รวมฮิต 7 ปัญหาที่พบบ่อยในห้องครัว
ขณะที่เราทำอาหารอยู่หน้าเตา หันซ้ายทีหันขวาทีก็ยังหาเครื่องปรุงรสไม่เจอ ทำไมครัวสวยๆ ถึงวางครกตำน้ำพริกไม่ได้ ตู้ในครัวสูงเกินไปหรือเราเตี้ยกว่ามาตรฐาน ถึงหยิบของไม่สะดวก ไปดู 7 ปัญหาในครัว ที่พบบ่อยและไม่ควรพลาดกัน
ปัญหาในครัว เหล่านี้อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยแล้วปล่อยผ่านไป มาดู 7 จุดในครัวที่มักออกแบบพลาด รวมถึงการใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ไม่ตอบสนองกับการใช้งานจริง การแก้ไขปัญหาในครัวเหล่านี้ตั้งแต่แรกจะช่วยให้เราสามารถทำครัวได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น มีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย
1. พื้นที่ระหว่างเคาน์เตอร์แคบ เดินชนกันทุกที
พื้นที่ทางเดินในครัวที่สองคนเดินสวนกันได้ควรกว้างอย่างน้อย 1.20 เมตร เพราะการดึงลิ้นชักและเปิดตู้ต้องใช้พื้นที่มาก โดยเฉพาะครัวที่วางแปลนแบบไอส์แลนด์และช่วยกันทำครัวหลายคน ซึ่งถ้าพอมีพื้นที่ควรทำทางเดินกว้าง 1.60 เมตรไปเลย รองรับการใช้งานที่คล่องตัวยิ่งขึ้น จะยกหม้อหรือหยิบของก็ไม่ชนกัน
2. อย่าดีกว่า ปูหินอ่อนในครัว
หากอยากใช้หินอ่อนปูพื้นหรือทำเคาน์เตอร์ในครัวไทย แนะนำให้คิดใหม่ เพราะเนื้อหินอ่อนโดยธรรมชาติจะมีความพรุน จึงดูดซับน้ำและสิ่งสกปรกมากกว่าหินแกรนิตและกระเบื้องเซรามิก แม้ทาน้ำยากันซึมก็ช่วยได้ไม่นาน ถ้าน้ำแกงหกหรือกระเด็นโดนบ่อยๆ หินสวยๆก็คงเสียโฉม แต่หากรักหินอ่อนจริงๆ แนะนำให้ใช้กระเบื้องลายหินอ่อนจะดีกว่า
3. พลาดแล้ว ตู้สูงเกินไป
เรานิยมทำตู้บิลท์อินติดผนังให้สูงถึงฝ้าเพดานเพื่อให้มีที่เก็บของเยอะๆ แต่เวลาจะหยิบก็เอื้อมไม่ถึง หากเรามีความสูงโดยเฉลี่ย 160-170 เซนติเมตร ควรทำตู้สูงประมาณ 1.35 เมตร จากระดับพื้นห้อง แต่ถ้าความสูงน้อยกว่า 160 เซนติเมตรก็ควรลดความสูงตู้ลงมาเหลือ 1.25 เมตร เพื่อสามารถหยิบของที่วางไว้ชั้นส่วนล่างของตู้ได้สะดวก ส่วนชั้นที่อยู่สูงกว่าก็มีไว้เก็บของที่ใช้ไม่บ่อย หรือหาอุปกรณ์ช่วย เช่น ติดตั้งชั้นตะแกรงที่ดึงลงมาได้ หรือหาเก้าอี้ที่แข็งแรงไว้ใช้งานสักตัว นอกจากใช้นั่งแก้เมื่อยแล้วยังใช้ปีนหยิบของได้อีกด้วย
4. อย่าทำตู้เย็นแบบบิลท์อิน ไว้ใกล้เตาอบ
หลายคนชอบทำทุกอย่างให้เป็นบิลท์อินทั้งเตาอบ ตู้เย็น หรือไมโครเวฟ ดูแล้วสวยงาม แต่อย่าลืมว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่เมื่อใช้งานจะเกิดความร้อน โดยเฉพาะตู้เย็นที่ควรตั้งไว้ในที่เย็นๆ เพื่อให้เครื่องทำงานได้ดี ดังนั้นจึงไม่ควรวางตู้เย็นให้ใกล้อุปกรณ์ที่สร้างความร้อน อีกทั้งอย่าลืมทำช่องระบายอากาศ เพื่อช่วยให้เครื่องทำงานได้ปกติและประหยัดไฟ
5. ไม่แยกเบรกเกอร์ตู้เย็น
บางครั้งที่เรามีธุระหรือไม่อยู่บ้านหลายวัน หากสับคัตเอาต์ลงหรือปลดวงจรเซอร์กิตเบรกเกอร์ทั้งหมด เกรงว่าของในตู้เย็นอาจเสียหายได้ ดังนั้นเราควรแยกวงจรไฟฟ้าสำหรับตู้เย็นโดยเฉพาะออกจากวงจรของตัวบ้าน ทำให้สามารถตัดไฟทั้งบ้านได้โดยที่ตู้เย็นยังทำงานอยู่
6. ลืมหรือเปล่าว่าไม่มีที่วางเครื่องปรุงรส
ขณะที่กำลังประกอบอาหารอยู่หน้าเตา เราต้องอาศัยความไวในการหยิบขวดน้ำปลา น้ำมัน น้ำตาล หรือเกลือมาเติมรสชาติ จึงควรมีพื้นที่กว้างอย่างน้อย 15 เซนติเมตร สำหรับวางเครื่องปรุงเหล่านั้นไว้ใกล้ๆมือ จะอยู่ข้างขวาหรือซ้ายของเตาไฟก็ได้แล้วแต่มือที่ถนัด อาจทำเป็นชั้นที่แข็งแรงติดข้างผนัง โดยไม่ต้องมีหน้าบานปิดจะสะดวกมือที่สุด
7. อย่าละเลยถังดักไขมัน
ไขมันจากอาหารมีผลทำให้ท่อน้ำทิ้งอุดตัน มีกลิ่นเหม็นและทำลายสภาพแวดล้อม เราจึงต้องติดตั้งถังดักไขมันก่อนปล่อยน้ำทิ้งลงถังบำบัด แนะนำให้ใช้ถังดักไขมันสำเร็จรูป ซึ่งมี 2 ชนิดคือ ชนิดตั้งบนดินที่สามารถวางใต้เคาน์เตอร์หรือวางนอกบ้านก็ได้ และชนิดฝังดินที่ดูไม่เกะกะ ที่สำคัญคือ ต้องวางถังให้สะดวกในการเข้าทำความสะอาด และควรตักเศษอาหารออกทุกวันตักไขมันออกอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง และล้างถังดักไขมันทุก 6 เดือน
TIPS:
มด หนู แมลงสาบ มักตามกลิ่นเศษอาหารที่วางไว้ในครัว เราจึงควรมีถังขยะสองที่คือ ถังขยะทิ้งเศษอาหารที่ตั้งไว้ในครัว และถังขยะแบบมีฝาปิดมิดชิดตั้งไว้นอกบ้านใกล้ๆห้องครัว เมื่อทำอาหารมื้อสุดท้ายเสร็จก็จัดการเก็บขยะจากในครัวไปไว้นอกบ้าน และควรมีถังขยะแห้งไว้อีกใบ สำหรับทิ้งถุงพลาสติก เศษกระดาษ หรือขวดแก้วที่นำไปรีไซเคิลได้ เป็นการช่วยลดโลกร้อนได้อีกทางหนึ่ง
เรื่อง : คันยิก้า
ภาพประกอบ : เอกรินทร์ พันธุนิล