ไม่ว่าจะเข้ามาทำงานที่เมืองกรุงนานแค่ไหน ความคิดถึงคะนึงหาช่วงเวลาและความทรงจำในวันวานยังคงอบอวลอยู่ที่บ้านเกิดเสมอมา คุณแนน-เปรมจิตร ซาเนียร์ ฟอร์เซลล่า จึงตัดสินใจสร้างบ้านหลังที่สองสำหรับเป็นบ้านตากอากาศที่ภูมิลำเนาเดิมอย่างจังหวัดแพร่ จังหวัดเล็ก ๆ ในภาคเหนือที่ยังเปี่ยมไปด้วยวัฒนธรรมและวิถีชีวิตอันเรียบง่าย
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: JAI Architect & Interior
เพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์และคงความรู้สึกของการไปมาหาสู่เหมือนการกลับไปเยี่ยมบ้านในครั้งก่อน ๆ ที่ผ่านมา บ้านหลังใหม่จึงเลือกตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันกับบ้านหลังเดิมที่คุณแนนอยู่อาศัยและเติบโตมาตั้งแต่เด็กกับครอบครัว ซึ่งตอนนี้คุณพ่อ คุณแม่ และพี่สาวยังอยู่อาศัยในบ้านหลังเดิม โดยวางใจให้สถาปนิกจาก JAI Architect & Interior มาเป็นผู้รังสรรค์ความต้องการให้กลายเป็นบ้านสุดอบอุ่น หลังจากเคยร่วมงานกันมาก่อนครั้งหนึ่งแล้ว
เนื่องจากตำแหน่งของบ้านเดิมตั้งอยู่ค่อนข้างกลางที่ดิน ทำให้เมื่อทำการแบ่งที่ดินออกเป็นสองผืนตามกรรมสิทธิ์ของพี่น้อง ที่ดินที่ได้จึงมีลักษณะเป็นที่ดินแคบและยาว ผู้ออกแบบเลยเลือกวางตัวอาคารติดกับกำแพงในแนวขนานกับทิศตะวันออกและตะวันตก ซึ่งด้านที่ติดกับบ้านหลังเดิมนั้นกลับเป็นด้านทิศตะวันตก กลายเป็นความท้าทายที่ต้องจัดวางพื้นที่ใช้สอยหลักของบ้านให้มีปฏิสัมพันธ์กับบ้านเดิมไปพร้อม ๆ กับแก้ปัญหาเรื่องแสงแดดในช่วงบ่ายที่มักเป็นช่วงที่ร้อนที่สุดในวัน
“ความต้องการของเจ้าของบ้านและสถานที่ตั้ง คือจุดเริ่มต้นแรกของการออกแบบ บ้านที่จะเกิดขึ้นจึงต้องผสมกลมกลืนไปกับบริบทโดยรอบ ความสัมพันธ์ระหว่างบ้านใหม่และบ้านเก่า รวมถึงปฎิสัมพันธ์ของคนในครอบครัวที่จะต้องยังคงอยู่ บ้านหลังนี้จึงถูกนิยามตามแนวความคิดในการออกแบบที่เรียกว่า “บ้านพื้นที่” อันหมายถึง บ้านในต่างจังหวัดที่ไม่ใช่บ้านพื้นถิ่น หากแต่ถูกออกแบบโดยคำนึงถึงคุณภาพของพื้นที่เป็นหลัก มีการผสานกันของพื้นที่ภายในและภายนอก การใช้งานที่หลากหลาย จนเหมือนทลายเส้นแบ่งของนอกบ้านและในบ้านออกไป เหลือเพียงแค่พื้นที่ใช้งานที่ได้ดังใจตามความต้องการในแต่ละช่วงเวลา”
หลังจากทำการสำรวจบริบทประกอบกับความต้องการ ผลลัพธ์ที่ได้จึงออกมาเป็น “บ้านหน้าจั่ว” ที่ให้ความรู้สึกโฮมมี่ เป็นกันเอง แต่ยังเจือกลิ่นอายของความทันสมัยด้วยความไม่สมมารตรของหลังคา ทั้งยังคงเอกลักษณ์ความเป็นบ้านต่างจังหวัดไว้ด้วย “ชาน” เพื่อสะท้อนรูปแบบความสุขของการได้ออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์และแมกไม้เขียวชอุ่มของบริเวณโดยรอบบ้านเดิมไว้อย่างเด่นชัด
อีกประเด็นที่ขับความเป็นไทยให้ชัดยิ่งขึ้นคือการจัดลำดับการเข้าถึงความเป็นส่วนตัว โดยไล่จากพื้นที่ชานขนาดใหญ่ทำหน้าที่เชื้อเชิญผู้มาเยือน ซึ่งในที่นี้ยังทำหน้าที่เป็นชานอเนกประสงค์เชื่อมพื้นที่ใช้ชีวิตหลักของบ้านเข้ากับบ้านหลังเดิมอีกด้วย เมื่อเข้ามาภายในบ้านขนาด 150 ตารางเมตรหลังนี้ ส่วนแรกจะพบกับโถงสูงโปร่งโล่งทำหน้าที่เป็นห้องนั่นเล่นสามารถเชื่อมต่อมุมมองไปยังส่วนต่าง ๆ ของบ้านได้โดยรอบ ซึ่งในส่วนนี้สถาปนิกได้ออกแบบฟาซาดในรูปแบบของบานเลื่อนเกล็ดไม้ขนาดใหญ่ 3 บานบริเวณขอบชานคอนกรีตที่สามารถเลื่อนสลับไป-มาระหว่างโถงกลางบ้านและห้องนอนได้เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวหรือบังแดดในเวลาที่ต้องการ
พื้นที่ภายในแบ่งออกเป็นสองฝั่ง คือฝั่งที่เป็นพื้นที่ดับเบิ้ลสเปซเป็นพื้นที่กึ่งพับลิกอย่างโถงนั่งเล่น พื้นที่รับประทานอาหาร และอีกฝั่งที่มีขนาดชั้นครึ่งด้วยความลาดเอียงของหลังคาให้เป็นส่วนไพรเวต อย่างห้องนอน ห้องน้ำ และห้องครัว โดยครัวถูกวางไว้หน้าสุดของบ้านใกล้กับชานอเนกประสงค์หน้าบ้านเพื่อสะดวกต่อการใช้งานในยามมีแขกเหรื่อมาบ้าน
นอกจากความโปร่งของสเปซแล้ว บ้านหลังนี้ยังถูกออกแบบมาให้อยู่สบาย สังเกตได้จากช่องแสงจรดฝ้าเพดานเพื่อเปิดรับแสงธรรมชาติจากด้านบน การกั้นพื้นที่ภายนอกกับภายในด้วยบล็อกช่องลมที่ยอมให้อากาศไหลผ่านส่งผลให้อากาศภายในบ้านถ่ายเทได้ตลอดทั้งวัน สามารถอยู่อาศัยได้แบบไม่ต้องพึ่งพาเครื่องปรับอากาศ ประกอบกับรูปทรงหลังคาจั่วแบบไม่สมมาตรที่มีด้านหนึ่งของหลังคาทอดมายาวกว่าในทิศตะวันตก ซึ่งถูกนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาความร้อนที่จะเข้าสู่ตัวบ้านโดยตรง
อีกหนึ่งองค์ประกอบที่ขับให้บ้านดูกลมกล่อม อบอุ่นคือพื้นไม้สักที่สามารถหาได้ง่ายในพื้นที่และยังสามารถหาซื้อได้ในราคาถูก รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่คุณแนนชื่นชอบและเลือกเองกับมือทุกชิ้น ช่วยแสดงตัวตนของการเป็นบ้านในใจของคุณแนนได้ชัดเจนและลงตัวอย่างสมบูรณ์แบบ
ออกแบบสถาปัตยกรรม :JAI Architect & Interior
วิศวกรโครงสร้าง : นาถปรัชญ์ ปิ่นปราณี
เจ้าของ : เปรมจิตร ซาเนียร์ ฟอร์เซลล่า
เรื่อง: foryeah!
ภาพ: ศุภกร