บ้านพริกแกง ยกครกและโทนสีเครื่องแกง มาโขลกรวมเป็นรูปลักษณ์สถาปัตยกรรม
บ้านไม้ กึ่งอิฐ จากสีสันของพริกแกงและรูปลักษณ์ของครก นำมาสู่การตีความหมายให้งานสถาปัตยกรรมผ่านวัสดุและโทนสีที่สะท้อนวิถีชีวิตอันคุ้นเคยของผู้อาศัย
“บ้านพริกแกง” บ้านไม้ กึ่งอิฐ คืองานออกแบบชิ้นล่าสุดจาก BodinChapa Architects ที่พวกเขานำอิฐบล็อกและไม้เก่าจากอาคารเดิมก่อนรื้อสร้างใหม่ มาเติมชีวิตที่สองให้บ้านกึ่งโรงงานผลิตเครื่องแกงในจังหวัดสระบุรีหลังนี้ ที่เพียงแค่เห็นภาพเบื้องหน้าก็สัมผัสได้ถึงรูป รส กลิ่น เสียง ที่เกิดขึ้นทุกวี่วันในพื้นที่เหล่านั้น โดยที่ยังไม่ทันได้ก้าวขาย่างกายเข้าสู่ภายในบ้านเลยเสียด้วยซ้ำ
DESIGNER DIRECTORY : BodinChapa Architects
ในบริบทพื้นที่ซึ่งมีบ้านและตึกแถวเรียงรายติดกันหลายคูหา โดยมีทั้งตลาดสด และโรงงานผลิตพริกแกง ซึ่งเป็นกิจการครัวเรือนที่สร้างภาพจำให้ถนนสายนี้ จนทำให้ทุกคราที่ใครสัญจรผ่านไปมาจะสามารถมองเห็นกิจวัตรและกระบวนการผลิตพริกแกงของพวกเขาได้อย่างชัดเจน
จากเดิมบ้านหลังนี้เคยเป็นอาคารไม้ขนาด 2 ชั้นครึ่ง รวมถึงมีอาคารประกอบด้านข้าง ทำหน้าที่เป็นโรงงานผลิตพริกแกงมาหลายต่อหลายรุ่น ซึ่งความตั้งใจครั้งนี้ของเจ้าของอาคาร คือการปรับปรุงพื้นที่อาคารเดิมซึ่งมีสภาพค่อนข้างทรุดโทรม ให้สามารถกลายมาเป็นพื้นที่ที่เอื้อสำหรับการอยู่อาศัยไปพร้อมรองรับธุรกิจครัวเรือนในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ถึงแม้ว่าโครงสร้างเดิมของอาคารและพื้นบางส่วนนั้นจะผุพังจากทั้งปัญหาปลวกแทะไม้ เรื่อยไปจนถึงการใช้งานมาอย่างยาวนาน แต่สถาปนิกก็ยังคงตั้งใจที่จะเลือกเก็บวัสดุเดิมมาใช้กับการก่อสร้างอาคารใหม่ให้ได้มากที่สุด โดยการลงสำรวจเก็บข้อมูลพื้นที่และโครงสร้างอาคารเดิมอย่างละเอียด ไปพร้อมวางแผนการทำงานก่อสร้างควบคู่ไปด้วยกัน เนื่องจากระหว่างการก่อสร้างนั้นต้องมีพื้นที่รองรับการทำงานของโรงงานพริกแกงที่ไม่สามารถหยุดทำการผลิตได้ไปด้วยนั่นเอง
ข้อจำกัดนี้เองสร้างความท้าทายทั้งในการทำงาน และการก่อสร้างของทีมช่างเป็นอย่างมาก แต่ถึงกระนั้น ผู้ออกแบบก็อธิบายว่า ในกระบวนการออกแบบของพวกเขาจึงต้องคิดพื้นที่อาคารเผื่อไว้สำหรับการวางแผนการก่อสร้างโดยแบ่งออกเป็น 2 เฟส ทำให้พื้นที่ภายในบ้านถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการก่อสร้างไม่ให้กระทบกับกระบวนการผลิตตามที่ตั้งใจ และเป็นข้อจำกัดที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้โดยสิ้นเชิง
อีกหนึ่งข้อจำกัดคือบริบทโดยรอบของบ้านถูกปิดล้อมมุมมอง และส่งผลถึงระบบการระบายอากาศที่ดี ผู้ออกแบบจึงใช้วิธีการทะลายความคุ้นชินเดิม ๆ ของการสร้างบ้านที่มักออกแบบพื้นที่หน้าบ้านเป็นมุมรับแขก แล้วผลักตำแหน่งครัวในผังไปไว้หลังบ้านเหมือนปกติทั่วไป
บ้านพริกแกง จึงเป็นบ้านที่หากเราสังเกตพื้นที่ด้านหน้าอาคารจะเห็นผนังอิฐบล็อกสีเทาที่ก่อเรียงกันเป็นจังหวะสลับกับแนวไม้ระแนงสีสดที่เป็นดั่งช่องระบายอากาศ ที่ถูกวางตำแหน่งไว้เป็นศูนย์กลางของบ้าน พื้นที่ตรงนี้เองคือส่วนครัวไทย ที่ผู้ออกแบบตั้งใจให้เป็นส่วนต้อนรับแขกของบ้าน เนื่องจากถนนหน้าบ้านเป็นพื้นที่ที่สามารถสร้างการไหลเวียนอากาศที่ดีที่สุด ประกอบกับการที่เจ้าของบ้าน(คุณแม่)นั้นชอบทำอาหาร แล้ววางตำแหน่งส่วนรับประทานอาหารในลำดับถัดไป
นอกจากนี้ผู้ออกแบบยังอธิบายว่า ในอนาคตเจ้าของบ้านยังมีแผนขยับขยายธุรกิจไปสู่การขายอาหารจากผลิตภัณฑ์พริกแกงที่ผลิตเองเพิ่มเติม ดังนั้นครัวไทยจึงทำหน้าที่เป็นแกนหลักของบ้านที่เชื่อมต่อพื้นที่ของบ้านและฝั่งโรงงานพริกแกงเข้าด้วยกัน รวมถึงยังเป็นส่วนสนับสนุนให้บาร์กาแฟของคาเฟ่ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งธุรกิจของครอบครัวที่วางแผนเอาไว้ว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย
สังเกตไหมว่ารูปลักษณ์ของบ้านละม้ายคล้ายคลึงกับสิ่งใด? สีสันของพริกแกง และรูปลักษณ์ของครก คือองค์ประกอบสำคัญที่ผู้ออกแบบนำมาตีความหมายให้งานสถาปัตยกรรมผ่านการเลือกใช้ชนิดของวัสดุ และการแบ่งสัดส่วนพื้นที่ใช้สอยฝั่งโรงงานและบ้านด้วยโทนสีของวัสดุ
ผู้ออกแบบเลือกใช้ไม้เก่าจากอาคารเดิมที่มีโทนสีของพริกแกงในฝั่งโรงงาน และเลือกใช้วัสดุอิฐบล็อกโทนสีเทาจากที่แทนค่าครกซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับการโขลกพริกแกงในครัวไทยมาตั้งแต่สมัยอดีต ผู้ออกแบบคิดเผื่อไปถึงการใช้งานในอนาคตไว้ว่า สีของพริกแกงในโรงงานช่วยให้รอยเปื้อนที่เกิดจากกระบวนการผลิตกลมกลืนไปกับตัวสถาปัตยกรรมได้เป็นอย่างดีนั่นเอง
จากพื้นที่ครัวไทย และส่วนรับประทานอาหาร ถัดเข้ามาสู่พื้นที่ภายในบ้าน โถงบันไดของอาคารถูกนำมาใช้แบ่งพื้นที่ระหว่างฝั่งที่พักอาศัยและฝั่งโรงงานพริกแกง พื้นที่ส่วนนี้ได้รับการออกแบบให้เป็นโถงอาคารแบบโอเพ่นสเปซขึ้นไปถึงชั้นสอง ส่วนพื้นที่ด้านล่างบันไดยังได้รับการดัดแปลงให้เป็นพื้นที่นั่งเล่นและใช้เก็บของได้อีกทางหนึ่ง
ในขณะเดียวกัน ส่วนเหนือโถงบันไดออกแบบให้มีช่องหน้าต่างของห้องนอน 2 ห้อง รวมถึงห้องนั่งเล่นที่เชื่อมต่อมุมมองภายในบ้านเข้าด้วยกัน พร้อมเปิดช่องแสงตรงส่วนหลังคา เพื่อให้แสงธรรมชาติสามารถลอดผ่านลงมาสู่ใจกลางตัวอาคารได้ทั่วถึง ซึ่งช่วยให้ภายในบ้านได้รับแสงสว่างที่เพียงพอและช่วยประหยัดพลังงานจากการเปิดไฟในเวลากลางวันไปโดยปริยาย
ด้านหน้าอาคารบนชั้น 2 ผู้ออกแบบยังคงเอกลักษณ์ของบ้านที่มีระเบียงด้านหน้าเอาไว้ เพื่อให้ภาพรวมทั้งหมดยังคงกลมกลืนไปกับบริบทที่ตั้งในชุมชน อีกทั้งระเบียงยังเป็นพื้นที่เชื่อมโยงพื้นที่ของบ้านแต่ละหลังเข้าด้วยกันตั้งแต่อดีต ทำให้ผู้ออกแบบเลือกวางตำแหน่งห้องนั่งเล่นอยู่ต่อจากพื้นที่ระเบียงด้านหน้า เพื่อให้อากาศและแสงธรรมชาติเข้าถึงพื้นที่ได้ง่ายที่สุด
บ้านพริกแกง บ้านกึ่งโรงงานบนพื้นที่ใช้สอย 220 ตารางเมตร คือผลลัพธ์ของการตีความหมายให้ตัวสถาปัตยกรรมเกิดภาพจำถึงรูปลักษณ์ภายนอก ผู้ออกแบบเลือกใช้สัจจะวัสดุที่เรียบง่ายและผลิตขึ้นในตัวจังหวัดสระบุรีมาเป็นกรอบอาคาร เพื่อเป็นการแทนค่าโทนสีของพริกแกงและครกซึ่งเป็นอุปกรณ์การทำพริกแกงในรูปแบบบ้านๆ อย่างน่าสนใจ
นอกจากนี้การออกแบบโดยลดทอนเหลี่ยมมุมของวัสดุ เพื่อสร้างเส้นสายให้ตัวอาคารเกิดความรู้สึกที่ลื่นไหลต่อเนื่อง กลมกลืนชุมชนอย่างเป็นมิตร เลือกโทนสีธรรมชาติที่เกิดจากตัววัสดุโดยไม่ต้องปรุงแต่งอะไรมากมาย ช่วยบอกเล่าเรื่องราวของครอบครัวได้ดีและมีมิติที่น่าสนใจ ให้สัมผัสถึงรูป รส กลิ่น เสียง ที่ลงตัวประหนึ่งการโขลกพริกและเครื่องแกงให้กลืนเป็นเนื้อเดียวกับตัวสถาปัตยกรรม
ออกแบบ: BodinChapa Architects | www.bodinchapa.com
วิศวกรรมโครงสร้าง: Papop Mora
ก่อสร้าง: Studio Chieng-neur
ภาพ: shootative / Witsawarut Kekina