บ้านไม้ริมทะเล

บ้านไม้แสนอบอุ่นริมทะเล

บ้านไม้ริมทะเล
บ้านไม้ริมทะเล

ภาพที่ปรากฏตรงหน้าสร้างความแปลกใจไม่น้อย เมื่อมาถึง บ้านไม้ริมทะเล ซึ่งเป็นบ้านที่มีพื้นที่ใช้สอยถึง 300 ตารางเมตร แต่กลับมองเห็นเพียงสนามหญ้าเรียบๆ สุดขอบสนามมีแนวต้นโกงกางที่แหวกพื้นที่ตรงกลางให้มองเห็นน้ำทะเล ซึ่งมีภาพเกาะแก่งและเส้นขอบฟ้าอยู่ไกลๆ ทำให้จินตนาการไม่ออกว่าหน้าตาของบ้านหลังนี้จะเป็นอย่างไร

บ้านไม้ริมทะเล
มุมมองจากถนนจะเห็นเพียงสนามหญ้ากับบางส่วนของตัวบ้านเท่านั้น
บ้านไม้ริมทะเล
เมื่อน้ำทะเลลดก็เป็นโอกาสเดียวที่จะเดินออกมาดูตัวบ้านได้ทั้งหลัง  รากของต้นไม้ป่าชายเลนด้านหน้าบ้านดูสวยงามเหมือนกับงานศิลปะในธรรมชาติ

จากความสงสัยจึงกลายเป็นความตื่นเต้น ไม่นานนักก็ได้พบเจ้าของ บ้านไม้ริมทะเล นายแพทย์วรวุฒิ พัฒนโภครัตนา ซึ่งมาขยายความว่า บ้านหลังนี้สร้างอยู่ในระดับต่ำกว่าถนนสาธารณะของเกาะพะงัน เมื่อมองจากด้านนอกจึงไม่อาจมองเห็นตัวบ้านได้เลย แม้จะสร้างเป็นบ้านสองชั้นก็ตามที ลักษณะที่โดดเด่นของบ้านหลังนี้คือออกแบบเป็นบ้าน 3 หลังแยกจากกัน โดยมีชานไม้เชื่อมต่อพื้นที่ให้เป็นผืนเดียว ดูคล้ายแนวคิดการสร้างบ้านไทยในอดีต บ้านแต่ละหลังมีขนาดต่างกัน ทุกหลังนอกจากจะมีเสากับพื้นซึ่งทำจากไม้กันเกราแล้ว ผนังห้องเกือบทุกด้านเป็นกระจกใสขนาดใหญ่สูงจากพื้นจรดเพดาน ไม่ว่าจะอยู่มุมใดก็มองเห็นวิวทิวทัศน์ได้ทั้งสิ้น

บ้านไม้ริมทะเล
เมื่อเดินเข้ามาใกล้ขอบสนามหญ้าจะเห็นชัดว่าแผ่นแบนราบนั้นคือหลังคา  ทุกส่วนของบ้านอยู่ต่ำกว่าระดับสายตา แต่ละหลังแยกเป็นเอกเทศ  เว้นทางเดินตรงกลางให้เป็นจุดนำสายตาไปสู่วิวทะเล  ให้ความรู้สึกเหมือนบ้านตั้งอยู่ระดับเดียวกับขอบน้ำทะเล
ทางเดิน
ทางเดินหลักเข้าสู่ตัวบ้าน กำแพงด้านข้างตกแต่งด้วยหิน ซึ่งเป็นทั้งรั้วและแนวกันดิน  อีกด้านออกแบบเป็นสวนหย่อมเพิ่มความสดชื่น

ส่วนแรกของตัวบ้านที่เข้าถึงได้ก็คือชั้นบนของบ้านหลังใหญ่ที่สุด ซึ่งแบ่งพื้นที่ภายในเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนเตียงนอนอยู่ริมหน้าสุด มองเห็นทะเลตรงกลางลดระดับพื้นลงไปเป็นส่วนนั่งเล่นดูโทรทัศน์และส่วนสุดท้ายเป็นแพนทรี่พร้อมส่วนรับประทานอาหาร ส่วนชั้นล่างมีพื้นที่ใช้สอยเท่าชั้นบน โดยให้ความสำคัญกับแพนทรี่หน้าตาเรียบหรู จัดวางชุดโต๊ะรับประทานอาหารและเก้าอี้ตัวสวย รูปทรงเหมือนงานประติมากรรม ถัดไปเป็นห้องนอนเล็ก 2 ห้องแยกอยู่คนละด้าน ตรงกลางระหว่างทั้งสองห้องเป็นส่วนนั่งเล่น และด้านหน้าของห้องนอนทั้งสองห้องเป็นสระว่ายน้ำยาวขนานกับตัวบ้าน ส่วนบ้านอีกหลังเป็นห้องนอนเล็ก สร้างขนานกับบ้านหลังใหญ่ แม้จะมีขนาดค่อนข้างเล็ก แต่ก็ดูไม่อึดอัด เพราะผนังเป็นกระจกใส และบ้านหลังที่สามอยู่ลึกเข้าไปด้านในเป็นห้องนอนเล็กที่มีส่วนออกกำลังกายด้วย

ระเบียงไม้
มุมกว้างที่มองเห็นบ้านชั้นบนเกือบทั้งหลัง  มีชานไม้เชื่อมต่อถึงกัน คุณหมอวรวุฒิบอกว่าสามด้านของขอบที่ดินเป็นกำแพงทึบทั้งหมด จึงอยากทำให้ตัวบ้านโปร่งมากที่สุด แม้บ้านหลังเล็ก (ซ้ายมือ) ซึ่งเป็นห้องนอนเล็ก  ก็กรุผนังกระจกใสโดยรอบ เพื่อจะได้ไม่บังวิวซึ่งกันและกัน
ระเบียงไม้
ชานไม้ด้านหน้าสุดของชั้นบนกั้นขอบด้วยแผ่นกระจกใส มองลงไปเห็นสระว่ายน้ำชั้นล่าง เป็นมุมที่เปิดโล่งและสบายมากๆ
ห้องนอนไม้
ด้านหน้าสุดบริเวณชั้นบนของบ้านหลังใหญ่เป็นเตียงนอนรับวิวทะเลได้อย่างเต็มที่ ส่วนหัวเตียงออกแบบเป็นช่องวางเครื่องเสียง ถัดไปจัดวางเก้าอี้ไม้รูปทรงแปลกตาซึ่งทำจากรากไม้กันเกรา
อ่างอาบน้ำ
ภายในห้องนอนใหญ่กั้นพื้นที่ด้วยการออกแบบเป็นช่องกระจก มองเห็นอ่างอาบน้ำที่อยู่ด้านใน แต่ให้ความเป็นส่วนตัว ผนังกรุไม้เป็นบานเปิดสำหรับเป็นที่เก็บของได้
อ่างอาบน้ำ
ส่วนหนึ่งของห้องน้ำในห้องนอนใหญ่  ทำอ่างอาบน้ำหินขัดสูงกว่าระดับพื้นไม่มากนัก เพื่อใช้เป็นทั้งอ่างอาบน้ำและมุมอาบน้ำแบบเรนชาวเวอร์ พื้น ผนัง และเพดานกรุแผ่นไม้กันเกรา 
ห้องน้ำ
อีกด้านของห้องน้ำในห้องนอนใหญ่ มีอ่างล้างหน้าดีไซน์ไม่ซ้ำใคร เพราะทำจากส่วนโคนต้นกันเกรา

แม้รูปทรงของบ้านจะดูเรียบง่าย แต่ต้องใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 3 ปี  เพราะต้องสั่งซื้อวัสดุก่อสร้างและขนส่งมาจากกรุงเทพฯโดยใช้แรงงานคนทั้งหมด  ส่วนไม้กันเกราที่เป็นองค์ประกอบหลักของบ้าน  คุณหมอวรวุฒิบอกเล่าด้วยความภูมิใจว่า
“กันเกราเป็นไม้ที่ปลูกกันทั่วไปในสวน (ชาวบ้านเรียกกันว่า ‘ไม้ตำเสา’ หรือ ‘ทำเสา’) หาได้ง่ายบนเกาะพะงัน แต่คนที่นี่เขานิยมทำเป็นเสาสี่เหลี่ยมมากกว่า เป็นไม้ที่มีสีสวยมาก ผมเห็นแล้วชอบจึงขอซื้อมาสะสมไว้ และนำมาทำเป็นเสากลม ซึ่งชาวบ้านไม่ทำกัน ผมตัดสินใจทำโรงกลึงไม้เอง ซื้อเครื่องมือต่างๆ มาทำ การสร้างบ้านหลังนี้ต้องเป็นคนที่อยู่กับไม้และรักไม้มากๆต้องคอยเวลาที่เหมาะสม รอจนไม้แห้งได้ที่พร้อมก่อสร้างเสียก่อน เมื่อสร้างมาได้ระยะหนึ่งไม้หมดก็ต้องไปตระเวนหาตามสวนจากเกาะอื่นๆ มาเติม”

เฟอร์นิเจอร์ไม้กันเกรา
พื้นที่โล่งตรงส่วนกลางของชั้นล่างจัดเป็นแพนทรี่และส่วนรับประทานอาหาร โดยนำไม้กันเกรามาใช้ต่างรูปแบบกัน อาทิ  เสาใช้ลำต้นที่ถากเฉพาะผิวเปลือกออก เก้าอี้เป็นส่วนโคนต้นที่ขัดเกลาจนได้รูปทรงแปลกตา และหน้าบานตู้เป็นแผ่นไม้แบบไสเรียบ
ส่วนนั่งเล่น
ภายในบ้านหลังใหญ่ จากประตูบานเลื่อนกระจกใสมีการลดระดับพื้นทำเป็นมุมนั่งเล่น ส่วนบันไดก็ใช้เป็นที่นั่งได้เช่นกัน  ด้านหลังเป็นแพนทรี่ทันสมัยพร้อมมุมรับประทานอาหาร  พื้น เสา และกรอบประตูล้วนทำจากไม้กันเกราสีสันสวยงาม
ห้องนอน
ห้องนอนเล็กชั้นล่างทั้งสองห้องออกแบบให้ดูเรียบง่าย มีประตูบานเลื่อนกระจกใสบานใหญ่เชื่อมต่อออกไปยังสระว่ายน้ำ  จึงไร้สิ่งกีดขวางทิวทัศน์อันสวยงาม 
ห้องน้ำ
โถชักโครก
ส่วนอาบน้ำฝักบัว
ห้องน้ำในห้องนอนเล็กชั้นล่างใช้ม่านม้วนปิดกั้นเมื่อต้องการความเป็นส่วนตัว ผนังห้องกรุหินอ่อนจากสระบุรี  สั่งตัดขนาดพิเศษ 40×80 เซนติเมตร

เรียกว่าเป็น บ้านไม้ริมทะเล ที่สร้างด้วยใจ มองตรงไหนก็ดูน่าอยู่และมีเรื่องราวดีๆ ให้ได้เล่าต่อ อย่างที่เจ้าของบ้านกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “ผมบอกไม่ได้ว่าทำไมต้องไม้ แต่ผมรักไม้กันเกราเหล่านี้มาก ความสวยงามและเป็นธรรมชาติของไม้ช่วยให้บ้านสไตล์โมเดิร์นดูลงตัวและอบอุ่นมากๆ ครับ”

บันได
รายละเอียดของการตกแต่งบริเวณบันได ตัวบันไดยึดเข้ากับผนัง ส่วนอีกด้านออกแบบเป็นไม้กลึงกลมวางบนแท่นปูน โดยใช้สีธรรมชาติสลับกับสีดำเป็นจังหวะพองาม
สวนขนาดเล็ก
ที่ดินเป็นเนินทรายที่มีระดับความลาดต่างกันมาก และเจ้าของบ้านต้องการให้ทุกส่วนในบ้านมีความเป็นส่วนตัว จึงนำเศษหินธรรมชาติมากั้นพื้นที่ สร้างเท็กซ์เจอร์ที่แตกต่าง พร้อมออกแบบให้มีช่องแสงด้านบน เพื่อให้ต้นไม้ได้รับแสงสว่างอย่างทั่วถึง
ชานไม้กว้างเจาะพื้นเป็นรูปวงกลมเพื่อให้แสงธรรมชาติส่องผ่านลงไปชั้นล่างได้
สวนขนาดเล็ก
พื้นที่ว่างชั้นล่างดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาเมื่อตกแต่งเป็นสวนหย่อม โดยได้รับแสงแดดจากช่องแสงรูปวงกลมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพื้นชานไม้ชั้นบน

เจ้าของ : นายแพทย์วรวุฒิพัฒนโภครัตนา

สถาปนิก : คุณณัฐพล จิตต์หมวด



เรื่อง : Otto Otto

ภาพ : สังวาล พระเทพ

บ้านริมทะเลกับธรรมชาติที่ลงตัว

“บ้านริมทะเล” สวรรค์อยู่ใกล้แค่เอื้อม