ฉนวนกันความร้อน หลุดร่วงลงมาแบบนี้ ทำอย่างไรดี? เมื่อเวลาผ่านไป ฉนวนกันความร้อน PE อาจมีการหลุดล่อนได้ มาดูสาเหตุและมีวิธีแก้ไขกัน
หลังคาเมทัลชีทที่บุด้วย ฉนวนกันความร้อน PE หรือ PE Foam (ลักษณะเป็นโฟมสีขาวปิดด้วยแผ่นฟอยล์สะท้อนความร้อน) เมื่อติดตั้งแล้วเป็นเวลา 3-5 ปี มักเกิดปัญหาแผ่นฉนวนเสื่อม หรือหลุดล่อนลงมาเป็นเศษผง มาดูกันว่าปัญหานี้มีสาเหตุจากอะไร และมีวิธีแก้ไขอย่างไรบ้าง
สาเหตุ
- คุณภาพวัสดุ ฉนวนพีอีมีอายุการใช้งานประมาณ 10 ปี เมื่อมีการผลิตที่ได้มาตรฐาน ความหนาของแผ่น ฉนวนกันความร้อน ก็มีผลกับความคงทน ฉนวนยิ่งบางก็จะขาดง่าย ซึ่งในท้องตลาดมีความหนา 3, 5 และ 10 มิลลิเมตร
- ความชื้น เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ฉนวนหลุดล่อน โดยสังเกตจากฉนวนบริเวณปลายหลังคามักล่อนก่อนที่อื่น รวมถึงจุดที่หลังคามีการรั่วซึม
- วิธีการติดตั้ง แผ่นฉนวนจะยึดติดกับเมทัลชีทด้วยกาว ซึ่งการติดตั้งมาจากโรงงานโดยรีดด้วยเครื่องจักรจะมีคุณภาพดีกว่าการติดตั้งด้วยมือที่ช่างทำเอง เพราะอาจติดกาวไม่สม่ำเสมอและไม่ทั่วถึง
การป้องกัน
ไม่ควรกรุ ฉนวนกันความร้อน บริเวณที่อาจโดนความชื้นบ่อย เช่น บริเวณปลายหลังคา ควรเว้นระยะการกรุฉนวนเข้ามาอย่างน้อย 10 เซนติเมตร เพื่อป้องกันน้ำย้อนเข้ามา รวมถึงบริเวณชายคาที่ไม่มีฝ้าเพดานซึ่งอยู่นอกอาคาร ก็มีโอกาสโดนน้ำ จึงไม่จำเป็นต้องกรุฉนวนกันความร้อนเช่นกัน หากฉนวนบริเวณปลายหลังคาเริ่มหลุดล่อน ควรกรีดออกเพื่อไม่ให้น้ำลามไปบริเวณอื่น
การแก้ไข
กรณีที่ฉนวนพีอีหลุดออกมาเกือบหมดแล้ว แนะนำให้รื้อแผ่นหลังคาเมทัลชีท ลอกฉนวนเก่าออกให้หมด แล้วปูฉนวนใหม่โดยเลือกชนิดที่วางบนแปได้ แต่ถ้าการรื้อหลังคาเป็นเรื่องยากเกินไป ก็สามารถใช้ฉนวนชนิดฉีดพ่น หรือถ้าต้องการติดแผ่นฉนวนลักษณะเดิมมีแนวทางแก้ไขต่อไปนี้
- ถ้าฉนวนหลุดล่อนเพราะโดนน้ำ ให้หาจุดที่น้ำรั่วแล้วซ่อมแซมรอยรั่วก่อน โดยจุดที่มักเกิดน้ำรั่ว เช่น รอยต่อกับผนังอาคาร บริเวณที่เจาะยึดสกรู จากนั้นกรีดฉนวนที่มีน้ำขังออกมาให้หมด เพื่อไม่ลามไปโดนบริเวณที่กาวยังมีสภาพดีอยู่ ติดฉนวนชิ้นใหม่ด้วยกาวทารองเท้า แล้วปิดขอบด้วยเทปกาวอะลูมิเนียมฟอยล์
- ลอกฉนวนเดิมออกให้มากที่สุด
- ติดตั้งฉนวนใหม่ สามารถติดตั้งได้หลายกรณี เช่น
การติดตั้งฉนวนใต้แป โดยยึดด้วยสกรูรองด้วยแหวน
ติดตั้งฉนวนระหว่างแปหรือระหว่างจันทัน โดยตัดแผ่นฉนวนให้พอดีกับระยะห่างของโครงสร้างหลังคา และอาจกรุตะแกรงเหล็กเพื่อป้องกันแผ่นฉนวนห้อยตัวลงมา
ติดตั้งฉนวนแล้วกรุแผ่นฝ้าเพดาน เสริมโครงคร่าวแล้วกรุแผ่นฉนวนระหว่างโครงหลังคา จากนั้นปิดด้วยวัสดุแผ่นเรียบอีกชั้น วิธีนี้สามารถเลือกใช้ฉนวนชนิดวางบนฝ้าได้
Tips : ค่าแรงช่างมุงหลังคาเมทัลชีท / ซ่อม / รื้อถอน (เฉพาะค่าแรงช่าง)
ค่าแรงช่างมุงหลังคา 120 – 400 บาท/ตารางเมตร
ค่าแรงช่างซ่อมหลังคา 150 – 500 บาท/ตารางเมตร
ค่าแรงช่างรื้อถอนหลังคา 20 – 35 บาท/ตารางเมตร
เรื่อง/ภาพ – ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
ภาพประกอบ – pstaryu