ภายใต้รูปลักษณ์ บ้านโมเดิร์นสีขาว ทรงเหลี่ยม ดูเรียบง่ายหลังนี้ ได้ซ่อนสวนสีเขียวที่ใช้พรรณไม้เขตร้อนชื้นไว้ในคอร์ต ซึ่งเป็นหัวใจของบ้านที่ออกแบบมาทั้งเพื่อเปิดรับแสงธรรมชาติให้เข้ามาสร้างชีวิตชีวาในบ้าน และทั้งเป็นการป้องกันความร้อนจากแสงแดดด้วยการปิดและพรางตามแนวคิด Modern Tropical Design เรื่องการยกใต้ถุนสูงให้ลมผ่าน และการใช้วัสดุอย่าง หน้าต่างบานเกล็ด หรืออิฐช่องลม
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: AplusCon Architects
บนที่ดินขนาดไม่ถึง 50 ตารางวา ผืนหนึ่ง ในย่านที่อยู่อาศัยหนาแน่นของสุขุมวิท “บ้านวชิรธรรม” ตั้งอยู่ในที่ตั้งที่เต็มไปด้วยความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขนาดของพื้นที่ รูปร่างของที่ดิน รวมถึงทิศทางของที่ดิน ซึ่งทำให้หน้าบ้านต้องหันหน้าออกรับทิศที่อากาศร้อนที่สุดของไทยอย่างทิศใต้
บนความท้าทายต่าง ๆ ดังกล่าว คุณวัชรพันธ์ นราพงษ์พันธ์ จาก AplusCon Architects Co.,Ltd. ผู้เป็นทั้งสถาปนิกและเจ้าของ บ้านโมเดิร์นสีขาว หลังนี้ เล่าว่าเขาต้องการออกแบบบ้าน 2 ชั้น พร้อมชั้นดาดฟ้าในรูปแบบสถาปัตยกรรมโมเดิร์น (Modern Architecture) ตามแนวทางที่เขาถนัด หากแต่ต้องสอดคล้องกับสภาพอากาศและธรรมชาติของที่ตั้งด้วย โดยเริ่มจากการพิจารณาขนาดพื้นที่ตั้ง ซึ่งมีหน้ากว้าง 8 เมตร และมีความลึกมากถึง 24 เมตร การออกแบบจึงทำให้ตัวบ้านมีลักษณะยาวเต็มพื้นที่ และใช้การไล่เรียงลำดับการเข้าถึงมาเป็นตัวกำหนดลักษณะของพื้นที่ใช้สอย
“เราออกแบบให้มีการค่อย ๆ ไล่ลำดับพื้นที่การเข้าถึง หรือ Transition Area” คุณวัชรพันธ์เล่า “คือการค่อย ๆ ปรับตัวก่อนที่จะเข้าบ้าน ถึงแม้พื้นที่เราจะแคบ แต่เราอยากได้ชมสวนก่อน ได้ปรับอารมณ์ก่อนที่จะเข้าสู่ตัวบ้านจริง ๆ อย่างที่สองคือเรื่องของความปลอดภัย ซึ่งการสร้างความปลอดภัยทำได้หลายแบบ ส่วนผมเลือกใช้ต้นไม้กั้น รวมถึงการยกพื้นเพื่อให้พ้นระดับสายตา”
หากไล่ลำดับจากหน้าบ้านจะพบว่า จากบ้านที่มีรูปลักษณ์ภายนอกเป็นสีขาวทรงเหลี่ยม ดูเรียบ ๆ และแข็งแรงหลังนี้ ได้ซ่อนสวนสีเขียวพร้อมต้นไม้จำนวนมากไว้ตรงใจกลาง จนเมื่อทะลุผ่านสวนสีเขียวส่วนนี้เข้าไปแล้ว ถึงจะพบกับตัวบ้านที่แท้จริง ซึ่งอยู่ในลำดับสุดท้าย การไล่ลำดับการใช้งานเช่นนี้ยังเป็นการไล่ความสูงจากระดับดินที่หน้าบ้าน สู่พื้นที่ใช้สอยภายในที่ถูกยกให้สูงกว่าระดับดินถึง 1.5 เมตร
ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดการออกแบบ 3 อย่าง คือ 1. ต้องการสร้างภาพลักษณ์แบบ “แข็งนอก อ่อนใน” เป็นความต้องการให้กล่องสีขาวทรงเหลี่ยมที่ดูเหมือนลอยอยู่อย่างแข็งแรงภายนอก ซ่อนสวนสีเขียวกับพื้นที่ใช้สอยที่ตกแต่งด้วยสีโทนมืดไว้ภายใน 2. เรื่องความปลอดภัย ใช้ต้นไม้และการยกระดับดินช่วยซ่อนมุมมองจากผู้ที่เดินผ่านไปมาภายนอก และประการสุดท้ายคือ การวางพื้นที่ใช้สอยไว้ด้านทิศเหนือ เพื่อให้ตัวบ้านที่ยื่นล้ำไปในทิศใต้ช่วยบังแสง และความร้อนที่จะส่องเข้าสู่พื้นที่ใช้งานหลัก
“สถาปัตยกรรมของเราค่อนข้างที่จะแข็ง ๆ เป็นสีขาว แล้วก็เหลี่ยมเลย โดยผมอยากให้โทนสีข้างล่างเป็นสีเทาที่ดูเคร่งขรึม เพื่อให้รู้สึกว่าก้อนสีขาวข้างบนนั้นลอยอยู่” คุณวัชรพันธ์กล่าว
“และผมชอบสวนที่เป็นแบบเมืองร้อน เพราะรู้สึกว่ามันให้อารมณ์ที่ตรงข้ามกับตัวสถาปัตยกรรม” คอร์ตใจกลางบ้านที่โปร่งโล่งโดยตลอดนั้น ตั้งใจให้เป็นคอร์ตที่สามารถมอบทัศนียภาพสีเขียวให้กับทุกมุมในบ้าน ไม่ว่าจะมองมาจากมุมไหนก็ตาม โดยเจ้าของบ้านผู้ชื่นชอบการปลูกต้นไม้ เขาเป็นผู้เลือกชนิดพรรณไม้และออกแบบสวนเองทั้งหมด โดยเน้นเลือกพรรณไม้ที่หาได้ทั่วไป เหมาะกับสภาพอากาศเมืองไทย และดูแลรักษาง่าย เพื่อให้สวนยังคงความสวยงามไปนาน ๆ ทั้งนี้พรรณไม้ที่นำมาปลูกส่วนใหญ่คุณวัชรพันธ์ได้เน้นไม้พุ่มเตี้ย เพื่อให้สามารถชื่นชมได้ยามอยู่ในห้องนั่งเล่น
สวนที่อยู่ใจกลางนี่เองถือเป็นหัวใจของคอนเซ็ปต์การออกแบบบ้าน ดังที่เจ้าของบ้านกล่าวว่า ได้หยิบยกแนวคิดด้านสถาปัตยกรรมมาจากเลอ กอร์บูซิเย (Le Corbusier) สถาปนิกผู้ทรงอิทธิพลด้านสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 20 กับคำกล่าวที่ว่า “บ้านเป็นดังเครื่องจักรสำหรับการอยู่อาศัย” หรือ “A House is a Machine for Living In” ก่อนนำมาต่อยอดสู่ “A Machine for Living In the Garden” หรือการเป็นเครื่องจักรสำหรับการอยู่อาศัยที่ทันสมัยภายใต้ภูมิอากาศในเขตร้อน
“ผมอยากทำให้รู้สึกว่าความเป็นโมเดิร์นมันเป็น Universal สามารถใช้ได้กับทุกที่” คุณวัชรพันธ์กล่าว โดยเฉพาะถ้าเป็น “Modern Tropical” อย่างเรื่องการยกใต้ถุนสูงให้ลมผ่าน หรือการใช้วัสดุอย่าง หน้าต่างบานเกล็ด หรืออิฐช่องลม ที่ประเทศในภูมิภาคอื่น ๆ อาจจะไม่มี “มันคือวัสดุที่แสดงอัตลักษณ์ของความเป็น Modern Tropical พอเราเดินเข้ามาก็อยากให้รู้สึกว่าภายในพื้นที่ของบ้านมีอัตลักษณ์ความเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่”
ส่วนสุดท้ายของบ้านที่น่าสนใจ จึงเป็นการเล่นกับวัสดุที่เอื้อให้คอนเซ็ปต์การอยู่อาศัยอย่างพึ่งพาสภาพแวดล้อมและธรรมชาตินั้นชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหน้าต่างบานเกล็ดที่เห็นได้ตั้งแต่หน้าบ้าน โดยนำมาออกแบบใหม่ด้วยการนำมาติดตั้งแบบสลับแนวตั้งและนอน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนวัสดุที่คุ้นเคยให้แปลกใหม่ขึ้น รวมถึงอิฐช่องลมที่ติดตั้งในบริเวณคอร์ตบนผนังชั้น 2 เพื่อปิดมุมมองด้านทิศตะวันตก นอกจากการนำอิฐมาสลับแพตเทิร์นการวาง โดยคำนึงถึงการปิดมุมมองเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวเป็นสำคัญ
สิ่งสำคัญคือการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับการใช้อิฐช่องลม ทำหน้าที่ระบายอากาศและรับแสงธรรมชาติอย่างเต็มที่ ซึ่งตรงกับคอนเซ็ปต์การอยู่ร่วมกับธรรมชาติของบ้าน จึงไม่เกินจริงหากสถาปนิกผู้ควบตำแหน่งเจ้าของบ้านจะกล่าวว่า เขาสามารถออกแบบให้บ้านใช้อยู่อาศัยได้ทั้งวัน โดยไม่ต้องพึ่งพาเครื่องปรับอากาศเลย
ออกแบบ: AplusCon Architects Co.,Ltd.
ออกแบบแสง: Lumen Light
เจ้าของ : คุณวัชรพันธ์ นราพงษ์พันธ์
เรื่อง: กรกฎา
ภาพ: ศุภกร ศรีสกุล, รุ่งกิจ เจริญวัฒน์
อ่านเรื่องที่น่าสนใจ