บ้านหลังนี้เป็น บ้านที่มีโรงเรือนแคคตัส และออกแบบให้มีสวนล้อมรอบ โดยมีหน้าบ้านเป็นพื้นที่สวนทะเลทรายกับโรงเรือนแคคตัส เพราะรับแดดได้ดี ส่วนหลังบ้านที่มีร่มเงาจึงปลูกไม้เขตร้อนชื้นแนวสวนป่า
รงเรือนแคคตั
เชื่อว่าความฝันของคนเมืองหลายคนนั้นอยากสร้างพื้นที่สีเขียวไว้ในบ้านตัวเอง เช่นเดียวกับ บ้านที่มีโรงเรือนแคคตัส ของ คุณอนุภาพ พงษ์นะเมตตา ที่หนีจากห้องบนตึกสูงมาอยู่กับบ้านบนพื้นดิน เพราะอยากทำสวนปลูกต้นไม้ในวันว่างนอกเวลางาน จนเป็นที่มาของบ้าน “GREEN HOUSE” ที่เขียวชอุ่มไปด้วยพรรณไม้กับโรงเรือนแคคตัส
“บ้านหลังนี้ผมตั้งใจปลูกต้นไม้และแต่งสวนอย่างจริงๆจังๆ หลังจากต้องทนปลูกต้นไม้ริมระเบียงแคบๆในห้องคอนโดอยู่พักใหญ่ พอย้ายมาปลูกบ้านหลังใหม่ที่พอมีบริเวณบ้าง จึงตั้งใจออกแบบให้มีสวนเต็มพื้นที่ และปรับเปลี่ยนแปลนบ้านให้สัมผัสสวนได้ทั้งภายในและภายนอก”
บ้านหลังนี้มีพื้นที่ 145 ตารางวา จึงออกแบบให้มีสวนล้อมรอบ โดยจัดวางตำแหน่งตามธรรมชาติของทิศทางแสงแดด ออกแบบให้หน้าบ้านเป็นพื้นที่สวนทะเลทรายและเรือนกระจกสำหรับแคคตัส เพราะรับแดดได้ดี ส่วนหลังบ้านที่มีร่มเงาตัวบ้านมากจึงปลูกไม้เขตร้อนชื้นแนวสวนป่า ส่วนโครงสร้างบ้านเดิมที่กั้นห้องไว้เป็นห้องเล็กห้องน้อยทำให้รู้สึกอึดอัด จึงรื้อผนังห้องและกำแพงบางส่วนออก แล้วติดกระจกบานใหญ่เติมผนังรอบบ้านเพื่อเปิดมุมมองสวนเข้าสู่ตัวบ้าน รวมไปถึงห้องครัวและห้องน้ำก็ยังจัดสวนเล็กๆแทรกไว้ด้วย เรียกได้ว่ามีพื้นที่สีเขียวไปเสียทุกจุด ทำให้แม้อยู่ในบ้านก็รู้สึกถึงความร่มรื่นตลอดเวลา
ไม่เพียงแต่การเปิดมุมมองสวนเท่านั้น บ้านหลังนี้ยังเปิดมุมมองในแนวตั้ง โดยเจาะฝ้าเพดานเหนือมุมรับแขกกลางบ้านให้ทะลุเชื่อมกับช่องรับแสงธรรมชาติจากผนังกระจกด้านบน ทำให้ภายในบ้านสว่าง โปร่งโล่ง มองเห็นท้องฟ้า ส่วนห้องนอนเปิดมุมมองด้วยบานกระจกขนาดใหญ่ ทำให้มองเห็นสวนจากมุมบน แล้วแยกส่วนอาบน้ำไปบนระเบียงเอ๊าต์ดอร์ เรียกได้ว่าให้ความรู้สึกกลมกลืนกับธรรมชาติไปเสียทุกจุด
“เพื่อนชอบแซวว่าบ้านผมจะกลายเป็นสวนพฤกษชาติไปแล้ว เพราะเก็บสะสมพรรณไม้แปลกๆไว้เยอะมาก ทั้งไม้เขตร้อน เขตร้อนชื้น กล้วยไม้พันธุ์ต่างๆ แต่นี่ถือว่าน้อยแล้ว เพราะไม่ได้สะสมแบบนักวิชาการ จะเลือกดูที่รูปทรงแปลกๆที่น่าสนใจมากกว่า ศึกษาสายพันธุ์ ของแบบนี้เริ่มแล้วหยุดยาก พอมีชนิดหนึ่งก็จะหาเพิ่มมาเรื่อยๆไม่จบ จะไปเดินตามฟาร์มไม้ต่างๆทางเชียงใหม่ งานพืชสวนโลก งานแสดงพรรณไม้ต่างๆ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นสวนจตุจักรนี่ละ ตอนนี้มีต้นไม้เข้าบ้านจนเริ่มไม่มีที่ให้ปลูกแล้ว” โรงเรือนแคคตัส
จากเรื่องราวประสบการณ์เกี่ยวกับต้นไม้และบ้านหลังนี้ที่ถ่ายทอดจากเจ้าของบ้าน ทำให้เราทราบเลยว่าเจ้าของบ้านเป็นคนรักต้นไม้ตัวจริง เพราะลงรายละเอียดโดยคำนึงถึงเรื่องต้นไม้ไปเสียทุกจุด จึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมบ้านหลังนี้ถึงได้ร่มรื่นและสงบเหมือนอยู่ท่ามกลางธรรมชาติทั้งในและนอกบ้านอย่างที่ตั้งใจไว้
เปิดโรงเรือนแคคตัสล้วงเคล็ดลับดีๆ สำหรับ บ้านที่มีโรงเรือนแคคตัส
“ผมออกแบบเอง โดยศึกษาจากหนังสือและไปดูตามฟาร์มและสวนแคคตัสต่างๆ จึงนำมาดัดแปลงขนาดและหน้าตาให้ออกมาเหมาะกับบ้านเรา โดยทำเล็กๆ ในพื้นที่ประมาณ 3×5 เมตร เทพื้นปูน ขึ้นโครงสร้างด้วยเหล็กหลังคาปิดแผ่นพอลิคาร์บอเนตเพื่อให้มีน้ำหนักเบา ส่วนผนังเรือนเป็นกระจกบานเกล็ดทั้งหมดเพื่อให้รับแสงแดดได้ดี และสามารถปรับบานเกล็ดให้อากาศถ่ายเทมากน้อยได้ตามต้องการ สำหรับควบคุมอุณหภูมิและความชื้นภายในให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโต”
เจ้าของ – ออกแบบ: คุณอนุภาพ พงษ์นะเมตตา
เรื่อง: HOOOOO…ROOM
ภาพ: จิระศักดิ์, นันทิยา
สไตล์: ประไพวดี