เอาใจคนรักบ้านสไตล์ล้านนา ด้วยไอเดียการแต่งบ้านไม้ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของภาคเหนือ แต่มีการผสมผสานฟังก์ชันการใช้งาน และความทันสมัยให้สอดรับกับการใช้ชีวิตในปัจจุบัน ทำให้รูปแบบบ้านมีความร่วมสมัยมากขึ้น แต่ก็ยังเน้นให้ภายในบ้านมีการระบายอากาศที่ดี และมีการเชื่อมโยงกับธรรมชาติรอบบ้าน เพื่อให้คนในบ้านอยู่อาศัยได้อย่างอบอุ่น สบายกายและสบายใจ
1.บ้านตถตา บ้านไม้บนรอยเท้าของชาวล้านนา
เจ้าของ : แพทย์หญิงจิตราภรณ์ ความคนึง และนายแพทย์ณัฐธร ดาราพงศ์สถาพร บ้านล้านนาอยู่สบาย
สถาปัตยกรรม: บริษัทสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด โดยคุณนันทพงศ์ เลิศมณีทวีทรัพย์
ออกแบบภายใน : คุณปรียชนัน สายสาคเรศ
ผู้รับเหมา: คุณวันไชย หงษ์แก้ว (สล่าเก๊า)
ผู้ควบคุมงาน : ยางนาสตูดิโอ และนายแพทย์ณัฐธร ดาราพงศ์สถาพร
บ้านพื้นถิ่นประยุกต์ที่เลือกเฟ้นไม้เก่าจากบ้านในจังหวัดน่านมาออกแบบใหม่ โดยไม่ทิ้งงานฝีมือเชิงช่างของล้านนา ซึ่งเป็นสิ่งที่เจ้าของบ้านสนใจ นอกจากนี้ผู้ออกแบบยังกำหนดให้ภายในบ้านมีพื้นที่เชื่อมโยงกัน โดยรวมใต้ถุนกับชานเป็นส่วนเดียวกัน สามารถนั่งรับลมได้ภายใต้บรรยากาศที่เสมือนโอบล้อมด้วยป่าใหญ่ ส่วนภายในบ้านก็มีความโปร่งโล่ง สามารถมองเห็นกันและกันได้ในทุกพื้นที่ อีกทั้งการเปิดพื้นที่ส่วนต่างๆ เพื่อรับลมก็ยังเหมาะสมกับภูมิอากาศของเมืองไทยด้วย อ่านต่อ
2.บ้านน้อยบนดอยที่มีวิวภูเขาโอบล้อม 360 องศา
เจ้าของ-ออกแบบ : คุณณชนก เสียมไหม
บ้านที่ประยุกต์จากยุ้งข้าวไม้หลังเก่า โดยยกมาตั้งประกอบและขัดเคลือบทำสีไม้ใหม่ พร้อมก่อผนังชั้นล่างโชว์ผิวฉาบด้วยซีเมนต์ผสมสีฝุ่นสีเหลืองเป็นครัวเปิดแบบไทยๆ ดูมีเสน่ห์แบบผสมผสานทั้งเก่าและใหม่เข้ากันได้อย่างสวยงามและใช้งานได้ดี ชั้นบนแบ่งพื้นที่เป็นส่วนนั่งเล่น ห้องนอน และห้องน้ำแบบเปิดโล่ง ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้และสิ่งทอต่างๆลวดลายแบบชนเผ่าที่มาจากชาวเขาในละแวกใกล้เคียงไปจนถึงของที่ได้จากการเดินทางไปต่างประเทศ อ่านต่อ
3.บ้านรับรองแขกในเรือนยุ้งข้าว
เจ้าของ : พันตำรวจเอกเกรียงศักดิ์ กัลยาวัฒนเจริญ
ออกแบบ : คุณผดุง ปาลี
บ้านรับรองแขกที่ดัดแปลงจากเรือนยุ้งข้าวเก่า โดยอิงงานสถาปัตยกรรมแบบล้านนา แต่ปรับขนาดให้สามารถอยู่อาศัยได้อย่างสะดวกสบาย ในส่วนของงานตกแต่งก็ใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เพิ่มความสวยงามด้วยรายละเอียดของงานไม้แกะ เฟอร์นิเจอร์สไตล์ไทยแบบขาสิงห์และขาคู้ เก้าอี้หวาย หรืองานเซรามิกโทนสีบลูแอนด์ไวท์ นอกจากนี้ยังใช้วัสดุธรรมชาติอย่างหินอ่อนและหินธรรมชาติ ซึ่งเก็บความเย็นได้ดี เมื่อรวมกับการออกแบบบ้านให้เปิดโล่งกลมกลืนไปกับธรรมชาติ ก็ช่วยสร้างบรรยากาศที่ทั้งน่าอยู่และเย็นสบายได้ไม่ยาก อ่านต่อ
4.บ้านแก้วตาเหิน ปรัชญาแห่งศิลปะในแบบอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี
เจ้าของ – ตกแต่ง : คุณสุจินตนา จรรยาทิพย์สกุล
ออกแบบ : อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี
บ้านทรงไทยที่ดูมีเอกลักษณ์หลังนี้ได้รับการปั้นแต่งโดยศิลปินแห่งชาติ อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่บ้านจะแฝงไว้ด้วยกลิ่นอายของวัฒนธรรมอันหลากลาย รวมถึงปรัชญาศิลปะอยู่ทุกมุมในบ้าน ความอ่อนช้อยที่ผสานด้วยความแข็งแกร่งของบ้านที่มีชื่อว่า “แก้วตาเหิน” หลังนี้ คงเปรียบได้กับหญิงผู้งามสง่าเต็มเปี่ยมด้วยบารมี ชื่อของบ้านเป็นชื่อเรียกอีกชื่อของดอกมหาหงส์ ซึ่งมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว และเป็นดอกไม้ที่ คุณสุจินตนา จรรยาทิพย์สกุล เจ้าของบ้านชื่นชอบเป็นพิเศษ บ้านนี้ยังแฝงด้วยปรัชญาทางพระพุทธศาสนาในแทบทุกจุด เครื่องเรือนและของตกแต่งล้วนเป็นของเก่าจากหลายประเทศในแถบเอเชีย เช่น ไทย ล้านช้าง ล้านนา พม่า ลาว หลายชิ้นมีกลิ่นอายของยุโรปซึ่งได้จากยุคอาณานิคม บางชิ้นเป็นหีบไม้เก็บเสื้อผ้าและของใช้ในคาราวานยิปซีจากอินเดีย นอกจากนี้ยังมีข้าวของที่เป็นงานศิลปะจากแอฟริกา ศิลปะสไตล์อเมริกา รวมถึงเฟอร์นิเจอร์สมัยใหม่จากอิตาลี แม้จะเป็นการผสมผสานหลากวัฒนธรรมหลายอารมณ์ แต่ด้วยการจัดวางอย่างลงตัว ก็ทำให้ของทุกชิ้นอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่ขัดตา อ่านต่อ
5. กรุ่นกลิ่นไม้ในบ้านสไตล์ล้านนา
เจ้าของ : คุณแทนธรรม รักขิตพินิจดุลย
ออกแบบภายใน : คุณฉัตริน อดิศรศักดิ์ธำรง
สีสันที่อบอุ่น กลิ่นหอมอันมีเสน่ห์ และผิวสัมผัสที่ละมุมละไม เป็นคุณสมบัติพิเศษของเนื้อไม้ ซึ่งยากจะหาวัสดุใดมาทดแทน และเป็นจุดเริ่มต้นของความหลงใหลในไม้ที่นำพาให้ คุณแทนธรรม รักขิตพินิจดุลย์ ตัดสินใจดัดแปลงบ้านจัดสรรสไตล์โมเดิร์นหลังนี้ให้กลายเป็นบ้านสไตล์ล้านนา บ้านหลังนี้ดูโดดเด่นและแตกต่างจากบ้านหลังอื่นในโครงการอย่างสิ้นเชิง เพราะตัวบ้านตกแต่งด้วยไม้เนื้อแข็งผสมกับคอนกรีตกรุหินแม่น้ำ ล้อมรอบด้วยสวนสไตล์ทรอปิคัล รับกับทางเดินคอนกรีตตกแต่งพื้นผิวด้วยกรวดแม่น้ำทอดไปสู่ทางเข้าบ้าน ซึ่งตกแต่งด้วยเชิงบันไดตามแบบสถาปัตยกรรมล้านนา ถัดไปคือสวนและเรือนรับรองหลังเล็กที่ดัดแปลงมาจากหลองข้าว (เรือนเก็บข้าว) อันเป็นเอกลักษณ์ของบ้านล้านนา อ่านต่อ
เอกลักษณ์ของบ้านภาคเหนือ
บางส่วนของภาคเหนือเดิมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนา จึงมีรูปแบบสถาปัตยกรรมเฉพาะ แตกต่างจากภาคอื่น สถาปัตยกรรมที่โดดเด่นที่สุดคือ “เรือนกาแล” เป็นเรือนสำหรับผู้มีฐานะ หรือผู้นำชุมชน แตกต่างจากเรือนสามัญชนตรงที่จะก่อสร้างด้วยความประณีต มีแบบแผนการสร้างเป็นระเบียบชัดเจน และมีการประดับ “กาแล” ซึ่งเป็นไม้แกะสลักสวยงามบนยอดจั่ว เรือนกาแลเป็นเรือนไม้เนื้อแข็ง ยกใต้ถุนสูงไม่มาก มักเป็นเรือนแฝด นิยมสร้างหลังหนึ่งใหญ่กว่าอีกหลังตามความเชื่อ มีหลังคาใหญ่ ชายคาคลุมเรือนเกือบทั้งหมด มีหน้าต่างน้อย ผนังผายออก มักมี “ฝาไหล” เป็นฝาไม้กระดานที่เลื่อนเปิด – ปิดได้เพื่อช่วยรับลมเข้าบ้าน และมีครัวไฟแยกออกไปเป็นสัดส่วน มี “เติ๋น” เป็นพื้นที่กึ่งเปิดโล่งอเนกประสงค์สำหรับใช้นั่งเล่น ซึ่งมีตำเเหน่งอยู่ระหว่างห้องกับ “นอกชาน” ที่เป็นพื้นที่เปิดโล่ง
รวบรวม : Tarnda บ้านล้านนาอยู่สบาย
ภาพ : ฝ่ายภาพบ้านและสวน