ความตั้งใจแรกของคุณต๋อม-ไฉไล โกมารกุล ณ นครในการมาซื้อที่ดินและสร้างบ้านพักตากอากาศ ซึ่งต่อมาได้เพิ่มเป็น Bed and Breakfast ชื่อ Chailai Grace อยู่ที่อำเภอเชียงดาว
จังหวัดเชียงใหม่คือเพื่อปลูกกุหลาบ ด้วยสภาพอากาศที่ค่อนข้างเย็นในฤดูหนาวประกอบกับระดับความสูงของที่ดินเหนือระดับน้ำทะเลเฉลี่ย 500 เมตร น่าจะเหมาะกับการปลูกกุหลาบในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตามการปลูกกุหลาบให้ออกดอกสวยงามก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยความรู้ ประสบการณ์ รวมทั้งความเอาใจใส่ ซึ่งคุณต๋อมพร้อมแชร์ประสบการณ์ให้กับเราฟังดังนี้
ปลูกกุหลาบให้ออกดอก
ทำความรู้จักกับนิสัยกุหลาบลูกกุหลาบให้ออกดอก
“ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่ากุหลาบคือ ผู้หญิงสวยที่กินเก่งและขี้โรค ดังนั้นการจะดูแลหญิงสาวคนนี้ให้เติบโตไปอย่างสวยงาม เราต้องค่อยสังเกตอาการของเขาในทุกวันและหมั่นป้อนอาหารที่มีประโยชน์ให้แก่เขา”
อุณหภูมิเฉลี่ยที่เหมาะสมในการปลูกกุหลาบคือ 25 องศาเซลเซียสในช่วงกลางวัน และ 15-16 องศาเซลเซียสในเวลากลางคืน แต่ถ้าอุณหภูมิของบ้านเราไม่ได้เหมาะสมเพียงพอเท่ากับอุณหภูมิดังกล่าว จะยังสามารถปลูกกุหลาบได้อยู่ไหม ก็ต้องบอกว่าได้ เพราะถึงอย่างไรก็ตามก็ต้องดูที่ปัจจัยด้านสายพันธุ์ของกุหลาบที่ปลูกด้วย กุหลาบเป็นพันธุ์ไม้ที่มีสายพันธุ์เยอะมากบนโลก ซึ่งแต่ละพันธุ์ก็จะมีความทนทานและความชอบที่แตกต่างกันไป กุหลาบส่วนใหญ่ที่พบว่าปลูกได้ดีในประเทศไทยโดยเฉพาะกรุงเทพมหานครคือกุหลาบวาเลนไทน์ และกุหลาบมอญ แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่กุหลาบเกือบทุกชนิดเป็นเหมือนกันคือ กุหลาบเป็นพรรณไม้ที่ชอบแดดจัดเต็มวันหรือย่างน้อย 6 ชั่วโมง ดังนั้นจึงไม่ควรปลูกกุหลาบให้อยู่ใต้เงาของต้นไม้ใหญ่เด็ดขาด
เตรียมแปลงปลูก
กุหลาบชอบดินโปร่งร่วน ไม่มีน้ำขังแฉะและมีอินทรียวัตถุสูง จะเห็นได้ว่าที่สวนของคุณต๋อมจะปลูกกุหลาบเป็นแปลงอย่างเป็นระเบียบ ซึ่งในแปลงก็จะทำโคกขึ้นพูนสูงจากดินรอบๆเล็กน้อยประมาณ 10-15 เซนติเมตร อีกทั้งยังมีก้อนหินแม่น้ำวางเป็นขอบดูสวยงาม ซึ่งนอกจากความสวยแล้ว แปลงกุหลาบที่เป็นโคกช่วยให้น้ำที่รดหรือน้ำฝนสามารถไหลผ่านแปลงกุหลาบไปโดยไม่ขัง ขณะเดียวกันหินแม่น้ำยังทำหน้าที่กั้นไม่ให้สารอาหารไหลไปตามน้ำจนหมด อีกทั้งยังง่ายต่อการดูแลและบำรุงดินอีกด้วย วัสดุปลูกสูตรของคุณต๋อมจะใช้ดินผสมปุ๋ยสูตรเสมอ 16-16-16 มูลค้างคาว กระดูกป่น และฮิวมัส เพื่อบำรุงดินผสมในอัตราส่วนเท่าๆกัน อีกทั้งยังต้องหมั่นพรวนดินทุก 3 เดือน หรือทุกครั้งที่ดินเริ่มแน่น ถ้าผิวดินแน่นน้ำก็จะไหลออกไปด้านข้างก่อนซึมลงสู่รากกุหลาบ กุหลาบก็จะรับน้ำไม่เพียงพอได้
การเลือกสายพันธุ์กุหลาบ
สำหรับคุณต๋อมแน่นอนว่าเหตุผลอันดับแรกที่เลือกปลูกกุหลาบสายพันธุ์นั้นๆคือ ความชอบในลักษณะดอกของสายพันธุ์นั้น แต่ก็ยังต้องสามารถปลูกในสวนได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งต้องเรียนรู้จากประสบการณ์เองอยู่ดี เพราะสภาพพื้นที่ที่ต่างกัน ความแข็งแรงของกุหลาบก็ต่างกันออกไป บางต้นปลูกอีกที่หนึ่งงาม แต่อีกที่อาจไม่งามก็ได้
สิ่งที่ควรเรียนรู้ต่อมาคือแหล่งที่ซื้อกุหลาบ ต้องเป็นร้านที่มีความรู้ด้านกุหลาบเป็นอย่างดี ไม่ได้รับกุหลาบจากที่อื่นมาขายเพียงอย่างเดียว พอให้เราทราบข้อมูลเบื้องต้นว่ากุหลาบชนิดนั้นเป็นสายพันธุ์อะไร และมีระยะการปลูกหรือขนาดทรงพุ่มใหญ่แค่ไหน ส่วนมากกุหลาบในแปลงจะปลูกให้มีระยะห่างระหว่างกันอยู่ที่ 50-80 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้กุหลาบเบียดกันจนเกินไป นอกจากนั้นไม่ควรปลูกกุหลาบต่างสายพันธุ์ไว้รวมกัน เนื่องจากแต่ละพันธุ์จะมีความชอบ ระยะทรงพุ่มรวมถึงอัตราการเจริญเติบโตไม่เท่ากัน ต้นที่โตเร็วหรือทรงพุ่มใหญ่กว่าก็จะไปเบียดอีกสายพันธุ์หนึ่งจนเติบโตไม่ได้ในที่สุด หรือบางชนิดเป็นกุหลาบเลื้อยก็จำเป็นต้องทำซุ้มสำหรับให้กุหลาบนั้นได้สามารถเลื้อยไต่ไปได้ หากเอาไปปลูกในแปลงทั่วไปก็จะมีกิ่งเก้งก้างไม่สวยงามอย่างที่ควรจะเป็น
การรดน้ำและบำรุงต้น
เนื่องจากกุหลาบไม่ชอบความแฉะ แต่จะให้ขาดน้ำไปเลยก็ไม่ได้อีกเช่นกัน ดังนั้นเราจะรดน้ำแค่ช่วงเช้าวันละครั้ง เฉลี่ยประมาณวันละ 1 ลิตรต่อต้น หากมีฝนตกก็หยุดให้น้ำไปเลยในวันนั้นก็ได้ การให้น้ำกุหลาบในช่วงเย็นจะทำให้มีน้ำขังที่ใบและเป็นที่มาของโรคได้เช่นกัน
ทุกอาทิตย์คุณต๋อมจะใส่สารชีวภาพอย่างเบสโตซานและไคโตซานปริมาณ 1 ซีซี ต่อ น้ำ 1 ลิตร ฉีดพ่นไปที่ใบ ดินและลำต้น ถ้าสภาพอากาศไม่ดีคือมีฝนตกหรือมีหมอกลงจัดควรให้ทุก 3-4 วัน เพราะหมอกเหล่านี้จะนำพาโรคที่เป็นอันตรายต่อกุหลาบมาด้วยมาก สารชีวภาพเหล่านี้จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กุหลาบ และเพิ่มสารอาหารให้กุหลาบสามารถต่อสู้กับโรคและออกดอกสวยได้
การดูแลกุหลาบ
สิ่งที่ต้องทำให้ทุกๆเช้าคือการเดินออกมาตรวจแปลงกุหลาบ ตัดใบและกิ่งที่ไม่ดีออก กิ่งที่ไม่ดีก็คือกิ่งที่มีรูปทรงไม่สมบูรณ์ กิ่งที่เอียงเข้าหาลำต้น กิ่งที่เป็นโรค อีกอาการที่พบบ่อยคืออาการกิ่งแห้งจากด้านบน บางกิ่งจะมีสีเหลืองก่อนกลายเป็นสีดำ เรียกว่าดายแบล็ค เมื่อปล่อยจนต้นตายก็จะกลายเป็นโรคระบาดไปยังต้นอื่นๆได้ ดังนั้นต้องรีบตัดออกอย่าให้รุกลามไปมาก มักพบในต้นที่มีอายุมาก อาการอีกอย่างที่พบมากคือโรคใบจุดดำ(black spot) มาจากเชื้อราที่มากับฝนให้รีบตัดทิ้งเลยเช่นกัน เพราะยิ่งฝนหรือน้ำเปียกใบก็จะไหลไปสู่อีกใบจนเกิดโรคล่ามไปเรื่อยๆ อีกทั้งต้องหมั่นดึงวัชพืชที่ขึ้นอยู่รอบๆ
วิธีตัดแต่งกิ่งกุหลาบที่ถูกวิธีคือตัดเหนือกิ่งที่มีใบประกอบอยู่ 5 ใบย่อย ควรเหลือทิ้งไว้ที่ต้นอย่างน้อย 2 ชุด กุหลาบจะแตกยอดที่ตาแรกที่ถูกตัดเกิดเป็นกิ่งใหม่ที่สมบูรณ์
ด้วงกุหลาบเป็นอีกหนึ่งศัตรูพืชที่มากินใบและดอก หากไม่ใช้สารเคมีก็ต้องใช้วิธีจับออกด้วยมือในเวลากลางคืน แต่จะอยู่แค่ 45 วันเท่านั้นในช่วงฤดูร้อน หลังจากด้วงระบาดตามธรรมชาติเราสามารถใช้โอกาสนี้ตัดกิ่งลงไปเหนือโคน 10-15 เซนติเมตรเพื่อทำสาวได้เช่นกัน แต่ต้องสังเกตว่าต้นกุหลาบต้นนั้นแข็งแรงดีหรือไม่ ถ้าเป็นกุหลาบที่ไม่แข็งแรงควรปล่อยไปก่อน
“ พี่เองไม่ได้เป็นคนที่เรียนมาทางด้านเกษตร ทั้งหมดมาจากความรักล้วนๆ เพราะรักจึงอยากดูแล ศึกษาและเอาใจใส่กุหลาบในสวนของเราทุกวัน พี่เชื่อว่าถ้าคนที่ไม่เคยปลูกต้นไม้มาก่อนอย่างพี่ สามารถปลูกกุหลาบให้ออกดอกสวยได้ ทุกคนที่มีความรักในกุหลาบก็ย่อมทำได้เช่นกัน ”
สถานที่ : Chailai Grace เลขที่ 448 หมู่ 3 ซอยวัดจอมคีรี, ตำบล แม่นะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
โทรศัพท์ : 095 705 9257
facebook : Chailai Grace
เรื่อง : ปัญชัช
ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข
หนังสือ กุหลาบ : ROSES (ฉบับปรับปรุงและเพิ่มเติม) โดย คุณพจนา นาควัชระ ผู้มีประสบการณ์ด้านการปลูกกุหลาบมานานกว่า 50 ปี หนังสือขายดีอันดับต้นๆ ของสำนักพิมพ์บ้านและสวน จนหมดสต๊อก เล่มใหม่สดใสกว่าเดิม เพิ่มเติมสายพันธุ์อีกกว่า 100 พันธุ์ รวมมากกว่า 300 พันธุ์
ปลูกกุหลาบ ไม่ออกดอก ลำต้นไม่งาม ควรทำอย่างไรดี?
5 โรคกุหลาบ พึงระวังและวิธีรักษาให้กลับมาสวย