เดินสายไฟร้อยท่อเหล็กสไตล์ลอฟต์
เดินสายไฟร้อยท่อเหล็ก โชว์แนวเท่ๆ ในสไตล์ลอฟต์ ทำอย่างไรให้สวย ทำแล้วปลอดภัยหรือไม่ ไปดู 10 ข้อควรรู้ในการเดินท่อเหล็กร้อยสายไฟกัน
1. การเดินสายไฟในบ้านมีกี่แบบ
การ เดินสายไฟ โดยทั่วไปแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ การเดินสายไฟลอย ซึ่งเราสามารถจัดการเองได้ด้วยการใช้ค้อนและเข็มขัดรัดสายไฟ หรือคลิปรัดสายไฟต่างๆที่มีจําหน่ายทั่วไป และการเดินสายไฟร้อยผ่านท่อต่างๆ เช่น เดินสายไฟร้อยท่อเหล็ก ท่อพีวีซี หรือเดินสายในรางเหล็กหรือพลาสติก ซึ่งจะซ่อนความไม่สวยงามของสายไฟได้ดีกว่า
2. รู้จักท่อร้อยสายไฟ (โลหะ)
ท่อร้อยสายไฟมีทั้งที่ผลิตจากพลาสติกและที่ทำด้วยโลหะ แต่ในที่นี้ขอกล่าวถึงท่อร้อยสายไฟที่ทำจากโลหะเท่านั้น โดยสามารถแบ่งย่อยได้อีก 4 ประเภท คือ
- ท่อโลหะบาง (Electrical Metallic Tubing) หรือท่อ EMT ปลายท่อทั้งสองข้างเรียบ มีขนาด 1/2 – 2 นิ้ว ใช้เดินลอยภายในอาคาร หรือฝังในผนังได้ แต่ห้ามร้อยสายฝังดินหรือฝังในพื้นคอนกรีต
- ท่อโลหะหนา (Intermediate Metal Conduit) หรือท่อ IMC ปลายท่อทั้งสองข้างมีเกลียว มีขนาด 1/2 – 4 นิ้ว ใช้เดินลอยภายนอกอาคาร หรือฝังในผนัง และพื้นคอนกรีตได้
- ท่อโลหะหนาพิเศษ (Rigid Steel Conduit) หรือท่อ RSC มีขนาด 1/2 – 6 นิ้ว ใช้เดินลอยภายนอกอาคาร หรือฝังในผนัง และพื้นคอนกรีตได้ เช่นเดียวกับท่อ IMC แต่จะแข็งแรงมากกว่า
- ท่อโลหะอ่อน (Flexible Metal Conduit) เป็นท่อที่มีความอ่อนตัว ใช้ในจุดที่สายไฟมีการโค้งงอ หรือจุดที่ต้องมีการขยับของสายอยู่บ่อยๆ เหมาะสำหรับต่อเข้ากับอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ
3. ร้อยสายไฟในท่อโลหะมีอันตรายไหม
การเดินระบบไฟฟ้าด้วยท่อโลหะนั้นมีมานานแล้ว โดยจะใช้ร้อยสายไฟฝังในผนัง เพื่อป้องกันความเสียหายแก่สายไฟและซ่อนระบบโครงข่ายไฟฟ้าทั้งหมด จึงไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัย เพราะหากสังเกตให้ดี อาคารสูงทั้งหลายหรือห้างสรรพสินค้าก็เลือกใช้ท่อโลหะ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานที่ทางการไฟฟ้ากำหนดให้ใช้กับอาคาร ปัจจุบันผู้ที่ชื่นชอบการตกแต่งบ้านสไตล์ลอฟต์นิยมนำมาใช้เดินสายไฟเพื่อโชว์แนวท่อ เพื่อสร้างเสน่ห์ให้กับบ้านที่เน้นความดิบเท่
สำหรับท่อร้อยสายไฟที่นิยมใช้กันก็คือ ท่อโลหะบาง หรือท่อ EMT ที่ทำจากแผ่นเหล็กกล้านำมาเคลือบสังกะสี ส่วนพื้นผิวภายในท่อจะเคลือบด้วยอีนาเมล ทำให้ผิวท่อเรียบและผิวภายนอกมีความมันวาว ส่วนความยาวต่อท่อนประมาณ 3 เมตร และอาจมีการใช้งานท่อโลหะแบบอื่นด้วยเพื่อความสวยงามและดูเป็นระเบียบ
4. ข้อดีการเดินสายไฟร้อยท่อโลหะ
- เป็นวัสดุไม่ติดไฟ ทนต่อแรงกระแทก ไม่เกิดการคดโค้งเสียรูปในภายหลัง
- ช่วยป้องกันหนูกัดแทะสายไฟ
- ไม่ต้องทำแผ่นฝ้ามาปกปิดงานระบบบนฝ้าเพดาน
- เวลาแก้ไขงานระบบ ไม่ต้องเจาะหรือสกัดผนังให้เสียหาย
5 .ข้อควรระวังในการเดินสายไฟร้อยท่อโลหะ
- เนื่องจากเป็นการเดินท่อลอย เราจึงควรวางแผนแนวการเดินระบบไฟฟ้าทั้งหมดก่อนการติดตั้งจริง คำนึงถึงตำแหน่งและจำนวนของสวิตช์เต้าเสียบที่เหมาะสมกับการใช้งาน มีแนวการเดินที่สวยงาม หลีกเลี่ยงการต่อสายพ่วง ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่ได้มาตรฐาน เสี่ยงต่อการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร
- ห้ามใช้ท่อ EMT กับงานภานนอกบ้านหรืออาคาร เพราะหากโดนฝนหรือโดนน้ำ ท่อเหล็กจะเกิดสนิมได้ รวมถึงงานระบบที่ซ่อนอยู่ใต้พื้น เพราะท่อชนิดนี้เป็นโลหะแบบบาง น้ำและความชื้นจะสร้างความเสียหายแก่สายไฟและท่อเหล็กได้
- การเดินสายร้อยท่อเหล็ก มีราคาสูงกว่าท่อพลาสติกหรือพีวีซี ดังนั้นต้องดูงบประมาณในกระเป๋าของเราด้วย
6. โชว์การเดินสายร้อยท่อเพื่อแก้ปัญหา
บางครั้งการโชว์งานระบบอย่างการเดินท่อร้อยสายไฟก็เป็นการแก้ปัญหาให้ห้องที่มีขนาดเล็กและเพดานเตี้ยรู้สึกอยู่สบายขึ้นได้ โดยการรื้อฝ้าเพดานออกเพื่อเพิ่มความสูงของห้อง อาจทาสีขาวทับทั้งท้องพื้นชั้นบนและงานระบบต่างๆก็ช่วยให้ห้องดูโล่งและเป็นระเบียบขึ้นได้
7. ถ้าคิดจะโชว์งานระบบ ควรเป็นระเบียบ
หากคิดจะโชว์งานระบบ โดยเฉพาะการเดินท่อร้อยสายไฟ ต้องมีการจัดระเบียบ วางระยะห่างของท่อให้เท่ากัน ทั้งระยะของตัวยึดที่ห่างเท่ากัน ระยะตําแหน่งของดวงโคมที่เท่ากัน หรือเดินท่อให้มีทิศทางที่เป็นระเบียบ มีองศาที่แน่นอน เพื่อความสวยงาม
8. อย่าลืม Junction Box
การเดินท่อเหล็กแบบเดินลอย จําเป็นต้องมีกล่องพักสาย (Junction Box) ในตําแหน่งที่เป็นจุดตัดของวงจร เพื่อการเชื่อมต่อสายไฟอย่างปลอดภัย ไม่ต้องดัดงอท่อ และหากจะซ่อมบํารุงก็ง่าย เพราะเราสามารถดึงสายไฟที่ชํารุดออกมาได้จากตําแหน่งนี้
9. สิ่งที่โชว์ต้องควรค่า
เมื่อคิดจะโชว์ท่อโลหะร้อยสายไฟ เราควรแน่ใจว่ายอมรับได้และเข้าใจกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น เพราะสไตล์ของบ้านก็จะไม่ใช้แบบเรียบหรู แต่จะเป็นความสวยงามแบบดิบๆ เหมือนงานศิลปะที่เข้ากับรูปแบบของห้องหรือสถานที่นั้นๆ
10. การเดินสายไฟเพิ่มเติม
เมื่อต้องการเดินสายไฟเพื่อติดตั้งหลอดไฟหรือเต้ารับ เรามักต้องเดินสายเพิ่มจากระบบสายไฟที่มีอยู่เดิม ซึ่งสายไฟและเครื่องป้องกันกระแสเกินของเดิมยังคงใช้ได้ แต่ถ้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้กระแสไฟฟ้ามาก เช่น เครื่องปรับอากาศหรือเครื่องทำน้ำอุ่น ไม่เหมาะที่จะต่อไฟจากสายวงจรไฟฟ้าเดิม เพราะกินไฟมาก สายไฟและเซอร์กิตเบรกเกอร์อาจเล็กเกินไป กรณีนี้ควรเดินสายไฟใหม่ โดยเดินจากแผงเมนหรือคอนซูมเมอร์ยูนิต และควรติดตั้งเซอร์กิตเบรกเกอร์ตัวใหม่ด้วย
เรื่อง : คันยิก้า
ภาพประกอบ : เอกรินทร์ พันธุนิล