ซ่อมไมโครเวฟ ไม่ร้อนไม่หมุน แก้ไขอย่างไร
ไมโครเวฟเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่ทุกครัวเรือนต้องมีติดบ้าน แต่วันดีคืนดีกลับพบว่าอุ่นอาหารแล้วไม่ร้อน ทั้งๆ ที่มีไฟโชว์ในห้องอบปกติ หรืออาการหนักกว่านั้นไมโครเวฟเจ้ากรรมหยุดการทำงานไปเฉยๆ เลยก็มี ถ้าเราใช้ไมโครเวฟมานานหลายปี การตัดสินใจซื้อเครื่องใหม่คงไม่ใช่ปัญหา แต่ถ้าใช้งานเกินระยะเวลารับประกันมาเพียงไม่กี่วัน คงเจ็บใจตัวเองไม่ใช่น้อย ดังนั้นการ ซ่อมไมโครเวฟ ให้กลับมาใช้งานได้ดีดังเดิม น่าจะเป็นอีกทางเลือกที่เหมาะกับภาวะเศรษฐกิจแบบนี้
ซ่อมไมโครเวฟ ไม่ร้อนไม่หมุน ไม่ยากอย่างที่คิด อยากรู้ว่าทำอย่างไร ตามไปดูกันได้เลย
รู้จักอุปกรณ์สำคัญในไมโครเวฟ
+ฟิวส์ (Fuse) อุปกรณ์ป้องกันไฟเกิน โดยฟิวส์จะเป็นเส้นลวดเล็กๆ ทำจากตะกั่วผสมดีบุก โดยจะหลอมละลาย เพื่อตัดกระแสไฟออกจากวงจร ป้องกันไมโครเวฟและอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆได้รับความเสียหาย
+คาปาซิเตอร์ (Capacitor) หรือ C ตัวเก็บประจุไฟฟ้า ทำหน้าที่เก็บสะสมพลังงานในรูปสนามไฟฟ้า
+แมคนิตรอน (Magnetron) หรือตัวสร้างคลื่นไมโครเวฟ ซึ่งจะปล่อยออกมาที่ช่องว่างภายในเตาที่มีผนังเป็นโลหะ คลื่นไมโครเวฟจะสะท้อนไปมาอยู่ภายในเตาและถูกดูดกลืนโดยอาหารหรือเครื่องดึ่มที่เราใส่เข้าไป
ซ่อมไมโครเวฟ ไม่ทำงาน ไม่หมุน
สาเหตุหนึ่งเกิดจากห้องอบไมโครเวฟสกปรกจากการอุ่นหรือประกอบอาหาร ทำให้การกระจายคลื่นไมโครเวฟไม่สะดวก การสะท้อนคลื่นอยู่ที่เดิมๆเป็นเวลานาน ทำให้เกิดความร้อนสูง หัวเวฟหรือแมคนิตรอนทำงานหนักและไหม้ได้ ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจ ถ้าวันหนึ่งวันใดเกิดการชอร์ตขึ้นมากะทันหัน โดยที่เราไม่ทันตั้งตัว มาดูขั้นตอนการซ่อมไมโครเวฟกัน
1.ถอดปลั๊กไฟ
2.ถอดฝาครอบตัวเครื่อง
3.สังเกตสิ่งผิดปกติ เช่น มีรอยไหม้ ฟิวส์ขาด ฯลฯ
4.ใช้มัลติมิเตอร์เช็คฟิวส์ (Fuse) ถ้าพบว่าฟิวส์ขาด ให้เปลี่ยนใหม่
5.เช็คแผ่นไมก้า (Mica) หากสกปรก มีรอยไหม้หรือฉีกขาด ให้เปลี่ยนใหม่
ซ่อมไมโครเวฟ ไม่ร้อน
ทั้งๆที่เราสั่งหรือกดโปรแกรมได้และมีไฟขึ้นโชว์ในห้องอบปกติ จากประสบการณ์อาการแบบนี้ให้มุ่งไปที่ฟิวส์และแมคนิตรอนหรือตัวปล่อยคลื่นไมโครเวฟก่อนเลย ถ้าตรวจเช็คแล้วพบว่าฟิวส์ขาดหรือแมคนิตรอนเสีย ให้ถอดอุปกรณ์ทึ่ชำรุดออกมาเป็นตัวอย่าง และซื้อของใหม่มาเปลี่ยนแทน พร้อมประกอบเข้าที่ให้เรียบร้อย มาดูขั้นตอนการซ่อมไมโครเวฟกัน
1.ถอดปลั๊กไฟ
2.เช็คฟิวส์ (Fuse)
3.เช็คคาปาซิเตอร์ (Capacitor) หรือ C
4.เช็คแมคนิตรอน (Magnetron)
5.ทดสอบการใช้งาน และประกอบเข้าที่ให้เรียบร้อย
วิธีเช็คฟิวส์+คาปาซิเตอร์+แมคนิตรอน
+เช็คฟิวส์ (Fuse) ใช้มัลติมิเตอร์วัดขั้วทั้งสองขั้วของฟิวส์แล้วสลับสายกัน ถ้าเข็มขึ้นแสดงว่าฟิวส์ใช้งานได้ แต่ถ้าเข็มไม่ขึ้นแสดงว่าฟิวส์ขาด
+เช็คคาปาซิเตอร์ (Capacitor) ตั้งมัลติมิเตอร์ไปที่ X10K วัดระหว่างขั้วทั้งสอง เข็มต้องดีดขึ้น แล้วลงอย่างช้าๆ แต่ถ้าเข็มดีดขึ้นแล้วค้าง หรือเข็มไม่ขึ้น แสดงว่าอาจจะช็อตหรือขาด
หมายเหตุ : แต่ก่อนตรวจสอบคาปาซิเตอร์ ให้เอาขั้วมาช็อตกันเพื่อคลายประจุก่อน โดยใช้ไขควงวัดไฟจิ้มระหว่างขั้วเพื่อให้คลายประจุ เพื่อลดความเสี่ยงจากการที่มือของเราอาจไปสัมผัสขั้วทั้งสองข้างโดยไม่ตั้งใจ
+เช็คแมคนิตรอน (Magnetron) ใช้มัลติมิเตอร์วัดที่ขั้วกับตัวถัง ความต้านทานต้องไม่ขึ้น หรือได้ค่าต่ำมากๆ แสดงว่าปกติ แต่ถ้าวัดแล้วมีความต้านทานสูงแสดงว่าเสื่อมสภาพหรือเสียต้องเปลี่ยนใหม่
ซ่อมเองหรือซื้อใหม่ แบบไหนคุ้มกว่ากัน
ซ่อมเอง : การซ่อมไมโครเวฟเองเหมาะกับผู้ที่มีความรู้พื้นฐานทางด้านไฟฟ้าอยู่บ้าง สามารถหาอะไหล่ได้ง่ายในราคาไม่แพง
ซื้อใหม่ : หากเครื่องมีอายุมากกว่า 10 ปี และถ้าค่าใช้จ่ายในการซ่อมมากกว่า 40-50 เปอร์เซนต์ของราคาเครื่อง ควรซื้อใหม่
เรื่อง : พจน์ ผลิตภัณฑ์
ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม
ภาพประกอบ : เอกรินทร์ พันธุนิล
ติดตามความรู้สำหรับคนรักบ้านได้ที่ https://www.facebook.com/baanlaesuanmag