บนพื้นที่ขนาด 45 ตารางวา แม้จะไม่ได้กว้างขวางใหญ่โต แต่เมื่ออยู่กลางเมืองที่เอื้อต่อการเดินทางได้สะดวกสบายก็นับว่าเป็นทำเลดีๆ สำหรับการมีบ้านอยู่อาศัยสักหลัง และนั่นเป็นเหตุผลเริ่มต้นที่ นายแพทย์ชวรัฐ จรุงวิทยากร และแพทย์หญิงปภัสรินทร์ เกิดสิริโรจน์กุล เลือกซื้อบ้านตรงนี้เพื่อสร้างเป็น บ้านทรงจั่วมินิมัล ของครอบครัว บ้านทรงจั่วสีขาวมินิมัล
เจ้าของ : นายแพทย์ชวรัฐ จรุงวิทยากร และแพทย์หญิงปภัสรินทร์ เกิดสิริโรจน์กุล บ้านทรงจั่วสีขาวมินิมัล
สถาปนิก : Greenbox Design โดยคุณสุรัตน์ พงษ์สุพรรณ์
“เดิมทีเป็นบ้านแฝดที่เก่ามากราว 30 ปีแล้ว เราปรึกษาสถาปนิกแล้วก็ตัดสินใจกันว่าทุบทิ้งสร้างใหม่เลยดีกว่า เพราะโครงสร้างเดิมก็เก่าไปตามอายุการใช้งาน และเราอยากได้บ้านที่อยู่สบายไปได้อีกนานๆ ตอนนั้นไม่มีไอเดียอะไรเลยนอกจากภาพบ้านโปร่งๆ มีช่องแสง มี Volume และก็บ่อปลา เพราะผมชอบเลี้ยงปลา ส่วนภรรยาก็ขอแค่มีที่ดูซีรี่ส์สบายๆ เท่านั้นเอง” คุณหมอฝ่ายชายย้อนเล่าถึงจุดเริ่มต้นของบ้าน
เมื่อโจทย์ที่ได้เป็นภาพกว้างๆ คุณจิ๊ฟ–สุรัตน์ พงษ์สุพรรณ์ สถาปนิกแห่ง Greenbox Design จึงใช้แนวทางการออกแบบโดยวิเคราะห์และศึกษาจากพฤติกรรมประจำวันของผู้อยู่อาศัย เพื่อกำหนดฟังก์ชันและผังห้องต่างๆ ของบ้านขึ้นมา รวมไปถึงยังมองภาพระยะยาวเรื่องการเติบโตของครอบครัวในอนาคต จากพื้นที่สำหรับดูแลลูกชายคนแรกที่เพิ่งคลอด ไปจนถึงพื้นที่การทำกิจกรรมร่วมระหว่างลูกชายที่กำลังโตกับคุณพ่อ โดยเน้นใช้ทุกมุมภายในบ้านให้เกิดประโยชน์สูงสุด
“จากเดิมที่เป็นบ้านสองชั้น เราก็ขยายพื้นที่ใช้งานให้เพิ่มขึ้นด้วยการออกแบบเป็นบ้านสามชั้น ภายใต้รูปทรงแบบโมเดิร์นมินิมัลสีขาวที่มีหลังคาเป็นรูปทรงจั่ว ด้วยเหตุผลว่าเราไม่สามารถยื่นชายคาที่ยาวออกไปมากได้เพราะติดเพื่อนบ้าน หลังคารูปทรงจั่วจึงเป็นทางเลือกที่ดีและทำให้เกิดมุมมองที่สูงโปร่ง ขณะเดียวกันก็ยังเพิ่มพื้นที่ใช้สอยภายในได้ด้วย เพื่อให้จั่วภายนอกดูสวยเรียบแบบมินิมัลก็ต้องมีการซ่อนพวกระบบรางน้ำต่างๆ ไว้ในผนัง ส่วนหลังคาใช้เป็นซิงเกิลรูฟติดฉนวนป้องกันความร้อนไว้ด้วย” คุณจิ๊ฟเล่าถึงรายละเอียดที่มาของบ้านทรงจั่่วหลังนี้
ห้องครัวที่ออกแบบไว้เป็นงานบิลท์อินที่แนบพื้นที่ไปตามผนังห้องเป็นรูปตัวแอล (L) โดยเน้นช่องจัดเก็บให้ได้มากที่สุด รวมถึงช่องสำหรับซ่อนเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวต่างๆ ให้สวยงาม เพิ่มดีไซน์ด้วยประตูบานเลื่อนที่พรางส่วนของเซอร์วิสและห้องแม่บ้านไว้ด้านใน เวลาที่ปิดประตูไว้จะดูเหมือนผนังกรุไม้ที่กลมกลืนไปกับชุดครัวทั้งหมด ขณะที่กลางห้องเป็นส่วนของโต๊ะไม้ขนาดยาว ซึ่งคุณจิ๊ฟออกแบบให้มีตู้ลิ้นชักล้อเลื่อนสำหรับเก็บภาชนะและอุปกรณ์ใช้งานบนโต๊ะอาหารไว้ใต้โต๊ะ เพื่อสามารถเลื่อนออกมาเป็นท็อปโต๊ะเล็กๆ ได้อีกเมื่อต้องการพื้นที่ใช้สอยเพิ่มเติม โดยโทนสีหลักของเฟอร์นิเจอร์และการตกแต่งภายในทั้งหมด เน้นผสมผสานระหว่างสีขาวกับงานไม้เพื่อให้พื้นที่ในบ้านดูโปร่งสบายและอบอุ่นมากที่สุด
แนวคิดนี้ได้รับการยืนยันจากคำบอกเล่าจากเจ้าของบ้านว่า “พอได้ใช้งานมุมนี้แล้วมีความสุขมาก เมื่อก่อนที่เราอยู่คอนโดมักชอบออกไปหาข้าวกินนอกบ้านกันตลอด แต่พออยู่บ้านนี้แล้วอยากทำกับข้าวกินเองทุกวัน เพราะพื้นที่ในห้องครัวใช้งานได้สบายมากๆ และเราก็ใช้เวลาอยู่ในห้องนี้บ่อยที่สุด รองๆ มาจากห้องนั่งเล่นบนชั้น 2 เลย”
แม้ห้องนั่งเล่นจะขึ้นไปอยู่บนชั้น 2 แต่ด้วยการออกแบบที่เน้นผนังกระจกเปิดออกสู่คอร์ตกลางบ้าน จึงช่วยเชื่อมมุมมองและการใช้พื้นที่ให้สัมพันธ์กันได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีมุมไหนถูกตัดขาดออกจากกัน ถึงจะทำกิจกรรมอยู่ละคนมุมก็ตาม โดยสถาปนิกยังออกแบบช่องบันไดขึ้นบ้าน ให้คล้ายเป็นปล่องตรงกลางเชื่อมทุกเสียงที่เคลื่อนไหวในบ้านให้รับรู้ถึงกันได้ ทำหน้าที่คล้ายๆ กับคอร์ตกลางบ้าน เพื่อสร้างความรู้สึกอบอุ่นระหว่างการใช้งานภายใน
“เนื่องจากพื้นที่บ้านค่อนข้างจำกัด โดยภายในมีขนาดใช้สอยราว 140 ตารางเมตร เราจึงสร้างคอร์ตโปร่งไว้ตรงกลางเพื่อใช้เป็นพื้นที่ส่วนกลางเชื่อมต่อฟังก์ชันของทุกชั้นภายในบ้านไว้ กลางคอร์ตมีทั้งมุมนั่งเล่น ทางเดิน บ่อปลาขนาดใหญ่ และต้นไม้หลักประจำบ้านซึ่งเป็นต้นพะยูงที่มีลักษณะสูงชะลูด เพื่อให้แนวลำต้นพ้นจากพัดลมกลางบ้านที่ติดไว้ แล้วค่อยไปกางกิ่งใบให้ร่มเงาด้านบน รวมถึงช่วยบังแดดที่จะส่องเข้าบ้านทางทิศตะวันตกด้วย นอกเหนือไปจากแนวบล็อกช่องลมที่ผมออกแบบกั้นเป็นผนังบ้านไว้ และอยากให้เจ้าของบ้านสามารถใช้พื้นที่คอร์ต ตรงกลางนี้ได้ในทุกฤดูกาลก็เลยทำหลังคาโปร่งแสงไว้ด้านบน เวลาฝนตกจะเห็นแนวน้ำที่ไหลลงไปรดน้ำต้นไม้ตรงคอร์ตได้เลย ส่วนฟังก์ชันภายในบ้านจะไล่สเต็ปไปในแนวตั้ง ซึ่งโดยพฤติกรรมเจ้าของบ้านทั้งคู่ชอบทำอาหารรับประทานเองเป็นหลัก แทนที่จะออกแบบห้องนั่งเล่นมาไว้เป็นห้องแรกของบ้านแบบที่หลายคนคุ้นชิน ก็เปลี่ยนผังมาวางห้องรับประทานอาหารกับห้องครัวไว้เป็นห้องแรกของบ้าน เวลาทั้งคู่ซื้อของสดกลับเข้าบ้านเมื่อจอดรถแล้วเดินเข้ามา ก็สามารถวางและจัดการเก็บเข้าตู้เย็นหรือเตรียมปรุงอาหารได้ทันที เพราะเราออกแบบฟังก์ชันให้ตอบรับไปกับพฤติกรรมของผู้ใช้งานจริงๆ”
“การเปิดโล่งผ่านผนังห้องนั่งเล่นเป็นรูปแบบเดียวกับที่เราออกแบบผนังห้องนอนหลัก ซึ่งอยู่อีกด้านหนึ่งของชั้น 2 และยังมีสเปซที่เน้นให้เกิดการเชื่อมต่ออีกระหว่างห้องนั่งเล่นกับ Playroom บริเวณชั้น 3 ซึ่งผมออกแบบให้เป็นเหมือนห้องอเนกประสงค์ หรือห้องกิจกรรมระหว่างพ่อลูกผ่านช่องตาข่ายสำหรับนอนเล่นที่มองเห็นกันได้ระหว่างชั้น 2กับชั้น 3 และเพิ่มพื้นที่ใต้หลังคาที่ตอนนี้ใช้เป็นมุมซ้อมตีกลองของคุณพ่อ อนาคตก็สามารถปรับให้เป็นห้องนอนลูกเพิ่มได้อีก ส่วนอีกฝั่งก็ยังมีห้องนอนเล็กอีกห้องที่เผื่อไว้ ซึ่งทำพื้นที่ชั้นลอยใต้หลังคาเหมือนกัน แต่เพิ่มความสนุกด้วยบันไดวนทำให้การใช้พื้นที่ในห้องนอนดูไม่น่าเบื่อ”
ด้วยพื้นที่ขนาดจำกัด แต่เมื่อออกแบบเน้นความโปร่งโล่งให้ทุกมุม เสริมด้วยฟังก์ชันที่ใช้ประโยชน์จากพื้นที่เล็กๆ ได้อย่างคุ้มค่า พร้อมด้วยพื้นที่กึ่งกลางแจ้งที่จำเป็นสำหรับคนเมืองและครอบครัวซึ่งต้องการพื้นที่ให้ลูกเล็กๆ ได้ออกมาทำกิจกรรมใกล้ชิดธรรมชาติได้ ที่นี่จึงกลายเป็นบ้านที่น่าอยู่สำหรับครอบครัว เหมือนอย่างที่เจ้าของย้ำไว้ว่า
“ชอบที่บ้านทั้งสวยและใช้งานได้จริง เชื่อว่าสามารถปรับฟังก์ชันให้ใช้งานไปได้จนลูกโต อย่างตอนนี้แม้จะไม่มีสนามหญ้า แต่เรามีพื้นที่นอกบ้านที่กั้นให้ลูกเล่นทรายได้ บางทีก็เอาสระน้ำมากางเล่นเปียกๆ ฝนตกก็ยังออกมานั่งเล่นได้ ตอนนี้พอมีเวลาว่างจากงานก็อยากกลับบ้านมาใช้เวลากับลูกๆ ที่บ้าน ถึงวันหยุดก็ไม่อยากออกไปไหนเลย รู้สึกว่าเป็นการลงทุนทำบ้านที่คุ้มค่าจริงๆ”
เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม, ติณณภพ เชาว์วาทิน
สไตล์ : วรวัฒน์ ตุลยทิพย์
บ้านไทย โมเดิร์นที่เรืองแสงได้ดั่งหิ่งห้อย
บ้านโมเดิร์นมินิมัลที่อยู่สบายเหมือนรีสอร์ท
รีโนเวตบ้านเก่าหลังคาทรงจั่ว ให้งดงามด้วยเส้นสายเรียบนิ่งทันสมัยสไตล์มินิมัล