การสร้างแหล่งอาหารได้จากในบ้านของตัวเองทำให้เราสามารถดำรงชีวิตแบบพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน บ้านสวยทั้ง 5 หลังที่เรานำมาให้ชมกันนี้เป็นตัวอย่างของการออกแบบบ้านให้มีแปลงผักส่วนตัว บางหลังยังเลี้ยงสัตว์อย่างไก่ ปลา กุ้ง เพื่อเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารในครัวเรือนกันด้วย ซึ่งการเปลี่ยนบ้านให้เป็นฟาร์มไม่ได้จำเพาะเจาะจงว่าต้องเป็นบ้านในชนบทเท่านั้น แม้แต่ทาวน์เฮ้าส์ในเมืองก็สามารถมีแหล่งอาหารเป็นของตัวเองได้ ลองเลื่อนชมไอเดียของบ้านแต่ละหลังกันได้เลย
บ้านฟาร์มปลูกผักกินเอง
1. ชีวิตธรรมดาในบ้านไม้ใต้ถุนสูง
เจ้าของ : คุณสายันต์ ทิพย์แสง และคุณอารมณ์ วิรัชศิลป์ บ้านฟาร์มปลูกผักกินเอง
สถาปนิก : Studio Miti โดยคุณประกิจ กัณหา
ตกแต่งภายใน : บริษัทเอเดค อินทีเรียส์ จำกัด
บ้านไม้ใต้ถุนสูงที่ตั้งใจสร้างขึ้นเพื่ออยู่อาศัยอย่างเรียบง่าย รูปทรงของบ้านยังได้แรงบันดาลใจจากบ้านทรงไทยมอญของชุมชนใกล้เคียงมาปรับใช้ เพื่อเลี่ยงปัญหาพื้นที่น้ำท่วมถึง พร้อมๆ ไปกับวางแผนทำเกษตรกรรมแบบพอเพียงในพื้นที่รอบๆ บ้าน ตามทฤษฎีของในหลวงรัชกาลที่ 9 ตั้งแต่จัดแบ่งพื้นที่สำหรับทำบ่อกักเก็บน้ำไว้ใช้และเลี้ยงปลา 30 เปอร์เซ็นต์ ปลูกข้าว 30 เปอร์เซ็นต์ ปลูกผลไม้ ไม้ยืนต้น พืชไร่ 30 เปอร์เซ็นต์ และเป็นที่อยู่อาศัย 10 เปอร์เซ็นต์ เจ้าของบ้านตั้งใจไว้ว่าอยากกินอะไรก็ปลูกเลย วางโซนผักสวนครัวไว้หลังบ้านเพื่อให้หยิบใช้งานเข้าครัวได้ง่าย รอบๆ เป็นต้นไม้ใหญ่แซมด้วยไม้เลื้อยอย่างถั่วฝักยาว แล้วก็มีเรือนเล็กเป็นคอกไก่อารมณ์ดี เพราะเปิดเพลงให้ไก่ฟังด้วย ทุกคนในบ้านจึงอยู่ได้อย่างไม่เดือดร้อน เพราะมีของกินสลับเปลี่ยนทุกวัน พอเหลือแจกก็แบ่งขาย ลูกชายมีที่วิ่งเล่นบนผืนดินกว้างๆ และว่ายน้ำได้สบาย ทำให้รู้สึกถึงชีวิตที่อยู่แบบพึ่งพาตัวเองได้ และมีความสุขง่ายๆกับชีวิตในบ้านที่ตั้งชื่อว่า “ทำ-มะ-ดา” ได้มากขึ้นทุกวัน >>> อ่านต่อ
2. บ้านไร่กลางทุ่งที่สร้างด้วยเงินเก็บสามแสนและน้ำพักน้ำแรงฉบับคนบ้านนอก
เจ้าของ: คุณในดวงตา ปทุมสูติ – คุณรุ่งโรจน์ ไกรบุตร บ้านฟาร์มปลูกผักกินเอง
บ้านไร่หลังเล็กที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงและพลังใจของผู้เป็นเจ้าของที่ละทิ้งชีวิตวุ่นวายในเมืองกรุง มุ่งมั่นกลับมาทำกินบนผืนดินของบรรพบุรุษที่จังหวัดสุพรรณบุรี โครงสร้างบ้านเสร็จด้วยฝีมือช่างชาวบ้านที่ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ต่อจากนั้นก็เป็นสองมือของเจ้าของบ้านฝ่ายชายที่ทำงานไม้ทั้งหมด คือ ผนัง ประตูหน้าต่าง และเฟอร์นิเจอร์บางส่วน นอกจากนี้ยังได้เตรียมแหล่งอาหารไว้ด้วย ทั้งแปลงผักสวนครัวที่เปลี่ยนชนิดผักที่ปลูกบ้าง ถือเป็นวิธีธรรมชาติเพื่อป้องกันโรคและแมลงซึ่งมักลุกลามเมื่อปลูกผักชนิดเดียวติดต่อกัน รวมถึงมียุ้งข้าวสำหรับเก็บกินในบ้าน มีบ่อน้ำธรรมชาติใช้อุปโภค โดยขุดบ่อและปลูกไผ่โดยรอบเป็นอาณาเขต ไผ่รวกไว้กินหน่อ ไผ่หนามมีลำใหญ่ไว้ใช้ทำรั้ว ส่วนหนึ่งเป็นดงกล้วย อีกส่วนทำนา นอกนั้นปลูกไม้ยืนต้นไว้ใช้ไม้ นับเป็นบ้านไร่แสนสุขที่น่าอยู่จริงๆ >>> อ่านต่อ
3. บ้าน ฟาร์ม และคาเฟ่ของเจมส์ 500 เฟ็ดเฟ่ ที่มีต้นกล้าผักออร์แกนิกให้กลับบ้านฟรี!
เจ้าของ : คุณจอมพล อุ้มมีเพชร
เมื่อหนุ่มยูทูปเปอร์เปลี่ยนบ้านเช่าขนาดเพียง 100 ตารางวาในย่านรามคำแหง 110 ให้ดูร่มรื่นและมีบรรยากาศเป็นกันเองสไตล์ชนบท ด้วยการทำฟาร์มในเมืองที่มีคาเฟ่เล็กๆใช้ชื่อว่า James500 Organic Farm Style ให้คนอื่นๆได้มาสัมผัสกับวิถีออร์แกนิก ภายในบริเวณบ้านที่มีการแบ่งสัดส่วนพื้นที่อย่างชัดเจน โดยเปิดรั้วให้เป็นทางเข้าร้านแยกจากทางเข้าบ้าน พร้อม ทำทางเดินไม้ไผ่พาไปยังโซนต่างๆ คือ โซนพื้นบ้าน โซนทะเล โซนสวนป่า โซนกระบองเพชร ซึ่งมีที่ให้นั่งเล่นแทรกอยู่ทุกมุม เจ้าของบ้านเล่าว่าเริ่มต้นจากการหลงรักต้นไม้เมื่อไปเดินงานบ้านและสวนแฟร์ และนำพาให้รู้จักแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงเริ่มปลูกพืชผักสวนครัวด้วยความคิดง่ายๆ คือ ปลูกผักที่ชอบกิน กินผักที่ชอบปลูก และแบ่งปันเพื่อนบ้าน จนถึงตอนนี้ยังได้สร้างเครือข่ายเกษตรกรออร์แกนิก ซึ่งเป็นอีกช่องทางในการช่วยเหลือเพื่อนเกษตรกรในหลายจังหวัดให้นำสินค้าเข้าถึงผู้บริโภคในเมือง เมื่อมีหลักให้ใจยึดและนำมาปรับใช้ จึงรู้จักการย่างก้าวที่พอดี ไม่เร่งรีบ เจ้าของบ้านจึงมีความสุขกับความพอเพียง >>> อ่านต่อ
4. สวนในศีล…เกษตรง่ายๆ ในบ้านบนพื้นที่ 1 ไร่
เจ้าของ : คุณอรรถกานท์ พิมพ์วงศ์ คุณเบญจมาศ อ่อนกล่ำผล และเด็กชายในศีล พิมพ์วงศ์
บนพื้นที่ 1 ไร่ มีบ้านสีขาวทรงสี่เหลี่ยมที่ชวนให้นึกถึงบ้านบนเกาะริมทะเล ที่ทำผนังบ้านเป็นคลื่นๆ กินพื้นที่ไม่มาก นอกนั้นเป็นพื้นที่ของสวน เจ้าของบ้านเล่าว่าพอมีลูกก็เริ่มคิดอยากให้เขาได้อยู่กับธรรมชาติ จึงเริ่มลงมือปลูกผักไม่กี่แปลง จนถึงทุกวันนี้มีการปลูกพืชผักไว้อย่างเป็นหมวดหมู่หลากหลายชนิด เรียกได้ว่าพร้อมให้เก็บกินได้ทุกวัน โดยมีหลักในการปลูกคือ อยากกินอะไรก็ปลูกเลย ก่อนจะขยับขยายไปเลี้ยงไก่ไข่และกุ้งก้ามแดงหรือที่เรียกกันว่าล็อบสเตอร์น้ำจืด ดำเนินรอยตามเกษตรทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยตั้งชื่อที่นี่ว่า “สวนในศีล” ตามชื่อของลูกชาย และตั้งใจจะถ่ายทอดส่งต่อแรงบันดาลใจในเรื่อง “เกษตรแบบง่ายๆ ไม่มีทฤษฎีแต่ได้ผลดี” โดยเปิดให้เด็กๆ และครอบครัวเข้ามาเรียนรู้ธรรมชาติได้ >>> อ่านต่อ
5. Farmsup บ้านชั้นเดียวกลางทุ่งที่อยู่แบบพอเพียง
เจ้าของ : คุณศุภรัฐ ทินจันทร์ และคุณชลียา วามสิงห์
สถาปนิก : I like design studio โดยคุณณฤชา คูวัฒนาภาศิริ
ตกแต่งภายใน : Chaleeya DESIGN
เจ้าของบ้านที่มีชื่อว่า “Farmsup” หลังนี้ มีแนวคิดของการสร้างบ้านอยู่อาศัยแบบพอเพียงควบคู่ไปกับการทำเกษตรพึ่งพาตัวเองได้มาหลายปีแล้ว หลังจากใช้ชีวิตแบบคนทำงานในเมืองมาอย่างเต็มอิ่ม ก็ได้พบกับทางสายกลางของชีวิตด้วยการสร้างบ้านขนาดพอเพียงอยู่บนที่ดินท่ามกลางธรรมชาติอันสงบเงียบในจังหวัดปทุมธานี ในความเรียบง่ายของบ้านหลังนี้ยังผสมผสานด้วยฟังก์ชันเก๋ๆ จากสไตล์ความชอบที่ต่างกันของเจ้าของบ้าน โดยฝั่งขวาของบ้านเรียกกันว่าส่วนของวิลล่าตากอากาศที่ออกแบบให้ดูสวยงาม มีฟังก์ชันครบ และชวนผ่อนคลาย ตามความต้องการของเจ้าของบ้านฝ่ายหญิง ขณะที่ฝั่งซ้ายของบ้านเป็นส่วนของโรงนาสำหรับเก็บเครื่องมือการเกษตรของเจ้าของบ้านฝ่ายชาย กรุด้วยเมทัลชีตที่ดูเรียบเท่ โดยทั้งสองส่วนเชื่อมต่ออยู่ภายใต้ผืนหลังคาจั่วเดียวกัน ในระหว่างที่สร้างบ้าน เจ้าของบ้านยังได้ศึกษาเรื่องวิธีปรับดินเปรี้ยวให้ทำเกษตรได้ ไปอบรมและหาความรู้จากหลายที่ เปิดตำราของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องการแกล้งดินยังไง ศึกษาระบบอควาโปนิกส์เพื่อปลูกพืชและเลี้ยงปลาไปด้วยกันได้ และทำสวนครัวยังไงให้รอด >>> อ่านต่อ
รวบรวม : Tarnda บ้านฟาร์มปลูกผักกินเอง
ภาพ : ฝ่ายภาพบ้านและสวน