไม่ยั่งยืนอีกแล้ว มันควรเป็นเรื่องปกติของการทำงานและใช้ชีวิตจริง ๆ
“ศักยภาพของภูมิสถาปนิกไม่ใช่เพียงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เมือง แต่เป็นการเชื่อมผู้คนแต่ละส่วนให้มาเจอกัน นี่แหละคือความยั่งยืนในกระบวนการของเรา”
“กรุงเทพฯมีพื้นที่สีเขียวต่ำกว่าเกณฑ์ที่ WHO ตั้งไว้ แต่กลับมีพื้นที่รกร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์มากมายกว่า 120 ตารางกิโลเมตร ผู้คนต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแม้ว่าจะอยู่ที่ไหนจะตาม ทั้งคอนโดสมัยใหม่ อาคารพาณิชย์ที่ขาดพื้นที่สีเขียว หรือห้องเช่าขนาดเล็กซึ่งขาดพื้นที่สันทนาการ จึงมีแนวคิดเชื่อมโยงความร่วมมือเพื่อให้เกิดเป็นผลลัพธ์จริงจึงเกิดขึ้นเพื่อทุกๆ คน”
“เรามีความคิดเริ่มต้นว่า เราเป็นภูมิสถาปนิกจะทำอะไรเพื่อช่วยแก้ปัญหาของเมืองได้บ้าง ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราพบว่าทุกคนผจญปัญหาร่วมกันทั้งมลภาวะ ขาดพื้นที่สีเขียว แต่ต่างคนต่างแก้ไข ไม่มีการเชื่อมโยงกัน ทำให้ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขที่ดี We!Park จึงเกิดขึ้นเพื่อช่วยเชื่อมโยงภาคส่วนต่างๆ ให้เกิดความร่วมมือ เราสนใจในพื้นที่รกร้างที่มีมากมายในเมือง นำมาพัฒนาเป็น Pocket park เช่น การพัฒนาพื้นที่ใค้ทางด่วนเป็นสวนสาธารณะ ซึ่งเป็นความร่วมมือจากภาครัฐที่เป็นเจ้าของที่ดิน นักลงทุน คนในชุมชน และนักออกแบบ”
“กระบวนการออกแบบที่ดีจะนำไปสู่ความยั่งยืนได้ อย่างการออกแบบสวนสาธารณะที่ทำร่วมกับคนในชุมชน ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม ซึ่งเมื่อชุมชนรู้สึกเป็นเจ้าของด้วย ผลสุดท้ายทุกคนก็จะช่วยกันดูแลเอง”
“ความยั่งยืนไม่ใช่เพียงเรื่องวัสดุเท่านั้น แต่ต้องให้ความสำคัญกับการปลูกป่า คนในชุมชน และการออกแบบที่ดีด้วย”
เมื่อเริ่มคิดว่าทำอย่างไรให้ตัดไม้ไม่เท่ากับทำลายป่าอีกต่อไป คุณศุภพงศ์ สอนสังข์ นักออกแบบมืออาชีพที่เคยไปแสดงงานยังต่างประเทศ และออกแบบคอลเล็กชั่นขายดีให้กับแบรนด์ไทย กลับมาตกผลึกความคิดและลงลึกถึงต้นทางของวัสดุอย่างไม้ที่นำมาใช้งาน
“เพราะอาชีพนักออกแบบผลิตภัณฑ์ในเมืองไทยนั้นอยู่รอดยาก และมักต้องออเดอร์เป็นส่วนใหญ่ เราจึงอยากหาความยั่งยืนจากแก่นของงานและความถนัดของเรา จึงกลับไปเริ่มจากจุดเริ่มต้น คือการปลูกป่าซึ่งต้องใช้ระยะเวลา 25 ปี จึงจะได้ไม้ที่มีคุณภาพสูงมาใช้ โดยระหว่างนั้นจึงใช้ไม้เก่าจากชุมชุนใกล้บ้าน และสร้างช่างฝีมือจากคนในชุมชุม ร่วมกับการออกแบบที่ไม่ยากเกินไป แต่มีเทคนิคการประกอบเพื่อให้ได้คุณภาพดี “
“การใช้ไม้เป็นหนึ่งในวิถีที่ยั่งยืน เพราะไม้เป็นวัสดุชนิดเดียวที่มนุษย์ผลิตได้เองในธรรมชาติ เมื่อต้นไ้ม้ล้มตายจะทำให้ต้นอ่อนมีโอกาสเติบโตขึ้น ซึ่งการตัดที่เรียกได้ว่าทำลายป่า คือ การตัดทีเดียวเกลี้ยงเลย แต่ถ้าตัดอย่างรู้จักธรรมชาติต้นไม้แต่ละชนิด และวางแผนหมุนเวียนก็จะทำให้มีต้นไม้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”
“เรื่องคนก็เป็นหนึ่งในความยั่งยืน เราตั้งใจสร้างคนในชุมชน ปั้นคน โดยวิธีการออกแบบของเราคือ ออกแบบให้ง่ายขึ้น ทำให้คนเข้ามามีส่วนร่วมจริงๆ มิฉะนั้นชุมชนจะกลับไปทำสงครามด้านราคากัน เมื่อแข่งกันลดราคา ก็จะกลับไปสู่จุดเดิมที่ใช้ทรัพยากรอย่างไม่รู้คุณค่า ธุรกิจที่เราทำจะเติบโตแบบแปลก ๆ ไม่ใช่การขยายกิจการ แต่เมื่อเติบโตจะเป็นการเพิ่มที่ดินเพื่อใช้ในการปลูกป่าเพิ่มขึ้น”
“เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเทรนด์โลก ไม่มีเทรนด์อะไรที่ดีไปกว่านี้แล้ว เราจึงต้องตระหนักถึงสิ่งที่เรากำลังทำ เพราะถ้าโลกไม่น่าอยู่ การมีชีวิตยืนอยู่บนโลกก็อาจไร้ความหมาย”
“ในทุกวินาทีจะมีขยะเพิ่มจากบรรจุภัณฑ์อย่างมหาศาล บรรจุภัณฑ์จึงถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายมาโดยตลอด แต่ที่จริงแล้วการออกแบบบรรจุภัณฑ์ไม่ใช่เพียงเพื่อความสวยงามที่ใช้แล้วทิ้งเท่านั้น แต่มันมีหน้าที่รักษาคุณภาพสินค้าเพื่อส่งให้ถึงมือผู้บริโภค ฉะนั้นเมื่อเราทิ้งบรรจุภัณฑ์จึงเป็นเหมือนการทิ้งวัสดุที่ยังมีคุณภาพดี เราควรจะต้องทิ้งเพราะมันหมดหน้าที่ของมันเท่านั้น”
“จากประสบการณ์ที่ผ่านมาในการประกวด จะมีหัวข้อด้านการออกแบบเพื่อความยั่งยืนซึ่งเป็นทั้งการส่งเสริมการออกแบบ และผลักดันให้เกิดกระบวนการสู่ความยั่งยืน อย่างงานบรรจุภัณฑ์ข้าว Sangdao rise ที่ได้รางวัล เป็นการนำแกลบเหลือทิ้งจากโรงสีมาขึ้นรูปเป็นบรรจุภัณฑ์”
“เป็นการนำแกลบซึ่งเป็นเปลือกข้าวกลับมาห่อหุ้มผลิตภัณฑ์ข้าวอีกครั้ง และเมื่อใช้เสร็จก็สามารถทำเป็นกล่องกระดาษทิชชู่ได้ ซึ่งจะเห็นว่าการออกแบบที่มีประสิทธิภาพหนึ่งอย่างจะส่งผลต่อทั้งกระบวนการผลิต การใช้นำไปใช้งาน และการกำจัดขยะ ซึ่งนำไปสู่ความยั่งยืนได้อีกทางหนึ่ง”
“เราไม่ได้เริ่มต้นจากแนวคิดความยั่งยืนทั้งหมด เราคิดเพียงว่าต้องการเอาชนะวัสดุ ทำวัสดุให้ใช้ได้หลายอย่างและคุ้มค่าในตัวมันเองเป็นผลิตภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้ขายได้ในตลาดจริง”
“แนวคิดของผลิตภัณฑ์คือช่วยลดขยะให้กับโลกกลายมาเป็นกระเป๋าจากยางรถยนต์สุดเท่ ที่ขายได้จริงทั้งในและต่างประเทศ ทำอย่างไรให้สินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมอยู่ในตลาดจริง และต่อยอดไปสู่สินค้าอื่นๆ ได้อย่างหลากหลาย และยังคงมีความสร้างสรรค์ในผลงานอยู่ตลอดเวลา”
.
“Rubber Killer ก่อตั้งมาร่วม 10 ปีมาแล้ว ช่วงเริ่มต้นผมไม่ได้รู้จักเรื่องความยั่งยืนเท่าไร แต่เราเป็นสถาปนิกจึงชอบคิดในเรื่องวัสดุ เริ่มจากทำกระดาษจากต้นกล้วย เพราะเห็นต้นกล้วยตายแล้วเสียดายจึงนำมาทำเป็นกระดาษ เป็นความบังเอิญนำมาที่ต่อยอดและขายได้ และเมื่อเห็นยางในรถจักรยานก็คิดสนุกๆ นำมาเย็บเป็นสันสมุด และต่อยอดมาเป็นธุรกิจในปัจจุบัน”
.
“เราใช้ยางในรถมากว่าห้าหมื่นเส้นแล้ว เป็นการเพิ่มอีกชีวิตให้วัสดุ และสร้างวิถีชีวิตให้ชุมชน ด้วยการผลิตจากคนในชุมชนที่เชียงใหม่ซึ่งเป็นคราฟต์คอมมูนิตี้ที่เข้มแข็ง เราคิดว่าความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ต้องสมดุลทั้งแนวคิดและรายได้ที่ต้องใช้ในชีวิตจริง”
เรื่อง: ศรายุทธ ทิพย์อาศน์
ภาพ: อภิรักษ์ สุขสัย