นี่คือคู่มือแคมปิ้งฉบับพึ่งเริ่มต้นสำหรับเหล่าผู้รักการผจญภัยหรือหลงใหลในเสน่ห์ของธรรมชาติที่มีให้เราค้นพบไม่จบสิ้น เพราะการแคมปิ้งเป็นการนําตัวเองกลับไปสู่วิถีชีวิตที่ใกล้เคียงกับชีวิตของชาวป่าหรือมนุษย์เมื่อครั้งอดีต ซึ่งอยู่อาศัยและพึ่งพิงธรรมชาติกันอย่างอ่อนน้อม
ขณะเดียวกันก็เหมือนเป็นการหลบหลีกตัวเองจากวิถีชีวิตปกติและเรื่องเครียดในที่ทํางาน เพื่อปลดปล่อยหัวใจให้ไหลไปกับวิวทิวทัศน์และความสวยงามของธรรมชาติที่อยู่รอบตัวแทน
เริ่มต้นออกเดินทาง
ก้าวแรกของการเดินทางคือการมองไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง ปัจจุบันอุทยานแห่งชาติก็เริ่มกลับมาเปิดให้บริการตามปกติ ในบ้านเรามีภูมิประเทศและป่ามากมายที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว หากสามารถเดินทางได้มากกว่า2วันขึ้นไปก็เหมาะกับการเดินทางบนเส้นทางธรรมชาติตามป่าเขาในอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเส้นทางเดินป่าแต่ละเส้นก็จะมีระดับความยากง่ายและระยะเวลาในการเดินแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับระยะทาง ความห่างไกลชุมชน อุปสรรค และศักยภาพของผู้เดินป่า ควรศึกษาข้อมูลดังกล่าวให้ดีก่อนออกเดินทาง หากมีเวลาไม่มากควรเลือกจุดกางเต็นท์หรืออุทยานแห่งชาติที่มีจุดพักกางเต็นท์ในบริเวณที่รถยนต์สามารถเข้าถึงได้เลยหรือที่เรียกว่าคาร์แคมป์ เพื่อประหยัดเวลาในการเดินทาง ขณะเดียวกันก็สามารถพักผ่อนได้เต็มที่ไม่ต่างจากการกางเต็นท์บนเส้นทางเดินป่าเท่าใดนัก ปัจจุบันสามารถจองการเข้าใช้บริการอุทยานแห่งชาติผ่านแอพพลิเคชั่นQueQ รวมถึงต้องลงทะเบียนเข้า-ออกผ่านแอพพลิเคชั่นไทยชนะทุกครั้ง โดยที่นักท่องเที่ยวไม่จําเป็นต้องโทรศัพท์ไปจองกับอุทยานโดยตรง เพื่อควบคุมจํานวนนักท่องเที่ยวไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ด้วย
เตรียมสัมภาระใส่เป้
เพราะสัมภาระคือภาระของการเดินป่าเช่นกัน สําหรับผู้ที่เพิ่งเดินป่าครั้งแรกควรเตรียมไปเฉพาะสิ่งของที่จําเป็น อย่างอาหาร ยา เครื่องนุ่งห่มอุปกรณ์ค้างแรม รวมทั้งผลิตภัณฑ์ทําความสะอาด อีกทั้งควรเตรียมของใช้ที่เผื่อสําหรับเหตุการณ์ไม่คาดฝันหรือสภาพอากาศที่อาจเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตด้วยเช่นกัน เช่น ร่ม เสื้อกันฝน หรือชุดกันหนาว สิ่งสําคัญอีกอย่างที่ไม่ควรหลงลืมคือ เมื่อนําสัมภาระอะไรเข้าป่าไปแล้ว ก็ต้องนําของทุกอย่างรวมทั้งขยะติดกลับมาด้วย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ทําจากวัสดุย่อยสลายยากอย่างพลาสติกหรือโฟม ควรนําไปในปริมาณที่น้อยที่สุด กระเป๋าสําหรับใส่อุปกรณ์ควรเป็นเป้ที่ทําจากวัสดุแข็งแรงแน่นหนา สะพายได้คล่องตัวและมีน้ําหนักเบา ขนาดที่แนะนําสําหรับการเดินป่าในประเทศไทยที่ใช้บริการลูกหาบช่วยแบกอาหารหรืออุปกรณ์กางเต็นท์ สามารถใช้เป้ขนาดความจุ35-45ลิตรแต่สําหรับผู้ที่ต้องแบกอุปกรณ์เดินป่าชุดเล็กและข้าวของเครื่องใช้ในการดํารงชีพไปเอง ควรเตรียมเป้ขนาด40-55ลิตร ซึ่งเป็นขนาดมาตรฐานที่นักเดินป่าในประเทศไทยนิยมใช้ ส่วนเป้ขนาด50-55ลิตรขึ้นไปจะเหมาะกับผู้ที่เดินป่าระยะไกลเป็นเวลาหลายวันด้วยอุปกรณ์เดินป่าครบชุด รวมถึงเครื่องครัว อาหาร และเสื้อผ้าสําหรับป้องกันความหนาว
ที่หลับที่นอน
ที่อยู่อาศัยในป่าก็คือเต็นท์ ซึ่งมีให้เลือกใช้หลากหลายรูปแบบตามความต้องการของนักท่องเที่ยวและสถานที่ตั้งแคมป์ ส่วนใหญ่จะแยกเป็นเต็นท์สําหรับผู้เดินป่าแบบแบ็กแพ็คที่มีน้ําหนักเบาเป็นพิเศษและมีขนาดสําหรับ1-2คน เน้นความสะดวกในการพกพาและจัดเก็บใส่กระเป๋า หรือบางท่านอาจเลือกใช้เต็นท์เปลนอนสําหรับ1ท่าน ก็นับเป็นตัวเลือกที่ดี ยิ่งในช่วงฤดูฝนอาจเตรียมแผ่นกันฝนหรือแผ่นรองเต็นท์เพื่อรับมือกับน้ําฝนด้วย โดยก่อนเลือกซื้อควรลองนอนกับสินค้าตัวอย่างที่ทางร้านเตรียมไว้ให้ก่อน เพื่อสํารวจว่ามีขนาดเหมาะสมกับเราและนอนสบาย ส่วนการเลือกที่นอนควรพิจารณาจากขนาดและอุณหภูมิของจุดกางเต็นท์เป็นหลัก ซึ่งจะมีระบุไว้ที่ถุงนอนอย่างชัดเจน สําหรับผู้ที่เดินทางไปคาร์แคมป์สามารถเลือกขนาดเต็นท์ที่หลากหลายตามจํานวนสมาชิกที่ออกเดินทาง ถ้าเป็นไปได้ควรเป็นเต็นท์รวมเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับสมาชิกผู้ร่วมทาง โดยควรเลือกเต็นท์ที่มีปริมาณความจุมากกว่าจํานวนสมาชิก1ที่เป็นอย่างน้อย เช่น หากจํานวนสมาชิกมีอยู่3คน ควรหาเต็นท์ที่บรรจุได้มากกว่า4คน เพื่อให้มีพื้นที่สําหรับวางสัมภาระอื่นๆภายในเต็นท์ ที่สําคัญ ควรเลือกเต็นท์ที่กันน้ําฝนและกันลม เพื่อรองรับสภาพอากาศที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ก่อนออกเดินทางควรเช็กสภาพเต็นท์ ถุงนอนหรือเครื่องนอนให้เรียบร้อยว่ามีจุดชํารุดหรือต้องซ่อมแซมตรงไหนก่อน
อาหารการกิน
เช่นเดียวกับสัมภาระ อาหารที่เตรียมไปสําหรับรับประทานในป่าควรมีน้ําหนักเบา ให้พลังงานสูง สะดวกต่อการพกพาหรือนํามาประกอบอาหาร และอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่มีการป้องกันอย่างมิดชิด เช่น อาหารแห้ง ข้าวเหนียวหมูปิ้ง หรือพาวเวอร์บาร์ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงด้วยผงชูรสหรือมีรสจัดเนื่องจากอุทยานแห่งชาติบางแห่งมีจุดจําหน่ายน้ําจํากัดและเราจําเป็นต้องนําน้ําดื่มเข้าไปเอง ซึ่งก็ต้องประเมินให้ดีก่อนออกเดินทาง หากปริมาณน้ําและอาหารน้อยเกินไปก็จะไม่เพียงพอต่อการบริโภคแต่หากมากเกินไปก็จะยิ่งเพิ่มอุปสรรคในการเดินป่ามากขึ้น ส่วนอุปกรณ์ในการทําอาหารควรศึกษาให้ดีว่าสถานที่ที่เราจะเดินทางไปอนุญาตให้ก่อกองไฟด้วยฟืนได้หรือไม่อาจจําเป็นต้องนําเตาแก๊สแบบพกพาที่มีขนาดกะทัดรัดพร้อมแก๊สชนิดกระป๋องสําหรับก่อกองไฟไปเอง สถานที่ที่มีจุดกางต็นท์ที่รถยนต์เข้าถึงก็ถือว่าเป็นการลดอุปสรรคในเรื่องอาหารลงได้มาก เราสามารถเตรียมอาหารหรือรังสรรค์เมนูจากอาหารสดที่เตรียมมาได้เต็มที่ แต่เพื่อความสะอาดและไม่เป็นการรบกวนผู้ที่มากางเต็นท์กลุ่มอื่น ไม่ควรทําอาหารที่ผ่านกรรมวิธีมากจนเกินไป หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกลิ่นแรง ไม่ใช้น้ํามันหรืออุปกรณ์ในการทําอาหารที่มีขนาดใหญ่มากจนเกินไป และควรใช้อุปกรณ์สําหรับประกอบอาหารที่ออกแบบมาเพื่อกิจกรรมแคมปิ้งโดยเฉพาะ หรือเป็นอุปกรณ์ที่เคลื่อนย้ายสะดวกและอยู่ในสภาพปลอดภัย ไม่ชํารุด
สิ่งที่คนรักสวนไม่ควรพลาด
ตลอดเส้นทางการเดินป่าหรือการพักผ่อนบริเวณจุดการเต็นท์ในครั้งนี้ นอกจากเป็นการพักร้อนและใช้เวลาร่วมกันระหว่างเรากับผู้ร่วมทางแล้ว ยังเป็นการมองเห็นความสวยงามของธรรมชาติที่เกิดขึ้นด้วยตาตัวเองจากสถานที่จริง เราสามารถหยิบยกภาพความสวยงามของมุมที่ชอบมาใช้กับการจัดสวนของเราได้โดยเฉพาะผู้ที่จัดสวนธรรมชาติหรือสวนสไตล์ทรอปิคัล เช่น ลักษณะรูปทรงและทิศทางการไหลของน้ําตกหรือลําธาร ตําแหน่งของกลุ่มต้นไม้และก้อนหิน หรือกลุ่มเฟินหรือกล้วยไม้ที่ขึ้นอิงอาศัยอยู่บนต้นไม้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม ในป่าไม้หรืออุทยานแห่งชาติต่างๆไม่อนุญาตให้นําพรรณไม้หรือสิ่งใดๆในป่าออกนอกพื้นที่ นอกเหนือจากความประทับใจและไอเดียในการจัดสวน อีกทั้งไม่ควรสนับสนุนการซื้อขายหรือลักลอบจําหน่ายสินค้าที่มาจากป่าไม่ว่ารูปแบบใดก็ตาม
เรื่อง:ปัญชัช
ภาพ:คลังภาพบ้านและสวนนิตยสารroom,my home
- 5 CAMPING CAFES ชวนจิบกาแฟในบรรยากาศแคมปิ้งสุดชิล
- The Camping House ชั่วโมงแห่งความสุขที่บ้านดงหลง
- 8 ที่พักลานกางเต็นท์ สุนัขพักได้