นี่คือช่วงเวลาของ Bangkok Art Biennale 2020 (BAB 2020) หรือ เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ที่วนกลับมาสร้างความสุขให้กับคนรักงานศิลป์อีกครั้ง ตามวาระครบสองปีที่จะจัดหนึ่งครั้งเป็นเวลาสามเดือนเต็ม และครั้งนี้งานจะจัดยาวเรื่อยไปจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2564
BAB 2020 ในแนวคิด “Escape Routes” หรือ “ศิลป์สร้าง ทางสุข” ได้รวมผลงานศิลปะหลากหลายแขนงเอาไว้กว่า 200 ชิ้นงาน จาก 82 ศิลปินชั้นนำที่มาจาก 35 ประเทศทั่วโลก ใน 5 ทวีป กระจายกันอยู่ตาม 10 จุด จัดแสดงหลักใจกลางกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยเดอะ ปาร์ค BAB BOX เดอะ พรีลูด โครงการวัน แบงค็อก วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร หอศิลปวัฒนธรรม แห่งกรุงเทพมหานคร ล้ง 1919 มิวเซียมสยาม และริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก
ท่ามกลางความหลากหลายของงานศิลป์ที่คุณจะเจอ room ได้คัดเฉพาะงานศิลปะจัดวาง และประติมากรรม 10 ผลงาน ที่ชื่นชอบและอยากบอกต่อ ถ้าหากคุณพลาดไปชมกับตาแล้วจะเสียใจทีหลัง จะมีงานไหนบ้างนั้น มาเริ่มกันเลย!
01 | Sky Mirror
ผลงานโดย Anish Kapoor
จัดแสดงที่ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
แม้เป็นเพียงชิ้นเดียวที่จัดแสดงอยู่ที่วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหารก็ตาม แต่ผลงานของ อนิช คาพัวร์ ศิลปินผู้เกิดในมุมไบ ประเทศอินเดีย ก่อนย้ายไปพำนักอยู่ในลอนดอน สหราชอาณาจักร ที่ได้ชื่อว่าเป็นศิลปินในสาขาประติมากรรม ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดของโลกคนหนึ่งในปัจจุบัน เย้ายวนให้เราเลือกที่จะไปชมกับตาเป็นแห่งแรก
ผลงาน Sky Mirror ของเขาตีความ “ความว่างเปล่า” ผ่านแผ่นสเตนเลสทรงกลมกลางผืนหญ้า สะท้อนเงาต้นไม้และท้องฟ้าที่คละก้อนเมฆสีขาว รวมถึงบางจังหวะเวลาที่มีผู้เข้ามาปฏิสัมพันธ์กับผลงานนี้ จนเกิดเป็นเงาสะท้อนที่เติมเต็มความว่างเปล่านั้นให้มีชีวิตชีวาได้เป็นอย่างดี
02 | Push/Pull, 2009
ผลงานโดย Anish Kapoor
จัดแสดงที่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)
งานของอนิช คาพัวร์ ไม่ได้จบอยู่แค่วัดอรุณฯ เพียงคุณนั่งเรือข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามาที่วัดโพธิ์ คุณจะพบกับอีกหนึ่งผลงานของเขาจัดแสดงอยู่ภายในศาลาการเปรียญ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 2 ผลงานที่จัดแสดงอยู่ที่นี่ร่วมกับอีกหนึ่งศิลปิน คือ อัฐพร นิมมาลัยแก้ว ที่ก็น่าชมเช่นกัน
ผลงาน Push/Pull ของอนิชโดดเด่นด้วยประติมากรรมที่ทำจากแว็กซ์สีแดงอบเชย อันเป็นสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาที่สื่อถึงความว่างเปล่าและการมองไม่เห็น และเม็ดสีน้ำมันทั้งหมด 5 ตัน จัดวางบนพื้นหินอ่อนไวท์คาราร่า (White Carrara) อนิชนำเรื่องราวของแรงโน้มถ่วง แรงตึง รวมถึงปริมาตรและวัสดุที่เป็นเหมือนด้ามเลื่อยมาสร้างสรรค์ เพื่อสื่อความตระหนักถึงชีวิต เลือดเนื้อ แม่ และธรรมชาติต่อผู้มาชม และทำการเจริญสติต่อหน้าพระพุทธรูปทองคำปางนั่งสมาธิบนบัลลังก์
03 | Hundreds of Parents, 2020
ผลงานโดย ไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์
จัดแสดงที่ The PARQ
“หนีเสือปะจระเข้” สำนวนไทยที่เราคุ้นเคย ได้รับการตีความผ่านผลงานของ ไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์ ศิลปินจากเชียงใหม่ผู้นี้ ซึ่งเขานำเสนอการหนีเอาชีวิตรอดที่เป็นอุปลักษณ์ของบาปและภยันตรายที่มนุษย์สร้างขึ้น
ผลงาน Hundreds of Parents ของเขาโดดเด่นด้วยโครงเหล็กขนาดใหญ่คล้ายกับเครื่องมือสำหรับใช้ดักจับปลา ซึ่งไทวิจิตแทนค่าสัตว์น้ำเหล่านั้นเป็นเศษซากขยะพลาสติก อันสะท้อนความเชี่ยวชาญในการนำสิ่งของเหลือทิ้งมาสร้างงานเป็นศิลปะอยู่แล้วเป็นทุนเดิม และสะท้อนปัญหาขยะล้นเมืองที่ยังแก้ไม่ตกในห้วงเวลาปัจจุบันไปในคราวเดียว
04 | Tooth Clinic, 2020
ผลงานโดย โน้ต กฤษดา ภควัตสุนทร
จัดแสดงที่ The PARQ
โน้ต กฤษดา ภควัตสุนทร นำประสบการณ์และความทรงจำในวัยเยาว์ของตน เมื่อครั้งต้องไปคลินิกหมอฟัน มาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะที่ถนัดทั้งการวาดเส้น งานประติมากรรม และแอนิเมชันสามมิติ เพื่อชักชวนให้ผู้มาชมคิดถึงการไปพบหมอฟัน เพื่อการจัด ถอน หรือรักษาเพื่อให้ฟันสวยสุขภาพดี แต่เป็นสิ่งที่เด็กมักขยาด ซึ่งรวมถึงตัวของโน้ตเองก็เช่นกัน
Tooth Clinic นำเสนอผ่านความงามของฟันแต่ละซี่ที่อาจแลกมาด้วยความเจ็บปวด โน้ตตีความสิ่งที่เขาอยากหลีกหนีมาตั้งแต่เด็กมากระตุ้นให้ผู้ชมรำลึกช่วงเวลาดังกล่าวไปพร้อมกับเขา ก่อนจะมีวันที่ฟันสวยสุขภาพดีเช่นในตอนนี้
05 | A Child’s World in the Days of Adults, 2014-2016
ผลงานโดย ณรงค์ยศ ทองอยู่
จัดแสดงที่ The PARQ
ณรงค์ยศ ทองอยู่ ศิลปินจากสงขลาผู้นี้พยายามค้นหา “ความจริงเกี่ยวกับวัสดุ” เพื่อเผยแก่นแท้ของความจริงนั้น ผ่านการรังสรรค์ผลงาน “ตุ๊กตาตาบอด” ที่กระตุ้นให้ผู้ชมเกิดการเปรียบเทียบความเป็นจริงกับจินตนาการ
ณรงค์ยศ ย้อนกลับไปในวัยเยาว์แล้วหยิบกระบวนการประดิษฐ์ของเล่นของเขามาสร้างตุ๊กตาตาบอดต่างคาแรกเตอร์ เพื่อบอกเล่าถึงความต้องการที่จะหลีกหนีความรู้สึกโดดเดี่ยว ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมในชีวิตประจำวัน หรือว่าการย้ายถิ่นฐานนั่นเอง
06 | Fortune Shelt(ell)er (2020)
ผลงานโดย New-Territories, with…
จัดแสดงที่ Bangkok Art and Culture Centre (BACC)
ผลงานของ นิว-เทอร์ริทอรี่ส์ นำเสนอแง่มุมของเมืองกรุงเทพฯ ในปัจจุบันที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จนส่งผลกระทบต่อศิลปะ วัฒนธรรม และวิถีชีวิต
ผลงานนี้เสมือนห้องทดลองศิลปะเทียมที่มีหุ่นยนต์คนสวนคอยทดลองปลูกไมซีเลียมและเห็ดสายพันธุ์ใหม่ อ่านรายละเอียดของผลงานเพื่อทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อนไปชมผลงานของ นิว-เทอร์ริทอรี่ส์ ได้ที่ https://www.bkkartbiennale.com/artwork/Fortune-Shelter
07 | ผลงานศิลปะ DRAGONERPANZER
ผลงานโดย วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์
จัดแสดงที่ Bangkok Art and Culture Centre (BACC)
รถถังเซรามิกที่กล่าวถึงเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ที่ศิลปะเคยมีค่ามากกว่ากองทหารม้ากว่า 600 นาย! อ่านเนื้อหาฉบับเต็ม: DRAGONERPANZER เมื่อครั้งศิลปะ มีค่ามากกว่ากองทหาร
08 | Jack The Skinners, 2019
ผลงานโดย P7
จัดแสดงที่ Bangkok Art and Culture Centre (BACC)
จินตนาการสำคัญกับผู้มาชม! เพราะประติมากรรมโดย P7 ศิลปินสตรีทอาร์ตแถวหน้าของไทย ได้นำหุ่น Ventriloquist มาสร้างคาแรกเตอร์ใหม่ผ่านลายเซ็นการเล่าเรื่องในแบบของเขา จากบทบาทตัวร้ายในหนังสยองขวัญ P7 ได้มองเห็นด้านมืดทั้งกิเลสตัณหา ความรุนแรง และความเป็นฆาตกรในโลกแฟนตาซี มาสร้างคำถามปลายเปิดให้ผู้ชม แม้จะเล็งเห็นถึงความน่ารักในตัวของมัน แต่ในขณะเดียวกันมันก็ถูกซ่อนไว้ถึงความหมายที่ไม่ได้บ่งบอกเฉพาะเจาะจงว่า เจ้าหุ่น Ventriloquist ตัวนี้ กำลังหยิบยื่นอะไรให้กับผู้ชมอยู่กันแน่
09 | Law of Journey (2016)
ผลงานโดย Ai Weiwei
จัดแสดงที่ Bangkok Art and Culture Centre (BACC)
เรือเป่าลมสีดำในนาม Law of Journey โดยศิลปินชาวจีน อ้าย เว่ยเว่ย แล่นมาจอดอยู่กลางหอศิลปวัฒนธรรม แห่งกรุงเทพมหานคร พร้อมการบรรทุกร่างของผู้ลี้ภัยไร้ใบหน้า ซึ่งเว่ยเว่ยได้แรงบันดาลใจมาจากการไปเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยกว่า 40 แห่ง อาทิ บังกลาเทศ อิรัก ซีเรีย ตุรกี มาซิโดเนีย กรีซ เม็กซิโก และประเทศต่าง ๆ รวมกว่า 20 ประเทศ
ผลงานนี้เป็นตัวแทนของผู้ลี้ภัยทั่วโลก ซึ่งไม่เพียงแต่เรือเป่าลมสีดำเท่านั้น ยังมีภาพถ่ายและวิดีโอที่สะท้อนความโหดร้ายที่เกิดในค่ายผู้ลี้ภัยที่อพยพท่ามกลางสงคราม
10 | Untitled, 2020 (Infinite attempts never concluded)
ผลงานโดย ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวณิช
จัดแสดงที่ Bangkok Art and Culture Centre (BACC)
งานศิลปะจัดวางเขาวงกตไม้ไผ่ที่ตระหง่านล้ำอยู่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร คือผลงานของศิลปินไทย ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวณิช ที่ชักชวนให้เราสนใจตั้งแต่โครงสร้างไม้ไผ่ที่แม้ดูผิวเผินเหมือนไม่มีอะไรพิเศษ แต่ทันทีที่ก้าวผ่านเข้าไปในเขาวงกตนั้นกลับกระตุ้นให้เราเดินดุ่มไปถึงปลายทางที่มีกล่องพลาสติก Polyethylene Terephthalate (PET) ขนาดใหญ่ที่เขาตั้งใจให้ผู้มาชมได้ปลีกวิเวก เพื่อเยียวยาและประนีประนอมหัวใจในยุคแห่งความขัดแย้ง ความกลัว และความแตกแยก
เอาล่ะ ยังมีเวลาอยู่ รีบไปดูกับตาก่อนงานจบ ถ้าดูครบ 10 ชิ้นนี้แล้วยังไม่จุใจ ก็แวะไปชมผลงานอื่น ๆ ของศิลปินท่านอื่น ๆ กันได้ตามใจชอบเลย สนใจที่ไหน ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bkkartbiennale.com/
เรียบเรียง: ND24
ภาพ: สิทธิศักดิ์ น้ำคำ, สมัชชา วิราพร, ประภัสสร มั่งศิริ และศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์