เมื่อในบ้านที่เคยปลูกต้นไม้ตกแต่งตามแบบที่ชอบไม่ใช่พื้นที่ที่ปลอดภัย เพราะลูกๆ ตัวแสบที่อยู่ในวัยกำลังซนทั้ง 2 คนกลายเป็นศัตรูพืชชั้นดี ทั้งจับฉีกไม้ใบเพราะความอยากรู้ และจัดแจงเล่นกับต้นไม้เสมือนเพื่อนคนนึง แผนการอพยพไม้ใบกระถางมาอยู่ในโรงเรือนนอกบ้านจึงเริ่มขึ้นในงบที่จำกัดไม่ถึง 1 แสนบาท และเจ้าของโรงเรือนแห่งนี้ได้ลงมือทำเองในทุกๆ ขั้นตอน โรงเรือนข้างบ้าน
คุณโม วนาลีและคุณฮิม หิมาลัย ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา สองสามีภรรยาเจ้าของ โรงเรือนข้างบ้าน ขนาดเล็กหลังนี้เล่าให้เราฟังว่าตั้งใจจะสร้างโรงเรือนข้างบ้านไว้ตั้งแต่แรกซื้อบ้าน ด้วยไลฟ์สไตล์ส่วนตัวที่ชอบปลูกต้นไม้เป็นทุนเดิมแต่จริงจังมากขึ้นในช่วง Lock Down จนขยายเป็นธุระกิจเล็กๆ จำหน่าย “แจกันมงคลชำต้นไม้ในน้ำ” ซึ่งต้องมีพื้นที่จัดเก็บสินค้า และที่สำคัญคือน้องฮิลและน้องเลห์ ลูกๆ ตัวป่วนของทั้งคู่ที่ชอบเล่นกับต้นไม้ที่ปลูกในบ้านที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นศัตรูพืชตัวแสบ ทั้งคู่จึงเริ่มสร้างพื้นที่ให้ต้นไม้ได้อยู่เป็นหลักแหล่ง เป็นโรงเรือนกลาสเฮ้าส์ขนาดเล็กข้างบ้านจัดสรร โดยใช้พื้นที่ส่วนนี้เป็นห้องทำงานได้ด้วยและวางแผนขยายเป็นคาเฟ่ขนาดเล็กในชื่อ LSD CAFÉ
โจทย์ในการสร้าง โรงเรือนข้างบ้าน มีงบประมาณเป็นข้อจำกัด คุณโมและคุณฮิมเลือกช่างผู้รับเหมาอยู่หลายเจ้าเพื่อให้ราคาที่ไม่เกินกำหนดไว้แต่ก็ไม่สำเร็จ นั่นจึงเป็นเหตุผลให้คุณฮิมต้องลงมือสร้างโรงเรือนแห่งนี้ด้วยตัวเองโดยมีช่างที่รู้จักเป็นคู่หู ทุกขั้นตอนตั้งแต่ออกแบบโรงเรือน เลือกซื้อขนย้ายวัสดุ ปรับหน้าดิน ทำโครงสร้างเหล็ก ติดตั้งแผ่นกระจก ปูพื้น ก่ออิฐ ฯลฯ ล้วนแต่ผ่านมือของคุณฮิมมาทั้งสิ้น ทำให้โรงเรือนในงบ 80,000 บาทออกมาสำเร็จผล ใช้งานได้จริง
ตัวโรงเรือนกว้าง 2 เมตร ยาม 4.5 เมตร สูง 3 เมตร ประกอบด้วยวัสดุที่หาได้ง่ายแต่ใช้งานได้จริง โดยเลือกใช้โครงสร้างเหล็ก ผนังเป็นกระจกเขียวช่วยกันความร้อน ส่วนหลังคามุงด้วยแผ่นโพลีลักซ์ที่มีนำหนักเบาแต่ความแข็งแรงเทียบเท่ากระจก ทั้ง 2 ส่วนรวมแล้วใช้งบประมาณ 30,000 บาท ส่วนงานโครงสร้างเหล็ก วัสดุปูพื้นที่แผ่นคอนกรีตสำเร็จรูปโรยก้อนกรวดตกแต่ง และค่าแรงช่าง ค่าวัสดุอื่นๆ ประมาณ 50,000 บาท โรงเรือนในงบไม่ถึงหนึ่งแสนจึงเกิดขึ้นได้ ส่วนของตกแต่งอื่นๆ และต้นไม้ เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วเพียงแต่เลือกวางตกแต่งให้ลงตัวก็เสริมให้โรงเรือนน่าอยู่ขึ้น
“อีกหนึ่งความตั้งใจในการสร้างโรงเรือนคืออยากใช้พื้นที่เป็นห้องทำงานด้วย ก็เลยคิดว่าจะทำอย่างไรให้อยู่ได้จริงเพราะเราก็พอจะเดาได้ว่าอากาศบ้านเรามันร้อนไม่เหมือนยุโรปที่จะอยู่ในกลาสเฮ้าส์ได้เป็นวันๆ เลยตัดสินใจติดแอร์ไปเลย เราก็จะเปิดแอร์เฉพาะในช่วงตอนเย็นที่มาใช้โรงเรือน นั่งทำงาน หรือปาร์ตี้กับเพื่อนบ้าน ส่วนเวลากลางวันก็จะปล่อยไว้ตามปกติ ถ้าวันไหนอากาศร้อนมากก็เปิดประตูระบายอากาศไม่ให้โรงเรือนอบร้อนเกินไป” คุณโมเล่า
คุณโมเล่าต่ออีกว่า ต้นไม้ที่เธอปลูกในโรงเรือนนั้น เป็นต้นไม้ราคาไม่แพงมีทั้งไม้สำหรับจำหน่ายคู่กับแจกันของเธอที่จะเป็นไม้มงคล มีสตอรี่หรือเรียกว่าเป็นต้นไม้สายมูก็ไม่ผิดนักซึ่งมันก็สอดคล้องกับคอนเซ็ปต์ของแจกันชำน้ำของเธอที่ผสานศาสตร์แห่งฮวงจุ้ยและหินมงคลเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ต้นออมเงิน ออมนาค บันไดเศรษฐี ฟิโลเดนดรอนทอง อีกส่วนคือไม้ปลูกตามความชอบและเป็นไม้กึ่งเลื้อยอย่างเช่นพลูฉลุ พลูด่าง พลูปีกนก พลูบราซิล พลูอิพิ ไอวี่ รวมทั้งไม้ใบในกระแสอย่างฟิโลเดนดรอนแบล็กคาดินัล ฟิโลเดนดรอนพิ๊งค์ปริ้นเซส บอนสี พญาไร้ใบ เป็นต้น
หัวใจสำคัญของการดูแลต้นไม้ในกลาสเฮ้าส์ในสภาพแวดล้อมที่มีอากาศร้อนชื้นอย่างเมืองไทยคือการรดน้ำ ซึ่งคุณฮิมจะให้ความสำคัญกับตรงนี้มากๆ โดยปกติจะรดน้ำวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ทุกวัน แต่ถ้าวันไหนอากาศร้อนมากๆ จะเพิ่มช่วงกลางวันเข้ามาด้วยแต่ในขณะที่รดน้ำจะเปิดกลาสเฮ้าส์ระบายอากาศในโรงเรือนไม่ให้เกิดอากาศร้อนอบชื้น ในเรื่องของการดูแลอื่นๆ ไม่ได้มีอะไรพิเศษอย่างการใส่ปุ๋ย เปลี่ยนดินในกระถาง
ด้วยขนาดพื้นที่ที่มีจำกัด สิ่งหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือเพื่อนบ้าน คุณโมเล่าว่าแม้ว่าเพื่อนบ้านของเธอจะสนิทจนเป็นเพื่อนกัน มาร่วมสังสรรค์ปาร์ตี้กันเสมอ และมีรสนิยมชื่นชอบต้นไม้เหมือนกัน แต่การออกแบบโรงเรือนข้างบ้านที่เกือบชิดรั้วก็ไม่ได้ละเลยปล่อยให้เกิดการรบกวนใดๆ อย่างติดรางน้ำฝนป้องกันไม่ให้น้ำฝนไหลข้ามรั้วไปรบกวนอีกฝั่ง ส่วนต้นไม้ทรงสูงหลายๆ ต้นก็ไม่ต้องซีเรียสว่ากิ่งจะโน้มไปรบกวนเพื่อนบ้านหรือเพื่อนบ้านจะปลูกแล้วมารบกวนเรา เหมือนแบ่งร่มเงาให้กันและกันมากกว่า
ข้อดีของการสร้างโรงเรือนให้ต้นไม้อยู่เฉพาะ ช่วยลดปัญหาหลายอย่างให้ทั้งคู่ ได้ที่อยู่ให้ต้นไม้ที่รัก ป้องกันไม่ให้ใบฉีกขาดเพราะฝีมือเด็กๆ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นผลพลอยได้คือตัวต้นไม้เองที่โตวันโตขึ้นเพราะตำแหน่งที่วางกระถางมีแสงสว่างส่องถึงตลอด การดูแลรดน้ำก็ทำได้เต็มที่ และยังใช้ประโยชน์จากพื้นที่ตรงนี้เป็นมุมทำงานและคาเฟ่ได้อีกด้วย
เรื่อง JOMM YB
ภาพ อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม