ไทยนับเป็นประเทศที่รุ่มรวยด้วยวัฒนธรรม ซึ่งผสมผสานมาจากหลากหลายเชื้อชาติจนกลมกลืนกลายเป็นวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์ของตัวเอง ไม่เว้นแม้แต่ บ้านโคโลเนียล เราได้รวบรวม 5 บ้านหลังงามที่มีอายุเก่าแก่นับหลายสิบปีไปจนถึงร้อยปีมาให้ชมกัน
บ้านโคโลเนียล แต่ละหลังได้นำเสนอภูมิปัญญาแบบไทยและงานสถาปัตยกรรมจากชนชาติอื่นมาหลอมรวมจนกลายเป็นบ้านที่เปี่ยมด้วยเอกลักษณ์และทรงคุณค่า สมควรแก่การเก็บรักษาไว้ให้คนรุ่นหลังได้เห็นวิวัฒนาการของการออกแบบบ้านในเมืองไทย
บ้านโคโลเนียล
เรือนมนิลา
ที่ตั้ง : 66 หมู่ที่ 6 ริมคลองพระยาบันลือ ตำบลไม้ตรา อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ผู้ครอบครอง : รองศาสตราจารย์สุกษม อัตนวานิช
ปีที่สร้าง : สันนิษฐานว่าสร้างในปี พ.ศ. 2456 ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี พ.ศ. 2555
เรือนหลังนี้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในราวรัชสมัยรัชกาลที่ 6 เดิมเจ้าของบ้านเป็นนายอำเภอเสนา สร้างเรือนนี้ขึ้นที่อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง ช่างที่ปลูกเรือนเป็นชาวจีนไหหลำ เดิมทีผู้ครอบครองท่านปัจจุบันอยากจะซื้อเพียงหน้าต่างเก่าเพื่อนำไปประกอบในการปลูกบ้านริมน้ำเท่านั้น แต่ด้วยคำแนะนำจากพ่อค้าขายของเก่าที่สวนจตุจักรจึงได้ซื้อเรือนหลังนี้จากคุณยายท่านหนึ่ง ชื่อของบ้านนั้นเจ้าของเรียกตามหนังสือบ้านเรือนไทยว่า “เรือนมนิลา” ด้วยความตั้งใจอยากบูรณะเรือนหลังนี้มากกว่าซื้อเฉพาะหน้าต่างตามความตั้งใจเดิม และต้องการอนุรักษ์ตัวอาคารให้ใกล้เคียงกับเรือนหลังเดิมมากที่สุด
เจ้าของจึงเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการขนย้าย โดยมีการสำรวจ ถ่ายรูป และทำรหัสเพื่อป้องกันความเสียหายในภายหลัง จากนั้นจึงวางผังบริเวณ กำหนดตำแหน่งการปลูกเรือนใหม่ในพื้นที่ปัจจุบัน และใช้ช่างฝีมือในการก่อสร้างเรือนใหม่เพียง 3 คน โดยเจ้าของและลูกชายเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง และดูแลทั้งหมดทุกขั้นตอนจนกระทั่งเสร็จสมบูรณ์ตามความตั้งใจ เป็นผลให้ใช้เวลาในการบูรณะนานถึง 5 ปี โดยมีต้นแบบอาคารจากจวนผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่มาเป็นแนวทางในการก่อสร้าง
บ้านโคโลเนียล บ้านเก่าทรงคุณค่า
เรือนมนิลามีลักษณะเป็นบ้านไม้สองชั้น ใต้ถุนสูง หลังคาเป็นทรงปั้นหยา ภายในบ้านแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วน หน้าต่างประตูชั้นล่างเป็นแบบบานเปิดที่มีบานกระทุ้งในตัว ส่วนหน้าต่างชั้นบนเป็นบานกระทุ้ง นอกจากนี้ยังคำนึงถึงประโยชน์การใช้งานปัจจุบัน ด้วยการต่อเติมห้องน้ำและครัวบริเวณใต้ถุนให้กลมกลืนกับตัวบ้าน รวมทั้งยังต่อเติมมุขขนาดเล็กด้านหน้าบ้านเพื่อรองรับมุขตัวใหญ่และมุขด้านซ้ายของบ้าน สร้างความสวยงามให้แก่ตัวบ้านมากขึ้นการก่อสร้างและปรับปรุงเรือนมนิลามีการรื้อถอนซ่อมแซมส่วนที่เสื่อมสภาพตามรูปแบบวัสดุและเทคนิคช่างแบบดั้งเดิม เพื่ออนุรักษ์บ้านให้ใกล้เคียงกับของเดิมให้มากที่สุด แม้อาคารจะไม่ได้อยู่ในบริเวณเดิมเมื่อแรกสร้าง แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของเจ้าของบ้านในการอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรมไทยที่มีเอกลักษณ์และคงคุณค่าเอาไว้ให้มากที่สุด
พิพิธภัณฑ์บ้านเอกะนาค
ที่ตั้ง : 1061 ซอยอิสรภาพ 15 ถนนอิสรภาพ แขวงหิรัญรูจี เขตธนบุรี กรุงเทพฯ
ผู้ครอบครอง : มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
ปีที่สร้าง : พ.ศ. 2462 ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี พ.ศ. 2555
พิพิธภัณฑ์บ้านเอกะนาคตั้งอยู่บริเวณหลังมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ติดกับโรงเรียนมัธยมสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ด้านหน้าอาคารวางขนานไปกับคลองบางไส้ไก่ แต่เดิมบ้านเอกะนาคสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2462 ตรงกับรัชสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นเรือนไทยทรงปั้นหยาของ พ.ต.อ.พระยาประสงค์สรรพการ (ยวง เอกะนาค) ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมตำรวจ ต่อมาตกเป็นของบุตรสาวคือ คุณประยูร เอกะนาค แต่เนื่องจากบุตรสาวของท่านไม่มีทายาทสืบสกุล บ้านหลังนี้จึงเป็นกรรมสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยตามพินัยกรรม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิษณุ บางเขียว อดีตผู้อำนวยการ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เล่าว่า “ในระยะแรกนั้นทางมหาวิทยาลัยไม่มีทุนในการดูแลรักษา จึงเกิดปัญหาน้ำท่วมขัง ทำให้บริเวณชั้นล่างทรุด ไม้กระดานบางส่วนหลุดลอยไปตามน้ำ กระเบื้องหลังคาแตกหัก สภาพบ้านในเวลานั้นทรุดโทรมมาก จนเมื่อปี พ.ศ. 2541 สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยามีโครงการจะบูรณะและปรับปรุงบ้านเอกะนาคให้มีสภาพสมบูรณ์ดังเดิมทั้งภายนอก ภายใน และภูมิทัศน์โดยรอบ โดยจุดเริ่มต้นของการบูรณะคือเพื่อให้เป็น ‘ศูนย์ธนบุรีศึกษา’ สถานที่รวบรวมองค์ความรู้ แหล่งรวมงานวิจัยและวัฒนธรรมต่างๆ ของย่านฝั่งธนบุรี”
ภายในพิพิธภัณฑ์จึงเต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายเริ่มตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี มีการจัดแสดงภาพเก่าหายาก เช่น ภาพเกาะกลางน้ำหน้าวัดอรุณราชวราราม ภาพคลองสมเด็จกับพระปรางค์วัดพิชยญาติการาม บริเวณวัดประยุรวงศาวาสก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 อาชีพต่างๆ ของชาวฝั่งธนบุรี ได้แก่ การทำขลุ่ยที่บ้านลาว การทำขันลงหินที่บ้านบุ ขนมฝรั่งกุฎีจีน การทำฆ้องวงบ้านเนิน การทำหัวโขนวัดบางไส้ไก่ ตลอดจนความหลากหลาย
ทางวัฒนธรรมอันเกิดจากผู้คนหลากเชื้อชาติทั้งไทย จีน แขก มอญ และลาวที่เข้ามาอาศัยอยู่ที่นี่
สำหรับรูปแบบของบ้านเป็นอาคาร 2 ชั้น ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ชั้นบนเป็นไม้ หลังคามุงกระเบื้องว่าวโบราณ มีโถงยื่นออกมาเป็นรูปแปดเหลี่ยมคล้ายแบบพระที่นั่งวิมานเมฆ ซึ่งเป็นที่นิยมมากในสมัยนั้น ลักษณะการก่อสร้างได้รับอิทธิพลจากตะวันตกผสมผสานลวดลายฉลุแบบเรือนขนมปังขิง แต่เดิมหน้าบ้านมีท่าน้ำเชื่อมกับ
คลองบางไส้ไก่ (ปัจจุบันปรับเปลี่ยนเป็นประตูลูกกรง เพื่อความปลอดภัย) ในสมัยก่อนเวลาที่มีแขกมาพบท่านพระยาประสงค์สรรพการ ส่วนใหญ่จะใช้วิธีเดินทางมาทางเรือ ซึ่งบริเวณระเบียงหน้าบ้านจะสามารถมองเห็นคลองได้ตลอด ความโดดเด่นในการออกแบบบ้านหลังนี้อีกประการหนึ่งคือภายในบ้านจะมีช่องลมระบายอากาศเพื่อถ่ายเทความร้อนจากตัวบ้าน การวางตัวอาคารคำนึงถึงทิศทางการรับลม อีกทั้งยังทำหน้าต่างบานเฟี้ยมเพื่อรับลมเย็นจากภายนอก ทำให้ยามเดินชมภายในอาคารรู้สึกเย็นสบาย
ผู้สนใจสามารถมาเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตย่านฝั่งธนบุรีไปพร้อมๆ กับชมสถาปัตยกรรมอันงดงามของบ้านเอกะนาคได้ หากต้องการเข้าชมด้านในพิพิธภัณฑ์จะต้องมาเป็นหมู่คณะและติดต่อล่วงหน้า เปิดให้ชมวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 9.00 น. – 16.30 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามรายละเอียดได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2466-6664
บ้านหลวงศรีนครานุกูล
ที่ตั้ง: เลขที่ 133 ถนนเจริญเมือง อำเภอเมืองฯ จังหวัดแพร่
สถาปนิก/ผู้ออกแบบ : หลวงศรีนครานุกูล
ผู้ครอบครอง : คุณพงศ์ธร สุทธภักติ (หลานปู่)
ปีที่สร้าง : ไม่ทราบชัด (อายุประมาณ 100 ปี)
แพร่เป็นเมืองเก่าแก่ที่มีเรื่องเล่าขานถึงความรุ่งเรือง ชื่อเดิมที่ปรากฏในพงศาวดารเชียงแสนคือ “เมืองแพล”
แต่ปัจจุบันเสียงได้เพี้ยนเป็นแพร่ การมาเยือนเมืองแพร่ในครั้งนี้มีเรื่องราวที่น่าค้นหาในหน้าประวัติศาสตร์
มากมาย หนึ่งในนั้นคือจุดหมายปลายทางแห่งนี้ “บ้านหลวงศรีนครานุกูล”
คุณพงศ์ธร สุทธภักติ ผู้ครอบครองบ้านหลังนี้ เล่าถึงประวัติความเป็นมาของบ้านให้ฟังว่า “หลวงศรีนครานุกูล นามเดิมคือ เจียม สุทธภักติ เป็นผู้ออกแบบและสร้างบ้านหลังนี้เพื่อใช้พักอาศัยบนที่ดินที่ได้รับมาจากพระยาคงคาสมุทรเพชร ผู้เป็นพ่อตา ใช้ช่างก่อสร้าง 3 ชุด คือ ช่างทำตัวบ้านเป็นชาวจีนฮกเกี้ยน ช่างตกแต่งและทำเครื่องเรือนเป็นชาวจีนเซี่ยงไฮ้ และช่างแรงงานทั่วไปเป็นชาวเมืองแพร่ ตัวบ้านสร้างด้วยฝีมืออันประณีตสวยงาม ในสมัยนั้นช่างจีนมีฝีมือการก่อสร้างมากกว่าช่างพื้นเมือง หลวงศรีนครานุกูลเป็นคนละเอียดถี่ถ้วน ท่านควบคุมงานก่อสร้างและเลือกไม้เองทุกชิ้น ไม่ใช้ไม้ที่มีกระพี้ตาไม้เลยแม้แต่แผ่นเดียว และผึ่งไม้อยู่นานถึง 10 ปีเพื่อให้แห้งสนิท ทำให้ทั้งตัวเรือนและเฟอร์นิเจอร์ได้รับการสร้างขึ้นอย่างดีและสวยงาม บางชิ้นมีกลไกการเปิด – ปิดที่ซับซ้อนเกินกว่าช่างฝีมือชาวพื้นเมืองจะทำได้”
ลักษณะเป็นบ้านไม้สักสองชั้นหลังคามุงแป้นเกล็ดไม้สัก ชั้นล่างเป็นห้องโถงโล่ง ห้องเก็บของและห้องน้ำ ส่วนชั้นบนเป็นโถงนั่งเล่นและห้องนอนโถงด้านหลังเชื่อมต่อกับนอกชาน คุณพงศ์ธรยังเล่าต่อไปว่า “หลวงศรีนครานุกูลเคยอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯมีโอกาสได้เห็นวังและบ้านเรือนเจ้านายจำนวนมาก ประกอบกับมีความสามารถในการออกแบบ จึงได้นำรูปแบบเหล่านั้นมาออกแบบบ้านหลังนี้ โดยมีจุดเด่นที่เป็นคุณค่าด้านศิลปะการก่อสร้างบางประการ เช่น ฝาไม้ด้านนอกตัวเรือนเป็นฝาสองชั้น ชั้นในตีตั้ง ชั้นนอกตีนอนเพื่อความแข็งแรง ช่องตรงกลางยัดด้วยขนสัตว์เพื่อเป็นฉนวนป้องกันความร้อนและแมลงต่างๆ อีกทั้งท่านไม่ใช้ไม้หน้าใหญ่ทำพื้นแม้จะทำได้ แต่ให้เลื่อยไม้ให้เหลือหน้าไม้เพียง 4 นิ้ว เข้าลิ้นอัดแน่นเพื่อให้พื้นแน่นสนิท ราดน้ำไม่หยดลงชั้นล่าง เดินไม่สั่น ไม่สะเทือนเหมือนหลังอื่น”
ส่วนเฟอร์นิเจอร์ที่สร้างพร้อมตัวเรือนทั้งลอยตัวและติดตายมีรูปแบบสัดส่วนสวยงามฝีมือประณีต มีโต๊ะทำงานที่มีฝาเปิด – ปิดได้พร้อมระบบล็อก ซึ่งหากนำมาขายในห้างสรรพสินค้า คงต้องอยู่ในหมวดงานเฟอร์นิเจอร์ชั้นพรีเมียมอย่างแน่นอน เพราะฟังก์ชันการใช้งานนั้นตอบโจทย์ผู้ใช้ในทุกอิริยาบถ นอกจากนี้ยังมีการเตรียมการป้องกันอัคคีภัยโดยการต่อท่อเหล็กจากถังเก็บน้ำบนหลังคาและการขุดสระน้ำไว้ข้างบ้าน เพื่อจะได้นำเฟอร์นิเจอร์ทิ้งลงสระเมื่อเกิดอัคคีภัย
เมื่อสิ้นหลวงศรีนครานุกูลในปี พ.ศ. 2506 บ้านและที่ดินได้ตกทอดสู่บุตรสาว (คุณสุธีร สุทธภักติ) ท่านได้บำรุงรักษาบ้านเสมอมา มีการซ่อมแซมทาสีใหม่ 2 ครั้ง เปลี่ยนแป้นเกล็ดมุงหลังคาตัวเรือนใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2526 โดยใช้แป้นเกล็ดไม้สักตามแบบเดิม สิ้นค่าใช้จ่ายกว่าหกแสนบาท ถึงปี พ.ศ. 2534 บ้านตกทอดสู่คุณพงศ์ธร ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ท่านก็ดูแลรักษาและพยายามคงสภาพเดิมไว้ ไม่เปลี่ยนแปลงให้ผิดรูปทรงมากนัก ทั้งตัวอาคาร เครื่องเรือน และของประดับตกแต่งอาคาร ในปี พ.ศ. 2555 ซุ้มประตูใหญ่ทางเข้าสู่บริเวณบ้านซึ่งสร้างพร้อมกับบ้านด้วยรูปแบบเดียวกันได้ถูกรถยนต์ชนเสียหายมาก คุณพงศ์ธรได้จ้างช่างมาสร้างซุ้มประตูใหม่โดยใช้รูปแบบเดิม บางจุดของตัวบ้านที่ถูกดัดแปลงไปก่อนยุคของท่าน ก็มีเป้าหมายที่จะปรับปรุงให้เป็นรูปแบบเดิมให้มากที่สุดตามความทรงจำก่อนที่จะตกทอดสู่คนรุ่นต่อไปที่ไม่เคยเห็นสภาพดั้งเดิมของเรือน เพื่อเป็นการสืบทอดผลงานและประกาศเกียรติภูมิของหลวงศรีนครานุกูล ผู้เป็นที่เคารพรักของลูกหลานและบริวาร และเพื่อให้บ้านหลังนี้คงอยู่คู่เมืองแพร่สืบไปตราบนานเท่านาน
บ้านสังคหะวังตาล
ที่อยู่ : พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านชุมชนหลวงสิทธิ์ 215/3 ตำบลบ้านโป่ง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี
สถาปนิก : ชาวอิตาลี ไม่ปรากฏนามผู้ออกแบบ
ผู้ครอบครอง : คุณสมบัติ-คุณนภา พิษณุไวศยวาท
ปีที่สร้าง : พ.ศ.2470
บ้านหลังนี้เดิมเป็นของเสวกโท หลวงสิทธิเทพการ หรือนายกิมเลี้ยง วังตาล พ่อค้าและคหบดีชาวจีนซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่มีบทบาทอย่างมากในอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี และจังหวัดใกล้เคียงในยุคสมัยนั้น คุณหลวงเป็นเจ้าของกิจการมากมาย เช่น ตลาดบ้านโป่ง โรงน้ำแข็ง โรงเลื่อย โรงสี ไปจนถึงเป็นเจ้าของที่ดินเกือบทั้งบ้านโป่ง ในช่วงปี พ.ศ. 2470 ท่านตัดสินใจย้ายบ้านจากแถวบางตาลมาอยู่ที่บ้านโป่งเป็นการถาวร และในเวลาต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยความดีความชอบในการรับอาสาจัดค่ายซ้อมรบของกิจการเสือป่าที่บ้านโป่งได้สำเร็จในระยะเวลาอันสั้น
ท่านเสวกโท หลวงสิทธิเทพการยังเป็นคาทอลิกที่เคร่งครัดและมีส่วนร่วมในการช่วยเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในจังหวัดราชบุรี มิชชันนารีชาวอิตาลีจึงได้ให้เกียรติมาเป็นผู้ออกแบบบ้านหลังนี้ ตัวอาคารมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบอิตาเลียนวิลล่า ทำจากปูนผสมกับไม้คล้ายวังเทวะเวสม์ ผสมผสานหลายสไตล์ ทั้งนีโอคลาสสิก อาร์ตนูโว และโคโลเนียล ถือได้ว่าเป็นอาคารที่สวยงามและทันสมัยมากในยุคนั้น นอกจากนี้ยังได้นำศิลปะและแนวคิดแบบจีนมาใช้ในการออกแบบด้วย เช่น รูปปั้นไก่ที่ประดับตามส่วนต่างๆ ของบ้านซึ่งมาจากนักษัตรปีเกิดของคุณหลวงและภรรยา หรือเหล็กดัดลายใยแมงมุมตามความเชื่อด้านฮวงจุ้ย จึงทำให้บ้านนี้มีความพิเศษแตกต่างจากบ้านหลังอื่นๆ
บ้านสังคหะวังตาลมีความสูง 4 ชั้น มีห้องใต้ดินสำหรับเก็บของ ดาดฟ้าและระเบียงรอบบ้านสำหรับพักผ่อนและชมทิวทัศน์รอบๆ มีสะพานทางเดิน 2 จุด ใช้เชื่อมระหว่างชั้นสองของบ้านไปยังอาคารสำนักงานของคุณหลวงและโรงครัวด้านหลัง รอบๆ บ้านในสมัยนั้นยังจัดสวนอย่างสวยงาม มีทั้งแปลงดอกกุหลาบและสนามเลี้ยงกวางตามธรรมชาติ ก่อนเปลี่ยนเป็นสนามหญ้าโล่งในปัจจุบัน บริเวณหลังบ้านยังมีโบสถ์หลังน้อยสำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเล็กๆ ในครอบครัว และเรือนไทยอันเป็นที่อยู่ของมารดาคุณหลวงอีกด้วย
นอกจากความสวยงามด้านสถาปัตยกรรมแล้ว รายละเอียดการออกแบบก่อสร้างยังซ่อนความน่าสนใจไว้อีกมากมาย อาทิ การซ่อนบ่อเก็บน้ำไว้ใต้พื้นบ้าน เพื่อให้ภายในบ้านมีอุณหภูมิเย็นอยู่เสมอ การกักเก็บน้ำฝนไว้ในแท็งก์น้ำบนดาดฟ้า เพื่อปล่อยน้ำไว้ใช้อาบน้ำฝักบัว ประตูสำหรับปิดบันไดในยามค่ำคืนเพื่อไม่ให้คนขึ้นมายังชั้นสองได้ ที่สำคัญแม้ผ่านเวลามานานกว่า 80 ปีแล้ว แต่ตัวบ้านยังคงแข็งแรง ไม่มีปัญหาเรื่องการแตกร้าวหรือโครงสร้างทรุดแต่อย่างใด
ภายหลังที่ท่านเสวกโท หลวงสิทธิเทพการถึงแก่อนิจกรรม บ้านและกิจการต่างๆ ก็ตกเป็นของลูกหลานในตระกูลวังตาล ปัจจุบันอาคารหลังนี้และสนามด้านหน้าอยู่ในความครอบครองของคุณสมบัติ – คุณนภา พิษณุไวศยวาท อดีตนายกเทศมนตรีบ้านโป่ง เจ้าของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง โรงงานยางมะตอย และโรงงานกระสอบในบ้านโป่ง
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านชุมชนหลวงสิทธิ์
ที่ตั้ง : พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านชุมชนหลวงสิทธิ์ 215/3 ตำบลบ้านโป่ง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี
บูรณะโดย : คุณชัชชัย ชะอ้อนชม
ผู้ครอบครอง : คุณวรวิทย์ วังตาล
เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 8.30 น. – 16.30 น.
โทรศัพท์ 0-3221-1018
เรือนไม้สักทรงมนิลาหลังเล็กในรูปแบบสถาปัตยกรรมช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ถึงต้นรัชกาลที่ 6 ซึ่งมีความสวยงามและทรงคุณค่าไม่น้อยไปกว่าบ้านสังคหะวังตาล ซึ่งอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกีน ปัจจุบันเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านชุมชนหลวงสิทธิ์สำหรับให้ความรู้และบอกเล่าเรื่องราวของท่านเสวกโท หลวงสิทธิ์เทพการแก่ผู้สนใจ
ตัวเรือนเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น ชั้นแรกสูงเสมอพื้นดิน ปูพื้นกระเบื้องลายโบราณตามสมัยนิยมภายในเป็นห้องโถงทำงานขนาดใหญ่ ฝาห้องเป็นไม้สักทำสำเร็จติดตั้งเป็นแผง หน้าต่างเป็นบานลูกฟักเข้าลิ้น ส่วนประตูเป็นบานเกล็ดทึบ มีช่องลมฉลุลวดลายประณีต ในอดีตเคยใช้เป็นสำนักงานสังคหะวังตาล อันเป็นสำนักงานใหญ่สำหรับติดต่องานและรวบรวมข้อมูลกิจการต่างๆ ของคุณหลวงทั้งโรงงานน้ำแข็ง โรงงานแปรรูปไม้ สำนักงาน
จัดหางานและเช่าที่ดินทำกิน แม้บางกิจการจะปิดตัวลงหรือแยกย้ายไปเปิดยังสถานที่อื่นแล้ว แต่สำนักงานแห่งนี้ยังคงเก็บรักษาข้าวของเครื่องใช้และบรรยากาศเดิมเอาไว้อย่างครบถ้วนชั้นบนของเรือนหลังนี้เคยใช้เป็นห้องพักของพนักงานชายซึ่งทำงานในสำนักงาน พื้นปูไม้กระดานแบบเข้าลิ้นทั้งชั้น มีบันไดขึ้นลง 2 ปีกปีก
ฝั่งซ้ายมีสะพานเชื่อมไปยังห้องทำงานของคุณหลวงบนตึกใหญ่ ห้องพักภายในมีทั้งหมด 4 ห้องที่เชื่อมถึงกันได้ หน้าต่างเป็นบานเกล็ดแบบเปิดกระทุ้งด้านบนประดับด้วยช่องแสงติดกระจกลายดอกพิกุล ส่วนหลังคาเดิมเคยเป็นกระเบื้องว่าว ภายหลังเปลี่ยนเป็นกระเบื้องลอนใหญ่ เพื่อการดูแลซ่อมแซมได้ง่าย ทั้งยังช่วยลดน้ำหนักที่กดทับโครงสร้างอาคารด้วย
ส่วนประวัติความเป็นมาของอาคารหลังนี้ คุณวรวิทย์ วังตาล ทายาทรุ่นที่ 3 ของท่านเสวกโทหลวงสิทธิ์เทพการ เล่าว่าเมื่อสืบค้นข้อมูลจากพนักงานรุ่นเก่าที่เคยทำงานที่นี่ได้ความว่า เดิมอาคารหลังนี้ตั้งอยู่บริเวณบ้านคลองญี่ปุ่น อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เป็นของนายบุก ผู้ใหญ่บ้าน ต่อมาได้ยกให้คุณหลวง ซึ่งท่านได้ถอดแยกชิ้นส่วนเรือนไม้สักหลังนี้และขนย้ายมาทางคลองก่อนนำมาประกอบใหม่ในสภาพเดิม โดยสันนิษฐาน
ว่าเป็นอาคารหลังแรกในที่ดินของคุณหลวงที่อำเภอบ้านโป่งอีกด้วย
นอกจากอาคารหลังนี้แล้ว รอบบ้านยังมีส่วนต่างๆ ซึ่งแยกออกจากบ้านสังคหะวังตาล ทั้งเรือนไทยซึ่งเดิมเป็นบ้านมารดาคุณหลวง โบสถ์หลังเล็กสำหรับประกอบพิธีทางศาสนาของครอบครัว สวนหลังบ้าน และโรงครัว มากกว่าความสวยงามและอลังการแห่งงานสถาปัตยกรรมแล้ว ที่นี่ยังแสดงถึงลักษณะของสังคมไทยในอดีตได้เป็นอย่างดี ตั้งแต่ชีวิตของเจ้านายไปจนถึงบริวาร หลายชีวิตพึ่งพากันอย่างเหนียวแน่น แม้ปัจจุบันอาณาจักรแห่งนี้จะไม่คึกคักเช่นในอดีต แต่ร่องรอยความสัมพันธ์ของบ้านและชีวิตผู้คนยังคงซ้อนทับและแทรกซึมอยู่ไม่เสื่อมคลาย
บ้านโคโลเนียล
เรื่อง : ปาริฉัตร สกุลเจริญพรชัย, ปัญชัช ชั่งจันทร์
ภาพ : วีระพงษ์ สิงห์น้อย, ศุภกร ศรีสกุล
เอกสารอ้างอิง : หนังสือ 183 มรดกสถาปัตยกรรมในประเทศไทย เล่ม 2