ใช้ชีวิตผ่อนคลายแบบพอดี ใน บ้านทรงไทย เรือนพักหลองข้าว อำเภอสันกำแพง เชียงใหม่

บ้านทรงไทย จากหลองข้าวเก่ามาสู่เรือนพักผ่อนที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติอันร่มรื่นท่ามกลางบรรยากาศที่สงบและเป็นส่วนตัวในอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เจ้าของตั้งใจเก็บสถาปัตยกรรมโบราณเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ดูและสามารถใช้งานได้จริง โดยตั้งชื่อไว้ว่า “วิลล่า มัชฌิมา” เพื่อบอกถึงการใช้ชีวิตตามหลักทางสายกลาง

สถานที่: วิลล่า มัชฌิมา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่    บ้านไม้ใต้ถุนสูงสไตล์ล้านนา

สันกำแพงเป็นอำเภอที่อยู่ทางตะวันออกของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งใช้เวลาเดินทางออกมาจากกลางเมืองเพียงครึ่งชั่วโมงก็สัมผัสได้ถึงธรรมชาติและความสงบเงียบแบบชนบท และที่นี่ยังมีโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางแมกไม้น้อยใหญ่ ด้วยถนนขนาดเล็กด้านหน้าเป็นเหมือนปราการช่วยกั้นไม่ให้ความวุ่นวายและเสียงรบกวนจากรถยนต์ขนาดใหญ่เข้ามาถึง ภายในจึงสงบเงียบจนได้ยินเสียงใบไม้ไหวตามแรงลมและเสียงนกน้อยเจื้อยแจ้วอย่างชัดเจน เมื่อแหงนหน้าขึ้นมองฟ้าจึงเห็นเรือนไม้ไทยโบราณอยู่ด้านหลังแนวรั้วต้นไม้สีเขียวครึ้ม

ดูจากลักษณะที่ตั้งของเรือนไทยเก่าพอจะบอกได้ว่าที่นี่เป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนขนาดเล็กซึ่งอยู่กันแบบเรียบง่าย จึงไม่มีการกั้นรั้วสูงจนมองไม่เห็นเพื่อนบ้านใกล้เคียง แต่อาศัยต้นไม้เป็นขอบเขตธรรมชาติทางสายตา และที่นี่เองที่เป็นโฮมสเตย์ในชื่อ วิลล่า มัชฌิมา ที่พักสำหรับคนโหยหาธรรมชาติและความสงบในทางสายกลางที่พอดีกับจิตใจ

เรือนยุ้งข้าว  หลองข้าว  บ้านไม้
เรือนที่พักหลังนี้มองเห็นหลังคาทรงจั่วชัดเจนพร้อมกับซุ้มบันไดที่เป็นทางเดินเชื่อมไปสู่เรือนที่พักอีกหลังหนึ่ง
เรือนยุ้งข้าว หลองข้าว  บ้านไม้
หลองข้าวเก่านำมาปรับปรุงให้กลายเป็นวิลล่าสำหรับพักอาศัย โดยชั้นบนตกแต่งเป็นห้องนอนและใต้ถุนชั้นล่างเป็นพื้นที่่ใช้สอยส่วนกลาง
ความร่มรื่นจากต้นไม้น้อยใหญ่ที่คุณปูปลูกและจัดแต่งเอง  บางต้นก็หอบหิ้วมาจากกรุงเทพฯ ด้วยความผูกพันอย่างเฟินสไบนางต้นนี้
บ้านไม้ หลังคาจั่ว
จากแนวรั้วต้นไม้สีเขียวด้านหน้ามีประตูไม้บานเล็กเป็นทางเข้าสู่วิลล่าด้านใน

คุณปู- ชยสิริ วิชยารักษ์ ผู้หญิงซึ่งเคยเป็นที่รู้จักในฐานะเจ้าแม่อาคารโบราณ ผู้ปลุกปั้นบ้านเก่าทิ้งร้างกว่า 20 ปีริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้กลายเป็น “พระยา พาลาซโซ” โรงแรมบูติกสุดสวย เธอมาเจอเรือนไม้เก่าหลังนี้ที่กำลังบอกขาย ด้วยความเสียดายไม่อยากให้สถาปัตยกรรมไทยโบราณต้องถูกรื้อทิ้งแยกส่วนขายเป็นชิ้นไม้เก่า ก็เลยตัดสินใจขอซื้อและลงมือลงแรงบูรณะทั้งหมดขึ้นใหม่ เพื่อปรับปรุงหลองข้าวเก่าของชาวเหนือให้กลายเป็นเรือนพักที่แสนสบาย

“ด้วยความที่เป็นหลองข้าวเก่ามีโครงสร้างเป็นไม้แต่ก็มีสเกลใช้งานเล็กๆ ที่ไม่เหมือนบ้าน เมื่อเรานำมาปรับปรุงให้เป็นบ้าน บางอย่างก็ต้องเติม อย่างการเพิ่มสัดส่วนความสูงของพื้นที่ในห้องน้ำ บางอย่างก็ต้องรื้อออกเช่นรายละเอียดที่มากเกินไป อย่างน้อยก็ถือว่าได้เก็บสถาปัตยกรรมโบราณเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ดูและสามารถใช้งานได้จริง โดยตั้งชื่อไว้ว่า วิลล่า มัชฌิมา’ เพื่อบอกถึงการใช้ชีวิตด้วยทางสายกลาง คือมีทั้งธรรมชาติและความสะดวกสบายแบบพอดี”

พื้นที่ใต้ถุน
พื้นที่ใต้ถุนบ้านใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่ส่วนกลางได้อย่างอเนกประสงค์ทั้งเป็นมุมนั่งเล่นและรับประทานอาหาร
พื้นที่ใต้ถุน
ด้วยความที่เป็นพื้นที่ใต้ถุนเปิดโล่ง จึงได้มุมมองที่เชื่อมต่อถึงกันได้ รวมถึงรับแสงและลมธรรมชาติได้สบาย
นอกจากที่นั่งเล่นใต้ถุนบ้านแล้ว ยังมีตู้หนังสือให้เลือกหยิบอ่านเพื่อความผ่อนคลายได้

ตัวเรือนพักประกอบขึ้นมาจากหลองข้าวเก่า 2 หลัง มีซุ้มทางเดินเชื่อมอยู่ตรงกลาง แต่ละหลังจึงแบ่งเป็นห้องพักอย่างละหนึ่งห้องนอน พร้อมระเบียงไม้ขนาดกว้าง และมีลานนั่งเล่นส่วนกลางใช้จิบน้ำชากาแฟหรือเอนหลังอ่านหนังสือได้สบาย ส่วนใต้ถุนของทั้งสองหลังปรับให้เป็นพื้นที่ใช้สอยส่วนกลางซึ่งประกอบด้วยมุมนั่งเล่น มุมรับประทานอาหาร มุมอ่านหนังสือ และห้องครัวซึ่งมีอุปกรณ์สำหรับทำอาหารไว้อย่างครบครัน

แต่เสน่ห์ของโฮมสเตย์ในรูปแบบเรือนไทยนี้อาจไม่ครบสมบูรณ์ หากขาดความร่มรื่นทางธรรมชาติ ซึ่งคุณปูได้บรรจงปลูกและเติมแต่งไว้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ใหญ่ที่คอยให้ร่มเงา ไม้ทรงพุ่มให้ความรื่นรมย์ในระดับสายตา และไม้กระถางน้อยใหญ่มาเติมเต็มพื้นที่สีเขียวรอบๆ รวมถึงพืชผักสวนครัวที่ปลูกไว้ด้านในสุด ซึ่งสามารถหยิบจับมาใช้สอยเป็นส่วนประกอบสำหรับอาหารและเครื่องดื่มได้อย่างสบายใจ

ส่วนนั่งเล่นแบบไทย
ลานนั่งเล่นส่วนกลางบริเวณชั้น 2 จัดแต่งด้วยเบาะและหมอนให้นั่งกับพื้นได้สบาย
ที่นั่งไม้
ที่นั่งไม้ริมขอบระเบียงเหมาะสำหรับการนั่งมองท้องฟ้าที่ปลอดโปร่ง
หลองข้าว เรือนยุ้งข้าว ห้องนอนสีขาว
บรรยากาศผ่อนคลายภายในห้องนอนขนาดกะทัดรัด  เนื่องจากปรับปรุงพื้นที่มาจากสัดส่วนของหลองข้าวเก่า
เฟอร์นิเจอร์ไม้
เฟอร์นิเจอร์ไม้โบราณที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ยุคสมัยใหม่ได้อย่างกลมกลืน
ระแนงไม้ฉลุ
แสงเงาสวยๆ ที่ทอดผ่านลวดลายของงานไม้เก่าสร้างความรู้สึกผ่อนคลาย
บริเวณลานกว้างเชื่อมต่อระหว่างเรือนที่พักกับบ้านของคุณปู  ประดับด้วยงานศิลปะจากเซรามิกที่แฝงนัยถึงสัจธรรมในชีวิต

ไม่เพียงจะเป็นที่พักที่กลมกลืนไปกับชุมชน แต่ของใช้ของตกแต่งภายในโฮมสเตย์เองก็สนับสนุนงานฝืมือของคนท้องถิ่นและงานออกแบบของดีไซเนอร์ไทย ทั้งโคมไฟ จานชามเซรามิก งานผ้าปัก และภาพประดับตกแต่ง หลายๆ อย่างจึงเป็นองค์ประกอบของธรรมชาติที่ลดการปรุงแต่ให้น้อยลง ภายในห้องพักไม่มีทีวี แต่มีไวไฟให้ใช้ ไม่มีเครื่องเสียงให้เปิดแต่มีหนังสือให้อ่านหลายเล่ม พร้อมทั้งจักรยานสำหรับขี่ชมธรรมชาติ ตลาด และชุมชนโดยรอบ หรืออยากเรียนทำอาหารไทย ปั้นเซรามิก และปักผ้า คุณปูก็สามารถจัดหาผู้เชี่ยวชาญมาสอนให้ได้ถึงบ้าน

ด้วยความที่เริ่มต้นเพียงสองห้องพักที่อยู่ภายในรั้วบ้านเดียวกับของคุณปู ถ้าต้องการจะมาดื่มด่ำธรรมชาติและความสงบสบายของที่นี่ ขอแนะนำให้ติดต่อนัดหมายพูดคุยกันล่วงหน้ากันก่อน เพื่อให้เจ้าบ้านเตรียมตัวพร้อมต้อนรับและยังอาจมีเวลาแนะนำที่เที่ยวแนวธรรมชาติที่ซุกซ่อนอื่นๆ ภายในชุมชนให้อีกด้วย


เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์    บ้านไม้ใต้ถุนสูงสไตล์ล้านนา

ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ

พักสบายในเรือนยุ้งข้าว ในเขตเมืองเก่าอายุกว่าพันปีของเวียงกุมกาม จังหวัดเชียงใหม่  

MARNDADEE HERITAGE RIVER VILLAGE

เรือนรับรองความสุข