บ้านปูนชั้นเดียวกลางสวน ติดริมคลอง โปร่งสบายน่าอยู่
บ้านปูนชั้นเดียวกลางสวน บ้านพักผ่อนที่หลานชายผู้เป็นสถาปนิกสร้างให้กับคุณตา โดยใช้พื้นที่ร่มรื่นขนาด 100 ตารางวา กลางสวนมะพร้าวติดริมคลองหนองสลิดมาเป็นทำเลหลัก
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: OTATO Architect
โดยคงต้นไม้ใหญ่อย่างมะขาม ขนุน และมะพร้าวรอบๆ ไว้ จากนั้นจึงสร้าง บ้านปูนชั้นเดียวกลางสวน ขึ้นมาด้วยพื้นที่ใช้สอย 75 ตารางเมตร ในรูปทรงเหมือนกล่องตัวยู (U) ต่อกันทั้งหมด 4 ก้อนเชื่อมต่อกันโดยมีการเว้นช่องหน้าต่างทรงสูงเล็กๆ ไว้เพื่อไม่ให้บ้านดูทึบเกินไป แม้ฝั่งนี้จะอยู่ตรงทิศตะวันตก แต่เพราะมีต้นมะขามใหญ่ที่ให้ร่มเงาและมุมมองที่สวยงาม คุณเอิร์ธจึงตัดสินใจเปิดผนังส่วนนี้ให้โปร่งและออกแบบ ที่นั่งไม้ดีไซน์โปร่งเหมือนของบ้านไทยสมัยอดีต
ตั้งแต่รูปแบบการเดินทางหลักเปลี่ยนมาเป็นถนนหนทางที่แสนสะดวกสบาย เส้นทางคลองเล็ก ๆ ที่ชื่อว่าคลองหนองสลิดซึ่งเชื่อมต่อไปถึงคลองดำเนินสะดวกในจังหวัดราชบุรี ก็กลายมาเป็นคลองที่สงบเงียบอยู่ท่ามกลางร่องสวนมะพร้าว เพียงแค่รื้อถอนความรกรุงรังที่ห่มคลุมบ้านไม้เก่าอายุกว่า 30 ปีออก ก็จะได้พื้นที่กลางธรรมชาติสวยที่เหมาะสำหรับสร้างบ้านพักผ่อนสำหรับคุณตาวัยเกษียณได้เป็นอย่างดี
คุณเอิร์ธ – ภุชงค์ สถิรพิพัฒน์กุล สถาปนิกแห่ง OTATO Architect ผู้เป็นหลานชายได้เล่าถึงความประทับใจในธรรมชาติแวดล้อมของที่นี่ หลังจากที่คุณตาได้ขอให้เขามาช่วยออกแบบและสร้างบ้านพักตากอากาศที่เป็นไว้บนที่ดินผืนเดิมซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านในกรุงเทพฯนัก
“อย่างแรกเลยคือที่ตรงนี้ติดคลองหนองสลิด มีสวนมะพร้าวอยู่ฝั่งตรงข้ามซึ่งเป็นทิศเหนือจึงให้วิวที่ดีรอบ ๆ พื้นที่ยังมีต้นมะขามใหญ่ ต้นขนุน และต้นมะพร้าวที่ให้ความร่มรื่น แถมทิศทางของแสงและลมก็ดีที่สำคัญคือความสงบของคลองทำให้มีหิ่งห้อยสวย ๆ ในตอนกลางคืนซึ่งหาชมได้ยากแล้วในปัจจุบัน”
ด้วยความที่บ้านไม้เก่าหลังเดิมถูกปล่อยร้างมานานจนทรุดโทรมและไม่สามารถรีโนเวตได้ คุณเอิร์ธจึงตัดสินใจสั่งรื้อทิ้งและเก็บแผ่นไม้เก่าทั้งหมดไว้ แล้วสร้างบ้านหลังใหม่ขึ้นมาเป็นบ้านชั้นเดียวบนพื้นที่ 100 ตารางวา ขนาดพื้นที่ใช้สอย 75 ตารางเมตร ภายใต้งบประมาณไม่เกิน 7 แสนบาท เพราะเขาเป็นผู้คุมงานก่อสร้างเองและเลือกใช้วัสดุจากท้องถิ่น โดยออกแบบให้เป็นบ้านสไตล์มินิมัลทรอปิคัลซึ่งนำหลังคาทรงจั่วป้านของบ้านในละแวกนั้นมาใช้และจัดเรียงฟังก์ชันให้ตอบรับกับบริบท เน้นปิดผนังที่ฝั่งหน้าบ้าน ซึ่งแม้จะเป็นเส้นทางเข้าหลักจากถนน แต่เพราะเป็นทิศใต้ที่ค่อนข้างร้อน แล้วไปเปิดช่องแสงรับวิวในด้านฝั่งคลองเพื่อให้มองเห็นบรรยากาศความร่มรื่นของสวนและคลองอย่างเต็มที่
“ผมออกแบบพื้นที่ในบ้านให้เป็นเหมือนกล่องตัวยู (U) ต่อกันทั้งหมด 4 ก้อน ถ้ามองจากฝั่งถนนจะเห็น 4 ก้อนนี้เชื่อมต่อกันโดยมีการเว้นช่องหน้าต่างทรงสูงเล็ก ๆ ไว้เพื่อให้บ้านดูไม่ทึบเกินไป ส่วนเว้าของตัวยูจะมาเปิดออกสู่คลอง และมีช่องทางเดินหลักแทรกไว้ระหว่างก้อนแรกของบ้าน เป็นเหมือนตัวเปิดวิวสู่คลองซึ่งต่อเนื่องกับทางเดินไม้หรือสะพานยื่นยาวไปที่คลองและยังแยกฟังก์ชันของพื้นที่ในบ้านไว้ฝั่งขวาส่วนชานโล่งกึ่งกลางแจ้งไว้สำหรับรับแขกอยู่ฝั่งซ้าย
“ฟังก์ชันหลักในบ้านมีแค่ห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร ห้องน้ำ และห้องนอนขนาดกะทัดรัดโดยทุกห้องมีช่องเปิดที่หันเข้าหามุมที่ดีที่สุดก็คือฝั่งคลอง ภายในยกฝ้าให้สูงโปร่งและดันให้สุดหลังคารูปทรงจั่วเพื่อให้รู้สึกโล่งสบาย และผมยังเลือกใช้วัสดุในขนาดมาตรฐานซึ่งมีระยะ 1.20 เมตร 1.60 เมตร หรือ2.40 เมตร ทั้งฝ้า กระเบื้อง และกระจก เพื่อให้เป็นสัดส่วนง่าย ๆ สำหรับช่างท้องถิ่น ดูแลรักษาก็ง่ายแถมประหยัดงบประมาณโดยไม่เหลือเศษวัสดุทิ้งเลย”
ขณะที่เปิดผนังฝั่งคลองให้โปร่ง คุณเอิร์ธยังออกแบบฟังก์ชันภายในบ้านที่ติดกับผนังทางทิศใต้หรือฝั่งถนนให้เป็นส่วนของแพนทรี่ โต๊ะทำงาน และตู้เสื้อผ้า แถมคั่นด้วยทางเดินยาว ทำให้ความร้อนไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ส่วนพักผ่อนได้โดยตรง ส่วนฝั่งที่เปิดสู่คลองเองก็ยังเพิ่มครีบผนังที่ยื่นออกมาช่วยป้องกันแสงในส่วนของห้องนอนและผนังด้านข้างของบ้านที่ต้องการสร้างความเป็นส่วนตัวแยกออกจากเพื่อนบ้าน และหดครีบให้สั้นลงในพื้นที่ตรงกลางของห้องนั่งเล่นและห้องรับประทานอาหาร แถมด้วยระเบียงไม้เล็ก ๆ ยื่น
ออกมาสำหรับใช้เอกเขนกรับลม
“การยืดหดของครีบยังสร้างคาแร็กเตอร์ให้บ้านดูน่าสนใจขึ้นอีก เป็นภาษาทางสถาปัตยกรรมที่ล้อไปกับโครงสร้างหลักของบ้าน เพราะอเสหลักจะอยู่บนครีบนี้เท่านั้น พร้อมกับรองรับจันทันทั้งหมด ทุกอย่างจึงเหมือนผูกพันต่อเนื่องกันแม้จะสั้นยาวไม่เท่ากัน แต่อยู่ในระยะมาตรฐาน จนกลายเป็นแพตเทิร์นที่เรียบน้อย และกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว”
ด้วยบริบทของธรรมชาติแวดล้อมกับตัวบ้านแนวราบที่มีเพียงสเต็ปน้อย ๆ แต่เน้นการเปิดมุมมองแนวกว้างทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกใกล้ชิดกับผืนดิน ผืนน้ำ ต้นไม้ และหิ่งห้อย จึงยิ่งทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ทั้งยังเหมาะสำหรับชีวิตวัยเกษียณของคุณตาได้เป็นอย่างดี
เจ้าของ : คุณคำนึง ยินดีสุข
ออกแบบ : คุณภุชงค์ สถิรพิพัฒน์กุล OTATO Architect