ทาวน์เฮ้าส์หลังเล็กๆ ที่ปรับเปลี่ยนพื้นที่ใช้สอยให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตแบบเรียบง่าย ทำให้เห็นถึงความใส่ใจในการออกแบบทุกขั้นตอน ตั้งแต่การจัดวางพื้นที่ภายใน รวมถึงการเลือกเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านที่มาจากความรักในงานศิลปะ งานฝีมือ ของเก่า และของสะสมต่างๆของเจ้าของบ้านซึ่งเป็นนักออกแบบ
เจ้าของ – ออกแบบ : คุณนภาภรณ์– คุณวิชัย โพธิรัชต์ ทาวน์เฮ้าส์หลังเล็ก
ความลงตัวของงานออกแบบอาจเกิดจากสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้อย่างรสนิยมหรือประสบการณ์เฉพาะบุคคล ครั้งนี้เราขอพาไปดูตัวอย่างความลงตัวของบ้านหลังที่สองของมัณฑนากรคนสวยและเก่ง คุณเล็ก- นภาภรณ์และคุณวิชัย โพธิรัชต์ สามีซึ่งเป็นสถาปนิก เมื่อได้พูดคุยกับทั้งสองท่านจึงทราบว่าอยากย้ายบ้านมาอยู่ใกล้โรงเรียนของลูก จึงตัดสินใจซื้อทาวน์เฮ้าส์หลังเล็กๆ แถวพระราม 9 แต่ความพิเศษอยู่ที่ทั้งสองเป็นนักออกแบบ ทาวน์เฮ้าส์สองชั้นซึ่งมีพื้นที่ 140 ตารางเมตรจึงได้รับการปรับเปลี่ยนใหม่ เพิ่มพื้นที่อยู่อาศัยด้วยการทลายผนังกำแพงเดิม เปลี่ยนหน้าต่างขนาดมาตรฐานของโครงการเป็นช่องเปิดเพื่อให้แสงธรรมชาติเข้ามาสู่ภายใน และกำหนดพื้นที่ใช้สอยใหม่ตามไลฟ์สไตล์ของครอบครัว รวมถึงเลือกวัสดุปิดผิว เฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งบ้านใหม่ ซึ่งล้วนมาจากความชอบส่วนตัวของเจ้าของบ้าน
แรงบันดาลใจบ้าน (ของ) เล็ก
ทาวน์เฮ้าส์หลังนี้มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ เจ้าของบ้านจึงปรับแปลนและวัสดุเพื่อให้ใช้พื้นที่ได้มากขึ้นและได้บรรยากาศอย่างที่ต้องการคุณเล็กเล่าว่า ตอนแรกคิดจะทำเป็นบ้านสไตล์โมเดิร์นเรียบๆ แต่พอลงมือจริงกลับนำความชอบส่วนตัวในเรื่องงานไม้ ของเก่า และงานฝีมือมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบด้วย ทำให้หน้าตาของบ้านออกมาเป็นอย่างที่เห็น
“ส่วนตัวชอบงานศิลปะและงานฝีมือในแถบศรีลังกาอยู่แล้ว ก่อนทำบ้านหลังนี้เราทั้งคู่มีโอกาสไปทริป Vernacular House ที่ศรีลังกากับ อาจารย์จิ๋ว – รองศาสตราจารย์วิวัฒน์ เตมียพันธ์ ไปชมสถาปัตยกรรมงานฝีมือท้องถิ่น วัฒนธรรม และวิถีชีวิต เรามีโอกาสได้ชมบ้านของเจฟฟรีย์ บาวา สถาปนิกชื่อดังที่ชื่นชอบอยู่แล้ว ยิ่งทำให้ได้เรียนรู้แนวคิดในเรื่องการจัดวางพื้นที่ การดึงเอกลักษณ์และรายละเอียดของงานมาจากวัฒนธรรม วิถีชีวิต และความเป็นพื้นถิ่นมาปรับใช้ในงานออกแบบ สิ่งเหล่านี้ทำให้การอยู่อาศัยมีความน่าอยู่อยู่แล้วสบาย มีมนตร์เสน่ห์ เราสามารถอยู่ได้ตลอดชีวิต”
ภายในบ้าน (ของ) เล็ก
เจ้าของซื้อบ้านหลังนี้ตั้งแต่ยังไม่เริ่มก่อสร้าง เลือกตำแหน่งหลังริมเพื่อให้มีพื้นที่ด้านข้าง จากนั้นจัดวางแปลนภายในใหม่ทั้งหมด ขยายพื้นที่ต่อเติมหลังบ้านและยกเลิกวัสดุของโครงการ รื้อผนังบ้านด้านข้างออก เปลี่ยนเป็นประตูบานเปิดกระจกตลอดแนว เพื่อให้บ้านเปิดโล่ง ได้รับแสงสว่างให้มากที่สุด และรื้อฝ้าเพดานชั้นสองปรับเป็นห้องใต้หลังคากำหนดการใช้งานใหม่ ให้ชั้นหนึ่งเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมของทุกคนอย่างรับแขก ดูทีวี โต๊ะอเนกประสงค์ในห้องครัวก็ใช้เป็นส่วนรับประทานอาหารและทำงาน ส่วนชั้นสองรื้อผนังโถงบันไดออกเพื่อให้พื้นที่เปิดโล่ง ขยายห้องน้ำให้กว้างขึ้น เพื่อให้มีพื้นที่แต่งตัวและปรับเอาห้องนอนมาไว้ด้านหน้า ด้านหลังตั้งใจให้เป็นห้องนอนลูก แต่ต้องรอให้โตกว่านี้ ตอนนี้จึงใช้เป็นห้องทำงานและซักรีดไปก่อน ความพิเศษคือห้องนี้จะมองเห็นได้จากห้องใต้หลังคา ทำให้เห็นกิจกรรมของลูกด้วยการตกแต่งมาจากความชอบส่วนตัวของคุณเล็ก เธอเล่าเพิ่มเติมว่า
“งานบิลท์อินในบ้านหลังนี้ออกแบบเองทั้งหมดเคยฝันว่าอยากนั่งทำงานในบรรยากาศห้องครัวสวยๆ แม้จะไม่ได้เป็นคนทำอาหาร แต่ก็ลงมือออกแบบตู้ครัว ลวดลายสลักบนหน้าบาน และเลือกโทนสีไม้เอง ส่วนเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งก็ทยอยซื้อ บางชิ้นเป็นความบังเอิญ บางชิ้นเดินไปเห็นก็ซื้อ ไม่ได้กำหนดไว้ก่อน แต่จะเลือกจากความชอบ รู้สึกประหลาดใจเหมือนกันว่าพอนำมาจัดวางในบ้านก็ดูเข้ากันได้ดีอย่างลงตัว”
พื้นที่ใช้สอยที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตแบบเรียบง่ายทำให้เห็นถึงความใส่ใจในการออกแบบทุกขั้นตอน ตั้งแต่การจัดวางพื้นที่ภายใน รวมถึงการเลือกเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านที่มาจากความรักในงานศิลปะ งานฝีมือ ของเก่า และของสะสมต่างๆ ซึ่งคุณเล็กใช้แนวคิดที่ว่า ควรเลือกเฟอร์นิเจอร์ที่อยู่กับเราไปนานๆ ไม่ต้องหวือหวามาก แต่ต้องใช้งานได้จริงใช้ได้ง่าย เพราะบ้านคือพื้นที่พักผ่อนที่ต้องอยู่สบาย ไม่แปลกใจเลยที่ผลงานของคุณเล็กมักมีความร่วมสมัยและดูอบอุ่น อาจเป็นเพราะความชื่นชอบในของเหล่านี้ได้หล่อหลอมจนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่มีเสน่ห์ไม่ซ้ำใคร ทาวน์เฮ้าส์หลังเล็ก
เรื่อง : ลลิตพรรณ เชื่อมไธสง
ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข, ศุภกร ศรีสกุล
สไตล์: สมบุญ กริ่งไกร