ปลดล็อกกัญชา-กัญชงสู่สมุนไพรครัวเรือน เพื่อใช้ในด้านการรักษา

ด้วยสรรพคุณที่มากเกินกว่าที่จะมาตีกรอบให้ “กัญชง-กัญชา” เป็นเพียงแค่ยาเสพติด ดังนั้นเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 2565  และ และ ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 65

ต้นกัญชาสายพันธุ์อินดิกา ชอบที่ร่มและอากาศเย็น มีสาร CBD สูง ขอขอบคุณภาพจากคุณMichael Fischer

ลักษณะทั่วไปและความแตกต่างของต้นกัญชา-กัญชง

กัญชา (cannabis) พืชในสกุล Cannabis และ กัญชง (hemp) พืชซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ ว่า Cannabis sativa L. subsp. sativa อันเป็นชนิดย่อยของพืชกัญชา (Cannabis sativa L.) รวมถึงวัตถุหรือสารต่างๆ ที่มีอยู่ในพืชกัญชาและกัญชง เช่น ยางและน้ำมัน เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศ ทั้งส่วนของช่อดอก ใบ กิ่ง ก้าน ลำต้น รากและเมล็ด ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (ยกเว้นเพียงสารสกัดของกัญชาที่มีค่า THC เกิน 0.2% เท่านั้นที่ยังถือว่าเป็นสารเสพติดอยู่) มีผลเมื่อครบ 120 วันในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ซึ่งตามร่างดังกล่าว จะควบคุมเรื่องการปลูก สกัด ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เป็นหลัก รวมถึงการใช้ในเชิงนันทนาการด้วย

ทั้งนี้การปลูกกัญชาและกัญชง หากใช้ประโยชน์ในครัวเรือนทั่วไป ต้องมีการจดแจ้งกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมอบหมาย สำหรับพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร ส่วนในจังหวัดอื่นๆต้องจดแจ้งต่อนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือผู้ซึ่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมอบหมาย ซึ่งผู้ขอจดแจ้งต้องเพาะปลูกกัญชาหรือกัญชงตามที่ได้จดแจ้งไว้ ประชาชนสามารถปลูกในครัวเรือนได้ไม่จำกัดว่าปลูกกี่ต้น ปลูกกี่ไร่ แต่ต้องไม่มีการเอาไปใช้เป็นยาเสพติด

ส่วนผู้ที่ปลูกเพื่อผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่ายต้องได้รับอนุญาตจากเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือผู้ซึ่งเลขาธิการอาหารและยา อย. มอบหมาย ส่วนการสกัดหรือแปรรูป ต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเช่นกัน ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออกหรือจำหน่ายโดยไม่ได้รับใบอนุญาตต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข้อห้ามสำคัญ คือ ห้ามขายกัญชาหรือกัญชง เเก่บุคคลดังต่อไปนี้

– ผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปี
– สตรีมีครรภ์
– สตรีให้นมบุตร
– บุคคลอื่นใดตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด

อย่างไรก็ตามข้อห้ามข้างต้นไม่ใช้บังคับแก่การจำหน่ายโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย หรือผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ที่สั่งจ่ายให้แก่คนไข้ของตนได้เพื่อประโยชน์ในการบำบัดรักษาโรค ส่วนการโฆษณาต้องมีการขออนุญาตกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก่อน ส่วนข้อกังวลเรื่องการควบคุมการใช้ในเชิงสันทนาการ ในร่างดังกล่าวไม่มีระบุถึงการควบคุมกำกับไว้ชัดเจน

อนึ่งในช่วงท้ายของร่างกฎหมายฉบับนี้มีบทเฉพาะกาลระบุไว้ ประเด็นสำคัญคือในระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ การนำเข้ากัญชาหรือกัญชงให้กระทำได้เฉพาะกรณี คือ เพื่อการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย และเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์

ใบกัญชงมีลักษณะใบเรียวเล็กและจำนวนแฉกมากกว่ากัญชา ขอขอบคุณภาพจาก คุณ Mayur Sharma
ไร่กัญชงในต่างประเทศ
ขอบคุณภาพจาก คุณ Indorgro
ช่อดอกเพศเมียของกัญชาเรียกว่า “กะหลี่กัญชา” สำหรับสกัดสารที่มีคุณสมบัติช่วยคลายเครียด แก้ชัก เจริญอาหาร หลับสบาย

 

สารออกฤทธิ์และสรรพคุณของกัญชา

ส่วนที่ใช้ส่วนใหญ่มาจากช่อดอกเพศเมีย มีคุณสมบัติช่วยคลายเครียด แก้ชัก เจริญอาหาร หลับสบาย สารสำคัญที่พบในกัญชาและกัญชงเป็นกลุ่มสารที่เรียกรวม ๆ ว่า cannabinoids พบมากกว่า 110 ชนิด โดยมีการศึกษาสรรพคุณมากที่สุด 3 ชนิด ได้แก่

  1. Tetrahydrocannabinol (THC) มีฤทธิ์ต่อระบบประสาท ช่วยรักษาอาการปวดประสาทตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเนื่องมาจากปลอกประสาทส่วนกลางอักเสบ ระงับการปวดแบบเรื้อรังเช่นปวดตามข้อ ป้องกันการตายของระบบประสาท สามารถช่วยเพิ่มความอยากอาหารให้ผู้ป่วยมะเร็งและเอดส์ ลดอาการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดได้ดี ลดความดันในตาของผู้ป่วยต้อหิน  แต่อาจไปกระตุ้นให้เกิดอาการโรคจิตเภท โดยเฉพาะสําหรับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงเช่น ผู้ที่มีปัญหาโรคจิตในครอบครัวหรือพันธุกรรม ผู้ป่วยโรคจิตจากสารเสพติดและแอลกอฮอล์ เป็นต้น ทําให้รู้สึกหงุดหงิดง่ายเวลาไม่ได้ใช้
  1. Cannabidiol (CBD) พบมากในกัญชง ช่วยลดความรุนแรงจากผลเสียของการได้รับสาร THC ที่มีอยู่ในกัญชาปกติมากกว่า บรรเทาอาการของโรคลมชักและความผิดปกติของระบบประสาท บรรเทาอาการเจ็บปวดจากการอักเสบ ช่วยลดอาการปวดข้อและไม่มีความเป็นพิษต่อระบบประสาท ทำให้เกิดอาการง่วงนอน คลายกังวล ระงับอาการทางจิต
  2. Cannabinol (CBN) มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและเพิ่มภูมิคุ้มกันในร่างกาย คล้ายกับ THC แต่ฤทธิ์น้อยกว่า เพราะเกิดจากการสายตัวของ THC ด้วยความร้อนและออกซิเจนในอากาศ จึงพบน้อยในการบริโภคแบบสด

 

ขอบคุณภาพจากคุณKindel Media

การใช้กัญชารักษาในรูปแบบอื่นๆเชิงสมุนไพร

ในอดีตมีการใช้กัญชาอยู่ 2 ลักษณะคือ การใช้ผงแห้งของใบและดอกมามวนเป็นบุหรี่สูบและการใช้ยางจากต้นมาเผาไฟและสูดดม มีบันทึกไว้ว่าชาวจีนใช้กัญชาด้วยวิธีการชงชาและการดื่มชาเพื่อใช้รักษาอาการปวดจากโรครูมาติกส์และเกาต์ ประมาณเมื่อ 2600 ปีก่อนคริสตกาล ในตำาราสมุนไพรจีนโบราณเล่มเก่าแก่ที่สุด (Shennong Bencaojing) ได้เขียนถึงกัญชาและเรียกกันว่า dama (大麻)

ในตำราอายุรเวทของอินเดีย ระบุสรรพคุณของกัญชาไว้ว่าเมื่อใช้ร่วมกับสมุนไพรอื่นจะช่วยลดความดันเลือด น้ำคั้นจากใบใช้แก้โรคต้อหิน กระตุ้นระบบประสาท แก้รังแค แก้ปวดหูจากอาการอักเสบ ขับปัสสาวะ แก้ตับและไตอักเสบ ผงบดจากใบแห้งโรยรักษาแผลสด ใบสดบดพอกผิวหนังแก้อักเสบจากการติดเชื้อต่าง ๆ เช่น แผลจากโรคไฟลามทุ่ง งูสวัด อีสุกอีใส โรคแพ้ผื่นคันผิวหนังอักเสบ เพื่อลดอาการคัน และปวด แก้นอนไม่หลับ แก้ปวดหัว กระเพาะลำไส้ไม่ปกติระงับปวดและความเจ็บปวดจากการคลอดบุตร แก้ท้องเสียและลมแดด ขับเสมหะ ช่วยให้เจริญอาหาร แก้หอบหืด และหลอดลมอักเสบ

ในอียิปต์โบราณ ใช้กัญชาต้านการอักเสบ ขับปัสสาวะ ลดไข้ ต้านการชัก แก้อาเจียน แก้เจ็บตา และแก้โรคต้อกระจก แก้ความโศกเศร้าและอารมณ์ไม่ดี บรรเทาความเจ็บปวดจากโรคริดสีดวงทวาร

ในกลุ่มชาวอิสลาม มีบันทึกการใช้กัญชาเป็นยาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 8 – 14 โดยใช้ขับปัสสาวะ แก้คลื่นเหียนอาเจียน เมารถเมาเรือ แก้โรคลมชัก ต้านการอักเสบ ระงับปวด และลดไข้

ในประเทศอังกฤษและกลุ่มประเทศในทวีปยุโรปมีการซื้อขายกัญชาในร้านยาทั่วไปได้โดยไม่ผิดกฎหมาย มีสารสกัดของกัญชาในส่วนประกอบของยาและทิงเจอร์ใน British Pharmacopoeia และ United States Pharmacopoeia มีบันทึกว่าแพทย์มีการสั่งจ่ายกัญชาเพื่อใช้ลดอาการปวดประจำเดือนแก่พระราชินีวิคตอเรียของประเทศอังกฤษด้วยในปี ค.ศ. 1937 ต่อมาในสหรัฐอเมริกามีการรายงานว่าการใช้กัญชามีผลทำให้ผู้ใช้ขาดสติ เกิดอาการประสาทหลอน และก่อให้เกิดอาชญากรรมขึ้นได้จึงมีการถอนกัญชาออกจาก United States Pharmacopoeia และยกเลิกการใช้กัญชาในการรักษาโรค มีการห้ามใช้กัญชาในการรักษาโรคในอังกฤษและยุโรปในตั้งแต่ในปี ค.ศ. 1971

ในเมืองไทย มีบันทึกการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในยุคของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.2199 – 2231) โดยใช้เป็นส่วนผสมในตำรับแพทย์แผนไทยถึง 98 ตำรับ ซึ่งใช้รักษาอาการนอนไม่หลับ อาการปวด ตกเลือด แก้โรคลมชัก ช่วยให้เจริญอาหาร แก้ลงแดง ขับลมและบำรุงกำลัง ลดความวิตกกังวล นอกจากนี้ คนไทยยังใช้กัญชาเป็นเครื่องปรุงรสในอาหารเพื่อช่วยให้เจริญอาหาร เช่น ใส่ในก๋วยเตี๋ยวและแกงเขียวหวาน ด้านยามีการใช้เพื่อสงบประสาทแก้ท้องร่วง โรคบิด ปัจจุบันมีการอนุญาตให้ปลูกกัญชาเพื่อผลิตเส้นใย (ที่เรียก “กัญชง”) ได้ในบางพื้นที่ทางภาคเหนือและออกกฎหมายอนุญาตให้ปลูกกัญชาเพื่อนำมาสกัดน้ำมันสำหรับใช้ทางการแพทย์

ในประเทศไทยมีสายพันธุ์กัญชาที่หลากหลาย และมีแสงแดดหรือปัจจัยต่างๆที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตได้ดี ทำให้ต้นทุนในการผลิตน้อยกว่าหลายประเทศที่ปัจจุบันมีการวิจัยพัฒนายาต้านมะเร็งจากกัญชาเช่นเนเธอร์แลนด์และสหรัฐอเมริกา ทำให้กัญชากลายเป็นความหวังที่จะนำมาพัฒนาเป็นยารักษาในผู้ป่วยมะเร็งที่มีประสิทธิภาพและราคาถูกกว่ายาที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศเช่นในปัจจุบัน

 

552297

หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 02 5907771-3


 

หนังสือ พฤกษบำบัด ยาดีจากธรรมชาติ (Nature’s Best Remedies)

กัญชา vs กัญชง ประวัติความเป็นมาและความต่างในความเหมือน

7 สมุนไพรช่วยลดอาการ “นอนกรน”