รั้วที่สร้างตามแนวเขตที่ดินมักมี 2 ปัญหา คือ การสร้างล้ำเขตที่ดิน และสร้างรั้วสูงเกินไป ดังนั้นก่อนสร้างรั้วบ้านตัวเองหรือเมื่อเพื่อนบ้านสร้างรั้ว จึงควรดูไม่ให้ผิดกฎหมายทั้งเพื่อความปลอดภัยและเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง
1.รั้วที่ดิน รั้วบ้าน ต้องไม่ล้ำเขตที่ดิน
รั้วที่ดิน รั้วบ้าน ต้องไม่ล้ำเขตที่ดิน เขตที่ดินในที่นี้คือทั้งใต้ดินและบนอากาศ ดังนั้นทั้งโครงสร้างฐานราก และส่วนต่างๆของรั้วต้องไม่เกินเขตที่ดิน จึงนิยมทำฐานรากรั้วด้วยฐานรากตีนเป็ด และการตั้งเสารั้วไม่เอียงล้ำแนวที่ดิน หากพบเห็นรีบแจ้งและเจรจากับเจ้าของที่ดิน แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินในพื้นที่นั้นๆ สำหรับกรณีการทำรั้วร่วมกันกับเพื่อนบ้าน จะใช้ฐานรากปกติโดยวางโครงสร้างรั้วไว้กึ่งกลางเส้นแบ่งที่ดิน โดยรับผิดชอบค่าก่อสร้างและการดูแลรักษาร่วมกัน
2.กฎหมายเรื่อง รั้วที่ดินรั้วบ้าน
รั้วที่ดินรั้วบ้าน หรือกำแพงที่สร้างติดกับถนนหรือทางสาธารณะ
รั้วนั้นจะสร้างได้สูงไม่เกิน 3 เมตร โดยวัดจากระดับทางเท้าหรือถนนสาธารณะ แต่ถ้าสูงเกินกว่า 3 เมตร ต้องเว้นระยะห่างจากเขตที่ดินไม่น้อยกว่าความสูงของรั้ว
รั้วหรือกำแพงหัวมุมถนน
รั้วหรือกำแพงที่อยู่มุมถนนสาธารณะ ซึ่งถนนกว้างตั้งแต่ 3 เมตรขึ้นไป และมีมุมหักน้อยกว่า 135 องศา ต้องปาดมุมให้มีระยะไม่น้อยกว่า 4 เมตร และทำมุมกับแนวถนนสาธารณะเป็นมุมเท่าๆ กัน ดังนั้นหากใครจะซื้อที่ดินหัวมุมถนนลักษณะดังกล่าว จะต้องเสียที่ดินส่วนมุมนั้นไป
3.สร้างรั้วต้องขออนุญาต
รั้วถือเป็นสิ่งปลูกสร้าง กรณีสร้างรั้วติดกับถนนหรือที่ดินสาธารณะ ต้องทำการขออนุญาต แต่กรณีสร้างรั้วติดกับที่ดินเอกชนอย่างรั้วข้างบ้าน ไม่จำเป็นต้องขออนุญาต
อ้างอิง : กฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ.2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522
ส่วนในการถมดิน ซึ่งมีความสูงต่างจากระดับที่ข้างเคัยงมาก ก็มีกฎหมายลูกเป็นกฎกระทรวง พ.ศ. 2543 สำหรับที่ดินที่ใหญ่กว่า 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป มีการถมที่ดินสูงต่างจากที่ข้างเคียงเกิน 5 เมตร ต้องมีการยื่นแบบ รายการคำนวณ วุฒิวิศวกรเซ็นต์แบบ โดยมีแนวทาง 2 แนวทางคือ
- เว้นระยะร่นเข้ามาที่ดินตั้งแต่ส่วนฐานของเนินดิน ไม่น้อยกว่าระยะความสูงของเนินดินที่จะถม หรือ
- มีการป้องกันการพังทลายของดินหรือสิ่งปลูกสร้าง โดยผู้ได้รับการรับรองผู้ประกอบอาชีพวิศวกรรมควบคุมสาขาโยธา หรือก็คือสามารถทำกำแพงกันดินที่มีความแข็งแรง และระบบระบายน้ำไม่ให้เป็นที่เดือดร้อนของที่ดินข้างเคัยงได้
แต่ทั้งนี้ก็เป็นข้อกฎหมาย หากเกินความเดือดร้อนก็สามารถเจรจาผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ในเชิงการอยู่ร่วมกันจริงในพื้นที่
Tips
หากรั้วบ้านล้ม ใครจะรับผิดชอบ
-กรณีเป็นรั้วของตัวเอง ถ้าล้มเองแล้วทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บหรือทรัพย์สินเสียหาย เจ้าของที่ดินจะเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ถ้าถูกทำให้ล้ม เช่น การถมดินจากอีกฝั่ง ผู้เป็นต้นเหตุจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบการซ่อมแซม
-กรณีเป็นรั้วร่วมซึ่งสร้างกึ่งกลางเขตที่ดินและเป็นเจ้าของร่วมกัน ถ้าพังลงมาเองก็จะเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน แต่ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำให้พัง ฝ่ายนั้นก็เป็นผู้รับผิดชอบ
เรื่อง ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
อยากต่อเติมรั้วให้สูงกว่าเดิม ต้องขออนุญาตเพื่อนบ้านไหม?
ปลูก ต้นไทร เป็นแนวรั้วนอกบ้านดีไหม
ติดตามบ้านและสวน www.facebook.com/baanlaesuanmag