บ้านโมเดิร์นทรงกล่อง ของพี่น้องที่แชร์คอร์ตร่วมกัน - บ้านและสวน

บ้านโมเดิร์นทรงกล่อง ของพี่น้องที่แชร์คอร์ตเพื่อขยายความสุข

บ้านโมเดิร์นทรงกล่อง สองหลังของพี่น้องที่ออกแบบให้แชร์พื้นที่คอร์ตเพื่อใช้งานร่วมกัน เป็นบ้านพักผ่อนสำหรับให้ทุกคนในครอบครัวได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง ออกแบบสเปซภายนอกและภายในต่อเนื่องสัมพันธ์กัน มีพื้นที่โล่งและการเว้นระยะห่างที่พอดีเพื่อสอดแทรกธรรมชาติ เกิดเป็นสเปซให้ความสัมพันธ์ของครอบครัวได้ก่อบทสนทนาระหว่างกัน

DESIGNER DIRECTORY: สถาปัตยกรรม : GREYSPACE Co.,Ltd. โดยคุณอัศจร์กร ธันยเกียรติ์ คุณพิชัย กาวิแหง คุณธีรสิทธิ์ ป้องจีนาเพศ  โทรศัพท์ 0-2007-5856  บ้านโมเดิร์นทรงกล่อง

ตกแต่งภายในและภูมิสถาปัตยกรรม: Phiil design studio co., ltd.  โทรศัพท์ 08-1929-2979

เจ้าของ : ครอบครัวธันยเกียรติ์

บ้านโมเดิร์นทรงกล่อง
บ้านโมเดิร์นทรงกล่อง สองหลังที่ออกแบบเป็นบ้านคู่กัน ทำพื้นผิวผนังอาคารด้วยสีเท็กเจอร์ซึ่งมีมิติในตัวเอง สีที่เห็นในแต่ละช่วงเวลาก็จะมีความเข้มอ่อนต่างกัน ตามองศาของแสงที่ทำให้การเกิดเงาบนพื้นผิวที่ไม่เรียบ
ออกแบบพื้นที่ระหว่างบ้านและรั้วที่มีลักษณะแคบยาวให้กลายเป็นสวนโรยกรวดที่มีกลิ่นอายสวนญี่ปุ่น โดยทำพื้นเฉลียงให้มีระดับพอดีกับการนั่งห้อยขา อีกฟังก์ชันของสวนกรวดคือเป็นการพรางฝาบ่อพักน้ำรอบบ้าน

เมื่อความทรงจำวัยเยาว์หวนคืนมาให้คิดถึงการได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตา วิ่งเล่นหยอกล้อกันอย่างสนิทสนม แต่เมื่อทุกคนต่างเติบโตและแยกไปมีครอบครัวของตัวเอง พร้อมกับเก็บความทรงจำสีจางไว้ในลิ้นชักที่รอการเปิดอีกครั้ง ครั้นเมื่อความคิดถึงเร่งเร้า สามพี่น้องของ ครอบครัวธันยเกียรติ์ จึงร่วมกันคิดและตกลงกันสร้างบ้านหลังใหม่ในย่านพระรามที่ 2 ซึ่งทุกคนสามารถเดินทางมาได้สะดวก เพื่อกลับมารวมตัวกันเหมือนครั้งวัยเยาว์ แต่อยู่ในสถานะใหม่ที่เป็นพ่อแม่และปู่ย่าตายายที่มีหลานๆ วิ่งเล่นหยอกล้อกัน เสมือนเป็นภาพสะท้อนย้ำความทรงจำสีจางให้ปรากฏชัดขึ้น

บ้านโมเดิร์นทรงกล่อง

คุณจิ๋วอัศจร์กร ธันยเกียรติ์ สถาปนิกแห่ง GREYSPACE Co.,Ltd. และคุณต่ายสาธิมน พงษ์วัฒนาสุข ภูมิสถาปนิกและมัณฑนากรแห่ง Phiil design studio co., ltd. คู่ชีวิตที่เป็นทั้งผู้ออกแบบและหนึ่งในเจ้าของบ้าน เล่าถึงความเป็นมาว่า “การสร้างบ้านนี้เกิดจากครอบครัวเราอยากให้พี่น้องและคุณพ่อคุณแม่ได้กลับมาอยู่รวมกันอีกครั้ง จึงอยากมีแฟมิลี่เฮ้าส์ที่เรากลับจะมาใช้เวลาร่วมกัน เหมือนการได้มาเที่ยว เป็นการกลับมาอยู่รวมกันแบบลำลองในสเปซที่มีความยืดหยุ่น”

บ้านโมเดิร์นทรงกล่อง
ออกแบบเฉลียงกว้างให้เป็นทางเดินที่ต่อเนื่องระหว่างบ้านทั้งสองหลัง และเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกันซึ่งเพียงเปิดประตูบานเลื่อน พื้นที่สวนก็กลายเป็นส่วนเดียวกับห้องนั่งเล่น
บ้านหลังนี้เป็นส่วนของครอบครัวคุณจิ๋ว-คุณต่าย มีการทำฝ้าเพดานและประตูให้สูง 3 เมตร นอกจากเพื่อความโปร่งแล้ว ยังเป็นการกำหนดมุมมองให้สามารถมองเห็นส่วนที่สวยของต้นหลิวได้ ซึ่งหากทำฝ้าเพดานและประตูเตี้ยจะเหมือนภาพที่ถูกตัดกรอบทำให้รู้สึกแคบ

 

บ้านโมเดิร์นทรงกล่อง สามชั้นสีเทาเข้มสองหลังออกแบบให้ไล่ระดับ โดยแต่ละหลังวางแปลนเป็นรูปตัวแอล (L) แต่เมื่อวางสองหลังต่อกันแบบมิลเลอร์จะกลายเป็นแปลนรูปตัวยู (U) เกิดเป็นคอร์ตที่ใหญ่ขึ้น เป็นการออกแบบเพื่อแชร์ทั้งพื้นที่ ฟังก์ชัน ทัศนียภาพ และความสุข “ในการมาอยู่ร่วมกัน ทุกคนก็ยังต้องการพื้นที่ส่วนตัว บางคนพร้อมอยู่ด้วยกันได้ตลอดเวลา บางคนมาร่วมวงกันได้บางช่วง จึงต้องออกแบบพื้นที่ให้มีความยืดหยุ่น ให้ทุกคนมีความสงบสุข ด้วยโจทย์แบบนี้จึงไม่เหมาะกับการทำบ้านหลังเดี่ยว แต่เหมาะกับการทำเป็นกลุ่มบ้าน ซึ่งในพื้นที่ 160 ตารางวาที่แบ่งเป็น 2 แปลง แปลงละ 80 ตารางวาง จึงกลายเป็นบ้านสองหลังที่เชื่อมกันด้วยระเบียงและคอร์ต แม้จะเป็นพื้นที่ไม่ใหญ่แต่เราพยายามสอดแทรกธรรมชาติเข้าไปให้มีทั้งน้ำ สวน และต้นไม้ใหญ่ โดยออกแบบรั้วให้เสมือนเป็นผนังห้องที่โอบล้อมสวนให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของภายในบ้าน”

บ้านโมเดิร์นทรงกล่อง
บ้านอีกหลังของครอบครัวน้องชายคุณจิ๋ว โดยเว้นพื้นที่ระหว่างบ้านสองหลังให้เป็นที่ว่างตามเส้นแบ่งเขตที่ดิน เผื่อการปรับเปลี่ยนในอนาคต

คุณจิ๋ว สถาปนิก เล่าถึงการออกแบบบ้านว่า “เนื่องจากเป็นที่ดินหน้ากว้าง แต่ค่อนข้างตื้น และแนวหน้ากว้างนั้นเป็นทิศที่ขวางลม ซึ่งสอดคล้องกับการออกแบบอย่างพึ่งพาธรรมชาติ (Passive Design)  หน้าบ้านหันทิศตะวันตกเฉียงเหนือก็ทำชายคายื่นยาว ห้องหลักๆ มีช่องเปิดสองด้านให้ลมผ่านได้ในแนวนอน และมีช่องระบายอากาศที่โถงบันไดให้อากาศไหลเวียนในแนวตั้ง เน้นการออกแบบให้เจ้าของบ้านดูแลบ้านเองได้ ซึ่งการจัดการเรื่องน้ำสำคัญมาก ทั้งการระบายน้ำและการป้องกันน้ำ จึงทำช่องท่อไว้นอกบ้านทั้งหมด หากเกิดการรั่วก็จะรั่วนอกบ้าน กำหนดทิศทางการระบายน้ำให้อยู่หลังบ้านทั้งหมด อีกจุดสำคัญคือ การซ่อมบำรุงหลังคาบ้านในระยะยาว จึงทำระเบียงหรือหลังคาคอนกรีตให้สามารถเดินขึ้นไปดูส่วนที่เป็นหลังคากระเบื้องได้ แม้เราไม่ได้ซ่อมแซมหลังคาเอง แต่จะสามารถมาดูช่างทำงานและตรวจความเรียบร้อยได้ง่าย”

การออกแบบสเปซให้ความสำคัญกับช่องเปิด จึงเลือกกรอบอะลูมิเนียมของประตูก่อน โดยหาความลงตัวของขนาดความหนากรอบ และระยะสูงสุดที่ทำได้โดยไม่ต้องมีเส้นคั่นในกรอบประตู จึงใช้วัสดุได้คุ้มค่าที่สุด ซึ่งบานประตูที่เลือกทำได้สูง 3 เมตร เป็นที่มาของระดับความสูงฝ้าเพดานห้อง
ตกแต่งห้องด้วยโทนสีสว่าง ออกแบบส่วนนั่งเล่น รับประทานอาหารและแพนทรี่แบบเปิดโล่งเพื่อรองรับการทำกิจกรรมที่หลากหลาย
แม้จะเน้นตกแต่งห้องด้วยโทนสีสว่าง แต่ทำมุมแพนทรี่สีดำล้วนเพิ่มดีกรีความเท่ให้มากขึ้น

คุณต่าย ภูมิสถาปนิกและมัณฑนากรเสริมว่า “แม้จะเป็นบ้านที่หน้าตาคล้ายกันมาก แต่ในความเหมือนก็อยากให้มีลักษณะเฉพาะของแต่ละหลัง โดยหลังที่มีสระว่ายน้ำจะปลูกต้นหลิวทั้งหมด เพราะน้ำกับต้นหลิวมีความพลิ้วไหวเข้ากันดี ส่วนอีกหลังเป็นพื้นที่สวนซึ่งควรมีต้นไม้ใหญ่เป็นประธาน โดยเลือกต้นเสี้ยวดอกขาว(เสี้ยวเครือ) แล้วทำสนามหญ้าแบบเรียบง่าย ระเบียงชั้นบนปลูกต้นหมากเม่า (มะเม่า) ที่มีขนาดย่อมกว่าไม้ประธาน เป็นอีกต้นที่ชอบมานานแล้วตั้งแต่ไปเดินที่งานบ้านและสวนแฟร์ และคิดว่าวันหนึ่งมีบ้านเราจะปลูกต้นนี้ ด้วยงานที่เราทำส่วนใหญ่จะเป็นคอนโดมิเนียมในเมืองที่เน้นสร้างศักยภาพในพื้นที่ขนาดเล็ก จึงนำมาใช้กับบ้านนี้ที่แม้ขนาดสวนไม่ใหญ่ แต่ก็ทำให้รู้สึกสดชื่นได้เต็มอิ่ม โดยออกแบบเป็นพื้นที่สวนหลายประเภทให้กลมกลืนกันในพื้นที่เล็กๆ ซึ่งการเลือกพรรณไม้ที่ดีจะทำให้รู้สึกว่าสวนใหญ่ขึ้น เป็นแนวทางการออกแบบสวนของบ้านคนเมืองในอนาคต

โถงทางเข้าบ้านเปิดสูงถึงชั้นบน ทำผนังช่วงบนเป็นกระจกใสให้แสงธรรมชาติส่องผ่านกิ่งใบต้นไม้เข้ามาในบ้าน

“บ้านจะสมบูรณ์เมื่อทั้งสองหลังอยู่ด้วยกันและแชร์พื้นที่คอร์ตกัน โดยคอร์ตหลังหนึ่งเป็นสระว่ายน้ำ และอีกหลังเป็นพื้นที่สวน นอกจากเรื่องการใช้พื้นที่ในปัจจุบัน ยังคิดเผื่ออนาคตที่อาจส่งต่อให้แก่ลูกหลาน หรืออาจแบ่งเพื่อทำประโยชน์อื่นๆ จึงเว้นที่ว่างตรงแนวเขตระหว่างบ้านไว้เพื่อความชัดเจนในกรรมสิทธิ์ ซึ่งเป็นไอเดียของบ้านที่สามารถใช้พื้นที่ร่วมกันได้อย่างสมบูรณ์ แต่ก็สามารถแยกอยู่เป็นหลังเดี่ยวได้อย่างอิสระ” แม้จะแบ่งบ้านเป็นสองหลัง แบ่งคอร์ตเป็นสองส่วน คู่ชีวิตที่แยกกันคิดคนละมิติ เมื่ออยู่ต่างมุมจึงมองต่างทำให้เกิดบทสนทนาที่เชื่อมร้อยทุกความสัมพันธ์เข้าด้วยกัน ทั้งภาพสะท้อนอดีต ห้วงเวลาปัจจุบัน และมิติในอนาคต แต่รวมอยู่ในความสุขเดียวกัน

มุมมองจากทางเดินชั้นบนที่ให้ความรู้สึกว่า ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนของบ้านก็เห็นธรรมชาติได้ทุกมุม

จัดวางโต๊ะรับประทานอาหารให้ต่อกับเคาน์เตอร์แพนทรี่ที่เหมาะสำหรับการทำไปกินไปแบบเป็นกันเอง
ยกสวนเล็กๆ มาไว้ชั้นบน โดยทำเป็นกระบะบนหลังคา เลือกปลูกต้นหมากเม่าฟอร์มสวย ทำให้แม้จะเป็นสวนพื้นที่ไม่ใหญ่ แต่ก็ให้บรรยากาศร่มรื่น
ตกแต่งห้องนอนด้วยโทนสีขาวดำเทาที่ดูเรียบเท่ ทำประตูกระจกบานใหญ่และราวกันตกกระจกนิรภัยที่ทำให้เห็นวิวได้เต็มตา
มุมอาบน้ำที่นอนแช่น้ำชมวิวได้ด้วย โดยทำเป็นผนังกระจกเข้ามุมสูงถึงฝ้าเพดาน มีระแนงบังตาอยู่ภายนอก และสามารถปิดม่านได้เมื่อต้องการความเป็นส่วนตัว
บ้านทั้งหลังคุมด้วยโทนสีขาว เทา ดำ แต่ห้องนอนนี้ทำผนังห้องสีน้ำเงิน เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศให้มีชีวิตชีวามากขึ้น
ระเบียงห้องนอนยื่นยาวทั้งเพื่อออกมาชมวิวมุมสูงและช่วยบังแดดบังฝนให้บ้านซึ่งหันด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
บ้านโมเดิร์นทรงกล่อง
บ้านสองหลังที่เป็นบ้านพีบ้านน้อง เมื่อแชร์คอร์ตรวมกันก็เท่ากับได้ขยายความสุขให้มากขึ้น

—————————————————————————————————————————————–

เรื่อง ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์

ภาพ ฤทธิรงค์ จันทองสุข, Beersingnoi

สไตล์ วรวัฒน์ ตุลยทิพย์

นิตยสารบ้านและสวนฉบับเดือน พฤศจิกายน 2563

อ่านบ้านโมเดิร์นเพิ่มเติม

บ้านโมเดิร์นที่มีระยะ “ระหว่าง” ภายนอกกับภายใน

บ้านโมเดิร์นหลังใหญ่เชื่อมโยงการอยู่ร่วมกัน

ด้วยสวนกลางบ้าน

บ้านทรงกล่องที่สร้างให้มองเห็นกัน

ได้ยินเสียงกัน แม้อยู่กันคนละมุมบ้าน