คนไทยเราให้ความนับถือ ศาลพระภูมิ และ ตี่จู่เอี้ย กันมานาน เพราะเชื่อว่าจะช่วยคุ้มครองสมาชิกในบ้านให้พ้นภัย และยังช่วยให้ผู้อยู่อาศัยได้รับแต่ความสุขความเจริญ
ทุกวันนี้เราเห็น ศาลพระภูมิ และ ตี่จู่เอี้ย ได้ตามอาคารบ้านเรือนต่างๆ เพียงแต่รูปแบบอาจเปลี่ยนไปบ้าง โดยนำรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่มาผสมผสานกับศิลปะตะวันออกหรือตะวันตก จนได้ศาลที่มีรูปลักษณ์แปลกตา และดูมีดีไซน์ที่เข้ากับบ้านกันมากขึ้น ครั้งนี้เรามีตัวอย่างศาลพระภูมิและตี่จู่เอี้ยที่มีการออกแบบได้สวยงาม เข้ากับรูปลักษณ์ของบ้านมาให้ชมกันเป็นไอเดีย
ศาลพระภูมิ
แม้ว่าการนับถือศาลพระภูมิจะเป็นความเชื่อที่สืบต่อกันมาของศาสนาพราหมณ์ แต่พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ก็ให้ความเคารพศรัทธา เพราะเชื่อว่าเป็นที่อยู่ของเทพารักษ์ที่ช่วยปกปักรักษาบ้านและคนในบ้านนั่นเอง
รูปแบบของศาลพระภูมิ
ศาลพระภูมินั้นไม่มีข้อกำหนดว่าต้องเป็นสีใด (แต่บางคนชอบให้เป็นสีวันเกิดเจ้าของบ้าน) และไม่มีขนาดที่เป็นมาตรฐาน เราสามารถสั่งทำตามขนาดและสีที่ต้องการได้ เพื่อให้เข้ากับตัวบ้านหรือความเชื่อส่วนตัว โดยรูปแบบของตัวศาลสามารถสะท้อนให้เห็นวิวัฒนาการของบ้านและอาคารสถานที่ต่างๆ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เช่น สมัยก่อนจะนิยมสร้างบ้านเป็นเรือนไม้ทรงไทย ตัวศาลก็จะมีรูปแบบเป็นทรงไทยหลังเล็กๆ ในยุคต่อมาเรามักคุ้นเคยรูปแบบศาลที่มากด้วยสีสันหรือประดับกระจกระยิบระยับ ซึ่งบางครั้งอาจดูไม่เข้ากับบ้านหรือสวนที่ออกแบบอย่างเรียบง่าย ปัจจุบันเราจะเห็นรูปแบบของศาลพระภูมิที่ดูแปลกตามากขึ้น ซึ่งบางแห่งสร้างจากการย่อส่วนของสถานที่จริง เพื่อให้เข้ากับอาคารที่มีอยู่
ตำแหน่งในการจัดตั้งศาลพระภูมิ
ตามปกติการตั้งศาลพระภูมิที่ถูกต้องควรตั้งอยู่ทางด้านฝั่งขวามือของพื้นที่หน้าบ้านและไม่ควรอยู่ชิดกับรั้วมากเกินไป อาจรวมเข้าไปเป็นพื้นที่ของสวนหน้าบ้านก็ได้ ทั้งนี้การที่ศาลพระภูมิอยู่ทางมุมด้านขวาของตัวบ้าน เพราะทางด้านซ้ายมือมักเป็นพื้นที่ซึ่งมีการใช้งานและเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาตามความเชื่อดั้งเดิม แต่สุดท้ายแล้วจะตั้งไว้ตรงไหนก็ได้ที่สงบและไม่วุ่นวาย เพื่อไม่ให้ขวางทางสัญจรของกิจกรรมในบ้าน
ตี่จู่เอี้ย
ใครเป็นลูกหลานชาวจีนคงจะคุ้นชินกับ “ตี่จู่เอี้ย” หรือศาลเจ้าที่ในบ้านเป็นอย่างดี เพราะถือเป็นของสำคัญที่จำเป็นต้องมีไว้คู่บ้านของครอบครัวชาวจีนเสมอ
รูปแบบของตี่จู่เอี้ย
ตี่จู่เอี้ยแบบดั้งเดิมจะมีลักษณะเหมือนศาลเจ้าขนาดจำลองและทาสีแดง ซึ่งคงจะดูเข้ากันดีกับบ้านของชาวจีนในสมัยก่อน แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นมาถึงยุคปัจจุบัน ซึ่งบ้านที่อยู่อาศัยของเราได้รับอิทธิพลจากประเทศตะวันตก ตี่จู่เอี้ยแบบเดิมจึงดูค่อนข้างแปลกแยก
จริงๆแล้วตี่จู่เอี้ยไม่จำเป็นต้องทาสีแดง แต่จะเป็นสีอะไรก็ได้ที่เข้ากับบ้าน หรืออาจเลือกสีที่ถูกโฉลกกับเจ้าของบ้านก็ได้ อีกทั้งยังเลือกใช้วัสดุได้ตามต้องการ โดยอาจทำด้วยไม้ย้อมสีน้ำตาลเข้มหรือหินต่างๆ และสามารถเปลี่ยนรูปแบบให้รับกับสไตล์การตกแต่งบ้านได้
ส่วนองค์ประกอบภายในตี่จู่เอี้ยมักมีรูปปั้นองค์ตี่จู้ (มือถือไม้เท้าและก้อนทอง มีหนวดสีขาว) โคมไฟ แจกันดอกไม้หรือพวงมาลัย เทียนแดงขาไม้ และกระถางธูป ซึ่งองค์ประกอบที่กล่าวมาอาจจะมีหรือไม่มีก็ได้ ยกเว้นเพียงกระถางธูปที่ขาดไม่ได้เท่านั้น
ตำแหน่งในการจัดตั้งตี่จู่เอี้ย
สำหรับตำแหน่งในการจัดตั้งศาลนั้นมักจะใช้หลักฮวงจุ้ย โดยเชื่อว่าตำแหน่งของศาลเจ้าที่ดีจะช่วยให้สมาชิกในบ้านอยู่กันอย่างสงบสุข สามารถพิจารณาตำแหน่งที่ตั้งศาลได้จากหลักดังต่อไปนี้
- ต้องไม่เป็นมุมอับ ด้านหน้าของศาลจะต้องเปิดโล่ง ไม่มีสิ่งกีดขวาง
- ต้องมีแสงสว่างพอสมควร ไม่มืดทึบ
- ด้านหลังของศาลเจ้าที่ต้องอิงพนักพิงที่แข็งแรง เช่น ผนังบ้าน
- ไม่ควรตั้งศาลเจ้าที่ให้ด้านหลังพิงผนังห้องน้ำหรือวางไว้หน้าประตูห้องน้ำ เพราะตามหลักฮวงจุ้ยถือว่าศาลเจ้าที่เป็นธาตุไฟ ส่วนห้องน้ำเป็นธาตุน้ำ ไม่ควรวางไว้ใกล้กัน
- ไม่ควรตั้งตู้ปลาหรืออ่างน้ำอยู่ใกล้หรืออยู่เหนือศาลเจ้าที่
- ไม่ควรตั้งศาลเจ้าที่ในบริเวณที่มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา เช่น ตั้งพิงผนังบันได ศาลเจ้าที่ไม่จำเป็นต้องหันหน้าออกสู่หน้าบ้านเสมอ แต่ควรจะตั้งในทิศที่ส่งเสริมดวงชะตาของเจ้าของบ้าน
- ฐานที่ตั้งของศาลเจ้าที่ควรอยู่สูงกว่าพื้นถนน
เรื่อง: สุพจน์, ภัทรสิริ อภิชิต
ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน นิตยสาร room และ my home